ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ธปท.ภาคใต้ ชี้เศรษฐกิจใต้ไตรมาส 3 ชะลอตัว คาดลากยาวถึงไตรมาส 4

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 16:25 น. 01 พ.ย 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

วันนี้(1พ.ย.56) เวลา 10.00 น. ที่ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้(ธปท.ภาคใต้) ได้แถลงข่าวสรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 ปี 2556

นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 มีการชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากปัญหาขาดแคลนวัตดุดิบกุ้งขาวส่งผลต่อการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ประกอบกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัวทำให้การส่งออกและการลงทุนหดตัว อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังขยายตัวสูง ขณะที่รายได้เกษตรกรแม้จะยังหดตัว แต่ก็ปรับขึ้นจากไตรมาสก่อน สนับสนุนให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว


ด้านอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ส่วนเงินฝากและให้สินเชื่อชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น

ด้านการเบิกจ่ายเงินงบประมาณลดลงร้อยละ 11.6 ทั้งจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ตามการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นทั้งภาษีสรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงเล็กน้อย เป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษีจากร้อยละ 23 เหลือร้อยละ 20 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556

ทั้งนี้ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.76 ชะลอจากร้อยละ 2.22 ในไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงทั้งกลุ่มอาหารสดและพลังงาน โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ที่ลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้าประกันตนที่ชะลอลง

[attach=1]

นอกจากนี้ยังได้คาดการณ์ แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ของไตรมาส 4 ปี 2556 ด้วยว่า เศรษฐกิจอาจยังชะลอตัว เพราะปัจจัย การผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะหดตัว  แต่ก็มีการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดี และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ ส่วนการส่งออกนั้นก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าการลงทุนอาจจะหดตัวลงก็ตาม

แน่นอนว่าต้องมี ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งก็อาจจะมาจาก  ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะความไม่แน่นอนภาคการคลังของสหรัฐฯ ที่กระทบเสถียรภาพภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก รวมไปถึงความผันผวนของราคาน้ ามันดิบและค่าเงิน อาจส่งผลต่อต้นทุนสินค้า ที่ขาดไม่ได้เลยคือเสถียรภาพทางการเมือง และผลกระทบจากภัยธรรมชาติ