ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ซุลกิฟลี ยูโซะ แพทย์ตัวอย่างภาคใต้ "ไม่ได้เป็นหมอเพื่อตัวเองแต่เป็นหมอของทุกคน"

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 11:48 น. 31 ก.ค 57

ทีมงานประชาสัมพันธ์

การแถลงข่าวแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี พ.ศ.2557

นายแพทย์ซุลกิฟลี ยูโซะ
เราไม่ได้เป็นเพียงหมอเพื่อตัวเอง แต่ต้องเป็นหมอของทุกคน

[attach=1]

"คุณค่าของความเป็นแพทย์ ไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณเป็นหมอโรงพยาบาลไหน เล็ก หรือ ใหญ่ แต่คุณค่า เกิดจากการทำหน้าที่แพทย์เต็มกำลังความสามารถ และทำให้คนในพื้นที่มีสุขภาพดี และที่สำคัญ คือ เราไม่ได้เป็นหมอเพื่อตัวเอง แต่ต้องเป็นหมอของทุกคน" คำพูดดังกล่าว บ่งบอกเจตนารมณ์ การทำหน้าที่แพทย์ในชุมชน ของนายแพทย์  ซุลกิฟลี ยูโซะ แพทย์ประจำโรงพยาบาลไม้แก่น ผู้ได้รับการคัดเลือกให้ได้รางวัล แพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2557 ในงานประชุมวิชาการประจำปี คณะแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 30  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 8 สิงหาคม พ.ศ.2557

การทำงานของนายแพทย์ซุลกิฟลี อาจไม่แตกต่างในด้านมาตรฐานการรักษา แต่ส่วนที่เติมเต็มและทำให้งานการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลเป็นไปด้วยความเข้าใจมากขึ้น คือ การ "เข้าถึง" และ"เข้าใจ" ในที่นี่ หมายถึง เข้าถึงพื้นที่ให้บริการ คลุกคลี พูดคุย ทำให้เข้าใจผู้ป่วย รับรู้ความต้องการ เข้าใจพื้นฐานความเป็นอยู่ เรียนรู้แนวปฏิบัติทางสังคมในพื้นที่ ด้วยความจริงจังและตั้งใจ เพื่อให้การรักษาอยู่บนพื้นฐานความต้องการผู้ป่วยและสอดคล้องกับบรรทัดฐานทางการแพทย์ แต่ที่มากไปกว่านั้น คือ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่ และเป็นข้อมูลในการพัฒนาระบบสุขภาพขั้นพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

"หมอซุล" หรือ "บอมอซู" เป็นคำเรียกติดปากของผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ตลอดจนชาวบ้านในอำเภอไม้แก่นและอำเภอใกล้เคียง เรียกนายแพทย์ซุลกิฟลี   เพราะพวกเค้ารู้จัก เชื่อใจ ชอบใจในความเป็นกันเองระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย และมากไปกว่านั้น คือ ความศรัทธาในการทำหน้าที่แพทย์ของ "หมอซุล"

"หมอซุล"  เป็นนักเรียนเริ่มต้นการเป็นนักศึกษาแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2529  และจบแพทยศาสตรบัณฑิต ในปี พ.ศ.2535  และเริ่มทำงานเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลไม้แก่น จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของหมอซุล  หมอเล่าให้ฟังว่า "โดยส่วนตัวแล้วลักษณะนิสัยและความเป็นอยู่ ผมไม่น่าจะเหมาะกับการเลือกคณะแพทยศาสตร์  เพราะเป็นคนชอบเล่นกีฬา ชอบทำกิจกรรม ชอบอยู่กับเพื่อน ๆ ไม่มีบุคลิกเด็กเรียน แต่อาจารย์แนะนำว่าในกลุ่มเด็กมุสลิมด้วยกัน ผมน่าจะเรียนแพทย์ได้ และแพทย์ที่เป็นมุสลิมหรือเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็มีน้อยมาก สังคมยังขาดคนท้องถิ่นที่จะมาเป็นแพทย์เพื่อดูแลพี่น้องในชุมชน ประกอบกับมีโควตาพิเศษของ ศอ.บต. สำหรับนักเรียนที่ผลการเรียนดีและทำคะแนนสอบถึงเกณฑ์ ทำให้ผมตัดสินใจสมัครเรียนแพทย์ และด้วยความที่ฐานะทางบ้านไม่ดี ยิ่งเรียนใกล้บ้านก็จะทำให้ไม่เป็นภาระมาก ประกอบกับตัวเองเรียนอยู่ที่ โรงเรียนสาธิต ฯ มอ. 6 ปี จึงรู้สึกคุ้นเคยกับชื่อ มอ. และมีความผูกพันกันมาก่อน

   ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ ในคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. สิ่งที่ผมประทับใจมาก คือ ความเป็นเพื่อน พี่ น้องในคณะฯ เป็นสิ่งที่งดงามมาก ช่วยเหลือกันและกัน มีการช่วยกันในเรื่องเรียนและมีกิจกรรมออกสู่ภายนอก อาจารย์จะเคี่ยวเข็ญมาก โดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบ  ไม่ว่าจะเป็นตอน ปี 1- 3 (ชั้น Pre clinic) หรือ ปี 4-6 (ชั้น clinic) อาจารย์จะให้พวกเราเรียนรู้เองบ้าง เรียนรู้ด้วยกันเป็นทีมบ้าง ที่สำคัญฝึกให้เรากล้าทำ กล้าตัดสินใจ และได้มีโอกาสฝึกหรือทำหัตถการต่าง ๆ มากมาย ทำให้จบไปแล้ว มีความแกร่ง และมีทักษะที่ดีในการทำงาน

รู้สึกกับการทำหน้าที่แพทย์ครั้งแรก

   รู้สึกดีใจที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้ เด็กบ้านนอกคนหนึ่งทำหน้าที่แพทย์ได้อย่างภาคภูมิใจ ดีใจที่ทำให้ พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง คนในหมู่บ้าน ตำบลชื่นชมไปกับเรา เราไม่ได้เป็นเพียงหมอเพื่อตัวเอง หรือของครอบครัวเท่านั้น แต่ต้องเป็นหมอของทุกคนที่ส่งแรงใจให้กำลังใจ และอยากจะทำงานให้ดีที่สุด โดยเฉพาะการให้บริการในสังคมที่ขาดโอกาสเข้าถึง หรือขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์

กับความรู้สึกของการเลือกที่จะเป็น "หมอจบใหม่ในโรงพยาบาลไม้แก่น"

   ในปีที่จบนั้น มีโรงพยาบาลว่างให้หมอจบใหม่เลือกอยู่ 5 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ โรงพยาบาลไม้แก่น เป็นอำเภอที่ไกลที่สุด กันดารที่สุด ผมในฐานะเป็นคนปัตตานีคนเดียวของรุ่น จึงเลือก โรงพยาบาลไม้แก่น เพราะคิดเสมอว่า ไม่มีที่ไหนที่เราอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะปัตตานีบ้านเกิด (แม้ว่าตลอดที่ผ่านมาไม่เคยมา อำเภอไม้แก่นเลย)

ตอนแรกทราบว่าจะต้องเป็นหมอคนเดียวของโรงพยาบาล แต่คิดว่าเราน่าจะทำได้ เพราะผ่านการฝึกงานที่หนักมากมาแล้ว งานดูแลคนไข้ไม่หวั่น แต่กังวลนิดหน่อย กับงานในตำแหน่ง ผอ.เลย เพราะไม่เคยผ่านงานบริหารมาก่อน พอมาทำงานจริง ผมใช้ความเป็นหมอทำงานมากกว่า ตำแหน่ง ผอ. โชคดีที่มีบุคลากรในโรงพยาบาลคอยให้ความช่วยเหลือ และทำงานไปด้วยกัน ก็เลยสนุกกับการเรียนรู้ การทำงาน การอยู่ร่วมกันของสมาชิกในโรงพยาบาล และชาวบ้าน อะไรที่ไม่เคยทำ ก็ได้ทำ เพราะเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไม้แก่น มีไม่มาก ผมจึงมีโอกาสทำงานในหลากหลายหน้าที่ นอกจากจะเป็นช่างทีวี ช่างโทรศัพท์ ช่างประปา แล้วยังเป็นพนักงานขับรถรับ – ส่งผู้ป่วย ของโรงพยาบาลด้วย

   มันเป็นความรู้สึกสนุกและท้าทาย มากกว่าความเหนื่อย เพราะในวัยที่จบมาใหม่ๆไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำอะไรได้ทำ ไม่มีเรื่องเงินทองมาเกี่ยวข้อง ไม่มีเรื่องเวลาราชการ กอร์ปกับทีมงานสมาชิกโรงพยาบาลเป็นวัยเดียวกัน เมื่อเราเปิดใจ  ทีมงานก็พร้อมที่จะลุย ทำให้โรงพยาบาลไม้แก่น มีชีวิตชีวา เป็นโรงพยาบาลของชุมชน เกิดความศรัทธากับคนที่นี่ ลดช่องว่างในการเข้าถึงการบริการพร้อมกับสร้างความรู้สึกให้คนของโรงพยาบาล เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่นี่ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำร่วมกัน

ความประทับใจในชีวิตการทำงานเป็นแพทย์

   มีหลากหลายเหตุการณ์มาก ทั้งในแง่ การบริการรักษาพยาบาลและการอยู่ร่วมกันกับชุมชน ที่ประทับใจมากคือ เมื่อเราเปิดใจ และทำงานเต็มที่ด้วยความจริงใจแล้ว ความศรัทธาเกิดขึ้น ในการที่จะทำอะไร ชาวบ้านเชื่อถือและให้เกียรติเรามาก คนไข้ที่ไม่ยอมรักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน เมื่อเข้าไปคุยและอธิบาย จะยอมรักษา ทำให้ผลรักษาออกมาดี เขาจะจำผมได้ดี  นอกจากนี้ เวลาที่โรงพยาบาลต้องจัดกิจกรรมอะไร ทั้งที่คนน้อย งบไม่มี แต่จะมีชาวบ้านมาช่วยงานเยอะมาก เมื่องานเสร็จเราก็เลี้ยงอาหารด้วยข้าวต้มหรือถั่วเขียวต้ม อาจจะดูไม่มีมูลค่า แต่ก็เป็นคุณค่าแบบวิถีชาวบ้าน

ความยากของการทำให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงการบริการ

   แรก ๆ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะการให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการ ต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขามาโรงพยาบาลแล้วมีคนรู้จักเขา เขารู้จักเรา พูดจาภาษาเดียวกัน และมีขั้นตอนไม่ซ้ำซ้อน นอกจากนั้น คุณภาพการบริการ พฤติกรรมบริการ เขาต้องสัมผัสได้และมีความพึงพอใจ ตอบสนองเขาได้ โรงพยาบาลจึงต้องเป็นฝ่ายเปิดเพื่อให้ชาวบ้านได้เข้ามา แนะการให้บริการที่เขาอยากได้ แล้วเราค่อย ๆ ปรับปรุงทีละน้อย  ทีละเรื่อง ขณะเดียวกัน สมาชิกของโรงพยาบาลก็ต้องสร้างจิตสำนึก เรื่องการบริการความเป็นกันเองกับชาวบ้าน โรงพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาล ชาวบ้านเป็นใคร ฐานะอย่างไร เป็นอยู่อย่างไร ก็สามารถมารับบริการที่นี่ได้ไม่แปลกแยก จะใส่สูทมา หรือใช้รองเท้าแตะ ผ้าขาด จะได้รับการดูแลเหมือนกัน 

ในเรื่องความเชื่อความของคนในพื้นที่บางเรื่องต้องค่อยๆปรับใหม่ เช่น ไม่มาคลอดในโรงพยาบาล เพราะเหตุผลต่าง ๆ ผมและคนในทีมงาน พยายามให้ความรู้ และทำความเข้าใจ จนทำให้การคลอดในโรงพยาบาลเป็นวิถีปกติของชุมชน
ความคิดที่จะออกไปทำงานในพื้นที่อื่น หรือไปไขว่คว้าความศิวิไลซ์ 

   เมื่อทำงานไปสักระยะหนึ่ง รู้สึกว่าเรามีอะไรต้องทำตลอดเวลา ทั้งเรื่องใหม่ ๆ และเรื่องที่ต้องแก้ไขให้ดีขึ้น  ผมยังรู้สึกว่าต้องทำอะไรให้ดีขึ้นกว่าเดิม มากกว่าเดิม ยิ่งอยู่นานขึ้น ยิ่งรู้สึกผูกพันกับโรงพยาบาลและชุมชน ผมคิดเสมอว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่นี่ ปรับตัวและชินกับชีวิตความเป็นอยู่ที่นี่ ไม่รู้สึกว่าเป็นที่ทำงาน  แต่มัน คือ บ้าน ที่เราใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน ความศิวิไลซ์จึงไม่ใช่คำตอบ แต่เราก็สามารถเข้าไปหาได้เป็นครั้งคราว เพื่อประสบการณ์ และสีสันในชีวิต
ผมคิดว่าการเปิดคลินิก อาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย แต่สำหรับในพื้นที่ไม้แก่น เขาสามารถเข้ารักษาได้ในโรงพยาบาลชุมชนของพวกเค้า ในโรงพยาบาลรัฐ ที่ให้บริการเขาได้ ถ้าเราและทีมงานให้การบริการที่ดี มีคุณภาพ ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำงานตั้งใจดี พระเจ้าจะให้เรามาเองทั้งในแบบตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเรียกร้องใด ๆ

ความหวั่นใจกับการทำงานในพื้นที่สีแดง

   การทำงานในจุดนี้ สิ่งที่กลัว คือ ความไม่เข้าใจกันระหว่างเราทีมงานโรงพยาบาลกับชุมชน ดังนั้นการทำงานด้วยความตั้งใจจริง อยากเห็นชาวบ้านมีสุขภาพที่ดีขึ้น เข้าถึงการบริการที่ดี มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม จำเป็นต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ดี เปิดใจรับฟังปัญหาและเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มากขึ้น เมื่อเข้าใจกันดี เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน การทำงานในพื้นที่จะมีอุปสรรคน้อยลง ความกลัวจะลดลง ทำงานมีความสุขมากขึ้น

อยากเห็นระบบสุขภาพในพื้นที่เป็นอย่างไร

   ผมอยากเห็นระบบสุขภาพแบบที่ชาวบ้านพึ่งพาตัวเอง ดูแลสุขภาพตัวเองและครอบครัวเบื้องต้นได้ มีการรับรู้และช่วยเหลือกันแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชน โดยมีองค์กรต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงใจ เมื่อมีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายในทุกระดับ โดยสถานบริการมีบุคลากรที่รู้จักชาวบ้าน ชุมชน มีการปรับระบบบริการให้สอดคล้องกับบริบท มีการส่งต่อข้อมูลที่ดี มีการดูแลต่อเนื่อง และผสมผสาน  มีระบบส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรู้จักชาวบ้านและชุมชนให้มากขึ้น เจ้าหน้าที่อยู่กับชุมชนให้เป็นและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ยึดเอาปัญหาของชุมชนจริงๆ ในการทำงานต้องลดการสั่งการในแนวดิ่ง หรือต้องการผลงานระดับประเทศ จังหวัดมากเกินไป ปรับทัศนคติการทำงานของเจ้าหน้าที่และมีเวลาให้กับชาวบ้านมากขึ้น


ปัญหา หรืออุปสรรคในการทำงาน

   การทำงานย่อมมีปัญหาและอุปสรรค  อาจจะแตกต่างกันไป ในแต่ละเวลาและสถานการณ์ เช่น มีคนทำงานน้อย และส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ ๆ ก็ต้องทำให้ทุกคนทำงานได้หลายหน้าที่ในหลายเวลา มีการถ่ายทอดประสบการณ์กันให้มากขึ้น และในการทำงานต้องรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวให้มากที่สุด

      - มีงบประมาณไม่มากในการดำเนินงานต้องบอกให้ทุกคนใช้จ่ายให้เหมาะสมและมีการดัดแปลง ทำในสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการระดมคนทั้งในโรงพยาบาล และชาวบ้าน มาทำงานร่วมกัน โดยไม่มีการจ้างเป็นตัวเงิน เช่น ช่วยกันทาสีรั้วโรงพยาบาล , ปลูกหญ้า , ทำสวน เป็นต้น

      - การที่โรงพยาบาลอยู่ห่างไกลความเจริญต้องหากิจกรรมให้สมาชิกโรงพยาบาลร่วมกันทำบ่อย ๆ เพื่อให้มีบรรยากาศความเป็นอยู่ที่ดี และมีความรักกันมากขึ้น เช่น กินเลี้ยง , กีฬา , ท่องเที่ยว เป็นต้น

หัวใจ ของการเป็นหมอในพื้นที่ชนบท

   หัวใจ ของการเป็นหมอในพื้นที่ชนบท คือ การทำให้เป็นคนเหมือนคนทั่วไปและใช้วิชาชีพให้เกิดประโยชน์มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ใช้ชีวิตร่วมกับชุมชนได้ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนให้ได้ สุดท้ายก็จะเกิดความศรัทธา เมื่อนั้น เราจะไปไหน จะมีคนมาทักทายตลอด ทุกเพศ ทุกวัย มีคนมาปรึกษาหลายเรื่อง   เริ่มจากเรื่องสุขภาพตามวิชาชีพ กลายเป็นทุกเรื่องในชุมชนที่เรามีส่วนร่วม เช่น เรื่องการศึกษาของบุตร เรื่องอาชีพ เรื่องกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน และเรื่องราวชีวิตการทำงานทั้งหมด ทำให้ผมเข้าใจคำว่า "เป็นตะเกียงให้ความสว่างท่ามกลางความมืด ดีกว่าเป็นหลอดไฟท่ามกลางความสว่างของหลอดไฟหลายดวง อย่างน้อยก็รู้สึก ภูมิใจในคุณค่าของตัวเองบ้าง"

คิดอย่างไร กับการเป็นแพทย์ในปัจจุบัน

   วิชาชีพแพทย์ในปัจจุบันถูกมองและให้ความสำคัญ เพียงเป็นอาชีพที่สามารถทำรายได้เป็นจำนวน  สามารถสร้างรายได้หรือขยายฐานะของตนเองได้ แต่ผมมองว่า ทุกอาชีพอื่นๆ มีมิติหลักของตัวเอง  อาชีพแพทย์ก็เช่นกัน  คุณค่าของการเป็นแพทย์ คือความสำคัญของวิชาชีพที่มีต่อสังคม ชุมชน ซึ่งความคิดเหล่านี้ต้องได้รับการปลูกฝัง และมีแบบอย่างที่ดี เพื่อการจดจำและดำเนินรอยตาม

ความรู้สึกกับการได้รับรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้

   ผมรู้สึกดีใจ  ภูมิใจ ที่มีคนเห็นคุณค่า ของหมอบ้านนอกคนหนึ่ง ที่นับวันจะถูกลืมจากระบบ  เป็นหมอที่ใครๆ ไม่ค่อยอยากเป็น ไม่อยากอยู่ในชนบท การได้รับรางวัลในครั้งนี้ทำให้ผมมีกำลังใจในการทำงานต่อไป ขอมอบรางวัลนี้กับผู้ที่ทำงานเพื่อคนในชนบททุกคนในทุกแห่ง และขอส่งกำลังใจนี้ไปให้ทุกท่านครับ

   ขอบคุณพระเจ้าองค์อัลลอฮ ที่ทรงเลือกและมอบหมายให้ผมได้มาเป็นแพทย์และทำให้การงานเป็นไปได้ด้วยดี
   ขอบคุณครอบครัว พ่อ-แม่-ภรรยา-ลูก ๆ รวมทั้งบรรดาญาติพี่น้องทุกคนที่เป็นกำลังใจ และเข้าใจในภารกิจแนวทางการทำงาน

   ขอบคุณครู อาจารย์ ที่อบรมสั่งสอนและชี้ให้เห็นแนวคิดที่ถูกต้อง ตลอดจนเพื่อน ๆ ทุกคน ที่ร่วมกันผลักดัน และชี้แนะในระหว่างการเรียนและทำงาน

   ขอบคุณเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม้แก่น ชาวไม้แก่น และอำเภอใกล้เคียงที่เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ เกิดการเรียนรู้ ผูกพัน ทำให้รู้จักชุมชนมากขึ้น และที่มากไปกว่านั้น คือ การให้ความรัก ดั่งเหมือนญาติมิตร เสมอมา