ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ศาลโลกตัดสิน ไทยไม่เสีย พื้นที่4.6ตร.กม.

เริ่มโดย itplaza, 12:02 น. 12 พ.ย 56

itplaza


แนะ2ชาติไปเจรจากัน 'ปู'ชี้หลายส่วนเป็นคุณ ฝ่ายต้านยันไม่ยอมรับ

ศาลโลกร่ายยาวคดีปราสาทพระวิหารไทย-กัมพูชา มีมติเอกฉันท์โยนพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ให้สองฝ่ายจับเข่าคุยกันดึงองค์กรสากลยูเนสโกเข้าดูควบคุมมรดกโลกตัวปราสาท "สุรพงษ์-ฮอร์ นัมฮง" ประสานเสียงพอใจผลชี้ขาด ขั้นต่อไปเข้าสู่กระบวนการหารือระดับเจซี "วีรชัย" ย้ำศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน ยกเว้นพื้นที่ แคบมาก "นายกฯปู" มั่นใจรัฐบาลปกป้องอธิปไตยเต็มที่ พร้อมประชุมวอร์รูมด่วนรับมือปมร้อน สารพัดม็อบบี้รัฐไม่ยอมรับคำตัดสินศาลโลก "จำลอง-สนธิ" ประสานเสียงปลุกมวลชนต้าน  สถานการณ์ชายแดน ไทย-เขมร ปกติ แต่มีบางจุดแห่ซื้อของกักตุน หวั่นเหตุการณ์บานปลาย

คนไทยลุ้นระทึกศาลโลกอ่านคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ปราสาทพระวิหารไทย-กัมพูชา ล่าสุดมีมติเอกฉันท์ไม่แตะพื้นที่ 4.6 ตร.กม. โยนลูกให้ทั้งสองประเทศไปเจรจาความพื้นที่รอบตัวปราสาทกันเอาเอง โดยมียูเนสโกเป็นองค์กรเชื่อม

ไทย–กัมพูชาลุ้นคดีพระวิหาร

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. เวลา 09.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่อาคารพีซ พาเลซ ที่ตั้งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ศาลโลก กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ น.ส.กรกช กุลลประภา ผู้สื่อข่าว นสพ.ไทยรัฐ รายงานว่า คณะผู้แทนไทยนำโดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทน ประเทศไทย และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนจากกองทัพ ได้ทยอยเดินทางมาที่ศาลโลก เพื่อรอฟังการอ่านคำพิพากษาของศาลโลกกรณีคดีความคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารปี 2505

ขณะที่ตัวแทนฝ่ายกัมพูชานำโดยนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา พล.อ.เนียง พาท รมช.กลาโหมกัมพูชา ทยอยเดินทางมา โดยหลังเดินทางมาถึงคณะผู้แทนทั้งสองประเทศต่างเข้าไปนั่งรอยังห้องพักรอที่ศาลโลกจัดไว้ให้ ทั้งนี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ได้เดินไปทักทายกับ พล.อ.เนียง พาท และพูดกับนายฮอร์ นัมฮงว่า "เพื่อนเก่าของผม" ซึ่งนายฮอร์ นัมฮงตอบว่า "เราทุกคนล้วนเป็นเพื่อนเก่ากัน"

ต่อมาเวลา 09.30 น. คณะผู้แทนเดินเข้ามานั่งในห้องพิจารณาคดี เพื่อรอฟังการอ่านคำพิพากษาของศาลโลก โดยนายสุรพงษ์ นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายวีรชัย ได้เดินไปจับมือทักทายกับนายฮอร์ นัมฮง ก่อนจะกลับไปนั่งรอองค์คณะผู้พิพากษาที่เดินออกมานั่งบัลลังก์ในเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลาประเทศไทยในเวลา 16.00 น.

ศาลฟันธงมีอำนาจชี้ขาด

เมื่อเวลา 16.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศมีการตั้งวอร์รูมและเป็นศูนย์การถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เสียงซาวด์แทร็กและช่อง 11 เสียงแปลภาษาไทยคำต่อคำ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดสดจากศาลโลก ทันทีที่นายปีเตอร์ ทอมกาได้เริ่มต้นอ่านคำพิพากษาคดีที่กัมพูชายื่นร้องขอให้ศาลโลกตีความคดีดังกล่าวในปี 2554 ตามธรรมนูญข้อ 60 ของศาลโลก เนื่องจากเกิดข้อพิพาทในพื้นที่ใกล้บริเวณปราสาทพระวิหาร โดยประธานศาลโลกได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดตั้งแต่ศาลโลกมีคำตัดสินในปี 2505 การปฏิบัติตามคำตัดสินศาลโลกของฝ่ายไทย มาจนถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งบริเวณชายแดน รวมทั้งการที่กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ศาลโลกมีอำนาจรับตีความคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอ ตามธรรมนูญศาลโลกข้อ 60 โดยได้พิจารณาตามแนวปฏิบัติที่ผ่านมา ประกอบกับพยานหลักฐานของแต่ละฝ่าย โดยที่ศาลโลกไม่อาจตีความเกินขอบเขตคำพิพากษาปี 2505 และไม่สามารถตีความในลักษณะขัดแย้งต่อคำพิพากษา ปี 2505 ได้

2 ฝ่ายยอมรับคำพิพากษา 2505

นายปีเตอร์ระบุอีกว่า คำพิพากษาของศาลโลกไม่มีสภาพบังคับเป็นสนธิสัญญา หรือตราสารที่เป็นพันธผูกพันคู่กรณี ทั้งนี้เมื่อกลับไปดูคำตัดสินปี 2505 พบว่ากรณีนี้เป็นประเด็นเขตอำนาจอธิปไตยมากกว่าการกำหนดเขตแดน โดยที่ศาลโลกมีอำนาจรับพิจารณาเฉพาะข้อที่เป็นเหตุที่ไม่ใช่บทปฏิบัติการ และไม่ได้มีแนบในแผนที่ในคำพิพากษาปี 2505 คณะผู้พิพากษาได้พิจารณาคดี โดยนำเหตุการณ์ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เดินทางเยือนปราสาท มีทางการฝรั่งเศสให้การต้อนรับ ถือเป็นการยอมรับดินแดนทางอ้อม แสดงให้เห็นว่าผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องต้องกันตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 อีกทั้งการที่คู่ความทั้งสองได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ทำให้แผนที่ภาคผนวก 1 ถูกบรรจุในสนธิสัญญา

ดึงยูเนสโกเป็นตัวกลางเชื่อม

นายปีเตอร์ระบุด้วยว่า สำหรับการที่ขอตีความครั้งนี้ กัมพูชาระบุว่าขอบเขตพื้นที่พิพาทเล็กมาก ขณะที่ศาลโลกเห็นพ้องว่าพื้นที่พิพาทนี้ก็เล็กมากเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาปี 2505 ศาลไม่มีหน้าที่ปักปันเขตแดน เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องการกำหนดอธิปไตยมากกว่ากำหนดดินแดน สรุปว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อ 2505 แล้ว ที่มีการถอนกำลังทหารตำรวจออกจากบริเวณปราสาท ทั้งนี้ไม่ได้นำเส้นเขตแดนตามมติ ครม.ของไทยปี 2505 มาพิจารณา เพราะถือว่าเป็นข้อกำหนดของไทยฝ่ายเดียว ดังนั้นประเด็นพิพาทเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่รอบตัวปราสาท ทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่แก้ไขข้อพิพาทระหว่างกันด้วยวิธีการอื่น ภายใต้การทำงานของทั้งสองฝ่ายไทย-กัมพูชา และต้องคุยกันเองภายใต้การควบคุมโดยยูเนสโก เพราะถือว่าเป็นมรดกโลก
หลังประธานองค์คณะผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาจบ นายฮอร์ นัมฮง ให้สัมภาษณ์ว่าพอใจกับคำตัดสิน แต่คงต้องคุยกันอีกนานว่าพื้นที่ที่ศาลระบุเป็นที่ใด

"วีรชัย" ยันไทยไม่เสีย พท.4.6 ตร.กม.

ภายหลังศาลโลกอ่านคำพิพากษา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่าผลการตัดสินของศาลในวันนี้ออกมาเป็นที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่าย โดยจาก รมว.ต่างประเทศของไทยและกัมพูชาจะไปหารือกันในคณะกรรมาธิการร่วม (เจซี) ไทย-กัมพูชา

นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า สรุปสาระคำพิพากษาคือ 1. ศาลมีอำนาจพิจารณาตามคำร้องของกัมพูชา และ 2. ศาลยังพิจารณาว่าบริเวณใกล้เคียงคือตัวปราสาทพระวิหารที่ได้บรรยายเขตจำกัดไว้ แต่ไม่ได้มีแผนที่แนบที่กัมพูชาไม่ได้รับสิ่งที่ขอต่อศาล คือไม่ได้รับพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรหรืออื่นๆ รวมถึง พื้นที่ภูมะเขือกัมพูชาก็ไม่ได้ ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน ยกเว้นพื้นที่แคบมากๆ เน้นว่าเล็กมาก ที่กำลังมีการคำนวณอยู่ ที่สำคัญไม่ได้ระบุว่า เขตแดนบนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 เป็นส่วนหนึ่งของคำตัดสินเมื่อปี 2505 ที่ผูกพัน จุดนี้สำคัญมาก นอกจากนี้ศาลยังแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันในการที่จะดูแลปราสาทในฐานะที่เป็นมรดกโลก

นายกฯมั่นใจ รบ.ป้องอธิปไตย

เมื่อเวลา 11.20 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ว่าขอให้ความมั่นใจต่อประชาชน รัฐบาลได้ดำเนินการต่อสู้คดีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารในทุกประเด็นอย่างเต็มความสามารถ เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติและปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติอย่างเต็มที่ ขอให้ประชาชนตามบริเวณชายแดนตั้งมั่นอยู่ในความสงบ โดยรัฐบาลยืนยันที่จะดำเนินการให้เกิดสันติภาพและความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในฐานะ รมว.กลาโหมขอให้ทหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งและอดทน ขอเป็นกำลังใจให้ประชาชนคนไทยทุกคน โดยเฉพาะประชาชนตามแนวชายแดน ตลอดจนข้าราชการทั้งพลเรือนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

วอร์รูมทำเนียบรับมือปมร้อน

ต่อมาในช่วงบ่าย ที่ทำเนียบรัฐบาล ห้องสีเขียวและห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า รัฐบาลเปิดวอร์รูมติดตามการอ่านคำพิพากษาของศาลโลกคดีปราสาทพระวิหารและสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธานการประชุม ร่วมกับนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง  ผบ.ทอ. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมติดตามศาลโลกพิพากษาคดีดังกล่าว พร้อมประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสระแก้ว ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ตราด และจันทบุรี ต่อมานายกฯเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษทันที เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์หลังศาลโลกมีคำพิพากษา

กปท.บุกกลาโหมจี้ไม่รับคำตัดสิน

เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ (กปท.) และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ประธานเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัด พร้อมผู้ชุมนุมประมาณ 1 พันคน ได้เดินทางมายังกระทรวงกลาโหม เพื่อยื่นหนังสือต่อ รมว.กลาโหม เรียกร้องให้ทหารทั้งสามเหล่าทัพรักษาอธิปไตยของชาติ ไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลก จากนั้นเคลื่อนขบวนไปกองบัญชาการกองทัพบก ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ขอให้กองทัพทำหน้าที่รักษาแผ่นดินไทยโดยไม่ยินยอมให้สูญเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ก่อนไปแสดงจุดยืนต่อที่องค์การสห– ประชาชาติ (ยูเอ็น) และเคลื่อนขบวนกลับไปยังที่ตั้ง

"จำลอง" ออกโรงปลุกมวลชนต้าน

ต่อมาเวลา 10.30 น. ที่บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ แถลงการณ์แนวทางการเคลื่อนไหว โดย พล.ต.จำลองอ่านแถลงการณ์ว่า เรื่องนี้ได้ปรึกษากับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ตัดสินของศาลโลกคดีประสาทพระวิหารปี 2505 จึงไม่สามารถอยู่นิ่งเฉย ขอประกาศยืนยันไม่รับอำนาจศาลโลกแม้ผลจะออกมาอย่างไร และขอเชิญชวนมวลชนทั่วประเทศออกมาร่วมคัดค้านอย่างถึงที่สุด เพราะรัฐสภาได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ให้รัฐบาลสามารถทำสัญญาระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องบอกประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่น่าไว้วางใจ  ในฐานะที่เป็นอดีตทหารผ่านศึกจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวร่วมกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ ส่วนนายสนธิได้ขอร้องว่าไม่ควรออกมาช่วงนี้ หากมีอะไรเกิดขึ้นกับตน ขอให้เป็นตัวสำรอง เป็นธนูดอกสุดท้ายในการต่อสู้ และอยากเตือนสติทหารรุ่นน้องว่าทหารไม่ใช่ทหารของรัฐบาล แต่เป็นทหารของพระมหากษัตริย์ จึงต้องรักษาดินแดนทุกตารางนิ้ว

"สนธิ" พร้อมนำทัพลุยศึก

นายสนธิกล่าวว่า ได้พูดคุยกับ พล.ต.จำลองแล้ว เห็นด้วยที่ยังไม่ออกตัวเคลื่อนไหวในช่วงนี้ แต่หากมีความจำเป็นก็พร้อมที่จะนำทัพในการต่อสู้ และให้สื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการสนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ ส่วนกรณีนี้หากศาลตัดสินตามคำร้องของกัมพูชา ไทยต้องยอมรับแผนที่ระวางดงรัก จะส่งผลถึงดินแดนในทะเล ทำให้พื้นที่ที่ไทยครอบครองแหล่งพลังงานอยู่ 3 ใน 4 จะเหลือเพียง 1 ใน 4 ประกอบกับจีนได้ให้เงินกัมพูชาสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันเตรียมพร้อมไว้แล้ว อาจมีการพูดคุยเรื่องผลประโยชน์ไว้ก่อนหน้านี้

สั่ง ร.ร.ชายแดนเกาะติดศาลโลก

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ได้แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่มีโรงเรียนอยู่ใกล้กับพื้นที่กรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ในจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ รวมประมาณ 100 กว่าโรง โดยได้ขอให้ผู้บริหารและครูฟังคำตัดสินของศาลโลกอย่างมีสติ หากเห็นว่าสถานการณ์ตึงเครียดก็ให้สั่งหยุดการเรียนการสอนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงจึงค่อยกลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติ อย่างไร ก็ตาม  ขณะนี้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ก็ได้สั่งปิดโรงเรียนแล้วจนถึงวันที่ 12 พ.ย.นี้

เขมรข้ามแดนซื้อของกักตุน

ขณะที่สถานการณ์ตามชายแดนไทย-กัมพูชาก่อนที่ศาลโลกจะอ่านคำพิพากษา ทุกพื้นที่เป็นปกติ พ.ต.อ.สมชาย อยู่สวัสดิ์ ผกก.สภ.คลองลึก จ.สระแก้ว ประสานกับ ร.อ.อภินันท์ สงครามชัย ผบ.ร้อย ทพ.1206 ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา นำกำลังออกตรวจบริเวณสถานกงสุลใหญ่กัมพูชา จ.สระแก้ว เพื่อป้องกันกลุ่มมวลชนหรือผู้ไม่หวังดีมาสร้างสถานการณ์

ส่วนบริเวณด่านพรมแดนอรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พ่อค้า แม่ค้า กัมพูชาฝั่งปอยเปตเข้ามาค้าขายบางตา แต่ซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น เพราะไม่วางใจสถานการณ์จึงสั่งสินค้าไปกักตุน ส่วนจุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม หมู่ 4 ต.เทพนิมิต อ.โป่งน้ำร้อน และจุดผ่อนปรนบ้านซับตารี หมู่ 2 ต.ทุ่งขนาน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ชาวกัมพูชายังคงข้ามแดนมาซื้อสินค้าและรับจ้างตามสวนผลไม้ตามปกติ เช่นเดียวกันกับจุดผ่านแดนอื่นๆ 5 จุด

ชาวบ้านภูมิซรอลตื่นอพยพ

ทางด้านบรรยากาศที่หมู่บ้านภูมิซรอล บ้านซำเม็ง บ้านโนนเจริญ ต.เสาธงชัย จ.ศรีสะเกษชาวบ้านยังหวั่นวิตกเกรงสถานการณ์ชายแดนปราสาทพระวิหาร จะเกิดการยิงปะทะสู้รบกันขึ้นอีก ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพออกนอกพื้นที่ ขณะที่กลุ่มธรรมยาตราพยายามจะเดินเท้าขึ้นไปบนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รอบปราสาทเขาพระวิหาร แต่ถูก ชรบ.ตั้งด่านสกัดอยู่ที่บริเวณหน้า ร.ร.บ้านเสาธงชัย โดยเจ้าหน้าที่วางกำลังป้องกันกลุ่มมวลชนฝ่าขึ้นไปตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนการค้าจุดผ่านแดนช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ชาวกัมพูชาเดินทางผ่านแดนมาซื้อสินค้าน้อยลงกว่าครึ่ง แต่ที่ จ.นครพนม มีพ่อค้า แม่ค้า ชาวลาวต่างพากันแห่ข้ามแดนมาซื้อสินค้ามากกว่าปกติเท่าตัวไปกักตุน เนื่องจากวิตกกับปัญหาการเมืองของไทยและกรณีศาลโลกมีคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ทำให้ตลาดการค้าชายแดนจุดผ่อนปรนไทย-ลาว อ.ท่าอุเทน และอ.ธาตุพนม คึกคัก ยอดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นเท่าตัว

สื่อนอกชี้ 2 ประเทศตึงเครียด

สำนักข่าวต่างประเทศเกาะติดการตัดสินคดีปราสาทพระวิหารอย่างใกล้ชิด โดยเอพีและเอเอฟพีรายงานว่า ศาลโลกพิพากษาด้วยเสียงเอกฉันท์ว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนืออาณาเขตชะง่อนผาทั้งหมดรอบๆ ปราสาทพระวิหาร ด้วยคำพิพากษาดังกล่าวประเทศไทยจึงมีพันธกรณีต้องถอนกำลังทหาร ตำรวจ หรือผู้คุ้มกันอื่นๆ ออกจากอาณาเขตดังกล่าว โดยคำตัดสินครั้งนี้มีผลผูกมัดและเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้

นายฮอร์ นัมฮง รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา ที่เดินทางไปรับฟังคำตัดสินของศาลที่กรุงเฮกด้วย กล่าวกับนักข่าวสั้นๆ หลังทราบคำตัดสินของศาลว่า "แค่นี้ก็ดีพอแล้ว" ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าคำพิพากษาครั้งนี้ อาจส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างไทยและกัมพูชาทวีขึ้น

จุดไฟเผาตัวประท้วงศาลโลก

สำหรับบรรยากาศในช่วงเย็นของการชุมนุมเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ภายหลังจากศาลโลกคดีปราสาทพระวิหารมีคำตัดสิน แกนนำได้ขึ้นเวทีเชิญชวนให้มวลชนร่วมยืนไว้อาลัยในคำตัดสิน โดยระบุว่าจะไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลก ไม่ยอมให้ไทยเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

นอกจากนี้ ที่บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ มวลชลประมาณ 100 คน ได้รวมตัวประท้วงไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลก โดยมีการเผาธงชาติกัมพูชาและมวลชนคนหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ อายุประมาณ 35-40 ปี ปีนขึ้นไปบริเวณแท่นแบริเออร์ เพื่อจะนำไฟแช็กมาจุดไฟเผาตัวเองประท้วง แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะมีมวลชนห้ามไว้ได้ทัน

ม็อบก่อหวอดหน้าสถานทูต

เมื่อเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปจ.ได้ตรึงกำลังเข้มหน้าสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ถนนประชาอุทิศ และวางกำลังบนถนนด้านซ้ายและขวาของสถานทูต ช่วงระหว่างแยกประชาอุทิศถึงแยกประชาธรรม โดยปิดการจราจรห้ามรถวิ่งผ่านพร้อมใช้แท่งแบริเออร์กั้นตั้งเป็นแนวด้านละ 2 ชั้น รวม 4 ชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 100 เมตร เป็นการกั้นผู้ที่จะบุกไปสถานทูต ใช้กำลังทั้งหมด 4 กองร้อย เพื่อรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชม. มี พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบก.น.4 เป็นผู้ควบคุมกำลัง ต่อมาเวลา 16.00 น. กลุ่มชาวบ้าน 7 จังหวัดที่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา ได้แก่ จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี บุรีรัมย์ สระแก้ว และตราดประมาณ 100 คน นำโดยนายณัฐวัตร์ แย้มขุนทอง ผู้ประสานงานของกลุ่มชาวบ้าน ที่ปักหลักอยู่ที่วัดพระราม 9 ถนนพระราม 9 ได้เดินเท้าและใช้รถยนต์ 6 ล้อ ติดเครื่องขยายเสียง เดินมาตามถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ พาผู้ชุมนุมเข้ามาทางด้านแยกประชาธรรม เพื่อเดินไปที่สถานทูตกัมพูชา แต่ พ.ต.อ.สรรค์หกิจ บำรุงสุขสวัสติ ผกก. สน.วังทองหลาง เข้าเจรจา กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดจึงเดินทางกลับไปตั้งหลักที่วัดพระราม 9 ต่อ รอดูท่าทีกลุ่มผู้ชุมนุมใหญ่ที่ปักหลักอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งหลังศาลโลกอ่านคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเสร็จ

กัมพูชาปัดเสริมเขี้ยวเล็บ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่าช่วงหัวค่ำวันเดียวกัน นายเขียว กันหาริธ โฆษกรัฐบาลกัมพูชา แถลงว่า  รัฐบาลกัมพูชาจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกดึงเข้าสู่การเผชิญหน้ากับกลุ่มหัวรุนแรงชาวไทย และจะเพิ่มความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกองทัพของทั้ง 2 ประเทศที่อยู่บริเวณพรมแดนและว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังสงบ  ส่วนความร่วมมือระหว่างทหารตามแนวพรมแดนเป็นไปโดยดีและฉันมิตร ขณะที่กองทัพกัมพูชาออกมาแถลงปฏิเสธ หลังมีรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่น ระบุว่ากองทัพได้เสริมกำลังทหารเข้าพื้นที่พรมแดน

"นายกฯปู" ยึดแนวเจรจาตามศาลโลก

จนกระทั่งเวลา 19.20 น. ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงท่าทีของไทยหลังศาลโลกมีคำตัดสินคดีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารว่า บัดนี้ ศาลโลกได้พิจารณาหลักฐานของทั้ง 2 ฝ่าย โดยรัฐบาลเห็นว่าเป็นคำพิพากษาที่ให้ความสำคัญที่ทั้ง 2 ประเทศจะต้องเจรจากัน มีหลายส่วนที่เป็นคุณกับประเทศไทย โดยมีประเด็นหลักๆดังนี้ คือ 1.ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย และได้ตัดสินยืนยันที่จะตัดสินภายในขอบเขตของคำพิพากษาเดิมปี 2505 2.ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย โดยยืนยันว่าคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 ไม่ได้ตัดสินเกี่ยวกับประเด็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะเป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนือจากคำพิพากษาเดิม หมายความว่าศาลไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องกัมพูชาเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ที่สำคัญศาลไม่ได้ตัดสินว่าแผนที่ม

ขอบคุณเนื้อหา  : IT PLAZA
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=31072&page=1