ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ลุ้นระทึก! ฉาก 'อวสาน' ความเหมือนที่แตกต่าง 2 พี่น้องตระกูล 'ชินวัตร'

เริ่มโดย itplaza, 11:22 น. 21 ก.ค 57

itplaza


ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การเมืองนาทีนี้ เป็นศึกระหว่าง 2 ฝ่าย อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ไม่ใช่ระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับ ฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร แต่กลับกลายเป็นศึก ระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแทน  เมื่อ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงมติป.ป.ช.เป็นเอกฉันท์ คะแนน 7-0 ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีทุจริตจำนำข้าวทุกขั้นตอน ซึ่งเตรียมส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ภายใน 30 วัน เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ขณะที่วันต่อมา (18 ก.ค. 57) น.ส.ยิ่งลักษณ์ "อดรนทนไม่ได้" ถึงกับนัดสื่อมวลชน แถลงด่วน! ที่ รร.เอสซีปาร์ค ตอบโต้ ป.ป.ช. โดยมีเนื้อหา 7 ข้อ ดังนี้

"1.กระบวนการยุติธรรมนั้น เป็นไปตามหลักนิติธรรมสากลหรือไม่ มองว่าเป็นการพิจารณา เร่งรีบ รวบรัด โดยแจ้งข้อกล่าวหาใช้เวลาเพียงแค่ 21 วัน จากนั้นก็ชี้มูลความผิดอาญา ภายใน 140 วัน ซึ่ง ป.ป.ช.ไม่เคยปฏิบัติกับคดีอื่นๆ เช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อดิฉัน โดยเฉพาะเทียบเคียงกับโครงการประกันราคาข้าว คดี ปรส. โครงการทุจริตโรงพักทั่วประเทศ ป.ป.ช.กลับไม่มีความคืบหน้า

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (นายใหญ่แห่งพรรรคเพื่อไทย)

2.เลือกรับฟังพยานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัวดิฉัน - ตัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ในการเสนอพยานบุคคลที่เป็นส่วนสาระสำคัญ - ไม่รอผลการพิสูจน์เรื่องสต๊อกข้าวให้เป็นที่สิ้นสุด เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องสต๊อกข้าว ทั้งๆ ที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ไปร่วมสังเกตการณ์แล้ว - ไม่ไต่สวนในข้อเท็จจริง กรณีการลงบันทึกบัญชีที่ข้อแย้งและแตกต่างกันของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี และคณะกรรมการ กขช.ให้เป็นที่สิ้นสุด - กรณีไม่พิจารณาการคัดค้าน นายวิชา รวม 3 ครั้ง 

3.นโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายระดับประเทศ นายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารเป็นเพียงผู้กำกับดูแลเท่านั้น ส่วนในระดับปฏิบัติการนั้น เป็นการทำงานของหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน แต่ในข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. กลับฟังความข้างเดียว

4.การแถลงข่าวของ ป.ป.ช.ต่อสาธารณะที่ผ่านมา ยืนยันคดีเรื่องระบายข้าวไม่เกี่ยวข้องกับดิฉัน ทำให้ไม่ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาต่อสู้และหักล้าง แต่ในข้อวินิจฉัยในการชี้มูล กลับนำข้อเท็จจริงในคดีระบายข้าว มาชี้มูลความผิดด้วย 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย

5.ที่ผ่านมา ได้พยายามชี้แจงและร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและเป็นธรรม แต่ ป.ป.ช. ปฏิเสธตลอด ทั้งที่ข้อเท็จจริงอีกหลายเรื่อง เช่น ข้าวเสื่อมสภาพและข้าวหาย หน่วยงานที่ควบคุมดูแลสต๊อกข้าว ทั้งองค์การคลังสินค้า อคส. และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ได้ทำสัญญาต่างๆ กับเจ้าของคลังสินค้า และบริษัทประกัน รับผิดชอบค่าเสียหาย หากเกิดกรณีข้าวสูญหาย และการเสื่อมสภาพข้าวที่ผิดปกติธรรมชาติ ดังนั้น การกล่าวอ้างเรื่องรัฐมีความเสียหายจากข้าวหายและข้าวเสื่อมคุณภาพ จึงเป็นการไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา

6.ขอตั้งข้อสังเกตว่า การกล่าวหาและการไต่สวนของ ป.ป.ช. ได้นำพยานหลักฐานและไต่สวนพยานที่เป็นปฏิปักษ์ และเลือกรับฟังพยานหลักฐานหรือไม่ 

7.กระแสข่าวว่าจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะหนีคดีต่างๆ นั้น ขอยืนยันการเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางส่วนตัว และมีกำหนดการไปกลับที่ชัดเจน และมีการเตรียมการล่วงหน้า แล้วก่อนที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดอย่างเร่งด่วน"

นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา สายสรรหา และกลุ่ม 40 ส.ว.

อย่างไรก็ดี การออกมาตั้งข้อสังเกตของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และทีมทนายความต่อกรณีดังกล่าว ถือเป็นสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้ทางตรงกันข้าม ก็ถือเป็นสิทธิ์ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สามารถแถลงข่าวตอบโต้ผู้ถูกกล่าวหาได้เช่นเดียวกัน ถูกหรือผิดอย่างไร เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้ตัดสิน

แล้วนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ก็ออกมาตอบโต้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ป.ป.ช.พิจารณาตัดสินคดีตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ ทุกอย่างทำตามพยานหลักฐานอย่างครบถ้วน ใช้เวลาพิจารณา ไม่ได้เร่งรีบ รวบรัด หรือสองมาตรฐาน ตามข้อสังเกตของอดีตนายกรัฐมนตรี

ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ป.ป.ช.ฟังความข้างเดียว ไม่รับฟังพยานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา นั้น เหตุผลที่ ป.ป.ช. ตัดพยานบางส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากเห็นว่า เป็นพยานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ไต่สวน ยืนยัน ป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ หลังจากนี้ คาดว่า อีก2 สัปดาห์ จะส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณามีความเห็นส่งฟ้องหรือไม่ หาก อสส. มีความเห็นแย้งกับ ป.ป.ช. คงต้องตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุดกับ ป.ป.ช. มาพิจารณาสำนวนกันอีกครั้ง

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.

โดย ป.ป.ช.จะไม่ประสานกับอัยการสูงสุด เพื่อร้องขอไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางออกนอกประเทศ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช. แต่เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดที่จะพิจารณา ขณะนี้การทำงานของ ป.ป.ช. ถือว่าหมดหน้าที่แล้ว จะทำหนังสือเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 22 ก.ค. ให้ทราบถึงเนื้อหาที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โต้แย้งการตัดสินทั้ง 7 ข้อ ให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ออกเอกสารข่าวชี้แจง การตั้งข้อสังเกตของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย

หากย้อนกลับไปมีเหตุการณ์การเมือง ที่ถือได้ว่ามีความใกล้เคียงกัน "คลับคล้ายคลับคลา" ซึ่งก็ไม่รู้ เป็นเหตุบังเอิญหรือไม่? ผู้ถูกกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในครั้งนี้ ก็เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน แถมยังเป็น พี่-น้อง ที่มาจากตระกูลเดียวกัน คือตระกูล "ชินวัตร" อีกด้วย

หากจำกันได้ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (นามสกุลเก่าชินวัตร) อดีตภริยา ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดี "ที่ดินถนนรัชดาภิเษก" โดยทั้งสองเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ขณะที่ก่อนหน้านั้น ทั้งสองขออนุญาตออกนอกประเทศ โดยอ้างว่าไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ตามคำเชิญของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ปรากฏว่าทั้งสองกลับเดินทางต่อไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง โดยท้ายที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่กลับมารายงานตัวต่อศาลแผนกคดีการเมืองอีกเลยจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในความผิดฐาน ซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้รับผิดชอบตรวจสอบการทุจริตโครงการจำนำข้าว

มาถึงกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีทุจริตโครงการจำนำข้าวทุกขั้นตอน ซึ่งก็ถูก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า รวบรัด เร่งรีบผิดปกติ ต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ได้ต้องการชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจเดินตามรอยพี่ชาย เพราะอย่างไรมันยังมาไม่ถึง เพียงแต่บังเอิญเหตุการณ์มีความคล้ายคลึงกัน ตรงเจ้าตัวเองก็ขออนุญาตคณะ คสช. บินออกนอกประเทศไปเที่ยวยุโรปกับลูกชาย ช่วงติดคดีความเหมือนกัน และก็ตรงกับวันเกิด พ.ต.ท.ทักษิณ พี่ชาย 26 กรกฎาคม พอดี

ขณะปรากฎข่าวจากบุคคลใกล้ชิดตระกูล "ชินวัตร" อย่าง นายนพดล ปัทมะ ที่ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ทำนองเดาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจบินไปร่วมงานวันเกิดพี่ชายตามประสาครอบครัว และไม่อยากให้โยงเป็นเรื่องการเมือง เชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะบินกลับมาต่อสู้ทุกคดีกับป.ป.ช. ตามกำหนด รวมทั้งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ เองก็ออกมายืนยันว่า จะทำตามข้อตกลงกับ คสช. เดินทางกลับประเทศ ตามกำหนด ไม่เกิน 10 ส.ค.นี้

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี

ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เชื่อ เพราะคนที่ยืนยันอย่าลืมว่า มีศักดิ์ศรี ระดับเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย คำพูดย่อมต้องเชื่อถือได้ แต่มันก็ช่วยไม่ได้ หากอีกฝั่งจะคิดระวัง รีบออกมาดักคอไว้ก่อนล่วงหน้า อาจเพราะกลัว "ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย" เนื่องจาก 2 เหตุการณ์นี้ มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกันอยู่ในตัวเอง

ข้าวในโครงการรับจำนำทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ก็อย่างที่ นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม 40 ส.ว. โพสต์ FB มองว่า คสช.ตัดสินใจฉลาดมาก เพราะ 1.เป็นการโยนหมากกลับไปที่ยิ่งลักษณ์ ต้องคิดเองว่า จะหนีหรือไม่ ถ้าหนีก็ต้องเเบบเดียวกับทักษิณ คือ หนีตลอดชีวิต 2.ข้อหาและคดีความต่างๆ ที่จะตามมาอีกเพียบ และกฎหมายใหม่ที่ ป.ป.ช.เสนอ และ สนช.จะออกใหม่เเก้ไขนั้น คดีทุจริตมีอายุความ 30 ปี และรื้อฟื้นคดีได้ หมายความว่า ถ้าจะหนีก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต ถูกยึดทรัพย์ ถูกถอนพาสปอร์ต ถูกตำรวจสากลตามจับ หรืออาจถูกส่งกลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

และ 3.ทรัพย์สมบัติที่ยังอยู่ในเมืองไทย มากเกินกว่าขนย้ายทัน เพราะไม่คิดว่าจะถูกปฏิวัติ
ที่หลายคนกังวลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะออกนอกประเทศเเล้วหนีไปนั้น คิดว่า ถ้าเธอคิดเป็น ก็คงตัดสินใจไม่หนี อยู่สู้คดี ยืดเวลาได้เป็นสิบปี พอ คสช.หมดอำนาจ ค่อยว่ากันใหม่ดีกว่า จริงมั้ย หรือท่านเห็นว่าไงดี?

เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโกดังเก็บโครงการจำนำข้าว

กลายเป็น คสช.โยนความกดดันมาให้ ยิ่งลักษณ์ ต้องมาวัดใจกัน ถึงวันนั้น อดีตนายกฯ หญิง จะกลับมาหรือไม่

แล้วมันก็กระทบชิ่งไปถึงผู้มีอำนาจ อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปนอกจนได้ เมื่อ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุถึงกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ไม่ยอมรับมติ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าว ว่า อยากบอก น.ส.ยิ่งลักษณ์ การที่ ป.ป.ช.ออกมาชี้มูล เป็นแค่กระบวนการขั้นต้น เปรียบเหมือนตำรวจของนักการเมืองเท่านั้น ยังเหลือขั้นตอนอัยการสูงสุด และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้ง 9 ท่าน จะเป็นผู้ชี้ขาด

ฉะนั้น "อย่าตีโพยตีพาย" การที่อดีตนายกฯ ส่งสัญญาณเช่นนี้ คนที่มีอำนาจในการอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ ก็ต้องคิดหนัก และการที่ คสช.โยนเรื่องไปให้ ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณาการเดินทางออกนอกประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะคดีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมขั้นต้นแล้ว หาก คสช.ไปตัดสินเอง ก็จะถูกมองว่าเป็นการก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป.

ส่วนที่ ป.ป.ช.ออกมาระบุว่า ไม่มีอำนาจในการจะอนุญาตใหับุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักรนั้น ก็เป็นเรื่องถูกต้องเช่นกัน เพราะกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิ ป.ป.ช.ใจการควบคุม หรือกักตัว ทำได้แค่ชี้มูลความผิด

ดังนั้น กรณีนี้ อสส.และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ถือว่ามีสิทธิที่จะชี้ขาดใจ แต่หากมีการแย้งว่า อสส. ยังไม่มีความเห็นส่งฟ้อง ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางในวันที่ 20 ก.ค.นี้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของ คสช. ที่ขณะนี้มีอำนาจพิเศษที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถที่จะใช้สิทธิชี้ขาดได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เห็นไหม? คนเราความคิดมันห้ามกันไม่ได้ ขออย่างเดียวว่า ทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ แน่นอนต้องยึดหลักความถูกต้อง ผิดว่าไปตามผิด ไม่ให้เกิดการขัดแย้งกัน จนทำประเทศไทยติดหล่ม จนแทบล่มสลายอย่างที่ผ่านมาเป็นใช้ได้... หรือใครว่าไม่จริง?

ขอบคุณเนื้อหา thairath
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=37840&page=1

โกลเด้น แอโร่

ก็ไม่แน่นะคะ เธออาจจะไม่กลับมาก็ได้ บางทีเธออาจจะลืมก็ได้ว่ารับปากอะไรไว้ เพราะขนาดมี สคลิป เธอยังผิดๆถูกๆ
นี่คิดเองเธออาจไม่กลับมา ไปอยู่ประเทศซิดนี่ย์ ที่มีถนน คอ นก รีต ก็ได้ ส.อืม  ส.อืม
ต้นทุนของบริษัทต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า