ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ม.ทักษิณโมเดล ชูความร่วมมือมหาวิทยาลัย-ชุมชน เพื่อการพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 10:12 น. 29 พ.ค 57

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ม.ทักษิณโมเดล...ชูความร่วมมือมหาวิทยาลัย-ชุมชน เพื่อการพัฒนาชุมชนปูยู จังหวัดสตูลแบบยั่งยืน

ปูยู เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดสตูล  มีลักษณะเป็นเกาะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองสตูล ห่างจากตัวจังหวัดสตูล 17 กิโลเมตร  เป็นตำบลที่มีพรมแดนติดต่อกับรัฐปะลิส และรัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย


[attach=1]

พรสิทธิ์  อิศโร ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลปูยู  เล่าว่าปูยูเขียนตามชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ต้นเหงือกปลาหมอ ภาษามลายูท้องถิ่นเรียกว่า  "ปอเกาะฌารูยู" ต่อมาเพี้ยนเป็นปูยูมาจนถึงปัจจุบัน ที่ตั้งของชุมชนถือเป็นแดนหลักที่หนึ่งของประเทศไทย  มีความอุดมสมบรูณ์ของทรัพยากรทางทะเลเป็นอย่างมาก ทำให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลั่งไหลกันมาอย่างไม่ขาดสาย มีแหล่งท่องเที่ยว ทั้งทางด้านศักยภาพทางธรรมชาติ และทัศนียภาพอันสวยงาม  ดังจะเห็นได้จากสถานที่ท่องเที่ยวอันขึ้นชื่อลือนามอย่าง ถ้ำลอด ป่าโกงกาง  ต้นรองเท้านารี และหอยนางรม หรืออีกสถานที่หนึ่งอย่างถ้ำมรกต หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำค้างคา ว ซึ่งมีจุดชมวิวทิวทัศน์ที่เมื่อมองลงมาแล้วจะมีความสวยงาม ตระการตา จนได้รับการขนานนามให้เป็นนิวซีแลนด์เมืองไทย ประวัติศาสตร์อันยาวนานของเกาะแห่งนี้   เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกาะแห่งนี้น่าค้นหา ซึ่งการันตีได้จาก บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ 300 ปี  บ่อน้ำที่เกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เชื่อกันว่า หากใครเอาน้ำในบ่อ ล้างหน้า  กลืน  หรือดื่ม ตลอดจนอาบน้ำ ด้วยการอธิษฐานขอในสิ่งที่ปรารถนา จะทำให้สิ่งที่ปรารถนานั้นกลายเป็นจริง

อย่างไรก็ตามการพัฒนาสมัยใหม่ภายใต้ระบบทุนนิยมและการประมงพาณิชย์ที่รุกคืบเข้ามาในชุมชนและพื้นที่โดยรอบทำให้ทรัพยากรร่อยหรอ ถูกทำลาย ปริมาณสัตว์น้ำลดลง เป็นต้น ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลปูยูและชาวชุมชนลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรและการฟื้นฟูชุมชนอย่างยั่งยืนขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ได้ลงมาศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมขึ้น

[attach=5]

โดยเมื่อวันที่  23  พฤษภาคม  2557  ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิสากร กล้าณรงค์  และนายมาเลย์  โต๊ะดิน  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปูยู  ได้ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ การวิจัย และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ร่วมกันพัฒนาชุมชนการฟื้นฟู ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แก่นิสิตสาขาต่างๆของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณอีกด้วย
ดังที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีฯ ได้กล่าวว่าคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้ให้ความสำคัญการศึกษาวิจัยที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการพัฒนาโจทย์และวิธีการแบบมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของประชาชนเจ้าของปัญหา ขณะเดียวกันคาดหวังให้ชุมชนเป็น "ห้องปฏิบัติการทางทางสังคม" เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ของนิสิตสาขาต่างๆด้วย

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิสากร  กล้าณรงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่าแนวความคิดแรกเริ่มของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้  เกิดขึ้นจากการที่ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษางานวิจัยในตำบลปูยู  จากการแนะนำของลูกศิษย์  ซึ่งเมื่อได้เข้ามาศึกษาในตำบลปูยูแห่งนี้  ทำให้พบเจอกับสิ่งใหม่ๆที่น่าสนใจมากมาย  โดยเฉพาะเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน จนก่อตัวเป็นงานวิจัยเรื่องการย้ายถิ่นข้ามแดน  ซึ่งในขณะนี้ก็กำลังดำเนินงานวิจัยชิ้นนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง  ทางคณะฯจึงให้ความสำคัญและคาดหวังจะเป็นรูปแบบการพัฒนาที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชนในอนาคต