ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ผลเลือกตั้ง 2 ก.พ.บอกอะไรในการเมืองไทย?

เริ่มโดย itplaza, 11:15 น. 06 ก.พ 57

itplaza


ผ่านพ้นไปอย่างทุกลักทุเลพอสมควร กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ เพราะในการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ มีหน่วยเลือกตั้งรวม 93,952 หน่วย สามารถเปิดลงคะแนนได้ 83,813 หน่วย และปิดลงคะแนนไป 10,139 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 89.2 โดยมี ประกาศงดลงคะแนนใน 18 จังหวัด โดยงดลงคะแนนทั้งจังหวัด 9 จังหวัดและงดลงคะแนนบางส่วน 9 จังหวัด รวม 69 เขตแบ่งเป็นเขตที่ประกาศงดลงคะแนนทั้งเขต 37 เขต และงดลงคะแนนบางส่วน 32 เขต



ดังนั้น จากภาพรวมการไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ พบว่า มีผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วรวม 20,129,976 คนจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 43,024,042 คนหรือคิดเป็น 46.79% จำนวนบัตรดี 14,368,692 ใบหรือ 71.38% บัตรเสีย 2,425,334 ใบหรือ 12.05% และมีผู้กาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนอีก 3,335,334 ใบหรือ 16.57%

มาดูเฉพาะในภาคเหนือ 16 จังหวัดที่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ครบทุกหน่วยเลือกตั้งพบว่า  มีผู้มาใช้สิทธิ์รวม 4,776,165 คนหรือ 56.02% จากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 8,525,384 คน บัตรดี 2,997,743 ใบหรือ 62.76% บัตรเสีย 766,776 ใบหรือ 16.05% และไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,011,645 ใบหรือ 21.18%

ส่วนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัดซึ่งสามารถจัดการเลือกตั้งได้ครบทุกหน่วยเช่นกัน  พบว่า มีผู้มาใช้สิทธิ์รวม 9,009,351 คนหรือ 55.31% จากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 16,290,351 คน บัตรดี 7,301,013 ใบหรือ 81.03% บัตรเสีย 847,895 ใบหรือ 9.41% และไม่ประสงค์ลงคะแนน 860,970 ใบหรือ 9.56%



ขณะที่ภาคกลาง 25 จังหวัด (ยกเว้น กทม.) พบว่า มีผู้มาใช้สิทธิ์รวม 5,016,503 คนหรือ 41.04% จากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 12,222,346 คน บัตรดี 3,192,528 ใบหรือ 63.64% บัตรเสีย 645,513 ใบหรือ 13.05% และไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,169,457 ใบหรือ 23.31%

สำหรับที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 6,671 หน่วย เปิดลงคะแนนได้ 6,155 หน่วย งดลงคะแนน 516 หน่วย โดยมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 4,369,120 คน มาใช้สิทธิ์แล้ว 733,196 คนหรือ 16.18% บัตรดี 498,847 ใบหรือ 68.04% บัตรเสีย 58,254 ใบหรือ 7.95% และไม่ประสงค์ลงคะแนน 176,094 ใบหรือ 24.02% ส่วนที่ภาคใต้ลงคะแนนได้เพียง 6 จังหวัด มีผู้มาใช้สิทธิ์แล้วเพียง 594,234 คนหรือ 36.75%

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ์ในครั้งนี้ ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขสุดท้ายได้ เพราะยังไม่ได้รวมผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ล่วงหน้าและใช้สิทธิ์นอกเขตอีกประมาณ 2 ล้านคน ยังไม่ได้มาลงคะแนน รวมทั้งประชาชนในจังหวัดและหน่วยที่ยังขัดการเลือกตั้งไม่ได้อีกประมาณ 10 ล้านคน




แต่เมื่อนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้ว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 35,220,208 คนหรือร้อยละ 75.03% จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 46,939,549 คน จะพบว่ามีตัวเลขประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งลดลงเหลือเพียง 46.79%

และเมื่อนำคะแนนที่พรรคเพื่อไทยเคยได้ในการเลือกตั้งครั้งก่อนที่ 15,744,190 คนมาเปรียบเทียบกับคะแนนบัตรดีเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 ที่ 14.38 ล้าน พอจะชัดเจนแล้วว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะได้คะแนนเสียงลดน้อยลง เพราะในจำนวนบัตรดีกว่า 14 ล้านเศษนี้ ยังไม่ได้หักจำนวนผู้ที่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองอื่น ซึ่งน่าจะทำให้จำนวนลดลงอีก



หรือหากจะรอพึ่งคะแนนเสียงจากกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มผู้ขอใช้สิทธิ์ล่วงหน้าหรือขอเลือกตั้งนอกเขต ก็ไม่น่าจะมีผลต่อการเพิ่มคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยมากนัก เพราะพื้นที่ที่ยังไม่มีการจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในภาคใต้  ถือว่าเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้

ในทางกลับกัน ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ผู้ที่ไม่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอีกกว่า 50% จะลงคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองใด เพราะเมื่อเปรียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 แล้ว พบว่า จำนวนที่เคยมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งหายไปประมาณ 28.23% ซึ่งไม่แน่ใจว่าในจำนวนที่หายไปนี้ เป็น "มวลมหาประชาชน" ที่ไม่มาใช้สิทธิ์เพราะไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งครั้งนี้มากน้อยเพียงใด



ดังนั้น จากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 พรรคเพื่อไทยต้องยอมรับว่า ได้รับคะแนนนิยมลดน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งบอยคอตไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ย่อมไม่สามารถทึกทักได้ว่า พรรคของตนจะได้คะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนเช่นกัน

ขณะเดียวกัน กลุ่ม กปปส. ก็ไม่สามารถเหมารวมได้ว่า จำนวนคนที่ไปเลือกตั้งน้อยลงจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว จะเป็นผู้ที่สนับสนุนแนวทางของ กปปส.เสียทั้งหมด เพราะหลายคนอาจจะตั้งใจไม่ออกไปใช้สิทธิ์อยู่แล้ว เพราะตลอดระยะเวลาก่อนการเลือกตั้ง เราแทบจะไม่ได้เห็นแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองปรากฎให้เห็นเลย

แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ คนไทยทุกคนต้องยอมรับว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งในภาวะที่การเมืองในประเทศไม่ปกติ ประชาชนยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล เป็นการเลือกตั้งภายใต้ภาวะที่ประชาชนมีความขัดแย้งแตกแยกกันมากที่สุด

นอกจากนี้ แม้ว่าจะมองไปถึงอนาคตข้างหน้า ก็ยังไม่หลักประกันอะไรที่จะบอกว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถจัดการเลือกตั้งทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งในเขตที่เหลือได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.มากพอที่จะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้



ผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 จึงน่าจะเป็นสัญญานบอกกับคนไทยทั้งหลายว่า เราต้องใช้จ่ายเงินเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยด้วยการเดินหน้าจัดให้มีการเลือกตั้งไป ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า การเลือกตั้งจะไม่เรียบร้อยและไม่ใช่ทางออกของประเทศไทย ไปเป็นจำนวนกว่า 3,800 ล้านบาท

ส่วนใครจะคิดว่า "คุ้ม" หรือ "ไม่คุ้ม" ย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองและแนวคิดทางการเมืองของแต่ละคน ที่ใครๆ ก็ไม่อาจก้าวล่วงได้...

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
http://www.twitter.com/chavarong
chavarong@thairath.co.th

ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=7&news_id=33126&page=1