ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สถาบันสิ่งทอฯ สัมมนาผลักดัน“การเชื่อมโยงคุณค่าท้องถิ่น สู่คุณภาพชีวิตที่ดี”

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 13:41 น. 12 ก.ย 57

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ศูนย์ข่าวบ้านเรา-.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดการสัมมนา "การเชื่อมโยงคุณค่าท้องถิ่น สู่คุณภาพชีวิตที่ดี" ผลักดันผู้ประกอบการ 5 จังหวัด สู่ตลาด AEC

[attach=1]

วานนี้ (11 ก.ย. 57) ที่ ห้องแกรนด์บอลลูน โรงแรมบุรีศรีภูฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายชัยวัฒน์ ศิรินุพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการสัมมนา "การเชื่อมโยงคุณค่าท้องถิ่น สู่คุณภาพชีวิตที่ดี" ภายใต้โครงการพัฒนาสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 2 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ที่สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ดำเนินการมาในปีงบประมาณ 2557 ทั้งด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผ้าหรือวัสดุใหม่ๆ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้เหมาะสม การสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ และการจัดทำฐานข้อมูลและการติดตามประเมินผล  ตลอดจนสามารถผลักดันให้เกิดแบรนด์ของสินค้า และสร้างมูลค่าทางการตลาดได้สำเร็จ โดยมีนางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ พร้อมด้วยนายประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระยะที่ 2 ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนปี 2557 จากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสรุปผลและเผยแพร่การดำเนินงานของโครงการดังกล่าวซึ่งประกอบไปด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กิจกรรมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีตกแต่งสำเร็จรวมถึงการใช้วัสดุใหม่ กิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐาน และกิจกรรมจัดทำฐานข้อมูลและติดตามประเมินผล

[attach=2]

โดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ใน 5 จังหวัด คือ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 50 กลุ่ม รวมไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เน้นการพัฒนาที่สำคัญ 4 ด้านเข้าด้วยกัน คือ สวย ดี เชื่อถือได้ และสากล จึงเป็นที่มาของแบรนด์ Lawa@THTI โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในปีนี้เน้นการต่อยอดจากปีก่อน เป็นคอลเคลชั่นบุหงาสลาตัน 2 โดยนำดอกไม้ในท้องถิ่น เช่น ดอกต้อยติ่ง ดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง ดอกชงโค ดอกอัญชัน และดอกพลับพลึง มาเป็นแนวคิดในการออกแบบ รวมถึงการดึงอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดมาถ่ายทอดเป็นลวดลายบนผ้าบาติคได้อย่างสวยงาม ภายใต้แบรนด์ Lapara และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าบุรุษ เน้นการสวมใส่สบายและระบายความร้อนได้ดีอีกด้วย

นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิมด้านการออกแบบแล้ว สถาบันฯ ยังเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยประยุกต์การใช้น้ำยางพาราซึ่งเป็นวัสดุ ในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาขั้นตอนในการผลิต และลดปริมาณการนำเข้าเทียนและพาราฟิน ในการเขียนลวดลายผ้าบาติค และพัฒนาการย้อมสีจากพืชให้สีธรรมชาติ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดการใช้พลังงาน ผลิตภัณฑ์คอลเลคชั่น Lawa สถาบันฯ ได้นำไปจัดแสดงพร้อมจำหน่าย ณ ประเทศสิงคโปร์ ในงาน Thailand Trade Week 2014 และได้รับเชิญนำผลิตภัณฑ์ไปแสดงในงาน Hongkong Fashion Week อีกด้วย

[attach=4]

สิ่งที่สำคัญในการดำเนินโครงการในปัจจุบันและที่ผ่านมา จากการติดตามและประเมินผลพบว่า เกิดความสามัคคี ความเข้มแข็งของคนในชุมชน เนื่องจากสมาชิกกลุ่มได้มีการเข้ารับการฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ด้านต่างๆ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบหลากหลาย มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด เกิดการเชื่อมโยงความรู้ระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและสร้างความสามัคคี ทำให้ชุมชนมีความเข็มแข็งมากขึ้น ซึ่งความพยายามและมุ่งมั่นดังกล่าวของโครงการน่าจะมีส่วนช่วยลดปัญหาความไม่สงบในระยะยาวได้

อย่างไรก็ตามจากผลงานทั้งหมดดังกล่าว เป็นการสร้างความแตกต่าง สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สร้างความยั่งยืน ให้แก่ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิม รวมทั้งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ  สำหรับโครงการในปีงบประมาณ 2558 สถาบันฯ ยังคงมุ่งมั่นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการพัฒนาในแนวทางการออกแบบร่วม ระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และมุ่งสู่ตลาด  AEC

http://youtu.be/5mWXnoYVCg0