ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ใน"เฟซบุ๊ก" เมื่อ"คนเหนือ-อีสาน"ระดมพล เสียบประจาน"คนไม่เอ

เริ่มโดย ปชปหัวก้าวหน้า, 12:10 น. 11 ก.ค 54

ปชปหัวก้าวหน้า

   
ใน"เฟซบุ๊ก" เมื่อ"คนเหนือ-อีสาน"ระดมพล เสียบประจาน"คนไม่เอาตุ๊กตาบาร์บี้"


ควันหลงเลือกตั้งใน"เฟซบุ๊ก"
เมื่อ"คนเหนือ-อีสาน"ระดมพล เสียบประจาน"คนไม่เอาตุ๊กตาบาร์บี้"

พรรคเพื่อไทยสามารถคว้าชัยชนะเหนือคู่ต่อกรสำคัญ
อย่างพรรคประชาธิปัตย์ไปได้อย่างถล่มทลาย 265-159 เสียง ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554

เพื่อไทยสามารถกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างมโหฬารในภาคอีสานและเหนือ
แต่ก็ล้มเหลวสิ้นเชิงในภาคใต้
ที่สำคัญ พวกเขายังพ่ายแพ้ต่อประชาธิปัตย์ในสนาม กทม.
ซึ่งถือเป็นความพ่ายแพ้ที่มีนัยยะน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ผลการเลือกตั้งเหล่านี้ได้ถูกส่องสะท้อนออกมา
ผ่านความสัมพันธ์ของเหล่าสมาชิกเฟซบุ๊กชาวไทยเช่นกัน



เมื่อสมาชิกชาวไทยจำนวนมาก (หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่) ในเฟซบุ๊ก คือ
คนชั้นกลางขึ้นไปในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

พวกเขาจึงแสดงอาการผิดหวังรับไม่ได้กับผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
อันนำไปสู่การรวมตัวกันเป็นหน้าเพจจำนวนหนึ่ง อาทิ

เพจ "เราไม่เอา ตุ๊กตาบาร์บี้ ไร้สมอง มาบริหารประเทศ" (ณ วันที่ 6 กรกฎาคม มีสมาชิก 3,577 ราย)

ซึ่งประกาศจุดยืนของตนเองว่าเป็น
"คนไทยที่มีสมอง ไม่ต้องการบาร์บี้ไร้สมอง มานั่งเป็นนายกหุ่นเชิดให้ นักโทษ โกงชาติ ล้างผิด"

เพจ "มั่นใจว่าคนไทย เกิน 1 ล้านคน เซ็งกับผลการเลือกตั้ง" (ณ วันที่ 6 กรกฎาคม มีสมาชิก 6,557 ราย)

ซึ่งอธิบายจุดยืนส่วนตัวว่า
"เพจนี้สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนอาการเซ็งของคน ที่ถูกเรียกว่าเป็น "เสียงส่วนน้อย""

"ยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่...ไว้อาลัยให้กับผลการเลือกตั้ง
เซ็งกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต
ท้อแท้กับความรู้สึกที่หวนคิดถึงสิ่งที่พวกเค้าทำไว้กับประเทศไทย"

และเพจ "มั่นใจคนไทยเกิน 10 ล้านคน
อยากให้คุณอภิสิทธิ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง"
(ณ วันที่ 6 กรกฎาคม มีสมาชิก 12,766 ราย) เป็นต้น



ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนยังผลิตซ้ำวาทกรรม
ทำนอง "คนอีสาน/คนชนบทโง่ ด้อยการศึกษา
และถูกนักการเมืองผู้โกงกินหลอก" ออกมาในสถานะของตนเอง

เช่น "น.ส.น" (นามสมมุติ) ที่ได้พิมพ์ข้อความ
ในหน้าเฟซบุ๊กของตนเองภายหลังการเลือกตั้งว่า
"ภาคอีสานนอกจากจะเป็นภาคที่หน้าตาแย่ที่สุดแล้ว จนที่สุดแล้ว ยังโง่ที่สุดด้วย"
หรือ "น.ส.ป" (นามสมมุติ) ที่พิมพ์ข้อความดูถูกคนอีสานในลักษณะคล้ายคลึงกันออกมา

นำมาสู่ปฏิกิริยาตอบโต้ของสมาชิกเฟซบุ๊กจากอีกฝั่งฟากทางความคิดและจุดยืนทางการเมือง

เมื่อเกิดเพจกลุ่ม "มั่นใจคนอีสานทั้งประเทศไม่พอใจ น.ส.น"
และเพจ "คนอีสานแค่ต้องการคำขอโทษจาก น.ส.น"
(ณ วันที่ 6 กรกฎาคม มีสมาชิก 11,404 ราย และ 9,254 ราย ตามลำดับ)
รวมทั้งเพจ "มั่นใจคนอีสานทั้งประเทศไม่พอใจ น.ส.ป" (มีสมาชิก 6,707 ณ วันเวลาเดียวกัน)

