ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เข้าล็อกลากยาวม็อบ

เริ่มโดย itplaza, 11:05 น. 18 ต.ค 56

itplaza


วางคิวได้ลงล็อกพอดี

กรณีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ได้แจ้งมายังนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่า ศาลโลกจะพิจารณาตัดสินคดีที่ประเทศกัมพูชาขอยื่นตีความคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหารปี พ.ศ.2505 ในวันที่ 11 พ.ย.นี้

รอลุ้นชี้ขาด "ปมร้อนระหว่างประเทศ" กันอีกไม่ถึงเดือน

โดยตามการคาดการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ คำตัดสินในคดีนี้น่าจะมี 4 แนวทาง คือ 1.ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาคดี 2.มีคำพิจารณาออกมาตามที่ฝ่ายกัมพูชาขอ 3.มีคำพิจารณาออกมาตามที่ฝ่ายไทยขอ 4.หรือศาลโลกมีคำพิจารณาออกมากลางๆ

และประเมินกันได้เลย 4 แนวทาง ผลกระทบที่ตามมาแตกต่างแน่ โดยหากคำชี้ ออกมาว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดี หรือคำตัดสินออกมากลางๆ ข้อพิพาทไทย-กัมพูชาก็ยังคงอยู่ และ 2 ประเทศต้องหาทางแก้ปัญหากันเอง

ตรงนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะเคยมีตัวอย่างข้อพิพาทในเรื่องเขตแดน หลายประเทศคู่พิพาทก็ออกมาแนวนี้ คือ ศาลไม่ชี้ขาด-ไม่ฟันธง ปล่อยให้ประเทศคู่กรณีหาทางเจรจาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน

ถ้าไม่มีข้อยุติหรือบทสรุปใดๆก็ปล่อยเรื่องค้างคาไว้ หาทางเจรจาในประเด็น "พื้นที่พัฒนาร่วม"

หรือปล่อยเป็นพื้นที่ไร้ฝ่ายใดเป็นเจ้าของ "โนแมนแลนด์"

ขณะที่แนวทางคำตัดสินที่น่าเป็นห่วง คือกรณีหากศาลโลกมีคำตัดสินออกมาแล้วดูเหมือนเข้าทางประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็น่าจะกลายเป็นชนวนเหตุในการเพิ่มความขัดแย้ง

ไทย-กัมพูชา สุ่มเสี่ยงดีกรีร้อนทะลักปรอทแตก

โดยที่ต้องจับโฟกัสที่ "นายกฯปู" ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่า รัฐบาลจะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน อยากให้ประชาชนสบายใจ ส่วนผลการตัดสินจะเป็นอย่างไร รัฐบาลต้องรักษาสันติในการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนบ้านให้ได้

แต่ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการพูดจาไม่ให้กระทบกระทั่งกัน

"นายกฯปู" หวั่นคดีปราสาทพระวิหารบานปลาย

ก็ไม่ใช่เรื่องที่แหยงกันเกินเหตุ เพราะอย่างที่รับรู้กัน ตลอดหลายปีที่ผ่านมาปมปราสาทพระวิหาร นอกจากเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นอีกประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในประเทศ

โดยเฉพาะการโจมตีหลายรัฐบาลของเครือข่ายนายใหญ่ ทั้งเรื่องการรักษาดินแดนไทย เขตแดนระหว่างประเทศ ปัญหาผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อน

แม้แต่ในการประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ผ่านวาระ 2 ไปหมาดๆ ฝ่ายค้านและ ส.ว.ฝ่ายต้านก็หยิบยกกรณีคดีปราสาทพระวิหารมาพูดถึง

โดยโยง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับประเด็นที่มาคดีร้อน จากการทำสนธิสัญญาแถลงการณ์ร่วมในสมัยรัฐบาลเครือข่ายนายใหญ่ การทำธุรกิจ และปมผลประโยชน์ จนบรรดารัฐมนตรีต้องออกมาช่วยแก้ต่าง

ปฏิเสธเรื่องธุรกิจพลังงานของ "นายใหญ่" กับฝั่งกัมพูชา

หรือแม้แต่การคาดการณ์ล่วงหน้าโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ดักคอว่า การแก้มาตรา 190 อาจเป็นการปิดหูปิดตาประชาชน หากคำพิพากษาไม่เป็นคุณกับไทย จะนำเรื่องเข้าสภาฯหรือไม่

และที่คิวของศาลโลกเตรียมชี้ขาดคดีพระวิหาร วันที่ 11 พ.ย.นี้ มาลงล็อกพอดี ก็คือการเติม "เชื้อไฟ" ให้กับม็อบต้านรัฐบาลที่ปักหลักชุมนุมกันอยู่ที่แยกอุรุพงษ์-สวนลุมพินี

เพราะถ้าจำกันได้ คดีปราสาทพระวิหารถือเป็นอีกประเด็นที่กองทัพ ประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) หยิบยกมาอ้างเหตุผลการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์

จน กปท.ถอนทัพกลับที่ตั้ง "คณะทหารเฒ่า" เตรียมไต่บันไดลง เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ก็รับไม้ต่อ จัดการชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์

และถูกมองเป็นการ "สลับหน้าเล่น" ของพวก "อารมณ์ค้าง"

แต่เพราะจังหวะ-เวลาลงตัวลงล็อก มีคนเข้ามาเติมม็อบ ทำให้ฝ่ายต้านรัฐบาล-ขั้วตรงข้ามประเมินว่า ภาวะนี้ต้อง "เลี้ยงไฟ" รอเพียง "เงื่อนไข" ให้ไฟลุกโชน

ดีเดย์ 11 พ.ย.วันชี้ขาดคดีปราสาทพระวิหาร เลยกลายมาเป็น "ปัจจัยหนุน" ม็อบต้านรัฐบาล

ได้ประเด็นมาเลี้ยงกระแส ลากยาวม็อบกันเลย.

ขอบคุณเนื้อหา  : ไทยรัฐ
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=30494&page=1