ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

พุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ

เริ่มโดย คุณหลวง, 12:59 น. 03 ก.ย 54

คุณหลวง

กาลามสูตร คือ พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตติยนิคม แคว้นโกศล (เรียกอีกอย่างว่า เกสปุตติยสูตร หรือเกสปุตตสูตร ก็มี) กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ ๑๐ ประการ ได้แก่
๑.อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
๒.อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
๓.อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
๔.อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
๕.อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
๖.อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
๗.อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
๘.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
๙.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
๑๐อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน
ปัจจุบันแนวคิดและหลักสูตรที่สอนให้คนมีเหตุผลไม่หลงเชื่องมงาย ในทำนองเดียวกับคำสอนของพระพุทธองค์เมื่อ ๒๕๐๐ ปีก่อน ได้รับการบรรจุเป็นวิชาบังคับว่าด้วยการสร้างทักษะการคิดหรือที่เรียกว่า "การคิดเชิงวิจารณ์" (Critical thinking) ไว้ในกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยของประเทศพัฒนาแล้ว
(กาลามสูตร-วิกิพีเดีย-ไทย)
   พระพุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์มีคุณลักษณะที่เหมือนกัน คือ การไม่เชื่ออะไรก่อนการพิจารณาและทดลองจนเห็นคุณเห็นโทษ ไม่บังคับให้ใครเชื่อ โดยสามารถพิสูจน์ด้วยตนเอง ดังนั้น ผู้รู้จึงยกย่องพระพุทธศาสนาว่าเป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่มีศาสนาใดจะมีคำสอนเช่นนี้
   พระพุทธองค์ทรงเริ่มต้นจากการที่เห็นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่าเป็นทุกข์ คิดมุมกลับว่าเมื่อมีความเกิดความตายก็น่าจะมีความไม่เกิดไม่ตาย เช่นเดียวกับการมีร้อน-มีเย็น  มีมืด-มีสว่าง เป็นต้น ด้วยน้ำพระทัยที่เห็นสัตว์ทั้งปวงเป็นทุกข์อย่างนี้ จึงมุ่งมั่นที่จะค้นหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์นี้ให้ได้ เมื่อพระองค์มีทฤษฎีอย่างนี้แล้ว ก็ลงมือปฏิบัติโดยวิธีการต่างๆ นานถึง ๖ ปี จึงค้นพบ
   สิ่งที่พระองค์ทรงค้นพบก็คือ ความจริงของธรรมชาติ อย่างที่พระองค์ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นมาในโลกหรือไม่ก็ตาม สิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นของมันอย่างนี้อยู่แล้ว เมื่อค้นพบ พระองค์จึงนำมาเปิดเผย แจกแจง แสดงให้รู้ และความรู้ที่พระองค์รู้นั้นมีมากมายเกินคณานับ แต่มุ่งเอาความพ้นทุกข์เป็นหลัก จึงเลือกสอนแต่ที่จะพาผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์ได้เท่านั้น และเมื่อทุกข์เกิดแต่จิต จึงมุ่งเรื่องจิตเป็นหลักใหญ่ วัตถุเป็นเรื่องรอง
   สิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นหาก็คือ ความจริงของธรรมชาติ จากสังเกต สมมติฐาน ทดลอง จนค้นพบความจริงของธรรมชาติเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่า ยังมีความจริงของธรรมชาติอีมากมายที่วิทยาศาสตร์ยังค้นไม่พบอย่างเช่น การค้นพบแรงโน้มถ่วงของนิวตัน นักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นเชื่อว่า เป็นสุดยอดของความรู้ จะไม่มีความรู้ใดมากกว่านั้นอีกแล้ว แต่เมื่อไอน์ไสตน์เปิดเผยทฤษฎีสัมพัทธภาพออกมา ก็ลบล้างความรู้ผิดบางส่วนของนิวตันไป และเหลือแต่ของจริงเท่านั้น
   สมัยก่อน เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล จนกระทั่งมีการพิสูจน์ต่อมาว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากทึเป็นศูนย์กลาง เมื่อก่อนเชื่อว่ามีจักรวาลเพียงหนึ่งเดียว ปัจจุบัน ยอมรับกันว่า มีมากมายนับไม่ถ้วน
   ความแตกต่างของพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์กระแสหลัก ก็คือ พุทธศาสนามุ่งความพ้นทุกข์เป็นหลักใหญ่สุด จึงเน้นเรื่องจิต แต่วิทยาศาสตร์กระแสหลักเน้นการพัฒนาวัตถุเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชีวิต และพิสูจน์แต่สิ่งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา(และเครื่องมือช่วย) จึงไม่มีใครกล้าพิสูจน์เรื่องจิต เพียงเพราะว่าไม่สามารถเอาหลักฐานแบบวัตถุมาให้ดูได้
   แต่ความลับของจักรวาลหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์สมัยนี้พิสูจน์ได้ ได้ยอมรับกัน(ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกอย่าง อภิมหาอัจฉริยะบุรุษอัลเบิร์ต ไอน์ไสตน์ ฟริตจอฟ คาฟปรา นักฟิสิกส์อันดับหนึ่งของโลกปัจจุบัน เป็นต้น) ว่าตรงกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เมื่อเกือบสามพันปีก่อน อย่างเช่น เวลาที่ไม่เท่ากันในแต่ละจุดของจักรวาล ด้วยเหตุนี้ ดาวเทียมจึงต้องตั้งเวลาที่ไม่ตรงกับบนโลก เจือกับความยาวของเวลาที่ไม่เท่ากัน เพื่อให้ได้เวลาที่ตรงกัน
   หรืออย่างเรื่องของดาราจักร แกแล็คชี่ ปรมาณู อะตอมฯลฯ ล้วนมีอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแตกต่างกันในวิธีการพูด การสื่อสารเท่านั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์สมัยก่อนไม่เข้าใจได้ และไม่ได้มีมากจนเฟ้อ เพราะมันไม่สิ้นสุด ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์
   ดังนั้น พุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ จึงเป็นศาสตร์ที่มุ่งเพื่อรู้ความจริงของธรรมชาติ เพียงพุทธศาสนาเน้นความพ้นทุกข์ วิทยาศาสตร์เน้นความรู้เพื่อพัฒนาวัตถุ อาจจะด้วยคิดว่าวัตถุยิ่งเจริญความทุกข์ยิ่งน้อยลงก็ได้ เพราะมีความสะดวกสบายมากมายปรนเปรอ แต่ความจริงวันนี้นพิสูจน์แล้วว่า ความเชื่อเช่นนั้นเป็นจริงแค่ไหน
   สิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบ สรุปสั้นๆ คือ ค้นพบความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติ(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)ไม่ว่าธรรมชาติฝ่ายสูงหรือธรรมชาติฝ่ายต่ำ การเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติทำให้จิตปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งทางวัตถุและจิต จนจิตกลับสู่สภาวะประภัสสร
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ปัจเจกพุทธ

ผมคิดว่าคำว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ นั้น ไม่ค่อยตรงนัก มีอะไรหลายอย่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่มีหลักการอยู่ วิทยาศาสตร์แค่หลักการอย่างเดียวไม่พอ ต้องคาดคะเน รวบรวม ทดลอง สรุปผล

ถ้าบอกว่า พุทธศาสนา เป็นศาสนาแบบธรรมชาติ อันนี้น่าจะตรงกว่า

ส่วนเรื่อง คำสอนของพระพุทธเจ้าไปตรงกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นพบ ผมว่าตรงนี้ไม่ได้เป็นแก่นสารอะไรมากนัก เพราะวิทยาศาสตร์เป็นส่วนน้อยในธรรมชาติ ศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ คือเข้าถึงธรรมชาติได้มากกว่าวิทยาศาสตร์นั่นเอง

วิทยาศาสตร์พิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ข้อพิสูจน์นั้นไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง เช่น มีนักวิทยาศาสตร์ออกมาบอกว่า กินไข่ได้สัปดาห์ละ 2 ฟอง ต่อมาก็ออกมาบอกว่า กินได้วันละ 1 ฟอง อีกไม่นานก็คงเปลี่ยนแปลงอีก ต่างจากศาสนา เมื่อศาสนาพุทธบอกว่า อบายมุขเป็นทางสู่ความเสื่อม ก็เป็นตามนั้นจริง ๆ

สิ่งที่คุณหลวงพูดมานั้นถูกหมด อ่านแล้วก็ได้ธรรมมะเข้าสู่ใจตน เมื่อเรารู้แก่นสารทั้งหมดแล้ว ต่อไปมันก็จะอยู่ในใจเรา เมื่อเราเข้าสู่แดน อเสขะ แล้ว อักระพวกนี้จะหายไป ไม่จำเป็นต่อเราอีก เราไม่สามารถอ่านหนังสือได้เยอะ ๆ อีก เราจะรู้สึกว่า มันไม่ได้มีสาระอะไรมากไปกว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ มันอธิบายไม่ถุก รู้แต่ว่า ทุกอย่างหยุดอยู่กับที่ มีเพียงตัวเราและลมหายใจที่เคลื่อนไหวอย่างแผ่วเบา

คุณหลวง

ครับ  ผมก็ไม่ได้คิดว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์
แต่บอกว่า เป็นการค้นเข้าไปในสิ่งเดียวกัน คือ ธรรมชาติ
หากนักวิทยาศาสตร์ติดแค่วัตถุที่มองเห็นก็ไม่สามารถเข้าถึง
ธรรมชาติที่พุทธศาสนากล่าวถึง

แต่นักวิทยาศาสตร์เองที่บอกว่าศาสนาพุทธคือศาสนาที่เข้า
หลักการทางวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด เพราะไม่
สักแต่เชื่อ ต้องทดลอง จนรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตน

ไอน์ไสตน์ กล่าวยอมรับเรื่องจิต แต่เขาเอามาพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นไม่ได้
และเขาที่บอกว่า หากจะมีสักศาสนาหนึ่งที่ทนต่อการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้
ก็มีเพียงศาสนาเดียว คือ ศาสนาพุทธ และว่า

"วิทยาศาสตร์ที่ขาดศาสนาเป็นดั่งคนง่อย ศาสนาที่ขาดวิทยาศาสตร์
เป็นดั่งคนตาบอด"


ความจริง เรื่องเกี่ยวกับโลกและจักรวาลนั้น พระพุทธองค์ท่านตรัสเท่าที่จำเป็น
เพื่อเกื้อกูลแก่คนบางกลุ่มเท่านั้น จึงมีน้อยมาก

แต่อย่าเพิ่งพิสูจน์เเลยครับ เพราะจะเอาวัตถุไปพิสูจน์จิตนั้น เป็นไม่ได้ เพราะ
         จิตย่อมรู้ด้วยจิตเท่านั้น
หวังเพียงเราศึกษาศาสนาเพื่อการดับทุกข์เถอะครับ ดีที่สุด เวลาชีวิตไม่มากพอ
ที่เราจะรู้ทุกอย่าง แต่การรู้ที่ดับทุกข์ได้ เป็นศาสตร์ที่ยอดสุดแล้ว
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ปัจเจกพุทธ

มีหลายอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านทราบ แต่พูดออกมาไม่ได้ เกี่ยวกับเรื่อง บาป บุญ ชาตินี้ ชาติหน้า กรรม ความดี ความชั่ว ที่พูดไม่ได้เพราะว่า คนเรามีสี่จำพวก บัวสี่เหล่า การพูดประโยคหนึ่ง กับคนเหล่าบัวใต้โคลนตม กับพูดประโยคเดียวกัน กับบัวเหนือน้ำ ความเข้าใจของคนสองจำพวกนี้ต่างกันมาก

ขอยกตัวอย่างสักตัวอย่างเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ มีคนมาถามพระองค์ว่า "การทำญาตพลี(บางทีเรียก เปตพลี  หมายถึง การทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ทำได้หรือไม่ ขัดต่อหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบหรือไม่" พระพุทธเจ้าท่านต้องการเผยแผ่ศาสนา จึงตอบว่าได้ ไม่ผิดแต่ประการใด แต่พระองค์ก็ยังตรัสว่า "การทำญาตพลี เป็นแค่กุสโลบายในการทำกุศลเท่านั้น" หมายถึง เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายนั้น เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งทำให้เกิดความสบายใจ คือเป็นกุศลเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เราอุทิศไปให้ผู้ตายนั้นจะไปถึงผู้ตายจริง ๆ

สมมติว่า คำถามนี้ไม่ได้ถามพระพุทธเจ้า แต่ถามพระปัจเจกพุทธเจ้า คำตอบอาจจะต่างกัน เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้า มิได้นำพาต่อการเผยแผ่พระศาสนา คำตอบอาจเป็นคำตอบที่ท่านนึกไม่ถึง ฟังแล้วท่านอาจไม่เชื่อ เพราะคนส่วนใหญ่ศึกษาพุทธศาสนายังไม่ถึงยังจุด ที่ยอมรับบางสิ่งบางอย่างที่ตนเคยรู้มาได้ 

และในสมัยนี้ต้องยอมรับว่า เราอยู่ในระบบทุนนิยม สังคมบริโภค อะไร ก็เงินซื้อได้ ซื้อได้แม้แต่นิพพาน อยากได้อะไรไม่ต้องคอย ไปนั่งวิปัสสนาในป่าในเขาสองสามวันก็บรรลุอรหันต์ ใช้เงินไม่กี่พันบาท กลับมาทำงานก็ยัง มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ สรรญเสริญ นินทา สุข ทุกข์ กันเหมือนเดิม

ส่วนใหญ่ที่ไม่ไปถึงจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา เพราะไปติดอยู่กับ สวรรค์ บุญ สองอย่างนี้ทำให้คนไม่ไปไหน อยู่ในสังสารวัฎ เรื่องที่ไม่น่าเชื่อคือ มีคนเยอะมากที่ไม่รู้ว่า จุดมุ่งหมายในการนับถือศาสนาพุทธคืออะไร ก็คือนิพพาน ไม่ใช่สวรรค์อย่างที่เข้าใจ สวรรค์เปรียบเหมือนขนมหวานที่เอาไว้หลอกให้เด็กทำความดี นรกเปรียบเหมือนของขม ๆ ที่เอาไว้ขู่เวลาเด็กงอแงเอาแต่ใจ คนส่วนมากไปยึดติด คิดว่าทำบุญมาก ๆ แล้วได้ขึ้นสวรรค์ จริง ๆ การทำจิตให้บริสุทธิ์ต่างหาก คือทางไปสู่นิพพาน บุญก็เป็นส่วนหนึ่งแต่ก็เป็นกุสโลบายเท่านั้น
แค่นั้นก่อน ค่อยมาคุยใหม่


คุณหลวง

ขอยกตัวอย่างสักตัวอย่างเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ มีคนมาถามพระองค์ว่า "การทำญาตพลี(บางทีเรียก เปตพลี  หมายถึง การทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ทำได้หรือไม่ ขัดต่อหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบหรือไม่" พระพุทธเจ้าท่านต้องการเผยแผ่ศาสนา จึงตอบว่าได้ ไม่ผิดแต่ประการใด แต่พระองค์ก็ยังตรัสว่า "การทำญาตพลี เป็นแค่กุสโลบายในการทำกุศลเท่านั้น" หมายถึง เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายนั้น เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งทำให้เกิดความสบายใจ คือเป็นกุศลเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เราอุทิศไปให้ผู้ตายนั้นจะไปถึงผู้ตายจริง ๆ

    วรรคนี้ของท่าน ผมมีความเห็นต่างครับ ผมมีเรื่องหนึ่งเล่าให้ฟัง หลายปีก่อนผมเป็นทหารเกณฑ์ที่สัตหีบ ชลบุรี
วันหยุดยาวผมมักมาเที่ยวบ้านเพื่อนที่กรุงเทพฯ เพื่อนชื่อโจครับ เที่ยวนั้นผมขึ้นมาโดยไม่ได้แจ้งโจล่วงหน้า มาพบบ้าน
ว่างเปล่า รอจนค่ำพี่มันกลับมาก็รู้ว่ามันเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการตาอักเสบ จากการใส่คอนแท็คเลนส์นานเกินไป ต้อง
พันผ้าปิดตาทั้งสองข้าง ผมไปเฝ้ามันที่โรงพยาบาล(ขอไม่ออกชื่อนะครับ)
    หลังจากป้อนข้าว ป้อนน้ำเสร็จ ก่อนนอน โจบอกว่า
     "ผมโดนผีอำมาสองคืนแล้ว เห็นคนมาทวงที่ของเค้า เป็นผู้ชาย อายุประมาณ ๔๐ ผมรองทรง มีหนวดเครา ฯลฯ พอมาทับผมก็หายใจไม่ออก ดิ้นแทบตาย เมื่อเช้า ผมถามพยาบาลว่าก่อนหน้าผมมีผู้ชายมาตายที่เตียงนี้ใช่ไหม พยาบาล
บอกว่าใช่ ผมก็อธิบายลักษณะให้ฟัง พยาบาลบอกว่านั่นแหละ เค้าล่ะ ตรงกันเป๊ะ"
     ผมก็รับฟัง ไม่ได้ใส่ใจมาก เพราะได้ฟังมาเยอะ สักพักโจหลับไป ผมก็นั่งหลับคาเตียงเพื่อน สักครู่ใหญ่ๆ ผมตื่นขึ้นมาเพราะได้ยินเสียงกุกกัก ตื่นมาเห็นโจนอนดิ้น ดิ้นแบบคนที่ดิ้นไม่ได้ หน้าตาทรมานมาก มีเพียงนิ้วที่กระดิกขึ้นลง ผมตั้งหัวข้างมือเพื่อน จึงตื่นขึ้นมา ผมจับตามตัวมัน เรียกเบาๆ เขย่าเบาๆกะว่าให้มันรู้สึกตัว สักครู่โจก็สงบลง หลับต่อโดยที่ไม่ตื่นขึ้นมา
      ผมนั่งมองเพื่อน เห็นว่าหลับจริงแล้วก็นั่งหลับตา ตั้งสมาธิจิต สวดมนต์ แผ่เมตตาให้กับคนที่โจเล่า และบอกว่า พี่ครับ เพื่อนผมมาเพียงเพื่อรักษาตัวไม่ได้มาเอาที่ของพี่แต่อย่างใด อย่าได้หยอกเพื่อนผมเลยครับ เดี๋ยวหายมันก็กลับ พี่จงรับผลบุญกุศลที่ผมทำแล้วอุทิศให้ แล้วจงปล่อยวางมีความสุขในอัตภาพ เราอยู่ในวัฎฎสงสารอีกนาน อย่าสร้างเวรสร้างกรรมต่อเลยครับ"
     แล้วผมก็หลับ วันต่อมาผมก็ลาเพื่อนกลับกรมกอง สองวันต่อมาผมโทรไปหาเพื่อนตามกำหนดที่หมออนุญาตให้กลับ ถามทุกข์สุขดีแล้ว ผมก็ถามว่าสองคืนหลังจากนั้นชายคนนั้นมากวนอีกหรือไม่ มันตอบว่าไม่เลย นอนหลับสบายทั้งสองคืน ผมก็เล่าเรื่องที่ผมทำในคืนนั้นให้ฟัง โจก็บอกว่าดีเขาหลับสบาย
      จิตสัมผัสด้วยจิตครับ ยิ่งสมาธิมากก็ยิ่งสัมผัสได้มาก
     
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ปัจเจกพุทธ

เรื่องผีนี่ก็มีการถกเถียงกันมานาน คนที่ไม่เคยเห็นผีก็บอกว่า ผีไม่มีในโลก คนเคยเห็นก็บอกว่า ผีมีจริง

ข้อสรุปของเรื่องนี้คือ เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ ว่าผีมีจริงหรือไม่ แม้แต่รายการ คนอวดผี ที่เข้าไปรบกวนผีตามบ้านร้าง โรงงานร้าง ก็ไม่สามารถถ่ายรูปผี แบบชัด ๆ ได้ มีแต่เป็นเงาที่เลือนลางมาก ๆ

พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูกรอานนท์!  คฤหัสถ์ก็ดี  นักบวชก็ดี  ที่กล่าวว่าตัวรู้จักผี  ตัวแลเห็นผี  และตัวได้พูดจากับผี  ดังนี้แล้ว  ก็พึงรู้เถิดว่า  คนจำพวกนั้นไม่ใช่ลูกศิษย์ของเราตถาคถ  เขาเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิภายนอกพระศาสนา  ไม่ควรถือเอาเป็นครูเป็นอาจารย์  เพราะเขาเป็นคนเจ้าอุบาย  เจ้าเล่ห์  เจ้ากล  เป็นคนอุตริทั้งนั้น"

        "ดูกรอานนท์!  เราจักทำนายไว้ให้เห็น  ในอนาคตเบื้องหน้าจักเกิดมีพวกมิจฉาทิฏฐิภายนอกพระศาสนา  ที่อวดอ้างว่าตัวรู้  ตัวเห็นผี  ได้พูดจาด้วยกับผี  ครั้นบุคคลจำพวกนี้เกิดขึ้นแล้ว  ก็จักเบียดเบียนพระศาสนาของเรา  ให้เสื่อมถอยลงไปด้วยวาทะถ้อยคำเสียดสีต่างๆ  พระสงฆ์สามเณรก็จักเกิดความระส่ำระสาย  หาความสบายมิได้  เขาจักสอนทิฏฐิวัตรอย่างเคร่งเครียด  ถืออรัญญิกธุดงค์อย่างพระเทวทัตต์  ภายหลังก็จักแบ่งเป็นพระบ้านพระป่ากัน  แล้วก็จักแตกออกกันเป็นพวกๆ ไม่สามัคคีกัน  ศาสนาของเราก็จักเสื่อมถอยลงไป  เพราะพวกมิจฉาทิฏฐิที่เห็นแก่ลาภยศ  หาความสุขมิได้  มรรคผลวิเศษก็จักไม่เกิดขึ้นแก่เขา  เขาจักเรียนเอาแต่วิชาศีลธรรม  อันพวกมิจฉาทิฏฐิสอนให้  รู้อะไรกันบ้างเล็กน้อย  ก็อวดดีกันไป  แท้ที่จริงความรู้เหล่านั้นล้วนแต่รู้ดีสำหรับไปสู่นรก  เขาจักไม่พ้นจตุราบายได้เลย"

        "ดูกรอานนท์!  ในอนาคตกาลภายหน้า  จักมีอย่างนี้ไม่ต้องสงสัย  ถ้าผู้ใดรับลัทธิอย่างนี้ไว้  เมื่อทราบความจริงแล้วก็จงเพียรพยายามละเว้นเสีย  แล้วจักได้ประสบความสุข ฯลฯ"

ถ้าผีมีจริงพระพุทธเจ้าก็ต้องรู้ แต่อย่างที่บอก พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า การจะตอบอะไร ย่อมหมายประโยชน์ในแง่ของการเผยแผ่พระศาสนา คำสอนของพระองค์ขัดกับการมีอยู่ของภูติผีปิศาจ พระพุทธเจ้าจึงไม่สนับสนุนให้เชื่อเรื่องผี ทั้งการเชื่อเรื่องผีก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร ได้แค่ความตื่นเต้น เรื่องราวของผีฟังดูเหมือนนิทานปรัมปรา ฟังเพลิน ๆ เท่าน้นเอง


คุณหลวง

ท่านพูดราวกับว่าท่านเป็น และหรือเรียนมาจากพระปัจเจกพุทธเจ้า
แต่พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า รู้ เหมือน หรือ ต่างกัน ครับท่าน?
    กำลังของพระปัจเจกพุทธเจ้าจะนำมาเทียบกับกำลังของพระพุทธเจ้าไม่ได้หรอกครับ น้อยกว่ากันมากนัก
และพระปัจเจกฯจะสอนแย้งพระพุทธเจ้าก็เป็นไม่ได้ครับ เพราะท่านรู้อย่างเดียวกัน แต่ความกว้างขวางแห่งความรู้เท่านั้นที่มากน้อยกว่ากัีน
    พระพุทธองค์ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้นะครับ ท่านเพียงแต่บอกว่า ถึงรู้เรื่องพวกนี้มากแค่ไหนก็
ไม่มีวันพ้นทุกข์ ไม่ทำพระนิพพานให้แจ้งได้ เพราะมันไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ ไม่อย่างนั้นในพระสูตรหลาย
พระสูตรจะไม่กล่าวถึงเรื่องอสุรกาย เปรต เทวดา มาร พรหม ฯลฯ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงกล่าวถึง หรือ รับรองการ
รู้เห็นของพระสาวก เช่นที่พระโมคคัลลาน์เห็นเปรตที่ถูกเข็มแทงทั่วร่างกาย แล่้วมาทูลให้พระองค์ทราบและพระองค์
ทรงรับรอง
    การที่ท่านกล่าวว่าการทำญาตพลีไม่มีผลนั้น อย่างข้อความของท่านว่า

"แต่พระองค์ก็ยังตรัสว่า "การทำญาตพลี เป็นแค่กุสโลบายในการทำกุศลเท่านั้น" หมายถึง เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายนั้น เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งทำให้เกิดความสบายใจ คือเป็นกุศลเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เราอุทิศไปให้ผู้ตายนั้นจะไปถึงผู้ตายจริง ๆ"

     อันนี้ ผมยอมรับว่าไม่เคยอ่านพบครับ รวมทั้งกระทู้ล่าสุดของท่านที่อ้างพระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ แต่
ก็ไม่ได้หมายความว่าผมปฏิเสธนะครับ ผมก็ยังต้องเรียนรู้อีกมาก
     แต่ประการหนึ่งที่ท่านต้องรู้คือ วิสัยของพระพุทธเจ้าผู้ทรงวิสุทธิคุณยิ่งนั้น จะไม่มี ไม่สามารถ ไม่จำเป็นที่จะต้อง
โกหกไม่ว่าเหตุผลใดๆก็ตาม แม้แต่สิ่งที่ท่านเรียกว่า กุศโลบาย อันแปลว่า อุบายอันเป็นไปเพื่อกุศลก็ตาม อย่างที่พระ
องค์ตรัสว่า
     "ไม่ว่าอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เราตถาคตจะไม่กล่าวด้วยถ้อยคำที่ไม่จริงแม้จะเป็นประโยชน์ก็ตาม แต่เรากล่าวด้วยถ้อยคำที่เป็นจริง และเป็นประโยชน์เท่านั้น"
     ประโยชน์ในที่นี้หมายถึงการกระทำพระนิพพานให้แจ้ง เพื่อความพ้นทุกข์นั่นเองครับ และพระองค์ทรงสอนพระ  ราหุลว่า การโกหกมีในผู้ใดความเป็นสมณะของผู้นั้นก็ลดลงเท่านั้น ดังนั้น เธอ(ราหุล)จงทำความศึกษาว่า เราจะไม่
โกหก แม้แต่การล้อเล่นก็ตาม  และว่า คนโกหกสามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง
     ย้อนมาเรื่องญาตพลี
จำเรื่องทิศ ๖ ได้นะครับ

ทิศหก บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดุจทิศที่อยู่รอบตัวจัดเป็น ๖ ทิศ ดังนี้
๑. ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา มารดา
๒. ทักขิณทิสทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์
๓. ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ สามีภรรยา
๔. อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้ายได้แก่ มิตรสหาย
๕. อุปริมทิส ทิศเบื้องบนได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์
๖. เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ลูกจ้างกับนายจ้าง
                    ฯลฯ
บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ดังนี้
๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ
๒. ช่วยทำกิจของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล
๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน
                  ฯลฯ
    ผมตัดมาเท่านี้ ดูที่ข้อ ๕ ครับ ถามว่า หากมันไม่มีผลจริงๆแล้วไซร้ มีึความจำเป็นไหมที่พระพุทธองค์ จะต้องใส่
เข้ามา เพราะหากไม่มีผลจริงแล้วใส่เข้ามาเท่ากับ พระพุทธองค์โกหกนะครับ แล้วพระองค์จำเป็นต้องโกหกหรือครับจะว่าเป็นกุศโลบายก็ไม่ เพราะหากไม่มีผลจริงก็เท่ากัีบพระองค์สอนให้งมงายเท่านั้นเอง
   
    ส่วนที่ว่า "เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ ว่าผีมีจริงหรือไม่ แม้แต่รายการ คนอวดผี ที่เข้าไปรบกวนผีตามบ้านร้าง โรงงานร้าง ก็ไม่สามารถถ่ายรูปผี แบบชัด ๆ ได้ มีแต่เป็นเงาที่เลือนลางมาก ๆ" ทำไมต้องให้ผู้อื่นพิสูจน์ให้ดูล่ะครับ
ลองเข้าไปดูเอง ให้เห็นเอง ได้ยินเสียงเองสิครับ อย่าให้จิตอ่อนแอสร้างภาพเอง อย่าคิดเองว่าเป็นเรื่องโกหก ต้องพิสูจน์ด้วยตนครับ
    ส่วนสุดท้ายที่ว่า "คำสอนของพระองค์ขัดกับการมีอยู่ของภูติผีปิศาจ" นั้น ผมว่าไม่ครับ คำสอนของพระพุทธองค์ไม่ขัดกับการมีอยู่ หรือ ไม่มีอยู่ ของสิ่งใดๆเลยครับ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป
สุดท้ายไม่มีอะไรเป็นอะไรอย่างแท้จริงครับ อย่างที่คุณว่า อัตตาไม่มี อนัตตาไม่มี มีแต่สมมตินั่นล่ะครับ
   
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ปัจเจกพุทธ

พระปัจเจกพุทธเจ้ารู้แจ้งเห็นจริง (enlighten) เท่า ๆ กับพระพุทธเจ้านั่นแหละครับ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านตั้งใจจะโปรดสัตว์โลก ซึ่งในครั้งแรก ท่านคิดว่า ธรรมมะที่ท่านค้นพบนั้นยากไปสำหรับมนุษย์ทั่วไป แต่ในบรรดามนุษย์นั้นแบ่งได้ 4 ประเภทอย่าง ที่กล่าวไว้ข้างต้น คิดว่ายังคงมีคนฉลาดและเข้าถึงได้อยู่หลายคน จึงตัดสินใจว่าจะเผยแผ่พระศาสนา

คนเรามีเซนส์ในการรับรู้ต่างกัน อย่างคุณหลวงมีเซนส์ในการสัมผัสวิญญานได้ ซึ่งคนอื่นไม่มี คุณหลวงคิดว่า ถ้าคุณหลวงเผยแพร่เรื่องนี้ออกไป จะมีสักกี่คนที่ยอมรับ ว่ามันเป็นจริง นั่นแหละครับ

ผมจะยกตัวอย่างความเป็นปัจเจกพุทธเจ้าให้ฟัง ว่ามันขัดแย้งกับสิ่งที่ท่านทั้งหลายได้รู้มาอย่างไร ท่านฟังให้ดีนะครับ ผมไม่ได้บอกให้ท่านเชื่อ แต่อยากให้เปิดใจรับฟัง

เราต่างก็ทราบมาว่า ชีวิตมนุษย์เกิดมา ย่อมเกิดมาตามกรรม อยู่ตามกรรม และดับไปตามกรรม เราใช้กรรมเป็นเครื่องอาศัยจิตของเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรามักจะคิดเรื่องกรรมขนานไปด้วยกันเสมอ

หากมีใครสักคนหนึ่ง มาบอกว่า เรื่องของกรรมนั้น เป็นเรื่องที่มนุษย์คิดขึ้นมาเอง กรรมเป็นแค่ความคิดที่มาเติมเต็มที่ว่างในจิตของมนุษย์ ไม่ได้มีอยู่จริง คน ๆ นั้นคงถูกสังคมประนามอย่างหนัก และคงถูกหัวเราะเยาะเป็นแน่แท้

กรรมในความหมายของใครบางคนที่ว่านี้ อาจมีความหมายในแง่ของ "การกระทำ" มากกว่า "ชาติก่อน ชาติหน้า" คนทั่วไปมักตีความหมายของการกระทำในแง่ของ ผลจากชาติที่แล้ว หรือ การได้รับผลในชาติหน้า แต่ "กรรม"ที่หมายถึงการกระทำนั้น หมายถึง คนเราประพฤติตัวเช่นไร ย่อมได้ผลกับชีวิตเช่นนั้น เช่น นาย ก ขยันเรียน อ่าน เขียน ทบทวนตำรา ฟังครูสอนอย่างตั้งใจ นาย ก จึงสอบได้คะแนนดี / นาย ข ขยันทำงาน ดูแลเอาใจใส่งานเป็นอย่างดี สิ้นปีนาย ข ได้เลื่อนตำแหน่ง และได้โบนัสอย่างงาม

นี่คือตัวอย่างกรรมและผลกรรมอย่างหนึ่ง

เรามาดู กรรมอีกอย่างหนึ่ง

นาย ค ยิงนาย ง ตาย นาย ค จึงมาเกิดอีกครั้งและถูก นาย ง ยิงตาย

นี่คือกรรมแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

ถามว่า นาย ง (ซึ่งเคยถูกยิงตาย) ยิงนาย ค ตำรวจควรไปจับนาย ง ติดคุกหรือไม่ ถ้าตอบแบบความเข้าใจทั่วไปคือ ใช่ ตำรวจต้องจับนาย ง เพราะนาย ง ทำผิดกฎหมาย แต่ในกฎแห่งกรรม นาย ง ทำถูกต้องแล้ว เพราะนาย ค เคยยิงตน นาย ค จึงต้องได้รับผลกรรม
ถ้าอย่างนั้น ทำไม นาย ง ถึงต้องติดคุกล่ะ ในเมื่อการสนองกรรมนาย ค เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
และนาย ง เป็นคนเลวในสายตาคนอื่นใช่หรือไม่ คนด่า ประณาม รุมทำร้าย ประชาทัณฑ์ ถ่มน้ำลายใส่นาย ง เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ใครจะรู้ล่ะ หรือเวลาที่เราเห็นใครฆ่าใครตาย เราจะรู้หรือว่า เขาทำกรรมใหม่ หรือ ทำเพราะกฎแห่งกรรม  ถ้าเขาทำกรรมใหม่ กรรมใหม่มันจะมีได้ยังงัย ถ้าไม่ใช่ผลจากการผลักดันให้เกิดขึ้นจากกฏแห่งกรรม ฟังดูขัดแย้งกันมั้ย

คิดว่าคุณหลวงคงมีคำตอบดี ๆ สั้น ๆ ง่าย ๆ ได้ใจความสำหรับเรื่องนี้
พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านไม่อยากอธิบายเรื่องแบบนี้ให้ใครฟังหรอกครับ เพราะอะไร เพราะจิตของคน ยากต่อการปลดปล่อย คนมักยึดติดกับศาสนา คำสอน ยึดติดกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านมีทางเดิน(สู่ความรู้แจ้ง)เป็นของท่านเอง คนบางคนก็มีทางเดินสู่ความหลุดพ้นของตนเองเช่นกัน โดนหาทางเอาเอง ศึกษาเอาเองโดยการเปิดใจ  ยอมรับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่ามันจะขัดแย้งกับสังคมเท่าไร แต่ชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น คงคุยกันอย่างเปิดเผยไม่ได้ว่า ตนเองเป็นใคร เพราะไม่อยากยุ่งยากและอยากปล่อยวางมากว่า

ขอเสริมอีกหน่อยว่า จิตของคนส่วนใหญ่ มักมีความคิดในเรื่องของความสมดุลเสมอ ไม่ได้หมายถึงคนเรามักมีความยุติธรรมนะ คือคนเรามีความคิดหนึ่ง ที่เรียกว่า "แนวคิดต่างตอบแทน" หมายความว่า เรามักจะมองว่าสิ่งต่าง ๆ มันจะตอบแทนตัวมันเองเสมอ ด้วยเหตุปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่าง เช่น เวลาเราเห็นใครค้ายาเสพติด เรามักคิดว่า ไอ้นี่มันต้องติดคุกสักวัน ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริง แต่ ไม่เสมอไป คนค้ายา บางทีก็ไม่ติดคุก ถ้าเราไปถามคนทั่วไปว่า ทำไมคน ๆ นั้นค้ายาแล้วไม่ติดคุก คนที่เราถามมักตอบว่า มันต้องได้รับผลกรรมที่ทำ ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า
ทำไมต้อง "ชาติหน้า" เพราะจิตของคนเรามักเติมเต็มกับสิ่งที่เรามองเสมอ การยกผลกรรมไปไว้ชาติหน้า ทำให้เราสบายใจ ว่าคนทำชั่วต้องได้รับผลตอบแทนแน่ ๆ นี่คือแนวคิดต่างตอบแทน ถ้าเราเห็นคนทำดี เราก็คิดว่า คน ๆ นี้ต้องได้รับความดีตอบแทนไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า แต่ในโลกนี้มีใครรู้บ้างว่า คน ๆ นั้นได้รับผลกรรมจริง มีหน่วยงานไหนเคยติดตามคนเหล่านี้ไปบ้างแล้วกลับมารายงาน

ถ้าเราเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ล่ะ เราเห็นคนค้ายา เราแจ้งตำรวจ ถ้าเรากลัวว่าตำรวจจะเป็นคนไม่ดี เปิดเผยชื่อเรา เราก็แจ้งไปที่ 1111.go.th (สำนักนายกรัฐมนตรี) เราช่วยกันเป็นหูเป็นตา ดูแลสั่งสอนลูกหลานไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เราเข้าร่วมอาสาสมัครดูแลหมู่บ้าน เราจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่เยาวชนให้ตระหนักถึงอันตรายจากยาเสพติด อย่างนี้จะดีกว่าไหม

ผมขอจบการตอบกระทู้แค่ rep นี้ จะ


ปัจเจกพุทธ

ขอแถมอีกนิด พระไตรปิฏก เป็นแค่ "หนังสือ" เท่านั้นครับ ข้างในมีเรื่องจริงบ้่าง นิทานบ้าง เอามาคิดเป็นจริงเป็นจังไม่ได้หรอกครับ

ปัจเจกพุทธ

ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่ได้ด้วยความพอดี พุทธศาสนาก็เช่นกัน ถ้าพระพุทธเจ้าเอาแต่แก่นมานำเสนอ คนที่เป็นบัวเหล่าที่ 3 - 4 ก็จะไม่เข้าใจ พากันเมินเสีย ถ้าเอาแต่เปลือกมาเผยแผ่ บัวเหล่าที่ 1 -2 ก็จะมองว่าเป็นศาสนาที่งมงาย และพากันเลิกนับถือเสีย

พระพุทธเจ้าท่านตั้งใจว่า มีคนฉลาดอีกหลายคนที่สามารถเข้าใจธรรมของท่านได้ แต่ปัญหาคือ ท่านเลือกสอนแต่คนฉลาดไม่ได้ เมื่อคนไม่ฉลาดมาเรียน ท่านก็ต้องสอน แต่ทีนี้จะสอนเหมือนกันหมดไม่ได้

บางคนถามพระพุทธเจ้าว่า คนเราตายแล้วไปไหน ถ้าเป็นคนฉลาดท่านตอบว่า เมื่อมีกิเลส คนย่อมเกิดมาอีก เมื่อคนไม่ฉลาดมาถาม พระพุทธเจ้าตอบว่า ตายแล้วก็เกิดมาอีก แล้วแต่กรรมว่าจะพาไปไหน

ท่านไม่ได้โกหกครับ แต่จะสอนคนเหมือนมันหมดไม่ได้ บางอย่างท่านรู้แต่บอกไม่ได้ แต่ท่านก็มีใบ้ให้บางอย่าง เช่น
หัวใจของพระพุทธศาสนามี 3 ข้อ
1. ทำความดีให้ถึงพร้อม
2.งดเว้นความชั่วด้วยประการทั้งปวง
3. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

ถามว่า ทำความดี ละเว้นความชั่วแล้ว ก็สมบูรณ์แล้วนี่นา ทำไมต้องทำใจให้บริสุทธิอีก หมายความว่ายังงัย หมายความว่า เราทำความดีทุกครั้งที่มีโอกาส แต่อย่าไปยึดติดมัน บางครั้งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำความชั่ว ก็อย่าไปคิดมาก คนเราเกิดมาบางครั้งหลีกเลี่ยงการทำบาปไม่ได้

กิมหยง

ผู้ที่รู้กลไกของธรรมชาติอย่างถ่องแท้ มักเลือกที่จะอยู่นอกกฎของธรรมชาติ

ณ กาลปัจจุบัน สภาวะท่าน "มี" เหมือน "ไม่มี"

ภพสุดท้ายที่ก้าวสู่สภาวะนั้นได้คือ "มนุษย์" อย่างเรา ๆ ท่านใช่มั๊ย ?
สร้าง & ฟื้นฟู

Mr.No

อ้างจาก: กิมหยง เมื่อ 20:37 น.  07 ก.ย 54
ผู้ที่รู้กลไกของธรรมชาติอย่างถ่องแท้ มักเลือกที่จะอยู่นอกกฎของธรรมชาติ

ณ กาลปัจจุบัน สภาวะท่าน "มี" เหมือน "ไม่มี"

ภพสุดท้ายที่ก้าวสู่สภาวะนั้นได้คือ "มนุษย์" อย่างเรา ๆ ท่านใช่มั๊ย ?


สาธุ ๆ  .... งง  ส.หัว ส.หัว 

คุณกิมหยง ทำท่าจะเป็น "เซน" เข้าไปทุกที   รุ้จักคำว่ามั้ย "เซน"  อ๊ะ อะ...ไม่ใช่หมายถึงเซ็นยาดองอาแปะหน้าปากซอยนะ ส-เหอเหอ ส-เหอเหอ
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

เด็กซอย5

เก่งทั้งคู่ครับ ไม่เสียเวลานั่งอ่าน  คนไทยอีกหลายๆคน ถ้าใส่ใจศึกษาในพระธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ประเทศไทยเราแสนจะน่าอยู่มากๆ  แค่ภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ แล้วยังมีศาสนาพุทธ อีก

หวังว่าโอกาสหน้าคงได้อ่านแง่คิดดีๆจากท่านคุณหลวงและท่านปัจเจกพุทธ นะครับ

ปัจเจกพุทธ

ยินดีไม่มีปัญหา ขอบคุณคุณหลวงด้วยครับ (จะเรียกคุณคุณหลวงหรือคุณหลวงดี)

กิมหยง

ไม่รู้จัก เซน หรอกครับท่าน

แต่ภาพชาตินี้ เราได้มากึ่งกลางของพุทธกาลของพระพุทธเจ้าองค์นี้ครับ
ไม่รู้ว่าภพชาติต่อไป จะเป็นอย่างไร
ไม่รู้จะมีโอกาสได้ นั่งอ่าน ได้ร่วมสนทนาธรรมกับผู้รู้เหล่านี้อีกหรือไม่

รู้แต่ว่าแหล่งความรู้ในโลกนี้หาได้ไม่สิ้นสุด มีทั่วทุกหนทุกแห่ง
แต่ความรู้ที่แท้จริงนั้น กลับค้นหาได้จากจิตที่นิ่งในตัวเรา
สร้าง & ฟื้นฟู

Mr.No

จริง ๆ ผมก็ไม่ได้สาระอะไรเกี่ยวกับแก่นของพุทธศาสนานักหรอกครับ แต่ชอบอ่านในหมวดกระดานลานบุญ เพราะอย่างน้อยถ้าไม่ถึงขนาดบัวใต้โคลนเกินไปก็คงได้อะไรดี ๆ เก็บไว้ภพหน้า ภพไหนบ้างกับเขา

ผมอ่านในหลายกระทู้ พบว่าสองท่าน ทั้ง คุณหลวง และคุณปัจเจกพุทธ และมีคุณกิมซ๊กเอง อีกคน (ถ้าจำไม่ผิด) ผมว่าสองสามท่านมีทั้งประเด็นรุก ประเด็นรับ แบ่งปันสาระธรรมะกันค่อนข้างน่าสนใจแทบทั้งสิ้น

แต่ผมมีมุมมองแบบที่ไม่ได้ศึกษาพุทธะในแง่ที่ลึกแบบสองท่านมากนัก .. ก็ต้องขอออกตัว แต่อ่านแล้วตั้งข้อสังเกตการณ์ตั้งการตอบกระทู้ของ สองท่าน คือ ท่านคุณหลวง กับ ท่านปัจเจกพุทธ ว่าแตกต่างกันอย่างไร.

สองท่านมีมุมมองในการเข้าถึงธรรมะของพุทธองค์ที่ไปในทางเดียวกัน แต่ ต่างระดับกันนิด.. ซึ่งผมอ่านแล้วก็เห็นว่าน่าจะถูกและสอดคล้องทั้งคู่

ท่านคุณหลวง ผมชอบตรงที่ยกเอาสาระที่ปรากฏตามพระไตรปิฏกมาใช้ ซึ่งผมคิดว่าดีและเหมาะสมสำหรับ การเรียนรู้และการศึกษาในสาระสำคัญแห่งธรรมที่พุทธองค์ทรงสอน ทรงวางรากฐานไว้..และเหมาะแล้วสำหรับคนไทยทุกวันนี้ที่ี่ยังสันสบในพุทธศาสนาที่ถูกต้องอีกมากนัก

คุณปัจเจกพุทธ มีมุมมองและการให้ความคิดเห็นในประเด็นของการก้าวข้ามไปอีกระดับแล้ว...ซึ่งถามว่าถูกมั้ย ก็ไม่ผิด แต่มันอาจเข้าใจยาก เพราะทุกคำ ทุกประโยค ถ้าอ่านแล้วดูเหมือนจะขัดแย้งกับสาระที่ปรากฏในพระไตรปิฎกหรือบางครั้งก็อ่านแล้วราวกับว่าไม่ค่อยให้ความสนใจกับพระไตรปิฏก และอาจไปขัดกับสาระที่คุณหลวงยกมา  แต่ผมก็ยังมองว่ายังอยู่ในแนงทางพุทธะที่ถูกต้องแท้จริง  เพราะทั้งคู่ ถือกฎไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ ข้อสุดท้ายคือ  อนัตตา คือแท้จริงสรรพสิ่งล้วนไมมีอะไรจีรัง (แม้แต่ธรรมะของพุทธองค์)

แต่สำหรับการเดินทางของความเข้าใจในพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้น ผมคิดว่าถ้าเราไม่มีหลักปฎิบัติหรือแก่นยึดเหนี่ยวอย่างสาระธรรมที่ปรากฏผ่านพระไตรปิฎกเพื่อทางไปสู่สิ่งที่ยากกว่า ที่คุณปัจเจกพุทธพูดถึง เช่นคำว่า "อเสขะ" นั้นคงเป็นไปได้ยาก

และที่ขาดไม่ได้อีกท่าน  ผมคิดว่า คุณกิมหยง ก็เปิดกระทู้ที่ดี ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึง สภาพความจริงของชาวพุทธส่วนใหญ่ที่อาจยังรู้ ไม่เข้าใจในการเข้าถึงพุทธศาสนาของเราเองอีกมากมาย  ผ่านกระทู้เช่น  พระพุทธเจ้าท่านสวดมนต์ด้วยภาษาใด ฯลฯ

เหล่านี้ เป็นนิมิตหมายทีดีที่ผมคิดว่า ถ้าหน้ากระดานแห่งนี้ จะทำให้มีผุ้รู้ ผุ้เข้าในในศาสนา ทั้ง ธรรมบัญญัติ เช่นผุ้รู้ด้านพระไตรปิฎก หรือ ศาสนบัญญัติที่เกี่ยวกับความรุ้ด้านอื่น ๆ ที่ศาสนาได้บัญญัติไว้เป็นแนว ทั้งประเพณี หรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านศาสนาที่ถูกต้องมากขึั้น ยิ่งมาก ยิ่งดี


ผมเคยคิดเมื่อตอนที่ผมยังหนุ่ม ๆ  (ตอนนี้ก็คิดว่ายังไม่แก่นะ) ว่า  ทุกสิ่งที่บัญญัติในพระไตรปิฎกที่เราอ่านกันอยู่วันนี้ ล้วนเป็นพุทธพจน์,พุทธดำรัส ที่มาจากต้นฉบับอย่างแท้จริงหรือไม่ คำตอบก็คือ ส่วนใหญ่ใช่ และมีอีกไม่น้อยที่อาจเกิดจากการบัญญัติขึ้นอย่างผิดเพี้ยนหรือที่เรียกว่า ไตรปิฎกเลียนแบบ ซึ่งพระท่านเรียกว่า พวก สัทธรรมปฎิรูป (ผิดถูกขออภัย) ดังนั้นในหลาย ๆ อย่างที่ปรากฏเช่นใน อรรถกถาชาดก ก็คงมีปรุงแต่งบ้าง  เป็นเรื่องธรรมดา
จึงไม่แปลกที่ พระไตรปิฏกเองก็ต้องมีการชำระ มีการสังคายนา กันตามวาระ ตามโอกาส......
แต่สำหรับผม.....ผมมีหลักคิดที่แน่นอนในพุทธศาสนาที่ไม่ลึกซึ้งหรือซับซ้อน นั่นคือระลึกถึงกฎไตรลักษณ์ว่า ชีวิตนี้มีแค่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไว้เป็นเครื่องเตือนใจ และการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของการปฎิบัติตนตามหลักสำคัญ คือ ศีล สมาธิ และ ปัญญา ก็น่าจะเพียงพอ เพราะง่าย และครอบคลุมทั้งหมดแห่งสาระพุทธธรรม(ที่มีถึง 84000 ธรรมขันธ์)

แม้นวันนี้ ศีล 5 ก็ยังอาราธนารับได้ไม่เต็ม (พระท่านให้ เบญจศีลผมเลือกรับ จตุศีล ยกข้อสุดท้ายไว้นิดเพราะกิเลสยังติดในเบียร์เย็นเจี๊ยบ ..อิอิ ส.หัว ส.หัว) ส่วนสมาธินั้น วิปัสสนากรรมฐานยังไม่หวังถึง...แค่สมถะกรรมฐาน ก็หาวแล้วหาวอีก....ดังนั้นปัญญาเพื่อเตรียมนำตนไปสู่ นิพานะปัจจโยโหตุ คงอีกไกล....
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

ปัจเจกพุทธ

เมื่อจะทำอะไร ให้ยึดถือความพอดีเป็นที่ตั้ง (มัชชิมาปฎิปทา) เมื่อกินเหล้า ให้นึกถึงการใช้จ่าย(ซื้อเหล้า)แต่พอดี สนุกกันแต่พอดี ใช้วาจาแต่พอดี(อันนี้สำคัญ) ใช้เวลาแต่พอดี เมื่อความพอดีเกิดขึ้น สิ่งร้าย ๆ ก็ไม่เกิดขึ้น ความพอดีก็คือความไม่ประมาทนั่นเอง

ปัจเจกพุทธ

การวิปัสสนา ผมไม่ได้คัดค้าน ถ้ามีเวลา มีโอกาส ก็ทำได้ แต่ผมยึดแนวทางของท่านพุทธทาส คือ มีสมาธิในงาน การทำงานทำหน้าที่ของเราคือการปฏิบัติธรรมที่ดี "สุขแท้ มีแต่ ในงาน" ท่านว่าอย่างนั้น

คุณหลวง

พุทธศาสนาวันนี้ มันมีเปลือกมาก เพราะคนรุ่นหลังห่อหุ้มเข้าไป ด้วยความไม่ศึกษาให้รู้ แล้วสอน บอกต่อ เชื่อกันมาตามตรรกะตน แล้วอ้างเป็นพระพุทธศาสนาไปเสีย น่าเสียดาย เพราะเขาไม่รู้รสธรรมและพาคนอื่นให้ไม่รู้ต่อไปด้วย

     ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือครับ อ่านมันไปเรื่อย ผมจึงยกหนังสือเป็นประตูสู่ความรู้มหาศาลที่ผมไม่มีวันรู้จบสิ้น พระไตรปิฎกเองก็เป็นหนังสือที่ผมเคยอ่าน อ่านไม่หมดครับ คัดอ่านมาๆโดยมีแรงผลักดันจากการเห็นความเหลวแหลกของสงฆ์ในปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามต่อตัวเองว่า "พระพุทธเจ้าสอนอะไร และอนุญาตให้มีการบวชทำไม"

     แน่นอนครับ พระไตรปิฎกเป็นหนังสือที่มีมานานกว่า ๒๐๐๐ ปี มันย่ิอมมีความคิดเห็นของผู้เขียนเติมลงไปเป็นเปลือกหุ้มหนาขึ้นมา แต่สาระมันมีอยู่ และการอ่านก็ไม่ใช่ว่าจะต้องจับเอาทั้งหมด อ่านไปเรื่อยๆไม่ต้องใส่ใจมาก จนเมื่อเราพบประเด็นที่โดน ตรงใจ ซาบซึ้งใจกับมัน เราก็ขยายมันจากตรงนั้น ดังนั้น ผมไม่ไม่ได้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎก ผมแค่จับสาระของพระไตรปิฎกแท้ๆ(ผมว่านะ)ได้เท่านั้น ส่วนเปลือกน่ะรึ ผมโยนทิ้งไปแล้วครับ

     ดังนั้น อย่าเพิ่งใช้คำว่า....เป็นแค่หนังสือ......แต่ควรคิดว่า สาระมันต้องมี ถ้าคนรุ่นก่อนเห็นข้าวแล้วว่า...แค่พืชเปลือกแข็ง....แล้วไม่สนใจ วันนี้ เราจะกินอะไรเป็นอาหารหลักครับ ผมเองไม่ได้สาระจากพระไตรปิฎกมากไปกว่าชินจังครับ แต่สาระที่ได้จากชินจังมีพื้นฐานจากพระไตรปิฎกและหนังสือธรรมะ

๑.เราต่างก็ทราบมาว่า ชีวิตมนุษย์เกิดมา ย่อมเกิดมาตามกรรม อยู่ตามกรรม และดับไปตามกรรม เราใช้กรรมเป็นเครื่องอาศัยจิตของเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรามักจะคิดเรื่องกรรมขนานไปด้วยกันเสมอ............ตอบว่า..........ที่เราทราบอย่างนั้น เพราะว่าเราไม่ไ้ด้รู้จักกรรมตามความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าไงครับ พระพุทธเจ้าบอกว่าเรามีกรรม ต้องได้รับผลกรรม แต่ไม่ใช่อยู่ไปตามกรรม เพราะเราสามารถกำหนดกรรมของเราได้ แม้แรงเร้าของกรรมเก่ามันมีอยู่ก็ตาม

        กรรมที่พระพุทธเจ้าสอน และพูดได้ว่าเป็นคำสอนแท้จริงนั้นคือ กรรมเหนือกรรมครับ กรรมเหนือกรรม คือกรรมที่ไม่ได้ทำไปเพราะแรงเร้าของอารมณ์ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้จิตตกเป็นทาสอารมณ์ เป็นจิตอิสระ มีเหตุผล และจิตที่ไม่เป็นทาสอารมณ์ย่อมสามารถพัฒนาเป็นอภิจิตได้ แต่เมื่อการสอน การเรียน การฟังต่อๆกันมาเป็นกรรมรูปแบบพราหมณ์อย่างนั้นแล้ว และเชื่ออย่างนั้นจะโทษใครล่ะครับ หรือควรโทษเราที่ไม่พยายามหาสาระที่แท้จริง

๒.เรามาดู กรรมอีกอย่างหนึ่ง

นาย ค ยิงนาย ง ตาย นาย ค จึงมาเกิดอีกครั้งและถูก นาย ง ยิงตาย

นี่คือกรรมแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

ถาม ว่า นาย ง (ซึ่งเคยถูกยิงตาย) ยิงนาย ค ตำรวจควรไปจับนาย ง ติดคุกหรือไม่ ถ้าตอบแบบความเข้าใจทั่วไปคือ ใช่ ตำรวจต้องจับนาย ง เพราะนาย ง ทำผิดกฎหมาย แต่ในกฎแห่งกรรม นาย ง ทำถูกต้องแล้ว เพราะนาย ค เคยยิงตน นาย ค จึงต้องได้รับผลกรรม
ถ้าอย่างนั้น ทำไม นาย ง ถึงต้องติดคุกล่ะ ในเมื่อการสนองกรรมนาย ค เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
และ นาย ง เป็นคนเลวในสายตาคนอื่นใช่หรือไม่ คนด่า ประณาม รุมทำร้าย ประชาทัณฑ์ ถ่มน้ำลายใส่นาย ง เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ใครจะรู้ล่ะ หรือเวลาที่เราเห็นใครฆ่าใครตาย เราจะรู้หรือว่า เขาทำกรรมใหม่ หรือ ทำเพราะกฎแห่งกรรม  ถ้าเขาทำกรรมใหม่ กรรมใหม่มันจะมีได้ยังงัย ถ้าไม่ใช่ผลจากการผลักดันให้เกิดขึ้นจากกฏแห่งกรรม ฟังดูขัดแย้งกันมั้ย ..................ตอบ..................ต้องแยกแยะระหว่างกฏธรรมชาติ กับ กฏที่มนุษย์สร้างขึ้น นะครับ นาย ง ติดคุกเพราะกฏที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ใช่กฏธรรมชาติ

       การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของมนุษย์ มันทำให้มีปัญหาตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์จึงสร้างกฏขึ้นมาควบคุมกันเองจากข้อตกลงของตน (โดยมากมาจากผู้ปกครอง)นาย ง ต้องติดคุกเพราะทำผิดกฏแห่งสังคมที่ตนอาศัยอยู่ แต่หากเขาอาศัยในสังคมอื่นที่นิยมการฆ่า เขาจะได้รับการยกย่อง ยำเกรง สรรเสริญไปตามค่านิยมของสังคมนั้นๆครับ

       ส่วนคนที่ด่า ประนาม ถ่มน้ำลายใส่นาย ง ถูกต้องหรือไม่ ก็ถูกต้องตามความสะใจของเขาครับ แต่หากวัดด้วยความมุ่งหมายสู่ความวิสุทธิแห่งจิต ผิดครับ เพราะเขาได้รับเอาราคีแห่งความโกรธเกลียดมาเป็นเจ้านายใจ และเป็นนิสัย เป็นอนุสัยของเขาต่อไป

       การกระทำนั้นๆจะเป็นกรรมเก่าหรือใหม่ ไม่สำคัญครับ เพราะเกิดมาอยู่ร่วมสังคมคุณต้องรู้จักสังคมของคุณ รู้จักและเคารพในกฏแห่งสังคมของคุณ การยกอะไรๆให้เป็นเรื่องของกรรมเก่าทั้งสิ้นนั้น พระพุทธเจ้ามิได้สรรเสริญครับ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่งที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลก

       พระพุทธเจ้าสอนให้เรามีสติ เพื่อที่เวลาแรงเร้าในใจเกิดขึ้นเราจะรู้ทัน และไม่ทำตามแรงเร้านั้นโดยส่วนเดียว แทนที่จะให้แรงเร้าเป็นนายใจ สติจะทำให้ใจเป็นนายของแรงเร้านั้นๆ และเป็นอิสระในที่สุด กลายเป็นกรรมเหนือกรรม ซึ่งเป็นสิ่งมุ่งหมายสูงสุดในเรื่องกรรมของพระุพุทธองค์ครับ

๓.พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านไม่อยากอธิบายเรื่องแบบนี้ให้ใครฟังหรอกครับ เพราะอะไร เพราะจิตของคน ยากต่อการปลดปล่อย.............ตอบ................ นี่แหละครับ คือความแตกต่างระหว่างพระปัจเจกฯกับพระพุทธเจ้า กำลังพระทัยต่างกันขนาดไหน พระปัจเจกฯเห็นว่ายากก็เลย ไม่ทำ แต่พระพุทธเจ้านั้น แม้จะท้อพระทัยในตอนแรก แต่อาศัยกำลังใจที่กล้าแข็ง มันยาก แต่ต้องมีคนรู้ได้บ้างสิน่า แล้วพระองค์ก็ทำ แล้วผลก็อย่างที่เราเห็นกันในวันนี้

       คนที่เห็นประโยชน์ผู้อื่นก่อนตน จะยาก จะตาย สุดท้ายแม้จะตายโดยไม่ได้อะไร เขาก็ทำ เพราะหวังว่าจะมีคนเห็นความสำคัญ และลงมือทำให้มันดีขึ้น น้ำพระทัยนี่เองครับที่ทำให้ผมต้องเคารพพระองค์ ส่วนเรื่องพรหที่ลงมาอาราธนานั้น ผมไม่เชื่อครับ จนกว่าพรหมองค์นั้นจะลงมาบอกกับผมเอง และที่สำคัญ คนที่ทุ่มเทชีวิตมาขนาดพระพุทธเจ้า คงไม่ต้องให้ใครมาบอกมาขอกับเรื่องเท่านี้ดอกครับ

๔.คนมักยึดติดกับศาสนา คำสอน ยึดติดกับพระพุทธเจ้า...........ตอบ.........นี่ก็เป็นภูเขาแห่งการเข้าถึงพุทธธรรมอย่างหนึ่งครับ (วาทะมหาคุรุพุทธทาส)

๕.ทำไมต้อง "ชาติหน้า" เพราะจิตของคนเรามักเติมเต็มกับสิ่งที่เรามองเสมอ การยกผลกรรมไปไว้ชาติหน้า ทำให้เราสบายใจ ว่าคนทำชั่วต้องได้รับผลตอบแทนแน่ ๆ นี่คือแนวคิดต่างตอบแทน ถ้าเราเห็นคนทำดี เราก็คิดว่า คน ๆ นี้ต้องได้รับความดีตอบแทนไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า แต่ในโลกนี้มีใครรู้บ้างว่า คน ๆ นั้นได้รับผลกรรมจริง มีหน่วยงานไหนเคยติดตามคนเหล่านี้ไปบ้างแล้วกลับมารายงาน............ตอบ.............นี่เป็นตัวอย่างแนวคิดเรื่องกรรมที่ไม่กระจ่างในกรรมในพุทธประสงค์ครับ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้ยกเป็นกรรมแล้ว ช่างมัน แต่ต้องช่วยกันทำให้สังคมน่าอยู่

      พระองค์ไม่บอกว่า ทำเพื่อสบายชาติหน้า ปล่อยเขาเพราะกรรมสนองชาติหน้า แต่บอกว่าทำให้เกิดเหตุปัจจัยหนุนให้คนทำดี มีความสุขในชาตินี้ สังคมนี้ เสียสละเพื่อความสุขของคนในปัจจุบันที่เราอยู่นี่แหละ อย่ารีรอ อย่ากลัว แต่เพราะไม่เสียสละเราเลยยกไว้ และหาเหตุผลเพื่อให้พ้นความรู้สึกผิดตามจิตที่มีความถือตัวเป็นเจ้าเรือน

๖.ถ้าเราเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ล่ะ เราเห็นคนค้ายา เราแจ้งตำรวจ ถ้าเรากลัวว่าตำรวจจะเป็นคนไม่ดี เปิดเผยชื่อเรา เราก็แจ้งไปที่ 1111.go.th (สำนักนายกรัฐมนตรี) เราช่วยกันเป็นหูเป็นตา ดูแลสั่งสอนลูกหลานไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เราเข้าร่วมอาสาสมัครดูแลหมู่บ้าน เราจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่เยาวชนให้ตระหนักถึงอันตรายจากยาเสพติด อย่างนี้จะดีกว่าไหม..............ตอบ..................นี่แหละครับ แนวคิดพระโพธิสัตว์

     ที่ไม่เมินเฉยต่อความทุกข์ของมนุษย์ แต่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำอะไรอย่างรอบคอบ กล้าหาญ ไม่ผลีผลาม รู้จักสังคมตน เพราะในสังคมที่ซับซ้อน คนที่เราว่าดี พึ่งได้เป็นนายโจรก็มากครับ

หมายเหตุ...........แม้น วันนี้ ศีล 5 ก็ยังอาราธนารับได้ไม่เต็ม (พระท่านให้ เบญจศีลผมเลือกรับ จตุศีล ยกข้อสุดท้ายไว้นิดเพราะกิเลสยังติดในเบียร์เย็นเจี๊ยบ ..อิอิ ส.หัว ส.หัว) ส่วนสมาธินั้น วิปัสสนากรรมฐานยังไม่หวังถึง...แค่สมถะกรรมฐาน ก็หาวแล้วหาวอีก....ดังนั้นปัญญาเพื่อเตรียมนำตนไปสู่ นิพานะปัจจโยโหตุ คงอีกไกล....ของท่านMr.No นั้น ไม่เสียหลายครับ กระผมเองก็เป็นดังนั้น   ส.ตากุลิบกุลิบ มีโอกาสเลี้ยงผมมั่งก็ดีนะครับ

สุดท้าย  "สุขแท้ มีแต่ ในงาน"  นั้นดีครับ มันเป็นวิปัสสนาจากชีวิตประจำวัน อยากให้ช่วยอรรถาเรื่องนี้ให้เป็นธรรมทานด้วยครับ ขอบคุณครับ
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ปัจเจกพุทธ

ขอบคุณที่ช่วยอรรถาธิบายครับ

ขอให้เผยแผ่ธรรมมะต่อไปให้คนรุ่นหลัง ได้ทราบถึงแนวทางแห่งพุทธศาสนา เป็นการทำความดีที่ยิ่งใหญ่ครับ

ปัจเจกพุทธ

พระไตรปิฏกเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง หมายความว่า เป็นหนังสือ ไม่ได้บอกว่า เป็นหนังสือไร้สาระ คือหนังสือมันก็เป็นคำกว้าง ๆ มีทั้งหนังสือดีมีสาระ และหนังสือไม่มีสาระ