ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

มทร.ศรีวิชัย วิจัย ลำต้นปาล์มน้ำมัน สู่ผลิตภัณฑ์ ไม้แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 14:01 น. 05 มิ.ย 57

ทีมงานประชาสัมพันธ์

วิจัย ลำต้นปาล์มน้ำมัน  สู่ผลิตภัณฑ์ ไม้แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม   


[attach=1]

ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่มีความนิยมเพาะปลูกมากในเขตภาคใต้ รองจากไม้ยางพารา เกษตรกรจะได้ผลผลิตจากปาล์มน้ำมันอย่างเต็มที่ในช่วงอายุ 3-30 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มได้ผลผลิตที่น้อยลง ชาวบ้านจึงใช้วิธีการหยอดยาต้นปาล์มเพื่อให้ปาล์มยืนต้นตายแล้วปล่อยให้เน่าเปื่อยพุพังในสวน ระหว่างนั้นจะปลูกกล้าปาล์มทดแทน ซึ่งปาล์มที่ยืนต้นตายนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี จึงเป็นจุดสนใจของ รศ.จรูญ เจริญเนตรกุล รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการนำลำต้นปาล์มมาทำการวิจัยหาความเป็นไปได้ที่จะใช้ประโยชน์จากไม้ปาล์มน้ำมัน


   โดยธรรมชาติของปาล์มน้ำมันจะมีการเจริญเติบโตในทางแนวยาวขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะของเนื้อไม้ จะมีเส้นใย (Vascular) ซึ่งจะมีความแข็งและสีที่เข้มตามอายุของต้น ซึ่งผู้วิจัยเปิดเผยถึงข้อมูลการทำวิจัยลำต้นปาล์มน้ำมันว่า "ผมมีความสนใจไม้ปาล์มน้ำมันเป็นอย่างมาก เห็นการยืนต้นตายของไม้ปาล์มน้ำมันที่มีจำนวนมาก จึงมีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากไม้ปาล์มน้ำมันนี้ได้ จึงเก็บตัวอย่างไม้ปาล์มน้ำมันพันธ์ดูร่า อายุ 35 ปี ลำต้นสูงประมาณ 13 เมตร ตัดเอาไม้ที่ใช้ในการทดลองอยู่ในช่วงความสูง 1-2 เมตรจากโคนต้น แปรรูปเป็นแผ่นขนาด 2.5x7 นิ้ว จากนั้นนำไปผึ่งแดดเป็นเวลา 7 วัน เพื่อลดความชื่นของไม้ แล้วนำมาทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและทดสอบสมบัติเชิงกล" ซึ่งได้ผลการทดลองดังนี้

[attach=2]

ผู้วิจัยทำการทดสอบ ค่าความถ่วงจำเพาะ ปริมาณความชื้นและการดูดซึมน้ำ ของตัวอย่างไม้ปาล์มน้ำมันก่อนการอบแห้ง
จะเห็นได้ว่าไม้ปาล์มน้ำมัน มีความถ่วงจำเพาะสภาพธรรมชาติ เฉลี่ยมีค่าเท่ากับ 0.68 สภาพแห้ง 0.36 และมีค่าหน่วยน้ำหนักเท่ากับ 680 kg/m3 ปริมาณความชื้นตามธรรมชาติร้อยละ 74-98 จากปริมาณความชื้นธรรมชาติที่มีค่าค่อนข้างสูง ก่อนการปรับปรุงสมบัติเชิงกลของไม้ ได้นำไม้ตัวอย่างไปอบเพื่อลดความชื้นของตัวอย่างให้มีปริมาณความชื้นอยู่ในช่วงร้อยละ 10-14 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการทดสอบตามมาตรฐาน ASTM

[attach=3]

ผลทีได้จากการทดสอบ การรับแรงอัดขนานเสี้ยน การรับแรงอัดตั้งฉากเสี้ยน การรับแรงดัดโค้งงอ และการรับแรงเฉือนเปรียบเทียบกับไม้ตามมาตรฐานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (ว.ส.ท.) จะต้องมีค่าส่วนปลอดภัยลดค่ากลสมบัติของไม้ลงมา ซึ่งในที่นี้ใช้ค่าส่วนปลอดภัยสำหรับไม้ก่อสร้างชั้น 2 งานในที่ร่ม พบว่าสมบัติเชิงกลของไม้ปาล์มน้ำมันจัดอยู่ในประเภทไม้เนื้ออ่อนมาก มีสมบัติเชิงกลใกล้เคียงกับไม้ยางพารา แต่ด้อยกว่าไม้มะพร้าว และไม้ตาลโตนด มีความเป็นไปได้ที่จะนำไม้ปาล์มน้ำมันมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากมีปริมาณมาก มีลวดลายของเนื้อไม้สวยงาม ซึ่งไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานด้านโครงสร้างของอาคารบ้านเรือน แต่สามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้งานภายในอาคาร งานในที่ร่ม

   การแปรรูปลำต้นปาล์มมาเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ อาทิ โคมไฟประดับสวน แจกัน พื้นเก้าอี้ เป็นต้น หากต้องการทำแจกันควรจะใช้ต้นปาล์มน้ำมันที่อยู่บริเวณโคนต้น ซึ่งมีความหนาแน่นของเสี้ยนมากส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีความคงทน  นำมากลึงให้มีรูปทรงกระบอกตามความต้องการโดยใช้เครื่องจักร จากนั้นนำมาเจาะคว้านเอาไส้ไม้บริเวณส่วนกลางของลำต้นซึ่งเป็นส่วนที่มีเนื้อไม้อ่อนออกมา หากต้องการทำเป็นโคมไฟจะใช้ต้นปาล์มน้ำมันที่อยู่ถัดไปจากส่วนที่ทำแจกัน เนื่องจากต้องการให้มีการใช้ต้นปาล์มมาใช้ประโยชน์มากที่สุด แต่จะใช้ได้จากโคนต้นเพียง 2-3 เมตร  เมื่อได้ส่วนของไม้ที่ต้องการทำแจกันแล้ว ก็ใช้วิธีฉลุเพื่อให้ได้ลวดลายตามที่ได้ออกแบบไว้ จากนั้นขัดกระดาษทราย ทาน้ำยาป้องกันรักษาเนื้อไม้ ทาสีย้อมไม้ ทาน้ำยาเคลือบเงา จะว่าไปแล้วต้นปาล์มหนึ่งต้นสามารถแปรรูปผลิตเป็นแจกันและโคมไฟได้อย่างละ 1 ชิ้น

[attach=4]

   "งานวิจัยลำต้นปาล์มน้ำมัน จากการศึกษาข้อมูลคุณสมบัติของไม้ปาล์มแล้วนั้น เราสามารถนำไม้ปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากให้ผลผลิตไม่คุ้มค่ามาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากการแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ ชาวบ้านเกษตรกรสามารถใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่ไม่สูงมากนัก หาเครื่องมือช่างไม้ทั่วๆไปก็สามารถผลิตได้ ซึ่งลวดลายของลำต้นปาล์มมีเอกลักษณ์ลักษณะเฉพาะสวยงาม โดยจำนวนของไม้ปาล์มที่จะนำมาใช้จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะมีการปลูกทดแทน อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกไม้ปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับความต้องการของตลาดผู้บริโภค พลังงานทางเลือกไบโอดีเซล เป็นต้น รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่าจากผลผลิตเกษตรกรรมที่เหลือใช้ มาสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกช่องทางหนึ่ง"

***ผู้สนใจข้อมูล "วิจัย ลำต้นปาล์มน้ำมัน  สู่ผลิตภัณฑ์ ไม้แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม" ของ รศ.จรูญ เจริญเนตรกุล สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย สงขลา เลขที่ 1 ถ.ราชดำเนินนอก ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา 90000 โทร.074-317162,074-317163


ภาพ/ข่าว โดย น.ส รมย์นลิน  กำลังรัมย์  เจ้าหน้าที่งานประชาสัมพันธ์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย