ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

หยุด 'Hate Speech' โลกโซเชียล เริ่มง่ายๆ ที่ตัวเรา!

เริ่มโดย itplaza, 13:19 น. 27 ก.พ 57

itplaza

"Hate Speech" หรือ "วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง" ไม่ใช่คำใหม่ในโลกนี้ แต่ในประเทศไทย Hate Speech เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุรุนแรงทางการเมือง ซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น โดยเฉพาะปฏิกิริยาของคนในโลกสังคมออนไลน์ ที่การแบ่งปันเนื้อหาเป็นเหมือนไวรัส เมื่อทราบข่าวการสูญเสีย ต่างโพสต์ข้อความทั้งข่าว ภาพ รวมถึงแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย และแตกต่างอย่างต่อเนื่อง...

จากการมอร์นิเตอร์ของ "ไทยรัฐออนไลน์" พบว่า ผู้ใช้งานออนไลน์จำนวนมาก แสดงความเห็นในเชิงด่าทอ เหน็บแนม เสียดสีฝ่ายตรงข้ามอย่างดุเดือด ทำให้ภาพ "แบ่งเขา แบ่งเรา" ชัดเจนมากยิ่งขึ้น



ช่วงเวลาเช่นเดียวกับการแพร่คลิปวิดีโอ เรื่อง "Hate Speech เบื้องต้นสำหรับคนไทย" โดยศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่มี ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตรอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เขียนบท ได้เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า การจัดทำคลิปเป็นการต่อยอดมาจากข้อเสนองานวิจัย เรื่อง "การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง" ที่เห็นว่า การให้ประชาชนได้รู้ถึงความรุนแรง และผลกระทบของการใช้ Hate Speech นั้นเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ควรจบเพียงแค่เสนอแนะในงานวิจัยเท่านั้น จึงตัดสินใจเขียนบท และร่วมมือกับลูกศิษย์จัดทำคลิปขึ้นมา ทั้งนี้ ในมุมมองของ ดร.พิรงรอง เห็นว่า ขณะนี้ Hate Speech ในความขัดแย้งทางการเมืองของไทย เดินทางมาสู่จุดที่มีการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงอย่างมาก

"ยิ่งการเมืองร้อน บวกกับมีโชเชียล Hate Speech ก็ยิ่งแพร่เร็ว เรามักคิดว่า โซเชียลมีเดียเป็นกึ่งส่วนตัว แต่ที่จริงคือไม่ใช่ เพราะมันแชร์ มันไลค์ได้ ยิ่งมีความรุนแรง ความสูญเสีย มีความโกรธแค้น ก็ยิ่งหนักขึ้นอีก แม้แต่การพาดหัว ซึ่งอาจจะเป็นการพาดปกติ เพื่อให้ง่ายต่อการเกิดภาพจำ แต่ก็เป็น Hate Speech ในระดับ 1 นานไปอาจจะสะสม และเพิ่มระดับความรุนแรงเป็น 2 หรือ 3 หรือ 4 ได้ ดังนั้น การหลีกเลี่ยงการใช้ Hate Speech ไม่ใช่การหยุดวิพากษ์วิจารณ์ เรายังทำได้ แต่ต้องทำแบบปราศจากอคติส่วนตัว ที่มองว่าเขาแตกต่างจากเรา ไม่การเหมารวม หรือการแบ่งเขา แบ่งเรา หรือโทษว่า คนนี้เป็นแบบนี้เพราะสังกัดกลุ่มนี้ ควรวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมที่ผิดศีลธรรม นอกจากนี้ การรู้เท่าทันสื่อของผู้ใช้ ก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน" ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าว

ด้วยความง่าย รวดเร็ว และสามารถสื่อสารได้ตลอดเวลาของคนในปัจจุบัน เป็น 1 ในเหตุผลที่ "วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ" บรรณาธิการบริหารนิตยสารจีเอ็ม (GM) ผู้ที่สนใจพฤติกรรมผู้ใช้สังคมออนไลน์ มองว่า ปัจจัยนี้ ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียใช้ Hate Speech กันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความร้อนแรงของการเมืองที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ด้วย

"ตอนนี้เห็นคำด่าทอ คำเหน็บแหนม คำพูดให้ร้ายกัน ในสังคมออนไลน์มากมาย โดยเฉพาะประเด็นการเมือง เพราะมันง่ายกว่าการพูดคำว่ารัก หรือแบบอื่น เป็นธรรมชาติ และการสื่อสารของมนุษย์ และเมื่อเราถึงยุคที่เราสามารถแสดงออกได้ทุกอย่าง ทุกที่ทุกเวลา ทำให้เราทำทุกอย่างง่ายขึ้น เราอยู่หลังคีย์บอร์ด เราพูดอะไรก็ได้ เมื่อก่อนไม่เคยมีโซเชียลมีเดีย รูปแบบของการสื่อสารไม่ใช่แบบนี้เลย ซึ่งพอมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น มันก็ยิ่งกระตุ้น และทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก มากไปกว่านั้น การบอกให้หยุดใช้ Hate Speech ก็ถือว่าเป็น Hate Speech อีกรูปแบบหนึ่ง กลับกลายเป็นว่าดึงประเด็นนี้มาใช้โจมตีฝ่ายตรงข้าม" วุฒิชัย กล่าว

วุฒิชัย ยังกล่าวอีกว่า การหยุดเกลียดกันก่อน หยุดเสียดสี เหน็บแนม เหมารวม หรือแบ่งข้าง ก็จะเป็นการหยุดใช้ Hate Speech ได้ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องสร้างตัวตนจากการเกลียดคนอื่น เราควรใช้ความรักมากกว่า นอกจากนี้ แม้การเมืองจะเป็นประเด็นที่สมควรถูกวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียง แต่ควรทำแบบพอดี และหันไปสนใจเรื่องอื่นในชีวิตนอกเหนือจากการด่าทอกันในโซเชียลมีเดียบ้าง



สำหรับงานวิจัยเรื่อง "การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง" ระบุว่า การนิยามการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังในไทยยังไม่ชัดเจน ซึ่งต่างประเทศคำนี้ ไม่ได้หมายถึงแค่คำพูดอย่างเดียว แต่รวมถึงการแสดงออก "ทุกรูปแบบ" ที่หวังผลเพื่อโจมตีกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคล โดยมุ่งไปที่ฐานของอัตลักษณ์ ที่อาจติดตั้งมาแต่ดั้งเดิมหรือภายหลัง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด/ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอื่น ที่สามารถทำให้ถูกแบ่งแยกได้ ทั้งนี้ ตัวอย่างของ Hate Speech ในสังคมไทยที่ผ่านมา คือ การแพร่แนวคิดเรื่อง "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" ในเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 หรือกรณีของ "ก้านธูป" นักเรียนคนหนึ่งที่ถูกคุกคามและข่มขู่ อันเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า Hate Speech ต้องมีลักษณะของการนำไปสู่ความรุนแรง เช่น ปลุกระดมให้เกลียดใคร ให้ทำร้ายร่างกาย หรือข่มขู่จนผวา โดยในพื้นที่ออนไลน์ของไทย มี 3 รูปแบบ ได้แก่ กระดานสนทนา (เว็บบอร์ด), โซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์แบ่งปันคลิปวิดีโอ Youtube ซึ่งมีความรุนแรง 4 ระดับ ตั้งแต่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน สร้างความเข้าใจผิด ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง และกำจัดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันบริบทที่เอื้อให้เกิด Hate Speech คือ ความขัดแย้งทางการเมือง โดยผู้ใช้ร้อยละ 37.6%  ใช้ Hate Speech ในเฟซบุ๊ก, ร้อยละ 53.0 ใช้ในเว็บบอร์ด และร้อยละ 75.8 ใช้ในยูทูบ

โดยระดับความรุนแรง ส่วนใหญ่จะเป็นการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกล่าวหา กล่าวโทษรุนแรง ประณาม แฉ ว่าร้าย พูดจาดูหมิ่น เหยียดหยาม สบประมาท ทำให้ขบขัน ลดคุณค่า ทำให้ด้อยค่าในสายตาผู้อื่น เยาะเย้ยอย่างรุนแรง สมน้ำหน้า ทับถม ไปจนถึงเปรียบเทียบในลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นไม่ใช่คน

อย่างไรก็ตาม ในคลิปวิดีโอ "Hate Speech เบื้องต้นสำหรับคนไทย" มีการเสนอทางออก และการลดการใช้ Hate Speech เช่นกัน คือ 1. การให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับความรุนแรงของ Hate Speech รวมถึงให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ 2. การส่งเสริมการทำงานของสื่อ 3. การเสนอให้มีการเจรจากับด้วยเหตุและผล และ 4. มุ่งเน้นการแก้ไขไปที่ผู้ใช้งานออนไลน์ ด้วยการไม่ Like / Share ให้คิดก่อนโพสต์ ตอบโต้กันด้วยหลักการ และเนื้อหาที่มีสาระ รวมไปถึงการกดรายงานข้อความที่เป็น Hate Speech.



คลิป : http://www.youtube.com/watch?v=8AKcSTY0TEc

ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=7&news_id=33675&page=1