ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

รักษาอาการ ปวดประจำเดือน สายแพทย์จีน

เริ่มโดย Chineseplaster, 17:00 น. 26 ส.ค 57

Chineseplaster

ปวดประจำเดือน (痛经)   
            อาการปวดประจำเดือนนั้นจะเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง 2-3 วันแรกของประจำเดือน โดยมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ ที่บริเวณท้องน้อย บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ใจคอหงุดหงิดร่วมด้วย ถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาการเหงื่อออกตัวเย็น มือเท้าเย็นได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้พบว่ามีผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความเครียดจากการทำงาน การรับประทานอาหาร สิ่งแวดล้อม และสภาพอากาศล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือนได้ทั้งสิ้น การปวดประเดือนส่วนใหญ่จะปวดไม่มากและสามารถทำงานได้ตามปกติ ส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจปวดรุนแรงจนต้องพักงานอาการปวดประจำเดือนแบ่งได้เป็น ชนิดธรรมดา (ปฐมภูมิ) ซึ่งพบเป็นส่วนมาก กับ ชนิดผิดปกติ (ทุติยภูมิ) ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย ปวดประจำเดือนชนิดธรรมดาหรือปฐมภูมิจะพบในเด็กสาว ส่วนมากจะเริ่มมีอาการตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรก หรือไม่ก็เกิดขึ้นภายใน 3 ปี หลังมีประจำเดือนครั้งแรก จะมีอาการมากที่สุดในช่วงอายุ 15-25 ปี หลังจากวัยนี้อาการจะค่อย ๆ ลดลง บางคนอาจหายปวดหลังแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีบุตรแล้ว จะมีส่วนน้อยที่ยังอาจมีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือนการปวดประจำเดือนชนิดนี้ จะไม่มีความผิดปกติของมดลูกและรังไข่แต่อย่างใด ปัจจุบันนี้เชื่อว่า มีสาเหตุมาจากเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ระหว่างมีประจำเดือน และมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดินมากผิดปกติ ทำให้มดลูกมีการบีบเกร็งตัว เกิดอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย   
       
            ปวดประจำเดือนชนิดผิดปกติหรือทุติยภูมิ จะมีอาการปวดครั้งแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้จะไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนเลย มักมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น เนื้องอกของมดลูกเยื่อบุมดลูกงอกผิดที่ มดลูกย้อยไปด้านหลังมาก ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น   
       
   
       เมื่อมีอาการปวดประจำเดือนผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรับประทานยาแก้ปวดประจำเดือน เพื่อระงับอาการปวดดังกล่าว ซึ่งหากประจำเดือนมาอีกครั้งก็จะมีอาการปวดกำเริบอีกเช่นเคย หรืออาจปวดหนักขึ้นต้องทานยาแก้ปวดเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากรับประทานยาแก้ปวดเป็นจำนวนมากอาจมีผลต่อกระเพาะอาหารทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย และการแก้ปวดดังกล่าวเป็นเพียงการระงับอาการปลายเหตุเท่านั้น ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเน้นการรักษาแบบองค์รวม และปรับสมดุลของร่างกาย ซึ่งเห็นว่าหากร่างกายสมดุลดีแล้วอาการปวดต่าง ๆ ก็จะบรรเทาและหายได้ ซึ่งนอกจากอาการปวดประจำเดือนจะหายไปแล้ว ผู้ป่วยยังรู้สึกได้ว่ามีสุขภาพที่ดีขึ้น การรับประทานอาหาร อารมณ์ และผิวพรรณดีขึ้น เป็นความงามจากภายในที่ออกมาสู่ภายนอกอย่างแท้จริง   
       
   
           ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเห็นว่าอาการปวดประจำเดือนนั้นเกี่ยวข้องกับเส้นลมปราณชงและเริ่น(冲脉,任脉)โดยเกี่ยวข้องกับอวัยวะตับและไตเป็นสำคัญ โดยหากเส้นลมปราณนี้มีการติดขัด หรือขาดการหล่อเลี้ยงก็จะทำให้มีอาการปวดได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ปวดประจำเดือนมีดังต่อไปนี้   
       
          • ลมปราณติดขัด และมีเลือดคั่ง ผู้ป่วยจะปวดก่อนประเดือนมา ประจำเดือนเป็นสีแดงคล้ำ หรือเกือบดำเป็นสีกาแฟ บางครั้งอาจมีลิ่มเลือดปนมาด้วย เมื่อประจำเดือนไหลออกมาแล้วอาการปวดจะบรรเทาลง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการปวดคัดเต้านมร่วมด้วย สาเหตุส่วนใหญ่นั้นคือผู้ป่วยมีอาการเครียดจากการทำงาน หรือคิดมากวิตกกังวลเป็นประจำ   
       
          • ความเย็นและความชื้นอุดกั้น ผู้ป่วยจะปวดก่อนประเดือนมา มีประจำเดือนสีม่วงคล้ำ และมีปริมาณน้อย มีอาการปวดเย็นบริเวณท้องน้อย หากได้ประคบร้อนแล้วรู้สึกอาการปวดบรรเทาลง โดยสาเหตุส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักชอบทานน้ำเย็น น้ำแข็ง และผลไม้หรือผักที่มีฤทธิ์เย็นเป็นประจำ   
       
         • ลมปราณและเลือดพร่อง ผู้ป่วยมีอาการปวดน้อย ๆ ปวดทนได้หลังจากประจำเดือนหยุดแล้ว ประจำเดือนมาเป็นสีแดงจาง ๆ ปริมาณน้อย อาจมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย สีหน้าไม่สดใส หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น สาเหตุส่วนใหญ่นั้นมาจากร่างกายอ่อนแอ ระบบการย่อยและลำเลียงอาหารไม่แข็งแรง รับประทานอาหารน้อย   
       
          • ตับและไตพร่อง ผู้ป่วยมีอาการปวดน้อย ๆ ปวดทนได้หลังจากประจำเดือนหยุดแล้ว ประจำเดือนมาเป็นสีแดงจาง ๆ ปริมาณน้อยเช่นกัน แต่จะมีอาการปวดเมื่อยเอวเข่าร่วมด้วย หูอื้อ เวียนศีรษะ ตามองไม่ชัด นอนไม่หลับ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากร่างกายอ่อนแอ เลือดและลมปราณไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงระบบตับและไต หรืออ่อนแอมาแต่กำเนิด   
       
           การรักษาอาการปวดประจำเดือนในศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้นจะเน้นปรับสมดุลตามสาเหตุของโรคดังกล่าวมานี้ โดยหากลมปราณติดขัด มีเลือดคั่ง จะอาศัยหลักการระบายตับ ทะลวงเส้นลมปราณให้คล่อง สลายเลือดคั่ง ระงับปวด และปรับสมดุลเส้นลมปราณเส้นลมปราณชงและเริ่น เพื่อให้ผู้ป่วยมีร่างกายสมดุลไม่กลับมาปวดประจำเดือนอีก หากผู้ป่วยปวดจากความเย็นหรือความชื้นอุดกั้นก็อาศัยหลักการขับความเย็นความชื้น ระงับปวด และปรับสมดุลเส้นลมปราณชงและเริ่นเช่นกัน ในภาวะที่ผู้ป่วยอ่อนแอ พร่องก็อาศัยหลักการบำรุงทั้งลมปราณ เลือด ระบบตับและไตเพื่อให้สมดุล หล่อเลี้ยงกับเส้นลมปราณชงเริ่นได้อย่างปกติ


บทความจาก

Siam tcm clinic (hatyai)
สยามการแพทย์ทางเลือก สาขาหาดใหญ่