ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

มี'อัยการศึก' โพล87% ไม่เดือดร้อน

เริ่มโดย itplaza, 16:04 น. 08 ก.ย 57

itplaza

วรงค์จี้ฟันอสส. เต้นเตือนปปช. พท.ขู่ฟ้องกลับ

ป.ป.ช.เล็งเคลียร์ อสส. สำนวนฟ้อง "ปู" คดีข้าว ยันหลักฐานไม่ชัดคงไม่กล้าชี้มูล "เต้น" ฉะ ป.ป.ช.โกงตาชั่งไร้มาตรฐานทางคดี ลิ่วล้อขู่ซ้ำฟ้องเองระวังเจ็บ "วรงค์" บี้ กอ.สอบรอง อสส. ให้บริการอุ้ม "ปู" อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน "ปนัดดา" ชิ่งปมไมค์กายสิทธิ์ราคาแพงหูดับ ไม่รู้ไม่ชี้อะไรทั้งสิ้น แถยุคนี้กลัวโกงกันจะตายใครจะกล้า ชัวร์แล้ว 12 ก.ย. "บิ๊กตู่" ได้คิวโชว์นโยบายต่อ สนช. "นิด้าโพล" เผย ประชาชน 87.68% สบายใจ-ปลอดภัย-ไม่เดือดร้อนกับการมีกฎอัยการศึก "มาสเตอร์โพล" สำรวจมาเหมือนกัน ชาวบ้าน 93.5% รู้สึกชิลๆ ชี้กฎอัยการศึกไม่ได้เป็นอุปสรรคในชีวิต

จากกรณีอัยการสูงสุดยังไม่สั่งฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าวเนื่องจากเห็นว่าสำนวนของ ป.ป.ช.ยังไม่สมบูรณ์และได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม อสส.-ป.ป.ช. เพื่อหาข้อหาสรุปนั้น

ป.ป.ช.คัด 10 คน ร่วมทีม อสส.

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวถึงการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด เพื่อหาข้อสรุปในสำนวนโครงการรับจำนำข้าวที่ยังมีพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์ว่า ป.ป.ช.จะนำเรื่องการตั้งคณะทำงานร่วมเข้าหารือในที่ประชุม ป.ป.ช. วันที่ 9 ก.ย. โดย ป.ป.ช.จะส่งคณะทำงาน 10 คน ร่วมเป็นคณะทำงานเท่ากับฝ่ายอัยการ แต่จะเป็นใครบ้าง ต้องรอให้ที่ประชุม ป.ป.ช.เป็นผู้กำหนด แต่คงเป็นระดับใกล้เคียงกับที่ฝ่ายอัยการส่งมา ถ้าอัยการสูงสุดส่งรองอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ป.ป.ช.ก็คงส่งรองเลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นหัวหน้าคณะทำงานฝ่าย ป.ป.ช.เช่นกัน แต่ต้องรอดูมติอย่างเป็นทางการจากที่ประชุม ป.ป.ช. อีกครั้ง

ยันไม่มีมโนมุ่งทำลาย "ปู"

นายสรรเสริญกล่าวว่า ส่วนกรณีที่สมาชิกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ป.ป.ช.ตั้งธงในการพิจารณาคดีจำนำข้าว เพื่อทำลาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ยืนยันมาหลายครั้งว่า ป.ป.ช.ไม่มีธงอยู่ในใจ แต่ทำงานอย่างตรงไปมา ทุกอย่างว่าไปตามพยานหลักฐาน หาก ป.ป.ช.ไม่มีพยานหลักฐานจริง คงไม่กล้าจะไปชี้มูลความผิดแบบนั้น ส่วนปัญหาความขัดแย้งในการทำงานกับอัยการสูงสุด เป็นเพียงเรื่องมุมมองทางกฎหมายที่เห็นแตกต่างกันเท่านั้น เชื่อว่าจะไปทำความเข้าใจกันได้ในชั้นคณะทำงานร่วมของอัยการ-ป.ป.ช.

"เต้น" สวดยับ ป.ป.ช.โกงตาชั่ง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รมช.พาณิชย์และแกนนำ นปช. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "เฉพาะการเร่งรัดคดีจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แบบติดจรวด ขณะที่คดีข้าวยุคอภิสิทธิ์ "ติดกาวตราช้าง" ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมากอยู่แล้ว กรรมการ ป.ป.ช.บางคนยังออกอาการเหมือนเป็นคู่อาฆาตจะเล่นงานอดีตนายกฯให้ได้ พอ อสส.ผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องการหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นขั้นตอนปกติของกระบวนการยุติธรรมก็เจอการแถลงข่าวแบบก้าวล่วง กดดัน เย้ยหยัน ไม่น่าเชื่อว่า ป.ป.ช.ในฐานะพนักงานสอบสวนจะแสดงท่าทีเช่นนี้ต่ออัยการ ซึ่งมีหน้าที่ต้องร่วมมือกันอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย จะจัดการปัญหาคอร์รัปชันทรัพย์สินแผ่นดิน ผมเห็นด้วยเดินหน้ากันให้เต็มที่ แต่ต้องไม่มีการคอร์รัปชันความยุติธรรมจากผู้เกี่ยวข้องด้วย นึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ผู้มีอำนาจทั้งหลายพบเห็นการคอร์รัปชันความยุติธรรมบ้างหรือไม่ ถ้าพบเห็นแล้วไม่ทักท้วงยับยั้งจะถูกตั้งข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้หรือเปล่า

พท.ขู่ ป.ป.ช.ลุยเองระวังเจ็บ

นายพนัส ทัศนียานนท์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตอัยการ กล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่แฟร์ ไม่ให้เกียรติที่ออกมากดดันอัยการสูงสุดในคดีรับจำนำข้าว การพิจารณาคดีอาญาตามหลักต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์ กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ อัยการสูงสุดทำถูกแล้ว ที่ให้ตั้งคณะกรรมการร่วม การจะฟ้องใครหลักฐานต้องแน่น จะไปตั้งธงไม่ได้ ถ้าผิดพลาดขึ้นมาคนที่ถูกฟ้องกลับคืออัยการ ถ้า ป.ป.ช.ตั้งธงจะฟ้องแน่นอน ก็เอาเลย การกล่าวหาคนอื่นทุจริต ถ้าไม่จริงตัวเองก็ควรโดนฟ้องกลับเหมือนกัน ถ้าเห็นรางๆ ก้ำกึ่งๆ ก็บอกว่าผิดแล้ว แบบนี้ไม่ถูกต้อง ถามว่า ป.ป.ช.รู้หรือยังใครทุจริต ถ้าใครทำนโยบายล้มเหลวก็ต้องติดคุก แบบนี้ทุกรัฐบาลก็โดนกันหมด ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับคดีของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่หลักฐานค่อนข้างชัดเจน อัยการสูงสุดยังสั่งตั้งกรรมการร่วมเช่นกัน ฉะนั้นอยากให้ ป.ป.ช.เคารพการทำงานของอัยการสูงสุด และทบทวนการทำงานของตัวเอง เพราะเรื่องเดียวกันแต่มาตรฐานต่างกัน

ปชป.ซัด "วีระวุฒิ" กุญแจดอกสำคัญ

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับ พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ เพราะเป็นผู้กุมความลับกระบวนการจำนำข้าวไว้ทั้งหมดว่า พ.ต.วีระวุฒิเป็นคนคนเดียวกับข้อมูลที่ตนเคยนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในสภาฯ ที่ใช้ชื่อว่าจอมบงการ เพราะมีบทบาทสูงในการระบายข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งการระบายแบบจีทูจีและอาจโยงถึงการระบายข้าวถุงจำนวน 2.5 ล้านตัน ที่อ้างว่าทำข้าวถุง 5 กิโลกรัม ราคาถูกขายให้คนจนแต่กลับไม่มีข้าวนี้ในท้องตลาดจริง จึงน่าจะเป็นปลาตัวใหญ่ เพราะคนในวงการค้าข้าวยืนยันตรงกันว่า เป็นมือทำงานที่บริหารจัดการข้าวทั้งหมด เป็นสายตรงของเสี่ยเปี๋ยง เจ๊ ด. และนายใหญ่ที่ให้มาคุมงานนี้ ขณะที่นายบุญทรงเองเป็นแค่รัฐมนตรีที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง มีหน้าที่เซ็นชื่ออย่างเดียว ป.ป.ช.มาถูกทางแล้ว

บี้ กอ.สอบรอง อสส.บริการอุ้ม "ปู"

ส่วนกรณีที่รองอัยการสูงสุด (อสส.) และกรรมการของ อสส. ระบุผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอนำมาเป็นหลักฐานสำคัญได้นั้น นพ.วรงค์กล่าวว่า วันนี้สังคมเกิดความสงสัยในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการของ อสส.แล้วที่ยกเหตุผลฟังไม่ขึ้น ข้างๆ คูๆ เรื่องผลวิจัยทีดีอาร์ไอ ทั้งที่ควรเป็นแค่ส่วนประกอบ โดยพิจารณาจากข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตนขออนุญาตเปรียบเทียบกรณีที่คณะกรรมการตุลาการ (กต.) ตรวจสอบและชี้มูลความผิดผู้พิพากษาให้ปลดออกไปหลายคนเมื่อเร็วๆนี้ ในกรณีนี้ก็เช่นกัน สังคมออนไลน์ตั้งคำถามว่ารองอัยการสูงสุดที่เป็นเพื่อนเรียน วตท.รุ่นเดียวกับอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ และถูกตั้งเป็นกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจชุดต่างๆ 3-4 ชุด เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ จึงควรออกมาชี้แจงให้เคลียร์และควรที่คณะกรรมการอัยการ (กอ.) ต้องลงมาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง หากจะแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศชาติว่าเป็นวาระแห่งชาติตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุ

"ปนัดดา" ชิ่งไมค์กายสิทธิ์แพงหูดับ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ไมโครโฟนติดตั้งในห้องประชุม ครม. มีราคาแพงตัวละ 145,000 บาทว่า ยังยืนยันเป็นเรื่องของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) และกรมโยธาธิการและผังเมือง ในการเลือกอุปกรณ์ในการติดตั้งห้องประชุม ครม. ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่รู้เรื่องใช้งบประมาณไปเท่าไร ตนดูแค่มีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารไปอย่างไรบ้าง เรื่องของระบบไอทีไม่มีความรู้เลย รู้สึกเสียใจเหมือนกันในสิ่งที่ไม่ได้ทำ

แถยุค "บิ๊กตู่" กลัวโกงกันจะตาย

ม.ล.ปนัดดากล่าวอีกว่า สมัยนี้การจะทำอะไรโดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างจะไปทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ กลัวการทุจริตคอร์รัปชันกันจะตายอยู่แล้ว เชื่อว่านายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นคนละเอียดมาก และอายุราชการยังเหลืออีกตั้ง 9 ปี คงไม่หาเรื่องเข้าตัว และต้องเข้าใจด้วยว่าที่ผ่านมาทำเนียบฯไม่ได้ซ่อมแซมมานานแล้ว และอย่าลืมว่าหลายตึกเป็นโบราณสถานจะปล่อยให้ทรุดโทรมได้อย่างไร ต้องมีการบำรุงรักษา ไม่ใช่เพื่อรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขณะเดียวกัน การประชุม ครม.วันที่ 9 ก.ย.สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แจ้งมาแล้วว่า จะมีการประชุมในเวลา 09.00 น.

พท.จับพิรุธเอามาติดก่อนสั่งซื้อ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อไมโครโฟนที่ใช้ในการประชุม ครม.วันที่ 9 ก.ย.ว่า มีการทุจริตหรือไม่ เนื่องจากพบข้อมูลที่อาจเข้าข่ายการทุจริต หลังจากมีการชี้แจงจากอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า กรมโยธาฯยังไม่ได้สรุปการจัดซื้อไมโครโฟนในห้องประชุม ครม. ราคาตัวละ 1.45 แสนบาท โดยระบุว่า บริษัทแค่เสนอราคามาเท่านั้น ต้องมาต่อรองราคากัน แต่กลับมีการติดตั้งไมโครโฟนในห้องประชุม ครม.เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่ยังไม่มีการสั่งซื้อ ทราบว่า ไมโครโฟนดังกล่าวเป็นของบริษัทเอกชนนำมาติดตั้ง จึงอยากทราบว่า ทำไมเอกชนจึงกล้าสั่งซื้อไมโครโฟนจากต่างประเทศ ก่อนที่จะลงนามในสัญญา แสดงว่า ต้องมีเงื่อนงำ นอกจากนี้ราคาไมโครโฟนตัวละ 1.45 แสนบาท ทั้งที่ไมโครโฟนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับที่ใช้ในห้องประชุม ครม.คือยี่ห้อ Bosch รุ่น DCN multimedia CN มีราคาปกติที่ 99,000 บาท สามารถลดราคาได้ 15-20% โดยยังไม่รวมค่าติดตั้ง ทำให้เกิดความสงสัยว่า ราคาที่แท้จริงของไมโครโฟนดังกล่าวคือราคาเท่าใด

ถามหน่อยส่วนต่างเข้ากระเป๋าใคร

นายเรืองไกรกล่าวว่า ขอให้ตรวจสอบว่า เหตุใดราคาไมโครโฟนจึงมีราคาแพงกว่าราคาขายปลีกในท้องตลาด ผลต่างของราคาที่สูงเกินจริงไปเข้ากระเป๋าใคร เหตุใดเอกชนจึงกล้าสั่งของจากต่างประเทศก่อน โดยที่ยังไม่มีการทำสัญญา สิ่งที่อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองพูดเท่ากับยอมรับว่า การจัดซื้อไม่โปร่งใส มีเงื่อนงำและในเมื่อไมโครโฟนได้ติดตั้งในห้องประชุมเรียบร้อยแล้ว แสดงว่ามีการตรวจรับงานแล้ว ก็ขอให้ตรวจสอบว่า ใครเป็นผู้ลงนามรับของ ถ้าปรากฏว่า มีการสั่งของจากต่างประเทศก่อนที่ลงนามในสัญญา ก็เป็นคำยืนยันว่าเอกชนรายนี้ได้งานแน่ๆ อาจมีคำถามต่อไปว่า เหตุใดจึงมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นในทำเนียบรัฐบาลได้

ศรภ.–อีโอดีตรวจระเบิดทำเนียบฯ

เมื่อเวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) พร้อมด้วยตำรวจจากกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (อีโอดี) จำนวน 30 นาย นำอุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิดเครื่อง สแกนเครื่องดักฟังโทรศัพท์ และสุนัขตำรวจ เข้าตรวจสอบความปลอดภัยพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ในส่วนของตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี ตึกนารีสโมสร และพื้นที่โดยรอบตึกบัญชาการ 1 และ 2 เพื่อความปลอดภัย ก่อน ครม.จะประชุมในวันที่ 9 ก.ย. ซึ่งเป็นการตรวจภายหลังทำเนียบฯมีการปรับปรุงซ่อมแซม เบื้องต้นไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด ขณะที่ ภายในตึกบัญชาการ 1 เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าตรวจสอบ เนื่องจากการปรับปรุงยังไม่แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ แต่จะเข้าตรวจในวันที่ 8 ก.ย.นี้ โดยเฉพาะห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ชั้น 5 จะเข้าตรวจสภาพความพร้อมเครื่องติดสัญญาณป้องกันการดักฟัง และเครื่องป้องกันการแฮกข้อมูล ขณะที่ภูมิทัศน์โดยรอบ เจ้าหน้าที่ กทม.ยังคงเร่งตกแต่งสวนรอบตึกบัญชาการ 1

ถก ครม.นัดแรกแบ่งงานรองนายกฯ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม.วันที่ 9 ก.ย.ว่า เบื้องต้นเลขาธิการ ครม.ต้องทำตุ๊กตาแบ่งงานให้นายกฯพิจารณาก่อน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.กำกับกระทรวง ส่วนนี้ขึ้นกับนายกฯมอบหมาย ความจริงน่าเดากันได้หากดูจากข่าวว่า ใครกำกับดูแลงานเศรษฐกิจ มั่นคง สังคม กฎหมาย และต่างประเทศ ส่วนกระทรวงที่คาบลูกคาบดอก อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะจัดเป็นงานเศรษฐกิจหรือมั่นคง ขึ้นอยู่กับนายกฯพิจารณา 2.กำกับหน่วยงาน กรม กอง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นต้น ตรงนี้ขึ้นอยู่กับนายกฯเช่นเดียวกัน และ 3.การทำหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานชุดต่างๆ ตรงนี้นายกฯอาจถามความถนัดและความสมัครใจ เพราะในอดีตมีปัญหาที่บางทีให้รองนายกฯคุมกระทรวงหนึ่งและไปเป็นประธานคณะกรรมการในชุดที่ไม่เกี่ยวกับกระทรวงที่กำกับดูแล จึงต้องถามความถนัด ความสนใจ และความเกี่ยวเนื่องสายงานหลัก

รมต.สวมหมวก 2 ใบต้องเซ็น 2 ชื่อ

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนการทำงาน คสช.หลังมีรัฐบาล คสช.จะทำหน้าที่เพียงเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำรัฐบาลด้านต่างๆ และทำงานร่วมกับรัฐบาลด้านความมั่นคงรักษาความสงบเรียบร้อย ทำอยู่แค่นั้น ทำเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ ไปแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่ได้แล้ว บทบาทหน้าที่ที่คาบเกี่ยวกัน อย่างเลขาธิการ คสช.หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ.และเป็น รมช.กลาโหม ด้วยแง่การประสานงานรัฐบาลก็จะง่าย ส่วนกรณีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมและเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย อยู่ซีกรัฐบาลทั้งหมด เพียงแต่เป็นฝ่ายข้าราชการประจำกับฝ่ายนโยบายเท่านั้น ในฐานะปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดหน้าที่ตามกฎหมายอยู่แล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ในฐานะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ที่นายกฯมอบหมายอาจจะดูแปลกๆ แต่เมื่อกฎหมายเปิดให้ข้าราชการเป็นรัฐมนตรีได้ก็ไม่ใช่ปัญหา จะชงเรื่องอะไร อยู่ที่ความเหมาะสม และเวลาเซ็นชื่อก็ต้องเซ็นทั้ง 2 ตำแหน่ง

"บิ๊กตู่" สั่ง รมต.แต่งชุดไทยวัน ครม.

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้ให้รัฐมนตรีทุกคน สวมชุดผ้าไทยทรงพระราชทานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ในวันที่ 9 ก.ย.ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ สวมใส่เป็นประจำ และในวันนั้นจะมีการถ่ายรูปร่วมกันในการประชุม ครม.ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่ดีหากรัฐมนตรีใส่ชุดผ้าไทยในวันประชุม ครม.ทุกครั้ง เพราะจะเป็นการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย และสร้างเอกลักษณ์ความเป็นไทย

เล็ง รบ.แถลงนโยบายวันเดียวจบ

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการกำหนดวันนัดแถลงนโยบายรัฐบาลต่อ สนช.ว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ประสานมาว่า จะนัดแถลงนโยบายต่อรัฐบาลในวันใด แต่ทราบว่า ขณะนี้รัฐบาลร่างนโยบายเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบความเรียบร้อย และจัดพิมพ์เอกสาร คาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะแถลงนโยบายรัฐบาลได้ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ เพราะต้องแจ้งและส่งเอกสารให้ สนช.ทราบล่วงหน้าด้วย ซึ่งคงใช้เวลาการแถลงนโยบายเพียงแค่ 1 วันน่าจะเพียงพอ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงมาแถลงนโยบายด้วยตัวเอง ส่วนการนัดประชุม ครม.ในวันที่ 9 ก.ย. ก่อนการแถลงนโยบายรัฐบาลสามารถทำได้ แต่คงประชุมหารือได้เฉพาะเรื่องทั่วไปเท่านั้น ยังไม่สามารถลงมติเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นนโยบายรัฐบาลได้

9 ก.ย.ไม่ทัน–12 ก.ย.น่าจะชัวร์

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลจะแถลงนโยบายรัฐบาลต่อ สนช.ในวันที่ 9 ก.ย.ว่า ไม่น่าจะใช่แล้ว เพราะไม่สามารถเตรียมการได้ทัน ล่าสุดทราบว่า จะมีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อ สนช.ในวันที่ 12 ก.ย. คงใช้เวลาเพียงวันเดียวก็น่าจะเพียงพอ ขณะนี้ สนช.กำลังรอตัวรายละเอียดร่างนโยบายรัฐบาลที่ต้องส่งให้ สนช.มาศึกษาล่วงหน้า โดยปกติแล้วต้องส่งให้ดูล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้ สนช.ไปเตรียมข้อมูลไว้ซักถาม และให้ข้อเสนอแนะในวันแถลงนโยบายรัฐบาล คาดว่าจะมี สนช.จำนวนหนึ่งให้ความสนใจในการซักถาม หรือให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแถลงนโยบาย

"นิคม" สะดุ้ง สนช.มีฤทธิ์ถอดถอน

นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึงร่างข้อบังคับการประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ให้อำนาจ สนช.ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า การกำหนดข้อบังคับของฝ่ายนิติบัญญัติจะมีหมวดต่างๆได้ ก็ต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ไม่มีมาตราใดที่ระบุถึงกระบวนการถอดถอนไว้ จึงเป็นการเข้าใจไปเองของ สนช.ว่ามีอำนาจการถอดถอน โดยอาศัยการตีความมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว. ส่วนการอ้างว่า จำเป็นต้องมีหมวดถอดถอนเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น ไม่สามารถทำได้อยู่ดี เพราะ พ.ร.บ.เป็นกฎหมายลูก ในเมื่อกฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ จึงไม่สามารถทำได้ การร่างข้อบังคับหมวดนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ สนช.และจะยิ่งทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น เช่น ตนถูก ป.ป.ช.ชี้มูลตามรัฐธรรมนูญปี 50 ในมาตรา 271-274 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 ถูกยกเลิกไปแล้ว สนช.ชุดนี้จะมาลงมติถอดถอนตนตามร่างข้อบังคับฉบับนี้ได้อย่างไร ดังนั้นในวันที่ 11 ก.ย. ที่ สนช.จะลงมติร่างข้อบังคับการประชุม สนช.ดังกล่าว ขอให้ สนช.พิจารณาร่างข้อบังคับดังกล่าวอย่างรอบคอบ

กกต.กำลังไล่เช็กคุณสมบัติว่าที่ สปช.

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า จำนวนผู้เสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ล่าสุดยังมีผู้ที่ถูกเสนอชื่อมาทาง ไปรษณีย์ทยอยเข้ามายังสำนักงาน กกต. คาดว่าวันที่ 8 ก.ย.นี้ จะได้ตัวเลขที่เป็นทางการ ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่ถูกเสนอชื่อมาเป็นสมาชิก สปช. ขณะนี้กำลังดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติคืบหน้าไปมากแล้ว โดยพบผู้ที่ขาดคุณสมบัติไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่เหลือจะทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ภายในวันที่ 12 ก.ย.นี้

87.68% ชี้มีอัยการศึกไม่เดือดร้อน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก" โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการได้รับความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตประจำวัน จากการประกาศใช้กฎอัยการศึกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่า ร้อยละ 87.68 ระบุว่า ไม่ได้รับความเดือดร้อน เพราะยังใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ รู้สึกว่าสบายใจและปลอดภัยมากขึ้น เพราะมีทหารเข้ามาดูแล ขณะที่ร้อยละ 11.84 ระบุว่า ได้รับความเดือดร้อน เพราะส่งผลกระทบต่อการเดินทางในช่วงกลางคืน การติดต่อประสานงาน การเข้าถึงสื่อข้อมูลข่าวสาร ขาดอิสระในการแสดงออกความเห็นต่างทางการเมือง เศรษฐกิจแย่ลง จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง

เลิก–ไม่เลิกคะแนนสูสีกันมาก

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของตัวแทนภาคธุรกิจเอกชน ที่ต้องการให้ คสช. ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก พบว่า ร้อยละ 43.28 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศต่อนักลงทุน และเป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ดีขึ้น และการใช้ชีวิตประจำวัน การเดินทาง การทำงาน กลับมาเหมือนเดิม อีกทั้งสถานการณ์โดยรวมถือว่าดีขึ้นมากแล้ว ขณะที่ร้อยละ 40.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้รู้สึกสบายใจ และต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเช่นนี้ต่อไปอีกสักระยะ จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าจะไม่มีความขัดแย้ง อีกทั้งการเดินทางมีความคล่องตัวมากขึ้น ไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมหรือประท้วงใดๆ

ดุสิตโพล 50.23%–ควรเลิกบาง จ.

"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,564 คน เรื่องสถานการณ์บ้านเมือง ณ วันนี้ ในสายตาประชาชน กรณีการยกเลิกกฎอัยการศึก ร้อยละ 50.23 คิดว่า "ควรยกเลิก" กฎอัยการศึกบางจังหวัด ร้อยละ 25.69 เห็นว่า ควรยกเลิกทุกจังหวัด และ ร้อยละ 24.08 ไม่ควรยกเลิก เมื่อถามว่า ประชาชนคิดอย่างไร ที่อัยการสูงสุดยังไม่ฟ้อง "อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์" กรณีโครงการทุจริตรับจำนำข้าว ร้อยละ 31.51 เห็นว่า เป็นคดีสำคัญที่ควรพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ หลักฐานเอกสารต้องชัดเจน ร้อยละ 19.57 อยากให้มีการสั่งฟ้อง และสรุปคดีโดยเร็ว อยากทราบผลการตัดสินว่าจะเป็นอย่างไร ร้อยละ 18.12 ศาลต้องมีความยุติธรรม เป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกรงกลัวอิทธิพลต่างๆ ร้อยละ 16.67 หากมีความผิดก็ต้องว่าไปตามผิด และจะต้องดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วย และ ร้อยละ 14.13 เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นคดีทุจริตระดับชาติ และมีอดีตนายกฯเกี่ยวข้อง

แกนนำชุมชนเคลิ้มคำคืนความสุข

มาสเตอร์โพล ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน รายงานผลสำรวจ เรื่อง ทบทวนความทรงจำของแกนนำชุมชนต่อเหตุการณ์บ้านเมืองและความคิดเห็นต่อบทบาททหารกับนักการเมือง ในการแก้ปัญหาของประเทศชาติและประชาชน โดยสอบถามความคิดเห็นจากแกนนำชุมชนทั่วประเทศ โดยเมื่อถามถึงความหวังในคำสัญญาของ คสช.ว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน พบว่า ร้อยละ 94.2 มีความหวังค่อนข้างมาก
ขอบคุณ THAIRATH
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=39305&page=1

jomlight

โอกาสได้รับรายได้เฉลี่ย เดือนละ 20,000 บาทขึ้นไป ในอนาคต
โอกาสรับรายได้ไปตลอดชีวิต แม้เกษียณอายุการทำงาน
อิสรภาพในการดำเนินชีวิต อิสระในการใช้เวลาร่วมกับครอบครัว
สนใจติดต่อ คุณเอกสิทธิ์ 093-6933932