ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

คสช.จ่อยกเลิกเคอร์ฟิวรายพื้นที่ จับตา “เพ็ญ” เคลื่อนไหวต่างแดน-ปล่อยตัว นปช.แล้ว

เริ่มโดย ฟ้าเปลี่ยนสี, 17:48 น. 28 พ.ค 57

ฟ้าเปลี่ยนสี

คสช.จ่อยกเลิกเคอร์ฟิวรายพื้นที่ จับตา "เพ็ญ" เคลื่อนไหวต่างแดน-ปล่อยตัว นปช.แล้ว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    
28 พฤษภาคม 2557 17:15 น.

[attach=1]

คสช.แจงลดเวลาเคอร์ฟิวเพราะคำนึงผลกระทบผู้ประกอบการร้านอาหาร ตลาดสด ที่ขนส่งช่วงเช้ามืด เตรียมพิจารณายกเลิกรายพื้นที่ วอนจัดกิจกรรมให้กำลังใจทหารไม่ควรเกินกว่ากฎหมาย ฉายภาพวิดีทัศน์แกนนำ นปช.ถูกควบคุมตัวซ้ำ ตอกย้ำกินดีอยู่ดี เผยตัวเลขผู้ถูกควบคุมตัว ปล่อยแล้ว 124 ควบคุมตัวอยู่ 76 ไม่มารายงานตัว 53 ระงับการเงิน "จารุพงศ์-บก.ลายจุด-จ่าประสิทธิ์" ฟัน 100 เว็บไซต์ฐานยุยงปลุกปั่น สั่งจับตา "จักรภพ" เคลื่อนไหวต่างแดน
       
       วันนี้ (28 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่อาคารกำลังเอก ภายในสโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวชี้แจงถึงกรณีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน หรือเคอร์ฟิวว่า คสช.ได้ขยายเวลาให้ข้อกำหนดเรื่องเวลาจาก 22.00-05.00 น.เป็น 00.01-04.00 น.ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งและพัฒนาตามความเรียบร้อยของบ้านเมือง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้า คสช.คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดกับประชาชน ร้านอาหาร ผู้ประกอบการ ตลาดสด ที่ใช้เวลาในการขนส่งช่วงเช้ามืด จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ หากสงบและเรียบร้อยจริง คสช.จะผ่อนปรนเพิ่มเติมเป็นระยะ
       
       พ.อ.วินธัยกล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มประชาชนที่ประสงค์ดีต้องการให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ มอบสิ่งของและยื่นหนังสือต่อ คสช.นั้น ทางกองทัพขอขอบคุณที่มีความปรารถนาดีต่อเจ้าหน้าที่ แต่ขณะนี้ คสช.ยังมีมาตรการห้ามชุมนุมเกิน 5 คนอยู่ จึงขอความร่วมมือการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ควรมีจำนวนคนเกินกว่าข้อกำหนดไว้ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องพยายามรักษากติกาให้เกิดความสงบเรียบร้อย
       
       พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษก ทบ.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปรับลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวนั้นก็เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบกิจการต่างๆ จากนี้ คสช.โดยฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายเศรษฐกิจจะได้มีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาทบทวนมาตรการเคอร์ฟิว ซึ่งอาจมีการพิจารณาเป็นรายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว ที่หากไม่มีสถานการณ์ชุมนุมหรือสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งก็อาจมีการประกาศยกเลิกเป็นรายจังหวัดเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยว รวมทั้งลดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
       
       จากนั้นทีมโฆษก คสช.ได้นำภาพวิดีทัศน์ความเป็นอยู่ของบุคคลต่างๆ ที่ถูกควบคุมตัว ได้แก่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ รวมทั้งนายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในบ้านพักแห่งหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยสถานที่ เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้ที่ถูกควบคุมตัว โดยทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มและพูดคุยได้ตามปกติ
       
       พ.อ.ณัฐวัฒน์ได้เป็นผู้บรรยายตามภาพว่า ที่ผ่านมามีกระแสความเป็นห่วงบุคคลที่ถูกควบคุมตัวว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.พลาวุฒิ กลับเจริญ เจ้ากรมกิจการพลเรือนกองทัพบก ได้เดินทางไปเยี่ยมและพูดคุยกับบุคคลต่างๆ พร้อมกับเก็บภาพมาฝากเพื่อให้เห็นว่าทุกคนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี รวมทั้งมีการปรับทัศนคติร่วมกัน ทั้งนี้ ยืนยันว่า คสช.ดูแลทุกคนตามอัตภาพ ไม่มีการพันธนาการหรือทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ขอชี้แจงกรณีของ พล.ต.อ.ประชา ที่มีการรายงานข่าวว่าถูกรวบตัวได้ที่สนามบินนั้น ในความเป็นจริง พล.ต.อ.ประชาทราบถึงการให้เข้ารายงานตัวในขณะที่อยู่ต่างประเทศ เมื่อเดินทางกลับมาก็ติดต่อให้เจ้าหน้าที่ทหารไปรับตัวมาตามเวลาที่กำหนด โดยไม่มีการเข้าจับกุมหรือรวบตัวแต่อย่างใด
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่มีการชี้แจงถึงกรณีการเข้ารายงานตัวของ พล.ต.อ.ประชานั้น เนื่องจาก พล.ต.อ.ประชาได้ทำหนังสือแจ้งมายังทีมโฆษกว่าขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว พร้อมบันทึกเหตุการณ์โดยละเอียดหลังจากรับทราบว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ ศสช.ให้มารายงานตัว เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมหรือกระทำการใดรุนแรง
       
       ขณะที่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ รองโฆษก ทบ.ได้เปิดเผยถึงตัวเลขผู้ที่ถูกเรียกรายงานตามประกาศของ คสช.นั้น ล่าสุด ณ วันที่ 27 พ.ค.มีทั้งสิ้น 253 คน รวมไปถึงกลุ่มแรกคือ ผู้ที่เข้าร่วมการประชุม 7 ฝ่ายในวันที่ 22 พ.ค.ก่อนที่จะมีการประกาศยึดอำนาจด้วย โดยถึงปัจจุบันมีผู้มารายงานตัว 200 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว 124 คน ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการสร้างเข้าใจ ปรับทัศนคติเพื่อลดความขัดแย้ง และรับทราบเงื่อนไขในระหว่างได้รับการปล่อยตัว ที่เหลือ 76 คนยังควบคุมตัวอยู่ ทั้งนี้มีในส่วนของผู้ที่ยังไม่มารายงานตัวและแจ้งข้อขัดข้องรวม 53 คน อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคคลที่แสดงให้เห็นว่าขัดขืนจริงๆ นั้น บางส่วนได้มีมาตรการดำเนินการทางกฎหมายเรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มจากการระงับธุรกรรมทางการเงิน ขณะนี้มี 4 คน ประกอบด้วย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ
       
       "บุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวแล้วจะมีการลงนามในหนังสือว่าได้รับการปล่อยตัวจริง รวมทั้งมีบันทึกที่อยู่ว่าท่านจะพำนักที่ไหนเพื่อการประสานงาน และเป็นข้อตกลงและความเข้าใจร่วมกันว่าขอให้งดการแสดงความคิดเห็นที่ทำให้เกิดความสับสนในสังคมหรือการยุยงปลุกระดม และหากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศต้องแจ้ง คสช.ให้รับทราบด้วย โดยหากเข้าสู่กระบวนการตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปตามที่หัวหน้า คสช.มอบหมาย กลุ่มบุคคลนี้จะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างตามที่มีการตั้งศูนย์ฯขึ้น" พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าว
       
       ด้าน พ.อ.วินธัยกล่าวเสริมว่า บุคคลที่ถูกควบคุมตัวแต่ละคนนั้นมีระยะเวลาการคุมตัวไม่เท่ากันระหว่าง 3-7 วัน ส่วนกรณีนายณัฐวุฒิ นายจตุพร นายวีระกานต์ และบุคคลอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่ 22 พ.ค.นั้น แม้ขณะนี้จะครบกำหนดการคุมตัวตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกที่ระบุว่าไม่เกิน 7 วันแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการของ คสช.ซึ่งจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป เนื่องจากบางคนมีกรณีถูกดำเนินคดีอื่นๆ ซึ่งอาจจะไม่อยู่ในเงื่อนไขการควบคุมตามกฎอัยการศึก แต่จะไปอยู่ในฐานความผิดอื่นๆ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ไม่ว่าจะเคยถูกเรียกหรือไม่เคย ถ้ามีพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความไม่สงบ เช่น ปลุกระดม ยุยงทั้งในทางลับ และเปิดเผย เมื่อมีหลักฐานก็จำเป็นต้องขอให้เข้ารายงานตัว
       
       พ.อ.วินธัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มีการปิดกั้นช่องทางการสื่อสารที่เข้าข่ายทำให้เกิดความขัดแย้งทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อไม่ให้ไปสู่สาธารณะ โดยมีการปิดเว็บไซต์ไปแล้วกว่า 100 แห่ง และหากสืบทราบไปถึงตัวบุคคลใดก็จะถือว่ามีความผิดด้วย นอกจากนี้ยังมีการจับตาการแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลเน็ตเวิร์กของบุคคลที่อยู่ต่างประเทศซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง เช่น นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเคลื่อนไหวของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย ก็มีคณะทำงานติดตามอยู่ และอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ
       
       เมื่อถามว่าจะมีบล็อกหรือดำเนินการต่อบัญชีทวิตเตอร์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หลังจากที่มีการทวีตข้อความเป็นระยะ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ทวิตเตอร์แต่อย่างใด
       
       ผู้สื่อข่าวถามถึงประกาศการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา คสช.จำนวน 10 คน ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานที่ปรึกษา พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ส่วนตัวทราบข่าวจากสื่อมวลชนเช่นกัน โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา หัวหน้า คสช.ได้มอบหมายให้ทีมโฆษกชี้แจงเฉพาะขั้นตอนการแต่งตั้งและขอบเขตความรับผิดชอบของคณะที่ปรึกษาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกบุคลมาทำหน้าที่ที่ปรึกษานั้น พล.อ.ประยุทธ์ คัดเลือกจากดุลพินิจส่วนตัว เพื่อที่จะให้แต่ละให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ที่สำคัญ
       
       รายงานข่าวจากสโมสรกองทัพบก เทเวศร์ แจ้งว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นางธิดา ถาวรเศรษฐ และ นพ.เหวง โตจิราการ ได้รับการปล่อยตัวเรียบร้อยแล้ว
ไม่ว่าเราจะมีความทุกข์เพียงไร เราก็มีความสุขกับชีวิตได้
เพราะเราเลือกที่จะ.."เข้าใจ" แทนการเลือกที่จะ.."เจ็บปวด"
"ยอมรับ" ในสิ่งที่เป็นอยู่ "ปล่อยวาง" ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  "มีศรัทธา" กับสิ่งที่กำลังจะมาถึง และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด