ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เร่งล่าตัวพ่อยุ่นตรวจดีเอ็นเอ

เริ่มโดย itplaza, 11:32 น. 13 ส.ค 57

itplaza

คลี่คลายปมกรณีลูกอุ้มบุญ


ตำรวจยังรอคดีหนุ่มญี่ปุ่นจ้างแม่อุ้มบุญกว่าสิบราย เร่งประสานตำรวจญี่ปุ่น-กัมพูชา-อินเดีย-มาเก๊า เพื่อติดตามตัวกลับไทยมาไขปริศนาความเป็นพ่อเด็ก ด้าน "จรัมพร" ห่วงการอุ้มบุญจะก่อปัญหาสังคมในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลทำได้ยากขึ้น จี้ทางการแพทย์ต้องควบคุมให้อยู่ในกฎกติกาเคร่งครัด ขณะที่นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงชี้ ร่าง ก.ม.อุ้มบุญที่เตรียมเข็นออกมา ควรปรับปรุงเนื้อหาก่อน เหตุเอื้อผลประโยชน์คน 3 กลุ่ม แต่หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนกลับถูกละเมิดสิทธิตามพื้นฐานอนามัยเจริญพันธุ์ ส่วนแม่อุ้มบุญน้องแกรมมี่โต้กลับพ่อแม่ชาวออสซี่ ยันรู้เรื่องเด็กแฝดดี ตอนนี้ไม่ยอมให้นำตัวกลับแล้ว จะขอเลี้ยงเด็กไปตามปกติ

หลังจากตำรวจพยายามคลี่ปมสาเหตุที่นายมิตซึโตกิ ชิเกตะ หนุ่มญี่ปุ่นทายาทมหาเศรษฐี ว่าจ้างหญิงไทยให้ตั้งครรภ์ทารก หรือที่เรียกว่ารับอุ้มบุญ ที่เบื้องต้นยืนยันแล้วมี 13 ราย และรอพิสูจน์อีก 2 ราย โดยพบว่ามีการนำเด็กออกจากไทยไปแล้ว 3 ราย ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นคู่แฝด และยังพบว่าก่อนหน้านี้ นายมัตซึโตกิ เคยนำเด็กทารกจากอินเดียเข้ามาในไทยก่อนผ่านออกไปยังประเทศกัมพูชา ทำให้เมื่อวันที่ 12 ส.ค. เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เรียกชุดพนักงานสืบสวน ประกอบด้วย บช.น. บก.น.4 ดส. สตม. และตัวแทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการอุ้มบุญ ท่ามกลางสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจ ติดตามความ คืบหน้าของคดีจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อมวลชนจากประเทศญี่ปุ่น อาทิ เกียวโด เอ็นเอชเค อาซาฮิ ฟูจิทีวี

ภายหลังประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งสูติบัตร ดีเอ็นเอและสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง พบว่าเด็กทั้ง 15 ราย มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายมิตซึโตกิ ชิเกตะ โดยเด็ก 9 ใน 15 ราย สามารถระบุได้ว่ามีบิดาคนเดียวกัน แต่ทางตำรวจยังไม่สามารถยืนยันได้ว่านายมิตซึโตกิ เป็นบิดาตามสายเลือด เพราะยังต้องตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากนายมิตซึโตกิก่อน ชุดสืบสวนยังอยู่ระหว่างประสานงานกับตำรวจญี่ปุ่น กัมพูชา อินเดีย และมาเก๊า เพื่อติดตามนายมิตซึโตกิ กลับมาประเทศไทยเพื่อสอบปากคำ และตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ด้านการตรวจหามารดาที่แท้จริงของเด็ก เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นไข่ของหญิงที่รับอุ้มบุญหรือไม่ ส่วนดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง เบื้องต้นสามารถเอาผิดกับสถานพยาบาลที่ดำเนินการผสมเทียมให้แม่อุ้มบุญ เพราะกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนแพทย์ที่ทำการฉีดน้ำเชื้อต้องดูเจตนา หากมีการกระทำผิดก็จะดำเนิน คดี ขณะที่บุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเวลานี้ตำรวจยัง ไม่ได้มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด

ขณะที่ พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า กรณีที่นายมิตซึโตกิมีการจ้างให้มีการอุ้มบุญจำนวนมากนั้นเชื่อว่ามีเจตนาแอบแฝงบางอย่าง ตำรวจจะดำเนินการสืบสวนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

ด้าน บช.น. ที่มี พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รอง ผบช.น. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องการสืบสวนสอบสวน กล่าวว่าขณะนี้สามารถสืบสวนเข้าใกล้ตัวบุคคลหลักในขบวนการนี้มากขึ้น แต่ยังต้องรอหลักฐานบางอย่าง คาดในวันที่ 18-19 ส.ค.จะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อแจ้งข้อหากับบุคคลที่เกี่ยวข้อง และในวันที่ 13 ส.ค.เจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมบริการสุขภาพจะเข้าแจ้งความที่ สน.ลุมพินี เพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าของคลินิกรับทำอุ้มบุญย่านถนนวิทยุ ในความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในข้อหาประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และปล่อยให้ผู้ประกอบวิชาชีพไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา (สบ 10) ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์รับจ้างอุ้มท้องในไทยว่า การอุ้มบุญเป็นการนำอสุจิของผู้ชายอีกคนผสมไข่ผู้หญิงอีกคนมาฝังไว้ในท้องผู้หญิงที่รับจ้าง เป็นเรื่องการแพทย์ที่ผิดปกติของความเป็นพ่อแม่ อนาคตอาจเกิดความโกลาหล ในกรณีการยืนยันอัตลักษณ์ของบุคคลด้วยการตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอของพ่อแม่ ทำให้การพิสูจน์ยืนยันความเป็นพ่อเป็นแม่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ปกติไข่และอสุจิของพ่อและแม่จะยืนยันความเป็นพ่อและแม่แท้จริงได้ แต่การนำเอาไข่หรืออสุจิของคนอื่นมาฝากไว้ในท้องผู้หญิงที่ไม่ใช่แม่สืบสายทางพันธุกรรมปกติจะเกิดปัญหาในกรณีพิสูจน์อัตลักษณ์ของบุคคลจากเหตุภัยพิบัติ ติดตามคนหายต้องใช้ดีเอ็นเอพิสูจน์ความสัมพันธ์ความเป็นพ่อแม่มายืนยันศพผู้เสียชีวิต หรือกรณีอื่นที่ต้องพิสูจน์ดีเอ็นเอ จะเป็นปัญหาใหญ่ในการพิสูจน์ยืนยันบุคคลและขบวนการยุติธรรม คดีอาชญากรรมในสถานที่เกิดเหตุมีหลักฐานจะต้องตรวจหาดีเอ็นเอเพื่อตรวจเปรียบเทียบบุคคลต้องสงสัย ปกติถ้ามีผู้ต้องสงสัยสามารถนำไปตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอของพ่อแม่เพื่อยืนยันคนร้ายได้ แต่การผสมเทียมหรืออุ้มบุญไม่สามารถยืนยันความเป็นพ่อแม่จริงได้เลย

พล.ต.อ.จรัมพรกล่าวอีกว่า กรณีดีเอ็นเอของแม่ที่อุ้มบุญไม่สัมพันธ์กับบุตรที่เกิดมา จะเป็นปัญหาสังคมหากมีการผลิตเด็กออกมาพ่อแม่ไม่ยอมรับ ทอดทิ้ง จะไปตามพ่อแม่ที่ไหน ไม่ได้เป็นลูกตามสายเลือดของพ่อแม่แท้จริง และดีเอ็นเอของโรคบางอย่างถ่ายทอดทางพันธุกรรม การผสมน้ำเชื้อและไข่แบบนี้จะทำให้กลายพันธุ์ วิธีคิด ควบคุมอารมณ์ผิดจากพื้นฐานคนปกติ เป็นปัญหาสังคม จิตวิญญาณ ทางการแพทย์จะต้องควบคุมให้อยู่ในกฎกติกาเคร่งครัด หากปล่อยให้เป็นโรงงานผลิตเด็กทารกจากน้ำเชื้อและไข่ของคนอื่นจะทำให้เกิดปัญหาติดตามมาอีกมากในสังคม

ส่วนกรณีที่มีความพยายามผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.....ออกมาเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้นั้น ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ถึงเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยไม่พร้อมกับเทคโนโลยีเรื่องการอุ้มบุญ เพราะขาดความรู้ขั้นตอนการอุ้มบุญ รวมถึงกฎหมายต่างๆ ส่วนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ....ก็เน้นคุ้มครองให้กับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรม 2.คุ้มครองเด็ก ไปอยู่กับพ่อแม่ผู้ว่าจ้างถูกต้องตามกฎหมาย 3.คุ้มครองพ่อแม่ผู้ว่าจ้างไม่ให้ผู้ตั้งครรภ์แทนมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใดๆกับตัวเด็ก ขณะเดียวกัน ผู้ตั้งครรภ์แทน กลับไม่ถูกระบุรับสิทธิคุ้มครองใดๆ หากผิดพลาดระหว่างตั้งครรภ์ ต้องรับผิดชอบตัวเด็กเองด้วย เป็นการละเมิดสิทธิตามพื้นฐานอนามัยเจริญพันธุ์อย่างชัดเจน ดังนั้นต้องปรับปรุงเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ ให้คุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ไม่ให้เรื่องอุ้มบุญถูกมองว่าเด็กเป็นสิ่งของซื้อขายกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งสำคัญผู้ที่ตั้งครรภ์แทน รวมถึงครอบครัว ต้องมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลผลดีและผลเสียทั้งหมด และทุกฝ่ายต้องยอมรับกับการตัดสินใดๆของผู้ตั้งครรภ์แทนด้วย

วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานกรณีนายเดวิด ฟาร์เนลล์ ชาวออสเตรเลีย วัย 56 ปี และนางเวนดี้ ภรรยาเชื้อสายจีน ให้สัมภาษณ์สื่อออสเตรเลียประกาศจะพยายามนำ ด.ช.แกรมมี่ กลับออสเตรเลียเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ส.ค. น.ส.ภัทรมน จันทร์บัว ผู้รับอุ้มบุญ ด.ช.แกรมมี่ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่าพ่อชาวออสเตรเลียไม่มีสิทธินำลูกชายของตนไป ไม่ว่าจะใช้วิธีการไหนมาต่อสู้ก็ตาม ตนจะไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น แต่ถ้าต้องการมาพบก็จะให้พบได้ ส่วนที่สามีภรรยาตระกูลฟาร์เนลล์บอกว่าได้รับแจ้งว่าแกรมมี่มีปัญหาโรคหัวใจ ไม่ใช่อาการดาวน์ซินโดรมและได้ทิ้งไว้ในไทยเพราะแพทย์บอกว่าแกรมมี่จะไม่รอดชีวิต น.ส.ภัทรมนยืนยันว่าเอเย่นต์ในไทยที่จัดการเรื่องอุ้มบุญได้บอกกับตนว่านายเดวิดและนางเวนดี้ต้องการให้ทำแท้งเมื่อรู้ผลตรวจว่าน้องแกรมมี่เป็นดาวน์ซินโดรม ตนได้ปฏิเสธไป และเมื่อคลอดน้อง ตนพยายามติดต่อทั้งทางอีเมลและโทรศัพท์แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ส่วนอาการของน้องแกรมมี่ หากไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ และอาการดีขึ้นก็จะพาออกจากโรงพยาบาล กลับไปอยู่ที่บ้านหลังเดิม ไม่ย้ายไปไหนตามที่ทางมูลนิธิแนะนำ ขอใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปค้าขายเหมือนที่เคยเป็นมา ไม่หนีสื่อมวลชนแต่อย่างใด

ต่อมาในช่วงค่ำวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามแนวทางสืบสวนคดีเด็กอุ้มบุญ 13 คน ที่นายมิตซึโตกิ ชิเกตะ อ้างว่าเป็นพ่อเด็ก เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเชื่อมโยงการนำเด็กที่เกิดจากแม่อุ้มบุญ 3 คนออกนอกประเทศไทยของนายชิเกตะ ซึ่งจากการสืบสวนก็พบว่า เด็กคนแรกเป็นชาย ระบุในหนังสือเดินทาง สัญชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2556 เกิดที่กรุงเทพฯ คนที่สองเพศหญิง สัญชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2556 ที่กรุงเทพฯ และคนที่สามเพศหญิง เกิดเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2556 ที่กรุงเทพฯ ขณะที่เด็กทารกที่สืบสวนพบว่านายชิเกตะพามาจากอินเดียผ่านไทยไปกัมพูชา เป็นเพศชาย สัญชาติญี่ปุ่น เกิดเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2555

ขอบคุณเนื้อหา thairath.co.th
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=38604&page=1

jomlight

โอกาสได้รับรายได้เฉลี่ย เดือนละ 20,000 บาทขึ้นไป ในอนาคต
โอกาสรับรายได้ไปตลอดชีวิต แม้เกษียณอายุการทำงาน
อิสรภาพในการดำเนินชีวิต อิสระในการใช้เวลาร่วมกับครอบครัว
สนใจติดต่อ คุณเอกสิทธิ์ 093-6933932