ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ฉัตรชัยคุมทั้งระบบ งบน้ำ1.7หมื่นล.

เริ่มโดย ฟ้าเปลี่ยนสี, 10:52 น. 29 มิ.ย 57

ฟ้าเปลี่ยนสี

ฉัตรชัยคุมทั้งระบบ งบน้ำ1.7หมื่นล.

โดย ทีมข่าวหน้า 1 ไทยรัฐ
29 มิ.ย. 2557 06:20

[attach=1]

ปลัดกห.ชี้ เวทีปฏิรูป คืบไป70%

"บิ๊กตู่" ส่งเพื่อนรัก ตท.12 "ฉัตรชัย" นั่งคุมชุดบริหารจัดการน้ำดึงงบฯค้างท่อ 1.7 หมื่นล้าน จาก 7 หน่วยงานของงบฯปี 57 ตั้งลำบูรณาการน้ำทั้งระบบ หั่นขั้นตอนเยิ่นเย้อต่อไปคิดเร็วทำเร็ว แต่ตอบไม่ได้เอา กทม.อยู่หรือเปล่า ปลัด กห.เปิดเวทีปฏิรูปรับฟังทุกฝ่ายคุยฟุ้งคืบหน้ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว ภาคธุรกิจหนุนเต็มที่ลดเหลื่อมล้ำ "ธีรยุทธ" เก็บเสื้อกั๊ก หลีกทางงดวิจารณ์ คสช. แต่ออกตัวยังต้านเผด็จการ จวกทุนอัปรีย์ทำรัฐล้มเหลว เตือนกองทัพมุ่งทำรัฐเข้มแข็งฝ่าวิกฤติไม่ได้ ต้องให้ประชาชนแชร์อำนาจด้วย "คณิต" ย้ำกระบวนการยุติธรรมไร้มาตรฐาน อธิการ มธ.เปิดสถาบันต้านโกง "ประมนต์" แนะคุมเข้มคอร์รัปชันระยะยาว ป.ป.ช.ขออำนาจติดดาบฟันเอกชนตุกติก "จเร" ตั้งงบหมื่นล้านรับสภาปฏิรูป คสช.ยืนกรานส่งทหารรื้อโกดังข้าว ไม่ได้เจาะจงไล่ล่าใคร แฉโกดังเดียวข้าวล่องหน 3 รอบ

คสช.ยังเดินหน้าสะสางงานที่คั่งค้างของประเทศต่อเนื่อง แม้จะเจอแรงกดดันจากภายนอกเป็นระลอก ล่าสุดเดินตามโรดแม็ปจัดการน้ำทั้งระบบ ตั้ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ทะลวงงบฯค้างท่อปี 57 กว่า 1.7 หมื่นล้าน ตั้งลำบูรณาการทุกส่วนราชการ

"ฉัตรชัย" นั่งหัวโต๊ะถกจัดการน้ำ

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 28 มิ.ย.ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมบริหารจัดการน้ำ เพื่อสรุปผลการพิจารณาแผนงานน้ำปี 2557 และแนวทางการดำเนินการปี 2558 โดยมีตัวแทนกรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมเจ้าท่า สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) และกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงตัวแทนจากกรมการทหารช่าง กองทัพบก เข้าร่วมประชุม

ทะลวงงบฯค้างท่อ 1.7 หมื่นล้าน

จากนั้น พล.อ.ฉัตรชัยให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการหารือข้อมูลที่คณะกรรมการชุดย่อยลงไปรวบรวมข้อมูลการตรวจสอบงบประมาณปี 57 ที่มีหลายหน่วยงานมีงบประมาณแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ จำนวน 17,000 ล้านบาท เป็นการใช้งบขุดลอกคูคลอง โดยจะใช้งบประมาณของ 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 13,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกกว่า 3,000 ล้านบาท จะขอกันงบส่วนนี้ไว้เพื่อใช้ทำแผนงานในโครงการปี 58 เพื่อให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันทุกหน่วยงาน ป้องกันการทับซ้อน และต่อไประบบการบริหารจัดการน้ำจะพิจารณาร่วมกัน โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำที่มีตนเป็นประธาน ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. ทั้งนี้แผนงานโครงการทั้งหมดจะนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนเสนอให้ คสช.พิจารณา ภายใน 10 กว่าวันนี้จะมีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเกิดขึ้น และจะมาประชุมพิจารณาแผนงานบริหารจัดการน้ำในประเทศทั้งหมด

หั่นขั้นตอนเยิ่นเย้อคิดเร็วทำเร็ว

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ในขณะที่ยังไม่มีแผนงาน งบประมาณปี 57 ต้องดำเนินการไปก่อนทั้งที่ทำไปแล้วและกำลังจะทำ อยู่ในแนวความคิดของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ถือเป็นการเร่งรัดดำเนินการงบประมาณในช่วงปลายปี ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานต่างฝ่ายต่างดำเนินการไม่เชื่อมโยงกัน ตนจึงรวบรวมบูรณาการให้เป็นแนวทางเดียวกัน สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจะคล้ายกับของที่มีอยู่เดิม แต่จะปรับลดขั้นตอนให้เหลือเพียงแค่ระดับเดียว เพื่อให้เกิดการคิดเร็วทำเร็ว โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วม รวมถึงนักวิชาการ ตนอยากสร้างความเข้าใจว่าคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจะคิดเรื่องน้ำทั้งระบบ โดยวางกรอบไว้ว่าจะต้องดำเนินการแล้วเสร็จทั้งประเทศภายใน 3 เดือน

ตอบไม่ได้เอา กทม.อยู่หรือไม่

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า การบริหารจัดการตามงบประมาณที่มีอยู่ จะพุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาภัยแล้ง ขุดลอกคูคลองหนองบึงทั่วประเทศ ปรับปรุงประตูระบายน้ำของกรมชลประทาน เพื่อให้เก็บน้ำได้มากขึ้นเตรียมไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยจะให้ทั้ง 7 หน่วยงานกลับไปดำเนินการตามแผนงานได้ทันทีในช่วง 3-4 เดือน โดยจะมีทหารลงไปช่วยดำเนินการ เช่น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาของกองทัพไทย และกรมการทหารช่างของกองทัพบก เพราะบางหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการได้ทันในระยะเวลาสั้น ทั้งนี้กองทัพมีความพร้อมเรื่องเครื่องมือ เมื่อถามว่าจะสามารถป้องกันน้ำท่วมกทม.ได้หรือไม่ พล.อ.ฉัตรชัยตอบว่า เป็นเรื่องที่ตอบยาก ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่ กทม. ซึ่งรองปลัด กทม.ยืนยันว่ามีความพร้อม แต่จะให้ตอบว่าเงิน 13,000 ล้านบาท จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกทม.ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรื่องนี้หัวหน้า คสช.ไม่ได้เป็นห่วง เพราะเรามีความตั้งใจอยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการ มีนักวิชาการ และผู้มีความรู้เข้ามาทำงานร่วมกันด้วยความโปร่งใส

ปลัด กห.พร้อมรับฟังทุกฝ่าย

อีกด้านเมื่อเวลา 13.30 น.ที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหม ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาปฏิรูปประเทศ "แนวทางปฏิรูปการเมือง การเข้าสู่อำนาจ" โดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าในฐานะรับผิดชอบคณะเตรียมการปฏิรูปของ คสช. พร้อมรับฟังความเห็นจากประชาชนและทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย พวกเราเป็นพวกจัดทำกรอบความเห็นร่วม เพื่อเสนอให้สภาปฏิรูปนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป การประชุมที่ผ่านมาไม่ได้มีการสรุปผล แต่เป็นการเตรียมข้อมูลเพื่อให้สภาปฏิรูปนำไปใช้ประโยชน์ ขอให้ทุกคนนึกถึงชาติบ้านเมือง เรื่องในอดีตขอให้เป็นบทเรียน ย้อนกลับไปดูได้ แต่ต้องคิดว่าจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาปัจจุบันอย่างไร ที่ผ่านมาเขียนรัฐธรรมนูญดีมากมาย แต่บ้านเมืองเดินหน้าไปไหนไม่ได้ เป็นเรื่องที่น่าแปลก แต่วันนี้เราจะระดมความคิดเห็น ใครมีความคิดเห็นอย่างไรสามารถส่งข้อมูลให้กระทรวงกลาโหมได้

สภาปฏิรูปโชคดีไม่ต้องนับหนึ่ง

นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ มีมุมมองประเด็นที่ต้องพิจารณาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องพรรคการเมือง เรื่องการเลือกตั้ง ที่ไม่รู้จะทำเสร็จเมื่อไหร่หากลงไปให้ลึกการปฏิรูปครั้งนี้การรับฟังความเห็นจากประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ หากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่ฟังก็อาจไม่ได้มุมมองที่กว้างมากขึ้น ส่วนกรอบระยะเวลานั้นต้องมีการประมวล หากลงไปรับฟังทุกท้องที่ก็จะสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของคนที่กระจายออกไป ไม่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการรวบรวมแนวคิดสิ่งที่เคยดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ไม่ต้องไปทำใหม่ แต่นำสิ่งที่เคยดำเนินการแล้วมาประมวลและวิเคราะห์ สภาปฏิรูปน่าจะโชคดีมีคนทำการบ้านให้ก่อนล่วงหน้า ไม่ต้องเสียเวลามาเริ่มดำเนินการมาก การมีข้อมูลพร้อมทำให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ สามารถดำเนินการได้ถูกต้องและเหมาะสม จึงถือเป็นโอกาสที่ดี

ภาคธุรกิจหนุนเต็มที่ลดเหลื่อมล้ำ

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ในนาม 7 องค์กร ได้แก่ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย สภาตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยงแห่งประเทศไทย สมาคมจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ ที่เราได้คุยกันมาหลายเดือนในช่วงที่บ้านเมืองไม่สงบ การปฏิรูปด้านการเมืองเราไม่มีความเชี่ยวชาญ แต่เราเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจจะเข้าไปช่วยทุกภาคส่วน ประเทศไทยขณะนี้มีปัญหามาก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมาก ไม่ใช่เฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ แต่ความไม่มีโอกาสของคนเมืองกับคนต่างจังหวัด ส่วนนี้ภาคธุรกิจต้องมีส่วนเกี่ยวข้องดูแลช่วยเหลือ เช่น การเข้าถึงการรักษาพยาบาล การศึกษา เราควรเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันด้วย

เก็บข้อมูลกว่าพันชุดความคิด

จากนั้น พล.อ.สุรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่เปิดตัวคณะทำงานปฏิรูปตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. ได้เก็บเอกสารการวิจัย ผลงานวิชาการ ข้อเสนอของกลุ่มการเมือง รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆทั้งหมด จนได้เอกสารที่จะสังเคราะห์ข้อมูลประมาณ 230 เล่ม และยังรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ จากทางโทรศัพท์อีก 700-800 ความเห็น โดยมีเนื้อหากว่า 1,000 ชุดความคิด จนสังเคราะห์ออกมา 11 ประเด็น เช่น การปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปทุจริต คอร์รัปชัน ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น มีการจัดสัมภาษณ์เชิงลึกเชิญตัวแทนทุกพรรคการเมืองเข้าร่วม โดยหัวหน้าพรรคมาด้วยตนเองทั้งสิ้น และยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวทุกกลุ่ม เช่น กลุ่ม นปช.มีนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ส่วนกลุ่ม กปปส. อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายอิสสระ สมชัย นายสาทิตย์ วงษ์หนองเตย ขณะที่ตัวแทนพรรคเพื่อไทย อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ นายภูมิธรรม เวชชชัย

คุยฟุ้งคืบหน้ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์

พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวว่า นำความคิดเห็นเหล่านี้มาบวกกับข้อมูลที่สังเคราะห์ไว้ จากนั้นจัดประชุมกลุ่มย่อย ประมาณ 40-50 คน รวมถึงการจัดสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้า และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน เสนอไปยังสภาปฏิรูปในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ โดยดำเนินการไปประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามากพอสมควร แต่ยังต้องรับฟังความคิดเห็นต่อไปอีก และการสรุปข้อมูลไปให้ คสช.จะไม่มีการบอกว่าถูกหรือผิด แต่เป็นการทำกรอบความเห็นร่วมของคนไทยทุกคน คสช.ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้มีการพูดคุยเท่านั้น เมื่อสภาปฏิรูปเข้ามาก็ไม่ต้องเริ่มต้นทำงานจากศูนย์ แต่จะนำเอาฐานของมูลที่ได้รวบรวมไว้แล้วไปใช้ประโยชน์ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาปฏิรูปจะนำเอาไปใช้มากน้อยเท่าใด

ได้โมเดล ส.ส.–ส.ว.พร้อมบทลงโทษ

พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นสำคัญที่รวบรวมไว้ในการเมืองการปกครอง จะมีทั้งเรื่องที่มา ส.ส. และส.ว. ฝ่ายบริหาร การคัดสรรการสรรหา หรือการเลือกตั้ง การตรวจสอบการใช้อำนาจการควบคุม วางการลงโทษ รวมถึงการปฏิรูปพรรคการเมือง การกระจายอำนาจ มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ในส่วนของหัวหน้าพรรคการเมืองก็เสนอความคิดเห็นที่ใกล้เคียงกัน เป็นเรื่องที่ดีทั้งหมด ถ้าทำตามที่เสนอนั้นได้จะเป็นเรื่องดี แต่ต้องมีรายละเอียดและร่างกฎกติกาขึ้นมา ข้อมูลที่เสนอขึ้นมาเป็นแนวคิดทุกคนต้องการได้นักการเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีการบริหารราชการที่ดี คำนึงถึงความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน และมีกระบวนการยุติธรรมไม่สองมาตรฐาน ซึ่งตรงกับแนวทางของหัวหน้า คสช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัมมนาครั้งนี้ มีการแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อระดมความเห็นในประเด็นเรื่อง รูปแบบรัฐสภา จำนวน ส.ส.ส.ว.ที่เหมาะสม รวมถึงวิธีการได้มาของ ส.ส. ส.ว. ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่

"ธีรยุทธ" หลีกทางงดวิจารณ์ คสช.

วันเดียวกันเวลา 11.40 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายธีรยุทธ บุญมี อดีต อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้า การอภิวัฒน์สังคมไทย" เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า วันนี้จะไม่พูดลักษณะวิจารณ์หรือประเมินผลงานของ คสช. เพราะตั้งใจว่าจะรอประเมินข้อบกพร่องอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในช่วง 2-3 เดือนหลังจากที่ยึดอำนาจ เนื่องจากเขาขอเวลาทำงาน เราจึงให้เวลา ไม่เกี่ยวกับความกังวลหรือกลัวเรื่องกฎอัยการศึกแต่อย่างใด สิทธิเสรีภาพในสังคมไทย เรื่องการวิจารณ์สามารถทำได้ แต่ไม่ไปวิจารณ์หมิ่นเหม่ต่อความเชื่อหรือสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เชื่อว่าถ้าวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ก็เป็นที่รักได้

ออกตัวยังต้านเผด็จการทหาร

นายธีรยุทธกล่าวต่อว่า การใช้สิทธิเสรีภาพเป็นอำนาจในการปกครองที่ยั่งยืน แต่ประเทศไทยหลัง 2475 อำนาจและสิทธิเสรีภาพไม่กระจายไปสู่ชาวบ้าน คนไทยไม่มีการดำเนินชีวิตแบบเสรีภาพ แต่ติดกับระบบอุปถัมภ์ ไม่มองสิทธิเสรีภาพในฐานะที่เป็นแก่นของชีวิต แต่มองสิทธิเสรีภาพและการเลือกตั้งเป็นเพียงกลไกย่อยที่จะช่วยดำเนินชีวิต และมองกลไกอื่นสำคัญ เช่น เรื่องเส้นสาย การเลือกตั้งที่ผ่านมาของไทยจึงเป็นการกอบโกยว่าใครเป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่ากัน ตนเคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาคิดว่าเป้าหมายแค่นั้นไม่พอ อยากจะบอกกับคนที่ต่อสู้เวลานี้ว่าเป้าหมายมันคับแคบไป เราจำเป็นต้องใส่ใจแก้ไขปัญหาอื่นๆ ตนขอยืนยันคัดค้านเผด็จการคอร์รัปชันโกงกินบ้านเมืองทุกรูปแบบ คัดค้านเผด็จการทหารในอดีตที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อตัวเองและพวกพ้อง และปัจจุบันก็จะคัดค้านเผด็จการ ถ้าจะทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง ขอยืนยันในที่นี้

จวกทุนอัปรีย์ทำรัฐล้มเหลว

นายธีรยุทธกล่าวว่า ปัญหาวิกฤติประเทศที่ผ่านมาเกิดจากปัญหาคอร์รัปชันจนสุดขีด จนเกิดเป็นภาวะรัฐล้มเหลวเกิดขึ้นในช่วงหลัง ตนมองว่ารัฐจะล้มเหลวหรือไม่ ต้องดูจากพื้นที่ของอำนาจรัฐว่าลดลงหรือไม่ ปัญหาใหญ่ที่ผ่านมาอำนาจรัฐถูกทำให้เป็นของส่วนบุคคล ทำให้เกิดการก่อตัวของสื่อทางการ สื่อไม่เป็นทางการขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐ ที่เราเรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ดังนั้นเราต้องช่วยกันลดรอยต่อ เพราะในช่วงหลังเราให้อำนาจกับรัฐบาลเกินไป ทำให้นักการเมือง นักธุรกิจมีอำนาจ เกิดการคอร์รัปชัน จึงต้องบูรณาการทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ผู้มีอิทธิพล ชาวบ้าน อีกอย่างที่ถูกทำลายคือความล่มสลายทางจริยธรรมของคน จึงเป็นห่วงทั้งกลไกการเมือง การปกครอง ที่จะต้องขยายให้ชาวบ้านมีอำนาจมากขึ้น เพราะตอนหลังโกงกันแบบไม่เว้น เรียกว่าทุนอัปรีย์ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่มีทางพัฒนาแบบประเทศตะวันตกที่มีวินัย เราจึงต้องอยู่ในภาวะผสมผสานแบบนี้

มุ่งทำรัฐเข้มแข็งไม่ใช่ทางแก้วิกฤติ

นายธีรยุทธกล่าวอีกว่า ถ้ามองจากปัญหาที่เกิดขึ้น คสช.แก้ไขในระดับนี้ค่อนข้างมาก ดูกระตือรือร้นดี แต่ต้องดูไปสักระยะหนึ่ง เป็นการให้เวลาในการทำงาน สุดท้ายนี้มองว่าจะปฏิรูปประเทศไทย ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีอำนาจ มีส่วนร่วม มีสิทธิเสรีภาพ บางทียังคิดว่ากองทัพยังอาจไม่ระวังเรื่องนี้ เพราะปัญหานี้สะเทือนสูง เรื่องการมีอำนาจไม่มีอำนาจ การข่มเหงไม่ถูกข่มเหง จึงขอฝากเรื่องการมีอำนาจในความรับผิดชอบด้วย เพราะการทำรัฐให้แข็งแรงอย่างเดียว ไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ

"คณิต" ย้ำยุติธรรมไร้มาตรฐาน

ต่อมาช่วงบ่าย มีการเสวนาหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าการอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม" โดยนายคณิต ณ นคร ประธานคณะปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า การอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาสำคัญอยู่ 2 ข้อ คือ 1.ศาลยุติธรรมมีการวางเฉย 2.การไม่เข้าใจบทบาทองค์กรอัยการ ทำให้องค์กรชั้นพนักงานไม่มีความร่วมมือกัน กระบวนการยุติธรรมที่ดีต้องมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย คุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ดี แต่เรายังมีปัญหาด้านประสิทธิภาพและด้านการคุ้มครองสิทธิ อีกทั้งยังเป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ผิดก็ฟ้อง ไม่ผิดก็ไม่ฟ้อง องค์กรสำคัญคือสำนักงานอัยการสูงสุด แต่ไม่ค่อยทำ จึงส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมของเราเป็นเหมือนระบบสายพานในโรงงาน มีปัญหาคนล้นคุก ตนขอเน้นเรื่องการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่นักบริหารต้องให้ความร่วมมือกันให้ชัดเจนและมากกว่านี้ กฎหมายเราดี แต่เราปฏิบัติกันไม่ค่อยตรง ไม่ใช่คำว่าหลายมาตรฐาน แต่ไม่มีมาตรฐานเลย การตรวจสอบความจริงชั้นเจ้าพนักงานต้องมีเอกภาพ ต้องตรวจสอบให้มีภาวะวิสัย หากการตรวจสอบชั้นเจ้าพนักงานมีประสิทธิภาพ เรื่องที่จะขึ้นสู้ศาลก็ลดจำนวนลงไปได้ ถ้ากระบวนการยุติธรรมทำให้เกิดบูรณาการได้ตนคิดว่าบ้านเมืองเกิดความสงบ

"วสันต์" ให้ดูที่พฤติการณ์จำเลย

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เราต้องมองที่อาชีพทนายความด้วย ในห้องพิจารณาบางครั้งหากศาลไม่ลงไปช่วยจำเลยก็ตายอย่างเดียว เพราะทนายจำเลยก็ไม่ได้ถามอะไร แค่ทำไปตามหน้าที่ อัยการก็ควรมีส่วนช่วยลดคดีเข้าสู่ศาลด้วย เวลานี้ทราบว่าสำนวนคดีนัดเข้าคิวกันเป็นปี นัดสืบพยานกันปีกว่า พอจะเบิกความในชั้นพิจารณาก็ลืมไปแล้ว พอนัดนานๆ ก็มีปัญหากับทนายอีก เพราะลูกความต้องจ่ายค่าทนายอีก จึงเป็นเรื่องที่ติดขัดกันไปหมด เมื่อถามว่าสิ่งที่เป็นความยุติธรรมควรจะมีบทลงโทษเท่าเทียมกันหรือไม่ นายวสันต์ตอบว่า มันก็ออกไปทางสองมาตรฐาน ขณะที่ทำงานก็ได้ยินมารกหูมาก เคยตั้งคำถามกับนักเรียนว่า ขายยาบ้าของกลางเท่ากัน ขายที่โรงเรียนกับที่หน้าโรงแรมจะลงโทษเท่ากันหรือไม่ คำตอบคือไม่เท่ากัน อย่างนี้ก็ว่าสองมาตรฐานอีก การลงโทษจำเลย แม้คดีเดียวกันแต่ลงโทษไม่เท่ากันก็มี ก็ต้องดูที่พฤติการณ์ของแต่ละคนที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นโจทย์ที่สังคมมักจะถามศาลอีกว่ารับสินบนมาหรือเปล่า

อธิการ มธ.เปิดสถาบันต้านโกง

ต่อมาเวลา 16.45 น. มีการเปิดตัวสถาบันต่อต้านการทุจริตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องการเป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน มีแนวคิดต่อต้านการทุจริตมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะปัญหาทุจริตถือเป็นปัญหาใหญ่ ต้องพึ่งพาหลายภาคส่วนในการแก้ไข ในวันที่ 30 มิ.ย. จะเปิดตัวองค์กรดังกล่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยจะทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและเป็นแนวร่วมแก้ปัญหา โดยหวังว่าจะช่วยให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยลดลงได้

แนะคุมเข้มคอร์รัปชันระยะยาว

ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับการคอร์รัปชัน ภาคเอกชนและภาคธุรกิจถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา นักธุรกิจก็เหมือนคนทั่วไปที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี การทุจริตจะเกิดขึ้นได้เพราะมีการร่วมมือกัน ดังนั้นต้องรณรงค์ให้คนมีจิตสำนึก ทั้งในภาคเอกชน ภาคราชการ และนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการรณรงค์ของภาคธุรกิจขณะนี้ถือว่าได้ผล ส่วน คสช.ที่เข้มงวดกับเรื่องคอร์รัปชัน ถือเป็นการป้องปราม แต่คงช่วยได้ในระยะหนึ่ง คงไม่ถาวร อีกทั้งโครงสร้างของภาครัฐ ภาคเอกชนยังมีจุดอ่อน หากมีรัฐบาลกระบวนการเกิดหย่อนยานก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

เร่งแก้กฎหมายทวงคืนที่ดินหลวง

ที่โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส จ.นครราชสีมา นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "ยุทธศาสตร์การบูรณาการประชาสัมพันธ์เชิงรุก" ว่า ขณะนี้มีกฎหมายหลายเรื่องที่ ป.ป.ช.พยายามแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกระบวนการคืนที่ดินหลวงที่ถูกบุกรุกยึดครอง เนื่องจากที่ผ่านมาดำเนินการช้ามาก คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ต้องแก้ไขกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในส่วนเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ หาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปให้ต้องมีการแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดผู้บุกรุกทันที อยากเห็นการยึดคืนที่ดินยสวดีรีสอร์ท หรือสวนป่ายสวดี อ.ภูเรือ จ.เลย ที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน เป็นโมเดลในการดำเนินการทั่วประเทศ

ขออำนาจติดดาบฟันเอกชนตุกติก

ต่อมานายวิชาให้สัมภาษณ์ว่า ป.ป.ช.จะเสนอต่อ คสช. ขอแก้กฎหมายให้มีอำนาจตรวจสอบนิติบุคคล เอกชน ได้เท่าเทียมกับการตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการ เพราะการทุจริตประกอบด้วย 3 ฝ่ายดังกล่าว ภาคเอกชนจะได้เฝ้าระวังเรื่องการให้สินบน การทุจริตจะหยุดยั้งไปในเบื้องต้น ซึ่งต้องรอให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ป.ป.ช.จะเสนอแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ที่ค้างมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาเรื่องอายุความ การติดตามตัวในระหว่างที่ผู้ต้องหาหนีคดี และจะมีผลต่อเรื่องการริบทรัพย์สิน เพื่อให้มีการติดตามเอาทรัพย์สินคืนได้ตามมูลค่าและราคาของทรัพย์สินมาให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

จ่อเชือด "ปู" จำนำข้าวเดือน ส.ค.

นายวิชายังกล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ป.ป.ช.ยังดำเนินการไต่สวนไม่ได้หยุด พบว่ามีเอกชนเกือบ 100 บริษัทที่ต้องขยายผลสอบไป เพื่อให้รู้ว่าเงินที่ซื้อขายกันนั้นไปไหนบ้าง มีรายละเอียดอย่างไร เพราะเกี่ยวโยงกับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินในเรื่องการทุจริตต่างๆ กำลังเร่งรัด คาดว่าภายในเดือน ส.ค.-ก.ย. จะสรุปสำนวนคดี เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ได้ ส่วนกรณีทีมทนายผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอให้ ป.ป.ช.สอบเพิ่มพยานคดีจำนำข้าวอีก 8 ปากนั้น ที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ควรให้สอบพยานเพิ่มเติมอีก ซึ่งจะแจ้งให้ทีมทนายความของอดีตนายกฯทราบต่อไป หลังจากนี้หากมีการขอให้ไต่สวนพยานเพิ่มเติมอีก จะไม่รับแล้วเพราะถือว่าจบแล้ว

ยืนกรานไม่ได้เจาะจงไล่ล่าใคร

ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผช.ผบ.ทบ.ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.กล่าวว่า การส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปตรวจโกดังข้าว ซึ่งพบว่ามีข้าวหายไปจากโกดังนั้น เป็นการส่งทหารลงไปตรวจตามขั้นตอน อย่าไปกังวล ไม่ได้มีการเจาะจง หรือต้องการขยายความแตกแยก ไม่ใช่การไล่ล่า คสช.ทำงานตามปกติ เมื่อมีการสำรวจและจัดทำบัญชี จะมีคณะกรรมการลงไปตรวจสอบตามบัญชี หากเจอสิ่งไม่ถูกต้องก็รายงาน คสช.

แฉโกดังเดียวข้าวล่องหน 3 รอบ เวลา 13.30 น. นายทนงศักดิ์ เชื้อพิพัฒน์ นักการตลาด (5) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมดูแลโกดังเก็บข้าวในเขต อ.เมืองปทุมธานี เข้าให้ปากคำกับ พ.ต.ต.กวี ช่วยสร้าง พงส.ผนก.สภ.ปากคลองรังสิต จ.ปทุมธานี กรณีข้าวหายไปจากโกดัง บริษัท ฟีนิกซ์ อกริเทค (ประเทศไทย) หลังให้ปากคำเสร็จ นายทนงศักดิ์กล่าวเพียงสั้นๆว่า ให้รอทางผู้ใหญ่เขาแถลงข่าวเอง เพราะตนไม่มีอำนาจให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ขณะที่ พ.ต.ต.กวีกล่าวว่า จะติดต่อบริษัทฟีนิกซ์ฯ มาให้ปากคำรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้ามีการแจ้งความว่าข้าวในโกดังบริษัทดังกล่าวหายไปถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 9 ต.ค.2556 หายไปกว่า 7,000 กระสอบ และรอบสองเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2556 หายไปอีกประมาณ 11,480 กระสอบ กระทั่งล่าสุดทหารเข้ามาตรวจสอบ พบว่าข้าวหายไปทั้งหมดรวมกว่า 91,000 กระสอบ

สถาปนารัฐสภาครบรอบ 82 ปี

เมื่อเวลา 09.09 น. ที่รัฐสภา นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระวิญญาณอดีตพระมหากษัตริย์ เนื่องในวันสถาปนารัฐสภาครบรอบ 82 ปี เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา รวมทั้งผู้บริหาร ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เข้าร่วมพิธี ทั้งนี้นายจเรได้เจิมและบูชาพระบรมรูปหล่อจำลองรัชกาลที่ 5 และบูชาพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 จากนั้นพราหมณ์ประกอบพิธีบวงสรวง ถวายเครื่องราชสักการะและเครื่องบวงสรวง และบูชาพระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมืองและพระภูมิเจ้าที่ จากนั้นมีพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนา อาราธนาพระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์

"จเร" ตั้งงบหมื่นล้านรับสภาปฏิรูป

จากนั้นนายจเรให้สัมภาษณ์ว่า หน้าที่หลักคือสนับสนุนการทำงานของระบบรัฐสภา ซึ่งรับผิดชอบเรื่องสภาปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น โดยจะดูแลการจัดประชุมและบริหารการประชุมกรรมาธิการ รวมทั้งสนับสนุนด้านกฎหมาย และความรู้ทางวิชาการ โดยเตรียมแผนงานและตั้งงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับสภาปฏิรูป ซึ่งจะแบ่งงบประมาณออกเป็น 3 ส่วน คือ งบประมาณสำหรับบริหารงานทั่วไป งบงานสภาปฏิรูป และงบการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่เตรียมการรองรับโดยยกร่างข้อบังคับการประชุมของสภาปฏิรูป ซึ่งจะคล้ายกับข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ส่วนการตรวจสอบการทุจริตภายในสำนักงาน จะเร่งรัดให้ตรวจสอบต่อเนื่องให้เกิดความโปร่งใส เพื่อให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านจริยธรรมแก่สังคม

"ชวน" โล่งผ่าขยายท่อน้ำดีราบรื่น

สำหรับความคืบหน้าอาการป่วยของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันเดียวกันนี้ ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา ผอ.ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของไข้ ได้สั่งให้ตรวจช่องท้อง โดยเฉพาะบริเวณถุงน้ำดีโดยละเอียด พบว่าอาการอักเสบติดเชื้อทางโลหิตเกิดจากท่อน้ำดีตีบตัน คณะแพทย์ได้ให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อลดอาการไข้ลงจนเป็นปกติ ศ.นพ.ปิยะมิตรได้สั่งผ่าตัดเล็กขยายท่อน้ำดี โดยการวางยาสลบ และใช้วิธีผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านระบบทางเดินอาหาร เพื่อขยายท่อน้ำดี โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งผลการผ่าตัดเป็นไปด้วยดี ขณะที่อาการของนายชวนหลังการผ่าตัด ยังคงอ่อนเพลีย คณะแพทย์จึงสั่งห้ามเยี่ยมเด็ดขาด 2-3 วัน เพื่อให้นายชวนพักผ่อนและรอดูอาการ ขณะที่บรรดาแกนนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าเยี่ยมให้กำลังใจไม่ขาดสาย อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค

โต้บัญชีโยกย้ายทูตยังไม่สะเด็ดน้ำ

อีกเรื่อง นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ข่าวการโยกย้ายข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศว่า ไม่ทราบถึงรายชื่อเอกอัครราชทูตที่ปรากฏเป็นข่าวว่าจะถูกโยกย้าย แต่กระทรวงฯได้จัดทำรายชื่อโยกย้ายข้าราชการประจำปีเอาไว้ล่วงหน้าตามปกติ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ โดยปีนี้มีเอกอัครราชทูตที่เกษียณอายุราชการจำนวน 10 คน ขณะนี้เป็นเพียงขั้นเริ่มต้นยังไม่เสร็จเรียบร้อย ยังต้องขอความเห็นชอบจากประเทศที่เอกอัครราชทูตไทยต้องไปประจำการ จากนั้นต้องส่งรายชื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบและที่สำคัญต้องมีพระบรมราชโองการโปรงเกล้าฯ แต่งตั้ง ขั้นตอนการโยกย้ายของกระทรวงการต่างประเทศมีมากและแตกต่างจากกระทรวงอื่น

"สีหศักดิ์" แย้มทูตโตเกียวน่าสน

เมื่อถามถึงข่าวที่นายสีหศักดิ์ จะย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายสีหศักดิ์ชี้แจงว่า ตนดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงครบ 3 ปี เมื่อครบกำหนดปลัดกระทรวงฯ แต่ละคนจะย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศที่สำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา จึงเป็นโอกาสที่จะได้ไปประจำการอยู่ต่างประเทศ ขณะที่การเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญและมีความน่าสนใจ ส่วนกระแสข่าวที่ว่านายนรชิต สิงหเสนี เอกอัครราชทูตไทย ผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมาเป็นปลัดกระทรวงฯ นั้น นายนรชิตถือเป็นผู้อาวุโสสูงสุด แต่ยืนยันว่าการจัดรายชื่อยังไม่เรียบร้อย จึงไม่ทราบว่าใครนำเรื่องไปปะติดปะต่อ จนปรากฏเป็นข่าวออกมา

ผวจ.ชุมพรผงาดนั่งอธิบดีที่ดิน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในคำสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัดรวม 5 ตำแหน่ง ประกอบด้วย 1.นายกฤษฎา บุญราช ผวจ.สงขลา เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 2.นายพินิจ หาญพาณิชย์ อธิบดีกรมที่ดิน เป็น ผวจ.สมุทรปราการ 3.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผวจ.ชุมพร เป็นอธิบดีกรมที่ดิน 4.นายธำรงค์ เจริญกุล ผวจ.พังงา เป็น ผวจ.สงขลา และ 5.นายคณิต เอี่ยมระหง.ษ์ ผวจ.สมุทรปราการ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.เป็นต้นไป
ไม่ว่าเราจะมีความทุกข์เพียงไร เราก็มีความสุขกับชีวิตได้
เพราะเราเลือกที่จะ.."เข้าใจ" แทนการเลือกที่จะ.."เจ็บปวด"
"ยอมรับ" ในสิ่งที่เป็นอยู่ "ปล่อยวาง" ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว  "มีศรัทธา" กับสิ่งที่กำลังจะมาถึง และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด