ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ม็อบชาวนายัน ปิด'แยกวังมะนาว'จนกว่าจะได้เงิน

เริ่มโดย itplaza, 10:39 น. 04 ก.พ 57

itplaza

ม็อบชาวนาปิดแยกวังมะนาว ยืนยันปักหลักชุมนุมยาวจนกว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินให้ชาวนา กก.บริหารสมาคมชาวนาข้าวไทยเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งขายข้าวในสต๊อก...

จากกรณีชาวนาใน จ.ราชบุรี เพชรบุรี และสมุทรสาคร รวมกับกลุ่ม กปปส.  ปิดถนนพระราม 2 แยกวังมะนาว ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 83-84 ใกล้หน่วยบริการประชาชนตู้ยามตำรวจทางหลวงวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ทั้งขาเข้ากรุงเทพฯ และขาล่องใต้ เป็นวันที่ 3 ตามที่ไทยรัฐออนไลน์เสนอไปนั้น

ความคืบหน้าช่วงเย็นวันที่ 3 ก.พ. นายสุวิทย์ เชิงชวน แกนนำชาวนาจังหวัดนครปฐม ระบุว่า จะปักหลักชุมนุมไปจนกว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินให้กับชาวนา หรือมีตัวแทนจากภาครัฐเข้ามาเจรจากับชาวนาว่าจะสามารถจ่ายเงินให้ได้เมื่อไหร่ แต่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีใครเข้ามาเจรจา

นางสมพร เดชบุญ ชาวนาจากจังหวัดราชบุรี ระบุว่า สาเหตุที่เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ เพราะได้รับความเดือดร้อน หลังนำข้าวเข้าร่วมโครงการจำนำข้าวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มูลค่ากว่า 4 แสนบาท แต่ปรากฏว่า ถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้รับเงิน ขณะที่ค่าใช้จ่าย ทั้งค่างวดรถยนต์ ภาระหนี้สินที่กู้เงินมาจาก ธ.ก.ส. รวมทั้งค่าใช้จ่ายการทำนารอบใหม่ ทำให้ทุกวันนี้ต้องนำเงินเก็บเข้ามาใช้จ่าย และบางส่วนก็ต้องไปกู้เงินนอกระบบเข้ามาใช้จ่ายหมุนเวียนในครอบครัว ตนยืนยันว่าชาวนาที่มาชุมนุมที่แยกวังมะนาว เป็นชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนจริง ไม่ใช่ชาวนาตัวปลอมอย่างที่บางคนกล่าวหา และขอให้รัฐบาลเห็นใจเร่งหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนา 

ด้าน นายทวีศักดิ์ วีระศักดิ์ กรรมการบริหารสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล เพื่อนำเงินมาจ่ายคืนค่าข้าวให้ชาวนา เพราะเป็นวิธีเดียวที่เหลืออยู่ หลังธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐไม่ให้กู้เงิน ส่วนในระยะยาวเสนอให้ชาวนาทั่วประเทศรวมตัวในลักษณะชุมชนเข้มแข็ง สร้างอำนาจต่อรองกับรัฐบาล และสร้างมาตรฐานในการพยุงราคาข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนา

นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สมาคมโรงสี และสมาคมผู้ส่งออกข้าว เห็นชอบแนวทางร่วมกันว่า จะให้รัฐบาลในอนาคตใช้แนวทางประกันราคาข้าว โดยรัฐบาลจ่ายเงินส่วนต่างราคาข้าวที่ได้จากโรงสีตามราคาที่กำหนด ซึ่งชาวนาจะได้รับเงินสดในการขายข้าวจากโรงสี และส่วนต่างที่เหลือผ่านบัญชีธนาคารจากรัฐบาล

ขณะที่ ธ.ก.ส. จะสนับสนุนสินเชื่อผ่านบัตรเครดิตเกษตรกร 3,000 บาท/ไร่ จากเดิม 1,000 บาท/ไร่ เพื่อสนับสนุนปัจจัยการผลิต ซึ่ง ธ.ก.ส. จะเข้ามาร่วมดูแลปัจจัยการผลิตให้ได้คุณภาพ และมีราคาที่เหมาะสม จากนั้นเมื่อขายข้าวได้เงินชาวนาก็สามารถนำเงินไปชำระคืน เพื่อสามารถนำบัตรเครดิตเกษตรกรมาใช้ขอสินเชื่อในการผลิตครั้งต่อไป โดยเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

ขอบคุณเนื้อหา  thairath.co.th
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=33049&page=1

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พิมพ์คำว่า กิมหยง ลงในคำตอบ:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง