ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เลือกแนวทางเติมทราย-รื้อโครงสร้างแข็ง แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งหาดชลาทัศน์

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 15:20 น. 28 มิ.ย 57

ทีมงานบ้านเรา

โดย http://www.psuradio88.com/
เขียนโดย ROSSANEE K.


คนสงขลาเสนอทางเลือก "เติมทราย-รื้อโครงสร้างแข็ง" แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ หลังชายหาดถูกกัดเซาะต่อเนื่องกว่า 10 ปีทั้งจากปัญหาสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำทะเลและคลื่มลมเปลี่ยนทิศ นักวิชาการเตรียมศึกษาผลกระทบเปิดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 เผยแต่ละปีขาดตะกอนทรายกว่า 70,000 ลบ.ม. หากไม่แก้ปัญหาจะถูกกัดเซาะเพิ่มอีกกว่า 20 ไร่

[attach=2]

กรมเจ้าท่า ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 2 ตามโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณหาดสมิหลา ถ.ชลาทัศน์ อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อนำเสนอข้อมูลการวิจัยและรับฟังข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยได้เสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 7 รูปแบบให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียร่วมพิจารณาและตัดสินใจเลือก เพื่อนำไปสู่การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความคุ้มทุน และออกแบบรายละเอียดโครงการ ซึ่งเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมราชมังคลา พาวิเลียนบีช รีสอร์ท อ.เมือง จ.สงขลา

เนื่องจากชายหาดบริเวณแหลมสมิหลาถูกน้ำทะเลกัดเซาะมาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำลงไปในทะเล การใช้ประโยชน์ที่ดินริมทะเลสร้างสาธารณูปโภค รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของคลื่นลม ทำให้หาดทรายขาดความสมดุลเกิดการกัดเซาะรุนแรง ส่งผลให้ทรัพย์สินเสียหาย และที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปแล้วบางส่วน ทั้งการสร้างเขื่อนกันคลื่น การวางแนวถุงทราย และการเติมทรายบริเวณชายหาด ซึ่งภาคประชาชนใน จ.สงขลา ก็ตื่นตัวและจัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ทะเลและชายฝั่งมาโดยตลอด

[attach=1]
ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-หาดชลาทัศน์

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง กล่าวว่า พื้นที่ศึกษาโครงการ คือหาดสมิหลา และหาดชลาทัศน์ ตั้งแต่ปากคลองสำโรงถึงรูปปั้นนางเงือก ระยะทางประมาณ 5 กม. มีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียเยอะมาก ทั้งชาวประมง ผู้ประกอบการร้านค้า หน่วยงานราชการ รวมทั้งนักวิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายร่วมกันคืออยากให้หาดกลับมาสวยงามเหมือนเดิม และจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 สรุปได้เป็น 3 แนวทาง คือ

1. ปล่อยไว้แบบเดิม ไม่ทำอะไรเลย
2. เสนอให้สร้างแนวปะการังเทียม
3. กลุ่มชาวประมงเสนอให้สร้างที่จอดเรือ

ส่วนการศึกษาของคณะวิจัยเอง พบว่า ปริมาณทรายที่จะพัดมาเติมหาดนั้นลดลง และสันทรายเปลี่ยนรูปไป จึงเสนอแนะว่าต้องมีการเติมทราย และทำสันดอนเลียนแบบสันดอนที่เคยมีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดแรงกระแทกของคลื่นที่จะมากระทบชายฝั่ง และจากแนวคิดทั้งหมดนี้ก็กลายมาเป็นวิธีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดชลาทัศน์ 7 รูปแบบ เพื่อให้ประชาชนพิจารณาว่าเห็นชอบวิธีการไหนมากที่สุด ได้แก่

1. ปล่อยไว้ไม่ต้องทำอะไร รวมทั้งไม่รื้อโครงสร้างแข็งที่มีมาแต่เดิมด้วย
2. เติมทรายให้ชายหาด โดยใช้ตะกอนทรายจากแหลมสนอ่อน อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งเป็นตะกอนทรายที่คลื่นพัดไปจากหาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์
3. เติมทรายและก่อสร้างหัวหาดเทียม เพื่อให้ชาวประมงมีที่จอดเรือ
4. ก่อสร้างสันดอนทรายใต้น้ำ และเติมทราย
5. ก่อสร้างสันดอนทรายใต้น้ำ เติมทราย และก่อสร้างหัวหาดเทียม
6. ก่อสร้างโดมปะการังเทียม และเติมทราย
7. ก่อสร้างโดมปะการังเทียม เติมทราย และก่อสร้างหัวหาดเทียม

"ถ้าแบบไม่ทำอะไรเลย น้ำทะเลจะกัดเซาะชายฝั่งเข้ามาอีก 70 กว่าเมตร และมีพื้นที่หายไปอีกประมาณ 20 กว่าไร่ พูดง่ายๆ ก็คือเห็นทะเลกับถนนติดกัน ตอนนี้คลื่นเปลี่ยนทิศกลายเป็นตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วตั้งฉากกับตัวแนวหาด พอตั้งฉากปุ๊บมันพาตะกอนออกนอกแนวชายฝั่ง ทำให้ขาดตะกอนทรายที่จะมาเติมเป็นหาด ประมาณ 70,000 ลบ.ม.ต่อปี พูดง่ายๆ คือถ้าเราไม่ทำอะไรเลย นับวันก็จะรุนแรงมากขึ้นยิ่ง

วิธีที่ดีดีที่สุดคือเราเคารพธรรมชาติ แล้วก็เลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด เป็นการต่อสู้กับธรรมชาติที่ใช้พลังน้อยที่สุด แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณเก่งกว่าธรรมชาติ คิดว่าชนะธรรมชาติ หรือสู้ธรรมชาติได้ ผมคิดว่าตรงนั้นยิ่งเจ็บตัว" ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าว

ผลจากการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 2 ตามโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ ได้ข้อสรุปว่าประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าร่วมประชุมในวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา เสนอทางเลือกใหม่เป็นวิธีที่ 8 คือ การเติมทราย และรื้อโครงสร้างแข็งทั้งหมดออก ซึ่งวิธีการนี้อาจส่งผลกระทบกับหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าของโครงสร้างแข็ง เช่น บ่อสูบน้ำเสียบริเวณหาดเก้าเส้ง เขื่อนกันคลื่นรูปตัวที และแนวกำแพงถุงทราย เป็นต้น

สำหรับรายละเอียดโครงการ ความคุ้มทุน และผลกระทบด้านต่างๆ คณะผู้วิจัยจะศึกษาข้อมูล และนำเสนอต่อไปในเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการครั้งที่ 3 ซึ่งประชาชนชาวสงขลาที่มีข้องกังวลเกี่ยวกับปัญหากัดเซาะชายฝั่ง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนควรเข้าร่วมรับฟังอย่างยิ่ง เพื่อช่วยกันตัดสินใจและกำหนดทิศทางการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งสมิหลาและชลาทัศน์ ซึ่งบริเวณดังกล่าวถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อจนกล่าวได้ว่าเป็นห้องรับแขกของ จ.สงขลา ทั้งนี้ คงไม่มีใครเหมาะจะตัดสินใจเรื่องการดูแลบ้านมากกว่าคนในบ้านเอง
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยรองตัวสุดท้าย:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง