ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

'ผมเชื่อศาล...' วันชัย สอนศิริ ทนายมหาชน

เริ่มโดย ฟานดี้, 09:40 น. 12 พ.ย 53

ฟานดี้



ปฏิเสธไม่ได้ว่า "มหกรรมคลิปโจมตีศาลรัฐธรรมมนูญ" หลายเวอร์ชั่นที่เผยแพร่ออกมา ถือว่าเป็นการท้าทายประการด่านสุดท้ายของสังคมไทยรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง คำถามก็คือ ในฐานะประชาชนที่เสพข่าวสาร ควรจะมีทีท่ากับเหตุการณ์ที่ยาก กว่าจะมองเห็นด้วยตาเปล่าเช่นนี้ อย่างไร ...?

ไทยรัฐ ออนไลน์มีโอกาสได้พูดคุยกับ วันชัย สอนศิริ เลขาธิการสภาทนายความ และ นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง จะมาไขรหัส และแยกแยะทุกๆ อย่างตามเนื้อผ้าด้วยเหตุผล พร้อมกับชี้ให้เห็นความแตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่าง สีขาว กับ สีดำ...? 

Q : ประชาชนหาเช้ากินค่ำที่ติดตามข่าวสารหลายคนสงสัยว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีการคัดเลือกอย่างไรบ้าง..?

A :  คนที่จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น  กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 204  สรุปว่า  ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย  ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง  และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 8 คน  ตามคำแนะนำของวุฒิสภาดังนี้  ผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาตุลาการในศาล ปกครอง  มาจากศาลฎีกาลงคะแนนประชุมใหญ่กันเอง 3 คน  เลือกกันมา  และมาศาลปกครองสูงสุดประชุมกันเอง  เลือกกันมา 2 คน  และมีผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์  ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง  ก็เลือกกันมาจำนวน 2 คน  สาขารัฐศาสตร์ก็เลือกกันมาอีก 2 คน  ทั้งหมดที่กำหนดไว้  กรรมการสรรหาก็ประกอบด้วย  ประธานศาลฎีกา  ประธานศาลปกครองสูงสุด  ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ผู้นำฝ้ายค้าน  และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  ซึ่งจะเลือกกันอีกทีให้เหลือ 1 คน  เป็นกรรมการ   นี่คือระบบการเลือกที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

Q : จากเหตุการณ์มหกรรมปล่อยคลิปที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายมหาชน เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นการท้าทายระบบศาลสถิตยุติธรรมครั้งที่ใหญ่ที่ สุดของประเทศไทยหรือเปล่า..?

A : ถ้าไม่พูดถึงศาลยุติธรรมซึ่งยังไม่เคยมีเหตุการณ์แรงแบบนี้ ต้องยอมรับนิดหนึ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญมันเป็นศาลกึ่งการเมืองนิดๆ ซึ่งเมื่อมันเป็นศาลกึ่งการเมืองหน่อยๆ  การเมืองมันก็กระทบ  เวลาตัดสินแล้วถูกใจไม่ถูกใจเนี่ยการเมืองมันก็มีผลกระทบ  แต่ครั้งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเนี่ยต้องถือว่าแรง

อย่างที่ อ.จรัญ (ภักดีธนากุล) พูดว่าระเบิด ก็ยอมรับได้ว่ามันเป็นระเบิด  เพียงแต่การกระทบเนี่ยมันกระทบแรง แต่ความน่าเชื่อถือของสิ่งที่มากระทบมันน้อย   เพราะว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำที่บริสุทธิ์ได้เกิดมาจากศาลเพียวๆ ถ้ามันเกิดขึ้นจากการของศาลเพียวๆ  แล้วคุณไปลอบถ่ายมา  คุณไปเจอมา  อย่างนี้โอเค  แต่นี่เกิดมาจากการจัดฉาก  การตัดต่อ  การวางแผน  การเตรียมการ  และการประติดประต่อเอา  มันเลยไม่ใช่ธรรมชาติ  ตรงนี้มันเลยทำให้สิ่งที่ปล่อยออกมา แทนที่มันจะได้ผล  100%  เนี่ยมันทำให้ได้เพียง 30-40% 

Q :  อาจารย์กำลังจะบอกว่าคนที่ออกมาเปิดเผยไม่มีเครดิตและความน่าเชื่อถือ..?

A :  1.  คนพูดไม่มีเครดิต  2.  สิ่งที่เป็นข้อมูลไม่ใช่เป็นข้อมูลเพียวๆ มันเจือด้วยสิ่งที่โกหกพกลม 2. มีการเตรียมการ วางแผน ตัดต่อ แม้จะมีมูลอยู่บางส่วนในขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้มีข้อเท็จจริงตามนั้นทั้งหมด ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ ผมยกตัวอย่างเรื่องนายวิรัช (หมายถึงวิรัช กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์) มันก็ยังไม่ได้ชี้ชัดเลยว่ามีใครไปล็อบบี้ใคร และล็อบบี้มีการเสนอผลประโยชน์หรือไม่

ฉะนั้นคลิประลอกแรกต้องถือ เลยว่าปล่อยออกมาด้านไม่ดัง จากที่เห็นว่ามีการคุยกัน  แต่เนื้อหาเหล่านั้นไม่มีอะไร พอคลิปต่อมามันเป็นเรื่องการทำลาย  เรื่องตัวผู้พิพากษา  ดิสเครดิตเลยว่า  เฮ้ย... คนพวกเนี่ย  เป็นคนที่ไม่มีคุณธรรม  ไม่มีจริยธรรม  คือถามว่าเกี่ยวกับคดีของพรรคประชาธิปัตย์ไหม ไม่เกี่ยวเลย  เกี่ยวกับการยุบพรรค  หรือคำวินิจฉัยตัดสินไหม ไม่เกี่ยว  เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า  คนพวกนี้เป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือ  เพราะมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น  แม้แต่ลูกหลานตัวเองก็ยังวิ่งเต้นช่วยเหลือ  เพราะฉะนั้นเนี่ยเป็นคนที่ใช้ไม่ได้  ซึ่งคลิปเหล่านี้ผมก็ไม่รู้  พวกเราก็ไม่รู้ว่า  จริงๆ แล้วเนี่ยมันมีการกระทำอย่างนั้นจริงทั้งหมดหรือไม่  เพราะการพูดในลักษณะพูดนำก็ดี  ในการพูดหลอกอะไรต่างๆ ก็ดี  เพราะฉะนั้นเนี่ยตราบใดก็ตามที่ไม่มีการสอบสวนให้กระจ่างชัด มันก็ยังคลุมเครืออยู่  แต่ถือว่าเป็นการดิสเครดิตไปได้ในระดับหนึ่ง  เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่คนต้องการทำนั้นสัมฤทธิ์ผลแค่ไม่กี่เปอร์เซนต์ 

แต่ ถามว่ามันก็สะเทือนไหม มันก็สะเทือนว่าศาลมีภาพพจน์ไม่ดี  คือคนอย่างน้อยที่สุดก็ต้องคลางแคลงใจว่าทำอย่างนั้นจริงหรือเปล่า  ซึ่งตุลาการเองก็บอกว่าพยายามให้ผลการสอบสวนออกมาปรากฏว่ามันเป็นยังไง  อย่างท่านจรัญก็บอกว่าคำว่า  จ.  เนี่ย  เขาพุ่งไปที่เป้าคุณจรัญ  แต่คุณจรัญเขาบอกแกไม่เคยมีลูกมีหลานไปเรียน  ไม่เคยไปสิงคโปร์ เจตนาเขาแค่ต้องการทำลายคุณจรัญ   

Q :  เรื่องคลิปศาลที่ปล่อยออกมาทั้งหมด มันสะท้อนอะไรบ้าง..?

A :   มองได้หลายส่วน  1. ในทางการเมืองผมถือว่าเป็นการกระทำที่เลวร้ายทางการเมือง พยายามเล่นทุกลูก  ทุกดอก  ทุกเม็ด  ใต้ดิน  บนดิน  โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรม  เป็นการกระทำที่ชอบหรือมิชอบ 2. สะท้อนให้เห็นว่าการที่ตุลาการใช้คนของตัวเองขึ้นมาแล้วทำผิดนั้น ซึ่งจริงๆ มันจะต้องมีความรอบคอบรัดกุม ต้องมีการตรวจสอบประวัติอะไรต่างๆ ให้มากกว่านี้ และ 3. ตุลาการเองจะต้องระมัดระวังในการประพฤติปฏิบัติตนด้วย  เพราะว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นสะท้อนให้มันเห็นว่ามีเค้าลางมันมีมูลอะไรอยู่ บ้าง  เพราะฉะนั้นตัวเองจะต้องปรับท่าทีท่วงทำนองของตัวเองด้วยเหมือนกัน

Q :   ปรับท่าทีหมายถึง

A : วันนี้คนแยกกันไม่ออกหรอกว่าศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลยุติธรรม  และศาลปกครองคืออะไร ศาลรัฐธรรมนูญมันเป็นศาลทางการเมืองนิดๆ และเขามีองค์ประกอบ  ซึ่งประกอบด้วยนักรัฐศาสตร์  นักนิติศาสตร์  แม้ว่ามันไม่ใช่ศาลเพียวๆ   เพราะฉะนั้นคนเนี่ย  เวลาเห็นคำว่าตุลาการ  เขาแยกไม่ออกเลยนะว่า  เฮ้ย  ตุลาการเนี่ยมันศาลยุติธรรมหรืออะไร เพราะจริงๆ แล้วเนี่ย  ต้องแยกกันเลยนะทั้งศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลยุติธรรมเนี่ย  คนละแนวคิดแนวปฏิบัติ

ดังนั้นเมื่อคุณเป็นผู้ พิพากษา คุณตัดสินประหารชีวิตคนหนึ่งคน  หรือจะทำอะไรกับคนถึงขนาดประหารชีวิตเขาตายได้  คุณจะต้องเป็นคนบริสุทธิ์ยุติธรรม  และจะต้องดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม ผมว่าประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบศาลต้องมีการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม ได้ มีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในการวางเนื้อวางตัว ถ้าได้คนไม่ดีก็ต้องช่วยกันสกัดออกไป  ดังนั้นประชาชนก็ต้องช่วยกันในการเป็นหูเป็นตา  อย่าปล่อยให้คนเหล่านี้มีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป

Q :   วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ผู้ที่โดนกล่าวหาถือว่าเงียบเกินไปไหม ..?

A :   ผมคิดว่าท่านทำถูกแล้วครับ  ท่านไม่ควรที่จะออกมาตอบโต้รายวันกับใคร  เพราะการเมืองเนี่ยมันแสบสันต์เกินกว่าที่ท่านจะมาเกลือกกลั้วด้วย  อะไรที่ท่านชี้แจงได้ก็ชี้แจง  แต่ไม่จำเป็นที่จะมาตอบโต้เหมือนที่นักการเมืองเขาตอบโต้กัน

Q :   ตอนนี้ภาพลักษณ์ของศาลภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง ในสายตาอาจารย์..?

A :   ผมว่าศาลอื่นๆ ไม่มีอะไร ระบบยุติธรรมบ้านเรายังทุกอย่างดี  ปกติ  มีแต่ปัญหากับศาลรัฐธรรมนูญ  แต่ทั้งหมดมันเกิดขึ้น  เกิดจากทางการเมือง  ที่พยายามจะทำในสิ่งที่ต้องการ  และก็พยายามหาวิถีทางที่จะทำลาย  หรือดิสเครดิต  แต่ทั้งหมดแล้วโดยตัวศาล  ผมว่ายังเชื่อถือได้  แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่มบุคคลคนอื่นๆ  ที่ต้องการสร้างสถานการณ์เท่านั้น 

Q :   แต่เสียงของอีกฝ่ายเรื่อง 2 มาตรฐานที่ผลิตออกมาก็เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ..?

A :  ถ้าจะให้ผมบอกนะครับ  ไม่มีหรอกครับ  ผมเชื่อในศาลได้ครับ  ผมอยู่ในวงการนี้มา 30 กว่าปี  ผมถือว่าผมเชื่อได้  เพียงแต่ไอ้คนพูดเนี่ยอะไรที่เป็นประโยชน์ตัวเองก็บอกโอเค  เวลาอะไรที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ก็บอกว่าสองมาตรฐาน  ความจริงคนพูดต่างหากที่สองมาตรฐาน

Q : ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ก็บอกให้ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่อีกฝ่ายบอกว่าไม่ควรยุบ อาจารย์เห็นควรประการใด..?

A :   ผมเองยอมรับได้ทั้งนั้นนะ  เพราะว่าจะยุบไปแล้วไปอยู่กับศาลฎีกาก็ได้  คืออันนี้แล้วแต่สถานการณ์ทางการเมือง  ถ้ายุบแล้วเวลาพิจารณาที่มีปัญหาข้อขัดแย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ  คุณก็ให้ตั้งตุลาการศาลฎีกามา  ซึ่งก็เหมือนศาลทั่วๆ ไป  ผมยอมรับได้ครับ  เพราะอย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้มีองค์คณะมากขึ้นแทนที่จะมีแค่ 8-9 คน  แล้วก็มันมีกฏหมายเฉพาะในการระมัดระวังป้องกัน  และรวมทั้งไม่ให้การเมืองเข้ามาก้าวก่ายเกินไปนัก  อันที่ 1 คือมันเป็นเป้า  และเวลาตัดสินทางการเมือง  แล้วยิ่งทางการเมืองแรงทำให้ศาลถูกก้าวล่วงมากยิ่งขึ้น  เพราะฉะนั้นถ้าปล่อยไปไว้ที่ศาลฎีกาซะ  แล้วเรียกว่าแผนกศาลรัฐธรรมนูญหรือแผนกรัฐธรรมนูญ  อะไรก็ว่ากันไป  ก็เหมือนแผนกเลือกตั้งของนักการเมือง  แผนกอะไรก็ว่ากันไป  ผมว่าโอเครับได้ครับ

Q :  การที่มีอยู่ หรือ ไม่มีอยู่ของ "ศาลรัฐธรรมนูญ"  ประชาชนจะได้หรือเสียประโยชน์อะไรบ้าง..?

A :   ผมว่ายังไงต้องมี  เพราะว่าสิ่งที่เขาพิจารณาแล้ว  อย่างนี้ก็มีมาตลอด  รัฐธรรมนูญฉบับไหนก็มีครับ ศาลรัฐธรรมนูญ  เพราะเมื่อมันมีข้อขัดแแย้งอันเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ  หรือมีข้อขัดแย้งกับแนวทางปฏิบัติอันเกี่ยวกับกฎหมายที่มีข้อขัดแย้งโต้แย้ง กัน  องค์กรที่จะวินิจฉัยหรือตัดสินนั้นก็คือศาลรัฐธรรมนูญ  บางทีศาลยุติธรรมกับศาลอื่นก็ขัดแย้งกัน  ถามว่าจะให้ศาลไหนตัดสิน  เขาก็ต้องถือเอาศาลรัฐธรรมนูญ  เพราะถือว่าเป็นองค์กรสูงสุด  เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรนี้  เพราะไม่อย่างนั้นเวลาเกิดความขัดแย้งกัน  ในเรื่องกฎหมายก็ดี  การปฏิบัติระหว่างองค์กรก็ดี  ไม่มีองค์กรไหนที่จะตัดสินได้  ซึ่งเขาก็กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นเป็นผู้ชี้ขาด  ทีนี้ถามว่าถ้าไม่มีองค์กรนี้ใครจะเป็นผู้ชี้ขาด  ก็ต้องหาองค์กรอื่นเหมือนกันมาชี้ขาด  ส่วนจะชื่ออะไรนั้นเป็นอีกเรื่อง  แต่ทำหน้าที่เดียวกัน  สรุปจำเป็นต้องมีองค์กรนี้  ถ้าไม่มีมันจะไม่มีองค์กรที่จะชี้ขาด  เรื่องการขัดแย้งทางกฏหมาย  เรื่องการปฏิบัติแต่ละองค์กร  และเรื่องขัดแย้งต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร  ฝ่ายตุลาการ แต่จะย้ายไปอยู่ในส่วนที่ผมว่าและเรียกว่าอะไรก็ได้ แต่อย่างไรก็ต้องมีคนทำหน้าที่เหมือนกับที่ศาลรัฐธรรมนูญทำ

Q : สุดท้ายจากเหตุการณ์ที่สลับซับซ้อนดังกล่าวในฐานะประชาชน เราจะมีทีท่ากับสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินได้อย่างไร..?

A :  หลักการคิดง่ายๆ ต้องดูว่าการวินิจฉัยเป็นไปด้วยเหตุด้วยผลหรือเปล่า  เวลาที่เราเป็นนักกฎหมาย  หรือคนที่ไป  เวลาจะพูดเนี่ยอย่าสักแต่พูดตามกระแแสโดยไม่ได้อ่านคำพิพากษา  ถ้าเราอ่านคำพิพากษาแล้วเนี่ย  เราจะรู้ได้ว่าคำพิพากษานั้นเป็นเหตุเป็นผล  มีทั้งข้อเท็จจริง  ข้อกฎหมาย  รองรับสมเหตุสมผลหรือไม่  ถ้าคำพิพากษาและวินิจฉัยนั้นเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล  โดยมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายรองรับได้  นั่นแหละครับ  เราจะยอมรับในคำวินิจฉัยได้  อย่าไปมองหน้าคน  หรืออย่าไปนึกถึงหน้าคน  หรืออย่าไปนึกถึงเรื่องของคน 

ผมเคยบอกว่าสงสารเสื้อแดงยังไงก็แล้ว แต่  อยากจะช่วยเสื้อแดงเหลือเกิน  แต่ถ้าเนื้อหาข้อเท็จจริงแล้วข้อกฎหมาย  มันตัดสินแล้วว่ายังไงต้องลงโทษ  เขาไม่ได้ตัดสินโดยมองเสื้อแดง-เสื้อเหลือง ศาลจะเป็นอีกสีหนึ่ง ศาลจะชอบคนนี้จะเกลียดคนนี้ อยากช่วยเต็มที  แต่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมันไม่สามารถจะช่วยได้  เขาก็ต้องตัดสินลงโทษ  เพราะฉะนั้นเวลาพิจารณา  หรือจะสนิทใจ  ดูจากคำวินิจฉัยเป็นสำคัญ  มองด้วยเหตุด้วยผล  ดูแล้วมีเหตุมีผล  มีข้อกฎหมาย  มีข้อเท็จจริงรองรับได้หรือไม่  นี่แหละจะเป็นตัวชี้ขาดหรือวินิจฉัยได้.



ที่มา ไทยรัฐ


ทะแนะ

ผมเชื่อกฏแห่งกรรมครับ และยังเชื่อว่าทุกหน่วยงานของรัฐยังเล่นเส้นเล่นสาย ถ้าไม่จริงให้ผมตายห่...ณ.บัดนี้ได้เลย

ฅนสองเล

ถ้าคนในประเทศไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรมแล้วบ้านเมืองก็มีแต่ความเดือดร้อนประท้วงกันไปมากลับสู่กลียุคไม่สิ้นสุด

กระบวนการยุติธรรมยังเป็นที่พึ่งพิงได้เสมอ

ฟานดี้

อ้างจาก: บก.เท่ง ทองแดง เมื่อ 09:22 น.  15 พ.ย 53
ถ้าคนในประเทศไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรมแล้วบ้านเมืองก็มีแต่ความเดือดร้อนประท้วงกันไปมากลับสู่กลียุคไม่สิ้นสุด

กระบวนการยุติธรรมยังเป็นที่พึ่งพิงได้เสมอ