ซึ่งมีจุดยืนคล้ายๆ กันว่า พวกเรา ไม่ได้ต้องการจะเป็นศัตรูกับใครหรือคนภาคไหน
เพราะเรารู้ว่า ทุกภาคมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกันไป
พวกเราเพียงแค่อยากเห็นพวกคุณได้สำนึกผิดในสิ่งที่ได้ทำลงไป

ต่อมา มีการถือกำเนิดขึ้นของเพจลักษณะเดียวกันตามมาอีก 2-3 กลุ่ม ได้แก่
"พวกเราคนเหนือและคนอีสานต้องการคำขอโทษจากคนภาคอื่นที่พูดจาดูถูกพวกเรา"
"กลุ่มคนฮักภาคอีสาน เกลียดการดูถูกคนอื่น" และ
"คนอีสานมีการศึกษา เข้าใจคำว่าประชาธิปไตย ไม่ชอบให้ใครมาดูถูก"

ที่อธิบายแนวทางของตนเองว่า
"ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงพลังต่อต้านการกระทำของผู้คนเมือง
ที่ดูถูกเหยียดหยาม เหยียบย่ำหัวใจคนอีสาน และขอเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จะขอเรียกร้องให้คนเหล่านี้
ออกมากราบขอโทษพ่อแม่พี่น้องชาวอีสาน อันเป็นกระดูกสันหลังของชาติค่ะ"

หรือ "เราจะรวมตัวกันเพื่อต่อต้านพวกที่เรียกว่า "การศึกษาสูง"
แต่ชอบทำตัว "ดูถูก" คนอื่น ซึ่งไม่เข้าใจว่าคนที่มีการศึกษาเค้าทำกันแบบนี้เหรอ?
สำหรับคนที่จะเข้าร่วมแฟนเพจ ต้องเข้าใจคำว่า
1.ประชาธิปไตย 2.เสียงส่วนใหญ่ 3.กติกา"



หลายคนเห็นว่าการเกิดขึ้นของเพจกลุ่มหลัง
ถือเป็นการโต้ตอบทัศนะทางการเมืองของกลุ่มคนที่บางฝ่ายนิยามเอาไว้ว่า
เป็น "พวกสลิ่ม" (เห็นได้จากการถือกำเนิดของอีกหนึ่งเพจที่น่าสนใจ
ซึ่งมีชื่อว่า "รวมวาทกรรมสลิ่มอกหัก"
ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้อความแสดงอาการเกลียดชัง
เพื่อนร่วมชาติของเหล่าคนชั้นกลางภายหลังวันที่ 3 กรกฎาคม)

หลายคนแสดงความเป็นห่วงว่า
นี่เป็นอีกปรากฏการณ์ล่าแม่มดด้านกลับในโลกออนไลน์
จากที่คนเสื้อแดงหรือผู้มีจุดยืนเคียงข้างเสื้อแดงเคยถูกไล่ล่าอย่างหนักในช่วงปี 2553
ด้วยข้อหาเผาบ้านเผาเมือง-ไม่จงรักภักดี

มาเป็นการที่คนอีสาน-คนเหนือ กระทำการเสียบประจานคนกรุงมีการศึกษา
ด้วยข้อหาดูถูกดูแคลน และไม่ยอมรับคะแนนเสียงเลือกตั้งของเพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่ ในปี 2554

แต่เหตุการณ์ก็อาจไม่รุนแรงอย่างนั้น ดังเช่นจุดยืนของเพจกลุ่ม
"คนอีสานแค่ต้องการคำขอโทษจาก น.ส.น" ซึ่งประกาศว่า
"เพียงแค่คุณออกมาขอโทษในบอร์ดของเพจนี้ ผมจะเปลี่ยนชื่อเพจภายใน 7 วันเลยครับ"

ส่งผลให้เมื่อ น.ส.น ประกาศขอโทษคนอีสานในหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง
ก็มีการรณรงค์ให้สมาชิกในกลุ่มทยอยลบข้อความและภาพเสียบประจาน น.ส.น
ออกจากเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมออนไลน์

เหมือนกันกับเพจ "รวมวาทกรรมสลิ่มอกหัก"
ที่กำหนดให้สมาชิกทำการลบชื่อและปิดบังใบหน้าของเจ้าของข้อความ
ซึ่งนำมาเผยแพร่ เพื่อป้องกันมิให้เพจกลุ่มของตนเองกลายเป็นกลุ่มล่าแม่มดออนไลน์

จึงเป็นอีกครั้งที่ "สังคมออนไลน์" เฟซบุ๊ก
สามารถสะท้อนภาพความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทย
ใน "โลกออฟไลน์" ออกมาได้อย่างแหลมคม และไม่ร้างไร้ความหวังจนเกินไป

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310285646&grpid=no&catid=&subcatid=