ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

‘พรเพชร’เดินหน้า จัดการ‘ปู’ ถกจํานําข้าว12พ.ย.

เริ่มโดย itplaza, 11:12 น. 30 ต.ค 57

itplaza

อ้างปปช.-ประชุมสนช.พิเศษ โหวตลับ20อรหันต์-มานิจที่1


"ยิ่งลักษณ์" ลุ้นระทึก 12 พ.ย. "พรเพชร" เรียกประชุม สนช.นัดพิเศษ ถกสำนวนถอดถอนคดีจำนำข้าวระบุฐานความผิดชัดขัดมาตรา 58 ก.ม. ป.ป.ช.-พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 (1) ส่วนคดีสอย "ขุนค้อน-นิคม" โยนฟังเสียงสมาชิกชี้ขาดอำนาจ สนช. 6 พ.ย. "ทนายปู" โวย รธน.ปี 50 สิ้นสภาพแล้ว อ้าง ก.ม.ลูกเล่นงานไม่ได้ เตือนอย่าด่วนรวบรัดทั้งที่คดียังไม่ยุติ ลือหึ่ง "ประวิตร" เยือนจีนแทรกคิวดอดพบ "ทักษิณ-ปู" ขณะที่ "ประยุทธ์" ปัดวุ่น "บิ๊กป้อม" ดอดช่วยเหลือเคลียร์คดี ท้าบินกลับไทยต่อสู้ตามกฎหมาย สปช.รอมชอมลงตัว โหวตลับเลือก 20 อรหันต์ได้ตัวแทนครบ 11 ด้าน 4 กลุ่มจังหวัด "มานิจ" นำลิ่วเข้าวินอันดับ 1 สายการเมืองพรึบ "เอนก-ไพบูลย์-ชูชัย" ยึดมากสุด 3 เก้าอี้ "ประชา" นำทีมสายจังหวัดล็อบบี้แลกคะแนนสำเร็จ

กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า สนช.จะมีอำนาจพิจารณาถอดถอนนักการเมืองหลังจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 สิ้นสภาพไปหรือไม่ ล่าสุดนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้สั่งบรรจุเรื่องการพิจารณาสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวในการประชุม สนช.นัดพิเศษวันที่ 12 พ.ย.

"ปู" ระทึก สนช.นัดถกปมถอดถอน 12 พ.ย.

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 29 ต.ค. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้พ้นตำแหน่ง กรณีส่อว่าจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าวว่า ได้รับสำนวนดังกล่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. โดยสำนวนระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีพฤติการณ์จงใจกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 178 ส่อขัด พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ปี 2534 มาตรา 11 (1) และขัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 58 ทั้งตนและวิป สนช.พิจารณาอย่างละเอียดแล้วเห็นว่าแม้สำนวนอ้างฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ยกเลิกแล้ว แต่สำนวน ดังกล่าวยังอ้างการทำความผิดตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ปี 2534 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ที่ยังบังคับใช้อยู่ จึงสั่งให้นำเรื่องดังกล่าวบรรจุเข้าวาระการประชุม สนช.นัดพิเศษในวันที่ 12 พ.ย. เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณา และตามข้อบังคับข้อ 150 ตนจะส่งสำเนาเอกสารไปให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และสมาชิก สนช.รับทราบเพื่อพิจารณา

รอที่ประชุมเคาะสอย "ขุนค้อน–นิคม"

นายพรเพชรกล่าวต่อว่า กรณีถอดถอนนาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณี แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องที่มา ส.ว. วิป สนช. พิจารณาแล้วมีมติให้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม สนช.อีกครั้งวันที่ 6 พ.ย. เนื่องจาก สนช.ยังสงสัยฐานความผิดที่ไม่ชัดเจน เพราะ ป.ป.ช. อ้างว่าผิดตาม รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ยกเลิกแล้ว และเรื่องนี้อยู่ในอำนาจ สนช.หรือไม่ เมื่อถามว่าการถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ต่างจากถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างไร นายพรเพชรกล่าวว่า การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ คำร้องข้อกล่าวหาและฐานความผิดครบถ้วน แม้อ้างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว แต่มีฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.ที่บังคับใช้อยู่ แต่กรณีนายนิคมและนายสมศักดิ์ยังไม่ชัดว่าดำเนินการตามข้อบังคับได้หรือไม่ จึงต้องขอความเห็นที่ประชุม สนช. และยืนยันว่าไม่มีประเด็นใดต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และ สนช.ทำงานไม่ได้ยืดเยื้อ

ไม่เกิน 45 วันรู้ผลคดี "ยิ่งลักษณ์"

นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) เปิดเผยว่า วันที่ 6 พ.ย.ที่ประชุม สนช. จะพิจารณาสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคมน่าจะได้ข้อสรุปว่าจะรับไว้ดำเนินการหรือไม่ หากรับไว้จะถอดถอนได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเสียงของสนช. ต้องได้คะแนน 132 เสียงหรือ 3 ใน 5 ส่วนสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นคนละกรณีความผิดของนายสมศักดิ์และนายนิคม เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ผิดตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินฯ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 58 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กนข.) ที่ไม่ยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวที่เสียหายกว่าแสนล้านบาท ป.ป.ช.อ้างความผิดใช้คำว่าส่อว่าจงใจจะทุจริตเข้าข่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิด สนช.จะดูว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากที่ประชุมรับเรื่องไว้พิจารณา ประธาน สนช.จะนัด ป.ป.ช. และ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาชี้แจง ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถยื่นเอกสารและพยานเพิ่มได้ จากนั้นจะลงมติถอดถอนหรือไม่โดยใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ คาดว่าจะใช้เวลา 40-45 วัน นับจากการลงมติรับเรื่องไว้พิจารณา

รับสอยยากบี้ ป.ป.ช.ฟันอาญายกแก๊ง

นายสมชายกล่าวต่อว่า การทุจริตจำนำข้าว สร้างความเสียหายต่อชาติมาก ป.ป.ช.ควรนำคนที่มีส่วนร่วมดำเนินนโยบายนี้มาดำเนินคดีอาญาทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแค่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เท่านั้น ยอมรับว่าการจะถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ตามข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะป้องกันตัวเองตั้งแต่ต้น ไม่เข้าประชุม กนข. แม้ว่าจะเป็นประธานโดยตำแหน่ง แต่มอบหมายให้คนอื่นรับผิด ชอบแทน ต้องพิจารณาว่าจะเอาผิดได้หรือไม่ โทษถอดถอนถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เป็นโทษทางการเมือง แต่ทางคดีอาญาหาก ป.ป.ช.ส่งฟ้องน่าจะเอาผิดได้

"ธานี" ยันข้อหา "ยิ่งลักษณ์" ชัดแจ๋ว

ด้านนายธานี อ่อนละเอียด สนช. กล่าวว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ถ้า ป.ป.ช.อ้างฐานความผิดตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินฯ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 58 ความเห็น สนช.จะแตกต่างกันกับการพิจารณาสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม เพราะกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์มีข้อหาหลักชัดที่ส่อว่าจงใจใช้ตำแหน่งหน้าที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่ง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับที่ ป.ป.ช.ใช้อ้างฐานความผิดยังคงบังคับใช้อยู่ จึงต้องนำสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าสู่กระบวนการถอดถอน

"พิชิต" โวยเหตุผล สนช.ไม่เพียงพอ

ขณะที่นายพิชิต ชื่นบาน อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษากฎหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่ สนช. เตรียมพิจารณาสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฐานไม่ระงับยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า หวังว่า สนช.จะพิจารณาโดยเทียบเคียงกรณีการถอด ถอนนายสมศักดิ์ และกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มี สนช.เห็นว่าไม่สามารถถอดถอนได้เนื่องจากรัฐธรรมนูญยกเลิกไปแล้ว อีกทั้งนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.เคยแถลงชัดว่าสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ตัดฐานความผิดในรัฐธรรมนูญมาตรา 270 แต่ขณะนี้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดแล้ว สนช. ก็ไม่ควรรับไว้พิจารณา

