ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

โพลหอการค้า ชี้ เอสเอ็มอี ทรุดหนัก จี้รัฐเร่งเสริมสภาพคล่อง

เริ่มโดย ฟ้าเปลี่ยนสี, 19:42 น. 13 มิ.ย 57

ฟ้าเปลี่ยนสี

โพลหอการค้า ชี้ เอสเอ็มอี ทรุดหนัก จี้รัฐเร่งเสริมสภาพคล่อง

โดย ไทยรัฐออนไลน์
13 มิ.ย. 2557 18:41

[attach=1]

โพล ม.หอการค้าไทย พบ เอสเอ็มอีขีดความสามารถแข่งขันต่ำลง หลังการเมืองไม่นิ่ง ฉุดยอดขาย-กำไรวูบ แต่ต้นทุนกลับพุ่งสวนทาง แนะรัฐช่วยเสริมสภาพคล่องก่อน 5 แสนรายกอดคอตายหมู่ ด้าน 7 องค์กรธุรกิจเตรียมเสนอ คสช. ช่วยเหลือด่วน...

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ประจำไตรมาส 1/57 ที่สำรวจจากธุรกิจตัวอย่าง 1,450 ราย ระหว่างวันที่ 16-31 พ.ค. 57 ว่า ดัชนีสุขภาพของธุรกิจ มีค่า 57.2 ลดลง 4.4 จุดจาก 61.1 ในไตรมาส 4/56, ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ มีค่า 54.2 ลดลง 4 จุด จาก 58.2 และดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ มีค่า 56.6 ลดลง 2.2 จุด จาก 58.8 ส่งผลให้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี มีค่า 56 ลดลง 3.6 จุด จาก 59.6

ทั้งนี้ สาเหตุที่ดัชนีลดลงทุกรายการ เป็นเพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน จากยอดขายและกำไรในการทำธุรกิจลดลง แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้น จากสภาพเศรษฐกิจที่ซึมตัว และการเมืองในประเทศยืดเยื้อ โดยภาคเหนือประสบปัญหามากกว่าภาคอื่นๆ และธุรกิจที่ประสบปัญหามากสุดอันดับแรก คือ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว อาหาร และเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจเชื่อว่า ภายหลังการเมืองนิ่ง งบประมาณรัฐเร่งเบิกจ่าย และเอกชนลงทุนเพิ่ม จะทำให้ธุรกิจดีขึ้น

"คาดว่า ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไตรมาส 2/57 จะฟื้นตัวมากขึ้น และอาจมีค่าดัชนีที่ 60.2 ซึ่งเป็นผลจากเอสเอ็มอี คาดว่าน่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น, มีเงินสดและมีสภาพคล่องสูงขึ้น, เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มดี, สินค้ามีคุณภาพสูงกว่าคู่แข่ง, ตราสินค้ามีความเข็มแข็ง, ลูกค้ามีความจงรักภักดีสูง, การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น, ส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด เป็นต้น" นางเสาวณีย์ กล่าว

ส่วนนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีอาการสาหัสจากการขาดสภาพคล่อง และห่วงต้องปิดกิจการประมาณ 20% ของเอสเอ็มอีทั้งหมด หรือประมาณ 400,000-500,000 ราย ที่ต้องเร่งเยียวยาโดยด่วน ซึ่งในระยะกลางและยาว ต้องช่วยเหลือด้านเพิ่มทักษะและความสามารถในการแข่งขัน หากพิจารณาภาพรวมพบว่า ธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ธุรกิจที่ประสบปัญหาต้นทุนสูง และธุรกิจที่ประสบกับภาวะขาดทุน ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจเดียวกัน ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ค้าส่ง ค้าปลีก ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม สิ่งทอ แฟชั่น

ทางด้าน นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า สัปดาห์หน้า 7 องค์กรภาคธุรกิจ จะเข้าพบกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยแนวทางช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น เบื้องต้นต้องลดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเงินกู้ได้ง่ายขึ้น โดยจะขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายเพดานการค้ำประกันสินเชื่อจากระดับสูงสุด 18% เป็น 50% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี ที่ขาดสภาพคล่องมากขึ้นจากช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง คาดว่าจะใช้วงเงินช่วยเหลือประมาณ 50,000 ล้านบาท.
ไม่ว่าเราจะมีความทุกข์เพียงไร เราก็มีความสุขกับชีวิตได้
เพราะเราเลือกที่จะ.."เข้าใจ" แทนการเลือกที่จะ.."เจ็บปวด"
"ยอมรับ" ในสิ่งที่เป็นอยู่ "ปล่อยวาง" ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  "มีศรัทธา" กับสิ่งที่กำลังจะมาถึง และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยรองตัวสุดท้าย:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง