ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

นิธิ เอียวศรีวงศ์: เมื่อชนชั้นนำขาดเอกภาพการนำและสองหนทางหลั

เริ่มโดย ปชปหัวก้าวหน้า, 12:03 น. 13 ก.ค 54

ปชปหัวก้าวหน้า

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการปาฐกถาหัวข้อ "ปฏิรูปสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง: บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน" โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โดยตอนหนึ่งของการปาฐกถาทั้งนี้นิธิตั้งข้อสังเกตว่า ถึงกลุ่มชนชั้นนำที่ยังเห็นว่าสิ่งที่เกิดขณะนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองแบบเดิม เป็นการต่อสู้ระหว่างทักษิณกับกลุ่มของพวกเขา โดยมองไม่เห็นว่ามันลึกกว่าเรื่องของทักษิณเยอะ นอกจากนี้นิธิยังเสนอว่าช่วงปี 2549 เกิดความแยกแยกในกลุ่มชนชั้นนำสูงมาก ซึ่งทำให้เอกภาพการนำหายไป และต้องยอมทำอะไรหลายเช่น "การใช้ม็อบมีเส้น" ซึ่งเป็นอันตรายในระยะยาวต่อชนชั้นนำ

ขณะที่ผลของการเลือกตั้งก็ชี้ให้เห็นว่า ชนชั้นนำไม่สามารถหลบหลีกระบบเลือกตั้งได้ อย่างไรๆ ก็ต้องยอมรับมัน หรืออย่างน้อยไม่สามารถหลบหลีกการเลือกตั้งอย่างง่ายๆ อย่างที่เคยหลบมาแล้วได้ โดยนิธิ เสนอว่าชนชั้นนำมี 2 ทางเลือก หนึ่ง รอจังหวะที่เหมาะสมในอนาคตในการล้มรัฐบาลด้วยวิธีใดก็ตาม ซึ่งอาจจะเกิดรัฐประหารก็ได้ แต่รัฐประหารไม่ใช่คำตอบที่ถาวร รัฐประหารไม่สามารถนำดุลยภาพกลับคืนมาได้ใหม่

สอง คือ สิ่งที่ชนชั้นนำจะทำได้คือปรับปรุงตัวเอง เข้ามาอยู่ในการเมืองระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเก่าแต่ไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าจะปรับตัวก็ต้องมีเอกภาพในภาวะการนำพอสมควร ซึ่งตอนนี้ชนชั้นนำไม่มี

สำหรับการปาฐกถาของนิธิ ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเปิดตัวโครงการ "ประชาธิปไตยกับท้องถิ่น" (Sapan Project - CMU) ซึ่งเป็นโครงการรวมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) โดยประชาไทจะทยอยนำเสนอการปาฐกถาทั้งหมดของนิธิ และรายละเอียดจากการประชุมหัวข้อต่างๆ ต่อไป

สำหรับการปาฐกถาที่นิธิตั้งข้อสังเกตถึงชนชั้นนำและทางเลือกหลังการเลือกตั้ง มีรายละเอียดดังนี้

http://www.youtube.com/watch?v=VbhOT9lQe5k&feature=player_embedded

"ต่อไปที่ชนชั้นนำจะทำได้คือปรับปรุงตัวคุณเอง ให้เข้ามาอยู่ในการเมืองระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเก่า แต่ทีนี้เผอิญเป็นช่วงเวลาที่มีความแตกแยกในภาวะการนำด้วย ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าคุณจะปรับตัวคุณต้องมีเอกภาพในภาวะการนำพอสมควร ซึ่งตอนนี้คุณไม่มี"

นิธิ เอียวศรีวงศ์

"เมื่อคนเหล่านี้ต้องการพื้นที่ทางการเมืองในการต่อรอง ก็เข้ามาสนับสนุนทักษิณ ประตูเดียวที่เปิดให้เขาสามารถเข้ามามีพื้นที่ทางการเมืองได้ก็คือระบบเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นการที่อยู่ๆ คุณทำรัฐประหาร เพื่อทำลายไม่ให้มีระบบเลือกตั้ง หรือเพื่อให้ระบบเลือกตั้งถูกควบคุมมันจึงรับไม่ได้สำหรับเขา และความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างนี้ อย่างไรก็หยุดไม่ได้

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ชนชั้นนำไม่ทันได้ตั้งตัว มองเห็นเป็นเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองแบบเดิม หลังรัฐประหารมาจนถึงทุกวันนี้ บางกลุ่มของชนชั้นนำยังย้ำอยู่ตลอดเวลาว่ามันเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างคุณทักษิณกับกลุ่มพวกเขา มองไม่เห็นว่ามันลึกกว่าเรื่องคุณทักษิณแยะ และอย่างที่หลายท่านก็ทราบว่า กลุ่มคนเสื้อแดงก็มองว่าตัวเขาจะแยกทางคุณทักษิณ ถ้าคุณทักษิณไม่ผลักดันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง จะเป็นตั้งแต่ปี 2549 หรือก่อนปี 2549 ก็แล้วแต่ ผมอยากตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า เกิดความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำเองสูงมากขึ้นด้วย

อย่ามองแต่ความแตกแยกระหว่างคนชั้นกลางในเมือง กับคนชั้นล่าง-คนชั้นกลางระดับล่างเท่านั้น แม้แต่ในกลุ่มพวก Elite พวกชนชั้นนำด้วยกันเอง ก็มีความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่ของแปลก ชนชั้นนำมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันแยะมาก และก็มีความขัดแย้งตลอดเวลาแต่ไม่ถึงขนาดแตกแยก เพราะว่าต้องอาศัยการนำที่มีเอกภาพเพื่อทำให้ชนชั้นนำด้วยกันเองที่มีความขัดแย้งกันเอง สามารถที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบเรียบร้อยได้ ผมคิดว่าการนำที่เป็นเอกภาพมันหายไป ในช่วงตั้งแต่ปี 2549 หรืออาจจะก่อนหน้านั้นถึงทุกวันนี้

การนำที่ทำให้ชนชั้นนำด้วยกันเองไม่แตกแยก และเป็นเอกภาพนี้หายไป แล้วทำให้ชนชั้นนำต้องยอมทำอะไรหลายอย่างที่ผมคิดว่าในระยะยาวอาจเป็นอันตรายต่อชนชั้นนำเอง เช่น การใช้ม็อบมีเส้น ในโลกนี้ไม่มีใครเป็นไขควง 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครเป็นเครื่องมือของใคร 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ทุกคนมีความต้องการบางอย่างในตัวที่ตัวต้องการทั้งสิ้น คือไม่มีใครพร้อมเป็นเครื่องมือให้ใครเต็มที่ ผมอาจเป็นเครื่องมือให้คุณ แล้วในขณะเดียวกันผมมีความต้องการของผมเองโดยที่อาจไม่ตรงกับของคุณ

เพราะฉะนั้นการที่ชนชั้นนำลงมาใช้ม็อบมีเส้นเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง นี่เป็นของใหม่นะครับ ไม่เคยมีมาก่อน แล้วอันตรายมากๆ เลย ไม่ใช่อันตรายต่อเรา แต่อันตรายต่อเขาเองนั่นแหละ เป็นต้น

กลุ่มคนชั้นกลาง คนที่เป็นผู้ปกป้องสถาบันที่เด่นที่สุดในประเทศไทยเวลานี้ ถ้าไม่นับกองทัพนี่คือใคร คุณเนวินว่ะ โอ้โฮแปลกมากเลย และก็ต้องยอมรับเลยนะ นี่เป็นสิ่งใหม่ เพราะว่าการที่คุณยอมรับพรรคภูมิใจไทยได้ถึงขนาดนี้ มันทำให้คนชั้นกลางระดับกลางในเมือง ถอยออกมาคิดว่า "ได้เหรอ?" เป็นต้น

มันมี Contradiction มีความขัดแย้งภายในระบบ ในปัจจุบันแยะมากๆ และผมคิดว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนความแตกแยกในกลุ่มชนชั้นนำมาพอสมควร ผมได้ยินมาว่า การตัดสินใจที่ให้มีการเลือกตั้ง มีการยุบสภาไม่ได้เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่ชนชั้นนำทั้งหมด ก็มีบางกลุ่มเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ควรจะอยู่ต่อไป อีกกลุ่มบอกว่าต้องยอมรับ เป็นต้น มันไม่ได้เป็นเอกภาพอย่างที่เคยเป็นมา และผลการเลือกตั้ง ผมเข้าใจว่าชนชั้นนำคงตระหนกเหมือนกัน คงตกใจเหมือนกัน ว่ามันได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าผลของการเลือกตั้งชี้ให้เห็นว่า คุณไม่สามารถหลบหลีกไปจากระบบเลือกตั้งได้ อย่างไรๆ คุณก็ต้องยอมรับมัน อย่างน้อยคุณไม่สามารถหลบหลีกการเลือกตั้งอย่างง่ายๆ อย่างที่เคยหลบมาแล้วได้ เพราะฉะนั้นทางเลือกของชนชั้นนำหลังการเลือกตั้งแล้ว ผมคิดว่ามีสองอย่าง

หนึ่ง รอจังหวะที่เหมาะสมในอนาคตในการล้มรัฐบาล หรือคุณจะล้มโดยวิธีตุลาการภิวัตน์ โดยอะไรก็แล้วแต่คุณ ให้ใบแดงอะไรก็แล้วแต่คุณเถิด แต่ในจังหวะที่เหมาะสมกว่านี้ เราจะเห็นว่าเขาจะล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ให้คอยสังเกตสื่อกระแสหลักให้ดี ถ้าสื่อกระแสหลักเริ่มออกแนวในลักษณะต่อต้านรัฐบาลหนักข้อมากขึ้นๆ แสดงว่าเริ่มมีสัญญาณแล้วว่าจะล้มม็อบมีเส้นเริ่มออกมาใหม่ ระวังให้ดีเขาจะล้มรัฐบาล

เพราะฉะนั้นหลุมพรางหรือกับดักที่จะรอรัฐบาลชุดใหม่อยู่ ผมคิดว่ามีมาก และในที่สุดอาจจะนำไปสู่การรัฐประหารก็ได้ แต่ทีนี้ ก็อย่างที่พูดไปแล้วว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบที่ถาวร อย่างไรๆ คุณก็อยู่ในสภาพรัฐประหารตลอดไปไม่ได้ รัฐประหารไม่สามารถนำดุลยภาพกลับคืนมาได้ใหม่

อันที่สอง ต่อไปที่ชนชั้นนำจะทำได้คือปรับปรุงตัวคุณเอง ให้เข้ามาอยู่ในการเมืองระบบเลือกตั้งให้ดีขึ้นกว่าเก่า แต่ทีนี้เผอิญเป็นช่วงเวลาที่มีความแตกแยกในภาวะการนำด้วย ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าคุณจะปรับตัวคุณต้องมีเอกภาพในภาวะการนำพอสมควร ซึ่งตอนนี้คุณไม่มี

สู่ประเด็นสุดท้าย อนาคตการเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ การเมืองจะไม่ใช่พลังหลักของการปฏิรูป ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะว่า นักการเมืองไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เขาไม่ได้สนใจการปฏิรูป จากการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งหมด ชัดเจนว่าเขาไม่ได้สนใจการปฏิรูป

การปฏิรูปไม่ได้หมายถึงการแก้ไขข้อบกพร่องแบบปะผุ เรื่องนี้เคยก็ก็อย่าโกง อะไรอย่างนั้นนะครับ จริงๆ คุณจะปฏิรูปต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ถ้าเพียงแต่แก้โน้นแก้นี้นิดๆ หน่อยๆ คุณก็ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากวงจรอันเก่า การเมืองแบบชนชั้นนำไปได้ คุณต้องคิดถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ทั้งหมด

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงอำนาจที่มีอยู่ในทางกฎหมายอย่างเดียว แต่หมายถึงอำนาจทางวัฒนธรรม อำนาจที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน อำนาจในการที่คุณเป็นอิสระจากพันธะทางเศรษฐกิจหรือสังคมอื่นๆ ด้วยทั้งหมด

เมื่อเราหวังการเมืองไม่ได้ ถามว่าเราหวังจากใครได้ ผมคิดว่าเราหวังจากภาคสังคมได้ เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนหลายกลุ่มด้วยกัน ที่เรียกร้องนโยบายที่ปรับเปลี่ยนถึงระดับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อย่างน้อยที่สุดข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป 2 ข้อด้วยกันที่พูดถึงกันมาก การเปลี่ยนเป็นการกระจายอำนาจ เป็นสิ่งที่ประชาชนหลายคนตั้งเป็นข้อเรียกร้องต่อนักการเมือง นักการเมืองคนหนึ่งบอกกับผมว่าเขาไม่เคยพบสิ่งนี้มาก่อน ไม่เคยพบมาก่อนว่า เขาออกไปหาเสียง แทนที่เขาจะเป็นฝ่ายพูด ประชาชนกลับเป็นฝ่ายบอกเขาว่าให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ อะไรก็แล้วแต่ โดยที่เขาไม่ได้เป็นฝ่ายพูด ฝ่ายเสนอให้แก่ประชาชน เขาบอกว่าไม่เคยเจอสิ่งนี้มาก่อนในชีวิตการเมืองของเขา ผมคิดว่ามันมีพลังที่เริ่มเคลื่อนไหวบางอย่างในสังคมของเราเอง ที่อาจนำไปสู่การปฏิรูปได้"