เตือนคดียังไร้ข้อยุติ อย่าด่วนเร่งรีบ

นายพิชิตกล่าวว่า ถ้า สนช.รับพิจารณาเห็น ว่าสำนวนคดีดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติในเชิงพยานหลักฐาน คดีอาญาที่ ป.ป.ช.ยื่นให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.ยังต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาสำนวนใหม่ ซึ่งยังไม่มีข้อยุติ แม้ ป.ป.ช.จะพยายามโต้แย้งว่าคดีถอดถอนเป็นคนละเรื่องคดีอาญา แต่ ป.ป.ช.เองได้รวมคดีถอดถอนไว้กับคดีอาญามาตั้งแต่ต้น แต่พอถึงเวลานี้กลับมาแยก ทั้งที่พยานหลักฐานและเอกสารเป็นชุดเดียวกัน เวลานี้อัยการสูงสุดชี้ข้อไม่สมบูรณ์มา เท่ากับหลักฐานที่ ป.ป.ช.ส่งไป สนช.ไม่สมบูรณ์ หาก สนช.ถอดถอนเท่ากับผลของการถอดถอนไม่สมบูรณ์ไปด้วย สนช.น่าจะอำนวยความยุติธรรมให้ผู้ถูกถอดถอน เพราะพยานหลักฐานยังมีการโต้แย้งระหว่างอัยการสูงสุดกับ ป.ป.ช. อีกทั้งข้อบังคับว่าด้วยการถอดถอน สนช.ระบุว่าให้ยึดสำนวน ป.ป.ช.เป็นหลัก เมื่อสำนวน ป.ป.ช.ถูกท้วงติงจากอัยการสูงสุด สนช.ต้องคำนึงถึงด้วย ไม่ควรรีบเร่ง ควรรอให้การโต้แย้งหลักฐานทางคดีอาญายุติก่อนดีกว่าหรือไม่

แย้ง รธน.50 ฉีกแล้วอ้าง ก.ม.ลูกไม่ได้

นายพิชิตกล่าวอีกว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้ สนช.จะมีความเห็นเรื่องถอดถอนได้ก็ตาม แต่เจตนารมณ์การถอดถอน รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีสมาชิกตัวแทนจากการเลือกตั้ง ส.ส. หาก สนช.มีวิถีทางที่มาไม่ได้มาตามรัฐสภา มาถอดถอนนายกฯ ที่มาจากรัฐสภา จะไม่ตอบสนองเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงขอให้สมาชิกสนช.อำนวยความยุติธรรมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย แม้บางฝ่ายบอกว่าสามารถนำกฎหมาย ป.ป.ช.มาใช้ถอดถอนได้ แต่ที่มาของกฎหมาย ป.ป.ช. เป็นกฎหมายลูก เมื่อกฎหมายแม่คือรัฐธรรมนูญสิ้นสุดไปแล้วก็ไม่สามารถนำกฎหมายลูกมาใช้ถอดถอนได้ นอกจากนี้ทราบมาว่าสิ่งที่ ป.ป.ช.ระบุในสำนวนถอดถอนที่ส่งมายัง สนช.เพิ่มเติม ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำผิด พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 แต่มาตราดังกล่าวไม่มีบทบังคับโทษ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่เท่านั้น จึงไม่ควร อ้างกฎหมายดังกล่าวนำมาสู่การถอดถอน

จับตา "ประวิตร" เยือนจีนพบ "แม้ว–ปู"

ผู้สื่อข่าวรายงานจากระทรวงกลาโหมว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 ต.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม และคณะ ประกอบด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิก คสช. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม นายธีรัชย์ อัตนวานิช ผอ.สำนักบริหารการระดมทุนโครงการลงทุนภาครัฐ รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 28-31 ต.ค. มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคำนับ พล.อ.ฉาง ว่านฉวน รมว.กลาโหมจีน เพื่อแนะนำตัว กระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือการสั่งซื้อผลิตผลทางการเกษตร พร้อมหารือการเตรียมการเยือนของนายกฯของไทยอย่างเป็นทางการ และเข้าหารือข้อราชการกับหัวหน้าคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานของจีน รวมถึงเยี่ยมชมกิจการด้านขนส่งระบบราง โครงการกำจัดขยะ

ผู้สื่อข่าวรายงานการเดินทางไปเยือนจีนของ พล.อ.ประวิตรครั้งนี้ถูกจับตามองว่าอาจจะมีการพบปะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ประเทศจีนหรือไม่ เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แจ้งขอเลื่อนกำหนดการเดินทางกลับประเทศไทยกับทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปอีกระยะหนึ่ง

ขอสื่ออย่าตีความกันไปเอง

พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรและคณะ เดินทางไปตามคำเชิญของกระทรวงกลาโหมของจีน ไม่อยากให้สื่อมวลชนตีความกันไปต่างๆนานา

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกคณะทำงาน คสช. เปิดเผยว่า กำหนดการเดิม น.ส.ยิ่งลักษณ์ขออนุญาต คสช.เดินทางไปต่างประเทศถึงวันที่ 26 ต.ค. จนขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โทรศัพท์มาแจ้งขอเลื่อนกำหนดการเดินทางออกไปอีกระยะหนึ่ง จากเดิมจะกลับไทยวันที่ 26 ต.ค. ระยะเวลาต่อจากนี้ไม่ทราบว่ากี่วันถือเป็นความลับ ไม่ควรไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว

"บิ๊กตู่" ปัด "บิ๊กป้อม" ซุ่มช่วยเคลียร์คดี

ที่กระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนของ พล.อ.ประวิตรช่วงเดียวกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางไปพักผ่อนที่จีนว่า พล.อ.ประวิตรคุ้นเคยกับนายทหารของจีนที่เคยรู้จัก เป็นการไปนำร่องในฐานะรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงก่อนตนจะเดิน ทางไปเยือน ไม่ได้ไปโดยส่วนตัว มีทั้งตัวแทนกระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์เดินทางไปด้วย ไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไปคุยกับเขาทำไม เขามีวิจารณญาณถึงความเหมาะ สม ไม่มีการไปช่วยเรื่องคดี กฎหมายมีไว้บังคับใช้ทุกคนในประเทศนี้ ถ้าไปเคลียร์คนนั้นคนนี้ แล้วคนที่เหลือจะต้องไปยกโทษให้นักโทษอีกเท่าไหร่ ไม่มีการเกลี้ยกล่อม ทุกคนกลับมาได้หมด ใครจะกลับก็กลับ ขึ้นเครื่องบินกลับมาเลย มีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่แล้วจะได้สงบสุข อย่ามาปลุกปั่น เมื่อกลับก็เข้ากระบวนการแค่นั้น หรือจะมีวิธีการอื่นไม่รู้ เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม

ชิ่งไม่ตอบโยงเจรจาคดี "หน่อคำ"

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตรไปพูดคุยคดี "นายหน่อคำ" ราชายาเสพติด ที่ถูกศาลคุนหมิงสั่งประหาร ชีวิตพร้อมลูกสมุน จากการร่วมกันปล้นฆ่าลูกเรือขนส่งสินค้าชาวจีน 13 ศพ ระหว่างอยู่ในแม่น้ำโขงในน่าน น้ำประเทศไทย อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อเดือน ต.ค.54 ในชั้นศาลนายหน่อคำและพวก ซัดทอดถึงกลุ่มทหารไทยบางรายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบคำถาม เพียงแต่ร้องว่า "โอ๊ย" จากนั้นเดินเลี่ยงขึ้นรถทันที

ป.ป.ช.ลุยต่อสอบข้าวเสื่อมคุณภาพ

ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุถึงผลการตรวจสอบคุณภาพข้าวจำนวน 18 ล้านตัน พบมีข้าวต่ำกว่ามาตรฐานถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ และมีข้าวหายไปจากบัญชีกว่า
1 แสนตันว่า ป.ป.ช.ได้ลงนามกับคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอรับข้อมูลเหล่านี้มาตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีความผิดพลาดหรือทุจริตในส่วนใด ใครต้องรับผิดชอบ แต่คงไม่มีผลกระทบต่อสำนวนคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในโครงการจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.ได้ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว ป.ป.ช.จะนำข้อมูลนี้ไปใช้ไต่สวนสำนวนการทุจริตโครงการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์

หารือสอย 39 อดีต ส.ว.สัปดาห์หน้า

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการตรวจสอบสำนวนถอดถอนอดีต 39 ส.ว.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ว่ากรณีดังกล่าวมีการกระทำผิดตามกฎหมายอื่นร่วมด้วย นอกจากความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 50 หรือไม่ คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาว่าจะส่งสำนวนให้ สนช.ดำเนินการต่อไปหรือไม่

ขู่ "บิ๊กตู่" เดินตามรอย "ปู" พังแน่

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลการตรวจโกดังพบข้าวมีมาตรฐานและดีเอ็นเอตรงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่ามาตรฐานกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ว่า ข้าวที่หายไปจากบัญชีกว่าแสนตันอาจน้อยกว่าตัวเลขก่อนหน้านี้ที่สูงถึงเกือบ 3 ล้านตัน แต่คิดเป็นนับล้านกระสอบถือว่าไม่น้อย ซึ่งหลังจากพรรคฝ่ายค้านเคยท้วงติงรัฐบาลเรื่องการขายข้าวให้เอกชนโดยตรง เฉพาะที่มีใบสั่งซื้อจากต่างประเทศว่าไม่โปร่งใส เป็นสิ่งที่รัฐบาลที่แล้วทำและมีปัญหา ทราบว่าตอนนี้ชะลอแล้วกลับมาเปิดประมูลทั่วไปแทน ล่าสุดเปิดประมูลครั้งที่ 3 การตอบรับดีทั้งราคาและปริมาณ เรื่องข้าวรัฐบาลต้องทำให้โปร่งใส รับฟังข้อท้วงติงจะไม่มีปัญหา อย่างเรื่องจำนำยุ้งฉางเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ หลายฝ่ายจะออกมาช่วยรัฐบาลทำความเข้าใจ แต่ถ้ารัฐบาลไม่โปร่งใส นำเรื่องข้าวมาหาผลประโยชน์ เหมือนรัฐบาลอดีต รับรองเรื่องข้าวทำให้รัฐบาลพังแน่นอน

"แม้ว—ปู—ไปก์" เยี่ยมชมผังเมืองปักกิ่ง

สำหรับความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปก์ ที่ยังพักผ่อนอยู่ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ล่าสุด ช่วงเช้าวันที่ 29 ต.ค.ทั้งหมดเดินทางไปเยี่ยมชมผังเมืองกรุงปักกิ่ง โดย พ.ต.ท.ทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร่วมลงนามในสมุดบันทึกเยี่ยมชมด้วย ซึ่งระหว่างเยี่ยมชมมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและจีน เด็กนักเรียนจีนที่มาทัศนศึกษา เข้ามาขอถ่ายรูปกับ พ.ต.ท.ทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อเป็นที่ระลึก การเยี่ยมชมผังเมืองกรุงปักกิ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทางการจีนจัดต้อนรับ จากนั้นช่วงบ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์และน้องไปก์ พากันไปเดินเลือกซื้อสินค้าที่ถนนคนเดินเฉียนเหมิน ทางตอนใต้ของจัตุรัสเทียนอันเหมิน โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินเลือกซื้อขนม

"ยิ่งลักษณ์" กลับไทยต้นเดือน พ.ย.

วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โพสต์ภาพกิจกรรมตลอดทั้งวันในกรุงปักกิ่งผ่านทางเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ชื่นชมผังเมืองกรุงปักกิ่งเป็นการวางแผน city plan ค่อนข้างดี ต่อเนื่องเชื่อมโยงโครงสร้างเรื่องน้ำ ถนน สาธารณูปโภค รองรับประชากร ขยับขยายไปยังเมืองใกล้เคียง กระจายความแออัด รองรับการพัฒนาเมืองในอนาคต ผังเมืองแห่งนี้ผู้นำจีนทุกคนไม่ว่าใคร ต้องมาดูเพื่อเชื่อมโยงแผนพัฒนา เป็นหลักให้ทุกหน่วยงานทำงานอย่างต่อเนื่องได้ จีนมีเมืองที่วางผังเมืองดีหลายแห่ง เมื่อครั้งเยือนจีนนั่งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงปักกิ่งไปนครเทียนจิน ชมแบบจำลองผังเมืองที่พิพิธภัณฑ์ผังนครเทียนจิน เมืองท่าขนาดใหญ่เป็นที่ 3 ของจีน ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะใช้เวลาอยู่ที่จีนอีกระยะหนึ่ง และจะเดินทางกลับไทยตามกำหนดที่ขออนุญาต คสช.ไว้ช่วงต้นเดือน พ.ย.

วิป สปช.จัดระเบียบเฟ้น กมธ.ยกร่างฯ

อีกเรื่อง เมื่อเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) หรือวิป สปช. แถลงว่า มี สปช. สมัครเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 34 คน แต่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 32 คน เนื่องจากอีก 2 คน เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง สปช.ที่สมัครมาจาก 11 สาขาและ 4 ภาค ยืนยันว่าการคัดเลือกครั้งนี้ไม่มีการบล็อกโหวต แต่เปิดโอกาสให้ผู้สมัครหาเสียงกับ สปช.ได้ทั้ง 250 คน ในห้องประชุมใหญ่ ส่วนต้องแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม คาดว่าจะใช้เวลาลงคะแนนไม่เกิน 3 ชั่วโมง และไม่สามารถกำหนดได้ว่า สปช.จะได้เป็น กมธ.ยกร่างฯ ครบทุกด้าน เพราะเกรงจะขัดต่อกฎหมายเรื่องการกำหนดโควตา

โต้ครหาใจแคบมุ่งสกัดคนนอก

เมื่อถามว่า พรรคการเมืองต่างๆ อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทยอยากให้ สปช.เปิดใจกว้างรับฟังทุกภาคส่วน นายอลงกรณ์กล่าวว่า สปช.พยายามสร้างการมีส่วนร่วม และเปิดกว้างอยู่แล้วมีหลายกลไก มติของ สปช.ที่ไม่ให้คนนอก 5 คนมาเป็น กมธ.ยกร่างฯ คงวัดไม่ได้ว่า สปช.ใจแคบ ยืนยันว่าใจกว้าง แต่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและการทาบทาม ขณะที่พรรคการเมืองและบางกลุ่มการเมืองไม่ได้สร้างความมั่นใจว่าจะเข้าร่วม

ครบเส้นตายเหลือ 31 คน ลงชิงชัย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาถึงความเคลื่อนไหวก่อนการประชุม สปช. เพื่อลงมติคัดเลือก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน ในสัดส่วนของ สปช.ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ประชุม สปช.เปิดให้สมาชิก สปช.มายื่นใบสมัครเป็น กมธ.ยกร่างฯเพิ่มเติมต่อเนื่องจากวันที่ 28 ต.ค. ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลา 12.00 น. วันที่ 29 ต.ค.สิ้นสุดการปิดรับสมัคร ยังคงมีผู้สมัครอยู่ที่จำนวน 34 คน เท่ากับเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ไม่มีผู้มายื่นใบสมัครเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม มีผู้สมัครขอถอนตัว 3 ราย คือนายอมรวิชช์ นาครทรรพ และนางประภาภัทร นิยม สปช.สายการศึกษา เนื่องจากสายการศึกษาส่งผู้สมัครมา 4 คน จึงขอถอนตัวเหลือ 2 คน ส่วนนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช.สายสังคมขอถอนตัว เนื่องจากอยากไปทำหน้าที่เป็น กมธ.สามัญใน สปช. ทำให้เหลือจำนวนผู้สมัครเป็น กมธ.ยกร่างฯทั้งสิ้น 31 คน

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช.ด้านสังคม กล่าวว่า ถอนตัวด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครมาเจรจาขอร้อง เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่า กมธ.ยกร่างฯจะไปเป็น กมธ.สามัญคณะอื่นใน สปช.ได้หรือไม่ จึงเกรงจะมีปัญหาภายหลัง โดยอยากทำงานปฏิรูปในฐานะ กมธ.สามัญใน สปช.โดยฟังความเห็นของประชาชนมากกว่า

เปิดรายชื่อผู้สมัครคั่วเก้าอี้

สำหรับรายชื่อผู้สมัครกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 31 คนประกอบด้วย สปช.ด้านการเมือง 6 คน ได้แก่ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายชูชัย ศุภวงศ์ นางตรึงใจ บูรณสมภพ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายอมร วานิชวิวัฒน์ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 1 คน คือนางถวิลวดี บุรีกุล ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 5 คน ได้แก่ นายคำนูณ สิทธิสมาน พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง นายวรรณชัย บุญบำรุง ด้านการปกครองท้องถิ่น 4 คน ได้แก่ นายจรัส สุวรรณมาลา นายไพโรจน์ พรหมสาสน์ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายวุฒิสาร ตันไชย ด้านการศึกษา 2 คน ได้แก่ นางทิชา ณ นคร นายมีชัย วีระไวทยะ ด้านเศรษฐกิจ 1 คน ได้แก่ นางนรีวรรณ จิตนกานนท์ ด้านพลังงาน 1 คน ได้แก่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มี 3 คน ได้แก่ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย ด้านสื่อสารมวลชน 1 คนได้แก่ นายมานิจ สุขสมจิตร ด้านสังคม 1 คน ได้แก่ น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา ด้านอื่นๆ 2 คน ได้แก่ นายนิรันดร์ พันทรกิจ พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ ขณะที่รายจังหวัด 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ นายจุมพล สุขมั่น ภาคใต้ นายเชิดชัย วงศ์เสรี ภาคกลาง-ตะวันออก นายประชา เตรัตน์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พล.ท.นคร สุขประเสริฐ

ขอบคุณเนื้อหา thairath
ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=40664&page=1