ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

แจ้งกติกาพร้อมระเบิดศึกสงขลาลีก 58 เพิ่มเงินรางวัลล่อใจรวมกว่า 20 ล้านบาท

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 15:42 น. 10 พ.ย 57

หาดใหญ่ใหม่

อบจ.สงขลา พร้อมระเบิดศึกฟุตบอลสงขลาลีก 2558 พร้อมชี้แจงกติกาละเอียดยิบ พร้อมเพิ่มเงินรางวัลล่อใจรวมมากกว่า 20 ล้านบาท เตรียมรับสมัครทีมแข่งขัน 10-17 พ.ย.พร้อมระเบิดศึกทันทีในเดือนมกราคม 2558 

[attach=1]

ระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยการแข่งขันฟุตบอลประชาชน "สงขลาลีก" จังหวัดสงขลา songkhla league 2015

กีฬาฟุตบอล เป็นกีฬามหาชนที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากบุคคลทั่วไปทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ดั่งในการแข่งขันฟุตบอลรายการสำคัญของโลกโดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอลโลก  (FIFA WORID CUP) หรือลีกต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 - 2559) ที่ได้มุ่งเน้นโดยยึด "คน" เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์มุ่งสู่สังคมที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ มีชีวิตที่ดี มีระเบียบวินัยและมีสุขภาพดี โดยเชื่อมั่นว่าหากบุคคลในชาติมีประสิทธิภาพแล้ว การพัฒนาด้านอื่นก็จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแท้จริง

กิจกรรมกีฬาเป็นสื่อสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรเป็นไปตามแผนพัฒนาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ มุ่งเน้นในการใช้กีฬาพัฒนาคน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติต่อไป ประกอบกับแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2555 - 2559) ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากีฬาเพื่อการอาชีพ

เพื่อให้การดำเนินการจัดการแข่งขันฟุตบอลประชาชน"สงขลาลีก" จังหวัดสงขลา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จังหวัดสงขลา โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสงขลา รวมถึงอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการกีฬาในทุกระดับ ได้ร่วมกันกำหนดระเบียบและข้อบังคับไปสู่การพัฒนาการกีฬาเพื่อการอาชีพในการแข่งขันฟุตบอลประชาชน "สงขลาลีก" จังหวัดสงขลา ไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ชื่อการแข่งขัน : การแข่งขันฟุตบอลประชาชน "สงขลาลีก" จังหวัดสงขลา songkhla league 2015

ข้อ 2. คำนิยามที่จะใช้ในระเบียบ
2.1 อำเภอ หมายถึงอำเภอในจังหวัดสงขลา 16 อำเภอ
2.2 "คณะกรรมการ" หมายถึงคณะกรรมการการแข่งขันฟุตบอลประชาชน "สงขลาลีก" ทุกระดับ
2.3 "ประธานทีมอำเภอ" หมายถึงนายอำเภอโดยตำแหน่ง
2.4 ผู้จัดการทีม หมายถึงผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมจากประธานทีมอำเภอนั้น ๆ
2.5 หัวหน้าผู้ฝึกสอน หมายถึงผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนจากประธานทีมอำเภอนั้นๆ
2.6 "เลขานุการทีม"หมายถึงผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการทีมจากประธานทีมอำเภอนั้น ๆ
2.7 "ผู้ควบคุมการแข่งขัน" หมายถึง ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลประชาชน "สงขลาลีก" จังหวัดสงขลา songkhla league 2015
2.8 "ผู้ตัดสิน" หมายถึง ผู้ตัดสินที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลประชาชน " สงขลาลีก" จังหวัดสงขลา songkhla league 2015 แต่งตั้งและมอบหมาย

ข้อ 3. กฎ กติกา ระเบียบและข้อบังคับทางเทคนิค (TECHNICAL REGULATION)
3.1 กติกาการแข่งขัน ใช้กติกาการแข่งขันฟุตบอลของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA)
ซึ่งสมาคมฯ ได้ประกาศใช้แล้ว
3.2 ให้คณะกรรมการผู้ตัดสิน ที่ฝ่ายจัดการแข่งขันโดยประธานผู้ตัดสินเป็นผู้จัด หรือที่ได้รับมอบหมายไปทำหน้าที่ตัดสินตามวัน เวลาและสนามแข่งขันที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกำหนด โดยถึงสนาม แข่งขันก่อนเวลาแข่งขันจะเริ่มไม่น้อยกว่า 120 นาที
3.3 ผู้ตัดสินต้องทำบันทึกรายงานการแข่งขันของแต่ละคู่ที่ทำการตัดสินแล้วต่อผู้ควบคุมการแข่งขันที่ได้รับมอบหมายทันที หากบันทึกรายการของผู้ตัดสินมีเหตุการณ์ไม่ปกติ ให้ผู้ควบคุมการแข่งขัน ดำเนินการบันทึกนำเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา มารยาท วินัย และข้อประท้วงของคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลประชาชน "สงขลาลีก"จังหวัดสงขลา ต่อไปโดยเร็ว
3.4 อำเภอหรือทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะต้องยอมรับการตัดสินของผู้ตัดสินในการแข่งขันครั้งนี้ การตัดสินของผู้ตัดสินในระหว่างการแข่งขันถือเป็นสิ้นสุด จะอุทธรณ์มิได้
3.5 การเปลี่ยนตัวผู้เล่นอนุญาตให้เปลี่ยนตัวผู้เล่นในระหว่างการแข่งขันในแต่ละแมทช์ได้ไม่เกินทีมละ 4 คน รวมทั้งผู้รักษาประตู โดยผู้เล่นที่จะเปลี่ยนนั้นจะต้องมีชื่ออยู่ในใบรายชื่อประจำทีมแข่งขันในแต่ละแมทช์ (STARTING LIST) โดยส่งให้กับผู้ควบคุมการแข่งขันก่อนการแข่งขันจะเริ่มไม่น้อยกว่า 60 นาที และผู้เล่นที่เปลี่ยนตัวออกไปแล้ว จะกลับมาแข่งขันอีกไม่ได้
3.6 ในการแข่งขันแต่ละแมทช์ ถ้าผู้เล่นทีมหนึ่งทีมใดมีจำนวนน้อยกว่า 7 คน/แมทช์นั้น ๆ จะต้องถูกยกเลิก ให้ผู้ควบคุมการแข่งขันทำบันทึกเสนอคณะกรรมการจะพิจารณาดำเนินการในขั้นต่อไป
3.7 กำหนดการแข่งขันคณะกรรมการจัดการแข่งขัน จะเป็นผู้จัดทำโปรแกรมการแข่งขันตลอดฤดูกาลของการแข่งขันทั้งสองเลค โดยจะแจ้งให้ทุกทีมได้ทราบล่วงหน้าก่อนในระยะเวลาอันควร
3.7.1 หากมีความจำเป็น และมีเหตุผลสมควรอย่างยิ่ง คณะกรรมการอาจเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลง วัน เวลา และสนามแข่งขันหรือเปลี่ยนแปลงคู่แข่งขันได้ตามความเหมาะสม แต่จะต้องแจ้ง
ให้ทีมทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ช.ม. ก่อนเริ่มเวลาการแข่งขัน
3.7.2 ในวันเวลาที่กำหนดให้มีการแข่งขัน หากมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น ก่อนวันที่จะมีการแข่งขันและคณะกรรมการวินิจฉัยอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่าไม่ควรให้มีการแข่งขัน เช่น สภาพสนามไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้แข่งขันได้ สนามแข่งขันไม่มีความปลอดภัย ฯลฯ ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันในวันนั้น ต้องปฏิบัติตามการตัดสินใจของผู้ควบคุมการแข่งขัน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ โดยจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ มิได้
3.8 ในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย ก่อนการแข่งขันจะเริ่มหรือในระหว่างการแข่งขันก็ตาม
คณะกรรมการหรือผู้แทนคณะกรรมการซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินโดยการร่วมปรึกษากับผู้ควบคุมการแข่งขัน และคณะผู้ตัดสินอีก 4 คน เพื่อทำการพิจารณาวินิจฉัยสถานการณ์โดยรวมอย่างรอบคอบแล้ว แล้วเห็นว่าไม่ควรให้เริ่มการแข่งขันหรือไม่ควรให้มีการแข่งขันต่อไปในกรณีที่สภาพสนามไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะทำการแข่งขันได้ ทั้งในด้านความปลอดภัยต่าง ๆ อาทิ เกิดข้อขัดข้องหรือ เกิดเหตุสุดวิสัยทางธรรมชาติ เช่น พายุ ฝนตกหนัก น้ำท่วมฟ้าผ่า หรือเกิดการจลาจลในสนาม เป็นต้น ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันในวันและเวลาดังกล่าวที่กำหนดไว้จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการหรือผู้แทนคณะกรรมการโดยดุษฎีภาพและไม่สามารถจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ได้ อนึ่ง ก่อนการสรุปคำวินิจฉัย ดังกล่าวข้างต้น โดยการปรึกษากับประธานจัดการแข่งขัน คณะกรรมการหรือผู้แทนคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ผู้ตัดสินก็สามารถสั่งการให้ที่จะทำการแข่งขันทั้งหมดรอดูเหตุการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที ถ้าเหตุการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีก็สามารถให้ดำเนินการแข่งขันได้แต่ถ้าเหตุการณ์ไม่คลี่คลายหรือไม่สามารถดำเนินการจัดการแข่งขันต่อไปได้ ให้ผู้ควบคุมการแข่งขันและผู้ตัดสินประกาศยกเลิกในครั้งนั้น ให้ถือว่าเป็นการสิ้นสุดจะอุทธรณ์มิได้ ให้ผู้ควบคุมการแข่งขัน แจ้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯเพื่อกำหนดให้มีการแข่งขันใหม่ภายหลัง กรณีเลื่อนการแข่งขันด้วยเหตุสุดวิสัยจะได้รับเงินค่าทำสนามตามความจำเป็น
3.9 ระยะเวลาการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ๆละ 45 นาที โดยหยุดพักระหว่างช่วงไม่เกิน 15 นาที
3.10 ระบบการแข่งขัน
3.10.1 การแข่งขันรอบคัดเลือกในระดับอำเภอ ให้ประธานทีมอำเภอนั้น ๆ ใช้วิธีการคัดเลือกตัวนักกีฬาหรือทีม ที่ส่งเข้าร่วมการแข่งขันแบบเหย้า-เยือน แบบใดก็ได้ แต่ต้องมีความโปร่งใส ยุติธรรม เหมาะสม
3.10.2 สำหรับการให้คะแนนการแข่งขันแต่ละคู่ของระบบลีก (เหย้า - เยือน) ให้คิดคะแนน ดังนี้
- ทีมชนะได้ 3 คะแนน
- ทีมเสมอได้ 1 คะแนน
- ทีมแพ้ได้ 0 คะแนน
3.10.3 การจัดอันดับสำหรับทีมที่มีคะแนนเท่ากันจะให้เกณฑ์การพิจารณา เรียงลำดับดังนี้
3.10.3.1 พิจารณาจากการแข่งขันที่เคยแข่งขันมา (HEAD TO HEAD)
3.10.3.2 พิจารณาจำนวนครั้งที่ชนะ
3.10.3.3 พิจารณาจากผลต่างของประตูได้ – ประตูเสีย
3.10.3.4 พิจารณาเฉพาะประตูได้
3.10.3.5 แข่งขันกันใหม่ 1 นัด ณ สนามกีฬากลางตามที่คณะกรรมการฯกำหนดเพื่อหาทีมชนะโดยไม่มีการต่อเวลาการแข่งขัน หากผลการแข่งขันเสมอกันในเวลา ปกติให้ตัดสินด้วยการเตะจากจุดเตะโทษ
3.11 สนามที่ใช้ในการแข่งขัน อำเภอจะต้องรับผิดชอบจัดหาสนามแข่งขันเป็นสนามเหย้า และแจ้งให้ คณะกรรมการทราบก่อนการแข่งขันแต่ละเลคที่จะเริ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30 วันทำการ
3.11.1 สภาพสนามจะต้องได้มาตรฐานทางเทคนิคและข้อกำหนดในกติกา หรือตามที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันเห็นชอบ
3.11.2 ขนาดสนามแข่งขัน (FIELD OF PLAY DIMENSION)
- ขนาดความยาว 105 เมตร/หรือตามความเหมาะสมของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน
- ขนาดความกว้าง 68 เมตร/หรือตามความเหมาะสมของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน
3.11.3 เสาประตูมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกไม่เกิน 5 นิ้ว (12 ซ.ม.) หรือตามที่
คณะกรรมการจัดการแข่งขันให้ความเห็นชอบ
3.11.4 ในกรณีที่คณะกรรมการยังไม่เห็นสมควร คณะกรรมการอาจสั่งให้ฝ่ายจัดการแข่งขันระดับอำเภอ ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงสนามเหย้าใหม่ตามแต่กรณี
3.12 ลูกฟุตบอล ลูกฟุตบอลที่ใช้ทำการแข่งขันต้องเป็นลูกฟุตบอลที่คณะกรรมการจัดการแข่งขัน ฟุตบอลประชาชน "สงขลาลีก"จังหวัดสงขลา กำหนดหรือจัดให้
3.13 ทีมที่ไม่มาแข่งขันตามวัน เวลา และสนามที่กำหนดหรือทีมที่มาถึงสนามแล้ว แต่ไม่พร้อมที่จะลงสนามแข่งขันภายในเวลาที่กำหนดจะถูกปรับแพ้ โดยเสีย 2 ประตู และถูกหัก 3 คะแนน ส่วนคู่แข่งขันเป็นผู้ชนะได้ 3 คะแนน จะได้จำนวนประตูตามจำนวนที่คู่แข่งขันต้องเสียประตู ในกรณีที่ไม่พร้อมที่จะลงแข่งขันทั้ง 2 ทีมให้ปรับเป็นแพ้ทั้งคู่โดยเสีย 2 ประตูทั้ง 2 ทีม และถูกหักคะแนนทีมละ 3 คะแนนและถูกปรับเป็นเงินค่าเสียหายตามที่มีการเสียหายจริงแก่ทุกฝ่าย และถูกปรับเป็นเงิน 5,000.- บาท (ห้าพันบาทถ้วน)
3.14 ในวันที่กำหนดให้แต่ละทีมทำการแข่งขัน ทีมที่เข้าแข่งขันจะต้องพร้อมที่จะลงแข่งขัน
ตามวัน เวลา และสนามแข่งขันที่กำหนด ทีมใดที่ลงสนามแข่งขันแล้วเหลือผู้เล่นในสนามน้อยกว่า 7 คน ให้ปรับทีมนั้นเป็นแพ้ และถูกหัก 3 คะแนน โดยให้นับประตูเสียตามที่เสียไปแล้ว แต่ทั้งนี้ ถ้าประตูเสียต่ำกว่า 2 ประตู ให้นับเป็นเสีย 2 ประตู และให้นับประตูได้เป็น 0 ประตู (ไม่ว่าประตูที่เกิดขึ้นก่อนการถูกปรับ แพ้นั้นจะเป็นเช่นไร) ส่วนคู่แข่งขันเป็นผู้ชนะได้ 3 คะแนน และได้จำนวนประตูตามจำนวนที่คู่แข่งขันต้องเสียประตู
3.15 กรณีที่ทีมใดไม่ลงทำการแข่งขันหรือไม่ร่วมการแข่งขันต่อจนหมดเวลาหรือนักกีฬาผละจากการแข่งขันหรือเจ้าหน้าที่และนักกีฬาของทีมนั้นเป็นต้นเหตุให้การแข่งขันยุติลงตามรายงานของผู้ตัดสินให้ปรับทีมนั้นเป็นแพ้และถูกหัก 3 คะแนน โดยให้นับประตูเช่นเดียวกันกับข้อ 3.13 และถูกปรับ เป็นเงิน 10,000.- บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) และห้ามผู้จัดการทีมหรือผู้ฝึกสอนหรือนักกีฬาหรือเจ้าหน้าที่ทีมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลประชาชน "สงขลาลีก" จังหวัดสงขลาเป็นเวลา 1 ปี
3.16 การถอนทีมระหว่างฤดูกาลของการแข่งขัน จะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยประธานทีมอำเภอหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากประธานสโมสรเป็นผู้ลงนาม ซึ่งการถอน ทีมนี้จะต้องถูกลงโทษปรับเป็นเงิน 100,000.- บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) และห้ามไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลที่สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา, ศูนย์ กกท.จังหวัดสงขลา, สมาคมกีฬาจังหวัดสงขลา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาจัดขึ้นทุกประเภทเป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้ ผลของการแข่งขันของทีมทุกทีมที่เกี่ยวข้องกับทีมที่แจ้งถอนทีมไปนั้นให้ถือเป็นโมฆะ ยกเว้นใบเหลืองและใบแดงของนักฟุตบอลในทีมที่เกี่ยวข้องให้คงสถานะไว้
3.17 ในวันแข่งขันให้ผู้จัดการทีมส่งบัญชีรายชื่อพร้อมทั้งลำดับหมายเลขให้ตรงตามหมายเลขที่สมัครไว้ตามแบบที่กำหนด โดยให้มีผู้เล่นไม่เกิน 11 คน และผู้เล่นสำรองไม่เกิน 9 คน ก่อนเวลาการแข่งขัน 1 ชั่วโมงของวันที่ลงทำการแข่งขัน โดยให้ส่งรายชื่อนี้ต่อคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้ไปดำเนินการแข่งขันและก่อนการแข่งขันทุกครั้งให้นักกีฬาแสดงบัตร AD CARD พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริงเท่านั้น) ก่อนลงทำการแข่งขัน
3.18 ถ้าปรากฏในภายหลังว่าทีมใดจัดนักกีฬาที่ไม่มีสิทธิตามระเบียบการแข่งขันนี้ลงแข่งขันให้ปรับทีมนั้นเป็นแพ้ใน การแข่งขันครั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการประท้วงหรือไม่ก็ตามโดยกำหนดโทษไว้ตามข้อ 3.16
3.19 การเปลี่ยนตัวผู้เล่นในการแข่งขันแต่ละนัด ให้เปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ 4 คน ผู้เล่นที่จะเข้า
เปลี่ยนตัวต้องมีรายชื่ออยู่ในรายชื่อผู้เล่นสำรอง 9 คน ตามบัญชีรายชื่อที่ยื่นไว้ก่อนการแข่งขันผู้ที่เปลี่ยนตัวออกไปแล้วจะกลับเข้ามาลงแข่งอีกไม่ได้
3.20 บริเวณที่นั่งผู้เล่นสำรองอนุญาตให้อยู่รวมกันได้ไม่เกิน 15 คน (ผู้เล่นสำรอง 9 คน, ผู้บริหารทีม/ผู้ฝึกสอน และผู้ช่วยผู้ฝึกสอน จำนวน 6 คน ตามที่แจ้งรายชื่อและต้องแสดงบัตร AD CARD
ทุกคน
3.21 นักกีฬาจะถูกหักคะแนนตามเกณฑ์ต่อไปนี้
3.21.1 ได้รับใบเหลือง จะถูกหักคะแนน 2 คะแนน
3.21.2 ได้รับใบแดงจากการได้รับใบเหลือง 2 ใบ ใน 1 นัดจะถูกหักคะแนน 4 คะแนน (ใบเหลือง+ใบเหลือง = ใบแดง)
3.21.3 ได้รับใบแดง (เล่นผิดกติกาที่เข้าข้อ กติกาใบแดง) จะถูกหักคะแนน 6 คะแนนและไม่อนุญาตให้ลงแข่งขันในนัดต่อไป หรือเป็นไปตามข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการในการพิจารณาขั้นใน
แต่ละกรณี
3.21.4 ได้รับใบเหลืองแล้วได้รับใบแดงเล่นผิดกติการ้ายแรงจะถูกหักคะแนน 8 คะแนน (กระทำฝ่ายเดียว)ใน 1 นัดหรือเป็นไปตามข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการในการพิจารณาขั้นในแต่ละกรณี
3..21..5 ได้รับใบแดง(ก่อเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย) จะถูกหักคะแนน 10 คะแนน
หรือเป็นไปตามการวินิจฉัยของคณะกรรมการในแต่ละกรณี
3.22 นักกีฬาจะถูกงด ไม่ให้ลงแข่งขันตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
3.22.1 เมื่อนักกีฬาถูกหักคะแนนสะสมรวมครบ 6 คะแนน ให้งดการแข่งขัน
ในครั้งต่อไป 1 ครั้ง
3.22.2 เมื่อนักกีฬาถูกหักคะแนนสะสมรวมครบ 12 คะแนน ให้งดการแข่งขัน 2 ครั้ง และถูกปรับ เป็นเงิน 3,000.- บาท (สามพันบาทถ้วน)
3.22.3 เมื่อนักกีฬาถูกหักคะแนนสะสมรวมครบ 18 คะแนน ให้งดการแข่งขัน
2 ครั้งและถูกปรับ เป็นเงิน 5,000.- บาท (ห้าพันบาทถ้วน)
3.22.4 เมื่อนักกีฬาถูกหักคะแนนสะสมรวมครบ 24 คะแนน หรือมากกว่า ให้งดการแข่งขัน 2 ครั้ง และ ถูกปรับเป็นเงิน 10,000.- บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) และเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา มารยาท วินัยและข้อประท้วงเพื่อพิจารณาเพิ่มโทษต่อไป
3.22.5 หากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น นอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ อันถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติไม่เหมาะสมกับการเป็นนักกีฬาฟุตบอลหรือเจ้าหน้าที่ทีมที่ดีตามรายงานของผู้ตัดสินหรือของผู้ควบคุมการแข่งขัน (ไม่ถูกใบเหลือง ใบแดง) ให้รายงานความผิดนั้นต่อคณะกรรมการพิจารณา มารยาท วินัย และข้อประท้วงเพื่อพิจารณาโทษหักคะแนนหรือปรับเป็นเงินแล้วแต่กรณี
3.22.6 การลงโทษใดๆ แก่นักกีฬาและหรือทีมอำเภอที่ปฏิบัติผิดระเบียบการแข่งขันที่คณะกรรมการพิจารณา มารยาท วินัยและข้อประท้วงได้ดำเนินการและประกาศไปแล้วนักกีฬาและหรือทีมไม่สามารถดำเนินการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณา มารยาท วินัย และข้อประท้วงได้
3.22.7 การหักคะแนนตามข้อ 3.21 ให้นับต่อเนื่องทั้งเลค 1 และเลค 2 ค่าปรับที่เกิดขึ้นตามข้อ 3.22.2 - 3.22.4 นี้ให้อำเภอต้นสังกัดของนักกีฬาเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระค่าปรับทุกกรณี การชำระเงินค่าปรับดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการก่อนการแข่งขันในครั้งต่อไป หากไม่ดำเนินการชำระเงินค่าปรับดังกล่าวจะมีผลทำให้นักกีฬาผู้นั้นลงทำการแข่งขันไม่ได้จนกว่าจะชำระเงินแล้วเสร็จ
3.22.8 ในกรณีที่ผู้จัดการทีม, เจ้าหน้าที่ทีมที่เกี่ยวข้อง, นักกีฬารวมถึงผู้สนับสนุนทีมและกองเชียร์ของทีม ที่มีมารยาทและพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือทำร้ายผู้ตัดสิน ให้ลงโทษทีมต้นสังกัดรับผิดชอบและปรับเป็นเงินไม่เกิน 50,000.- บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) และถูกตัดสิทธิไม่ให้ทำการแข่งขันในทีมเหย้าอย่างน้อย 3 นัด

ข้อ 4. คุณสมบัติของทีมฟุตบอลที่จะเข้าร่วมแข่งขัน
4.1 คุณสมบัติของทีม
- ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันในนามทีมของอำเภอเท่านั้น
- ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันฯ จำนวน 30 คน แยกเป็น 3 กลุ่มอายุ ดังนี้
- กลุ่มอายุที่ 1 อายุระหว่าง 17-19 ปี ส่งรายชื่อนักกีฬาได้ จำนวน 12 คน ลงทำ การแข่งขัน/อยู่ในสนามแข่งขันไม่เกิน 4 คน ไม่รวมผู้รักษาประตู
- กลุ่มอายุที่ 2 อายุระหว่าง 20-23 ปี ส่งรายชื่อนักกีฬาได้ จำนวน 10 คน ลงทำ
การแข่งขัน/อยู่ในสนามแข่งขันไม่เกิน 3 คน ไม่รวมผู้รักษาประตู
- กลุ่มอายุที่ 3 อายุ 24 ปีขึ้นไป (กลุ่มโอเพ่น) ส่งรายชื่อนักกีฬาได้จำนวน 8 คน
ลงทำการแข่งขัน/ อยู่ในสนามแข่งขันไม่เกิน 3 คน ไม่รวมผู้รักษาประตู
หมายเหตุ - การนับเกณฑ์อายุให้นับปี พ.ศ.ปัจจุบัน (2557) ลบด้วยปี พ.ศ.ที่เกิด
- การเปลี่ยนตัวนักกีฬา เข้า-ออก เปลี่ยนตามเกณฑ์อายุนั้นๆตามกติกาสากล
4.2 คุณสมบัติของนักกีฬา
- ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย
- ต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาเกิดในจังหวัดสงขลาเท่านั้น หรือเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตพื้นที่อำเภอนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 5 ปี นับถึงวันรับสมัครระดับจังหวัด (วันที่ 17 ธันวาคม 2557) ยกเว้นอำเภอกระแสสินธุ์
- ห้ามนักกีฬาที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ ตั้งแต่ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2, ดิวิชั่น 1 และไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก ชุดปัจจุบัน ตามบัญชีรายชื่อนักกีฬา ฟุตบอลของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และการกีฬาแห่งประเทศไทยทุกกรณี

ข้อ 5. การขึ้นทะเบียน ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ทีม และนักกีฬาฟุตบอล
5.1 ให้อำเภอ ส่งรายชื่อทีมตามแบบฟอร์มที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกำหนด
5.2 อำเภอให้ส่งรายชื่อนักกีฬาฟุตบอลพร้อมทะเบียนรูปถ่ายในทีมได้ ไม่เกิน 30 คน
ตามแบบฟอร์มที่คณะกรรมการกำหนด กรณีส่งไม่ครบสามารถส่งรายชื่อเพิ่มเติมให้ครบในเลค 2 เท่านั้น
5.3 หลักฐานประกอบการส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน มี ดังนี้คือ
ก. ใบส่งรายชื่อทีม
ข. แผงรูปถ่ายนักกีฬา
ค. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
ง. สำเนาทะเบียนบ้าน

ข้อ 6. ชุดแข่งขัน
6.1 ทีมของอำเภอที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกทีมจะต้องแจ้งสีชุดกีฬา ไม่น้อยกว่า 2 สี สำหรับนักกีฬาที่จะใช้ในการแข่งขันทีมเหย้าและทีมเยือน โดยนักกีฬาแต่ละทีมองค์กรสมาชิกต้องแต่งกายให้ เรียบร้อย เหมือนกันตามสีที่ได้แจ้งไว้ในแบบฟอร์มแสดงสีชุดการแข่งขันก่อนการแข่งขันไม่น้อยกว่า 10 วันทำการโดยต้องมีเครื่องหมายของผู้สนับสนุนการแข่งขันที่แขนเสื้อด้านขวากับให้มีชื่อผู้เล่นย่อ และนามสกุลเต็ม หรือชื่อเต็ม นามสกุลย่อ หรือชื่อเต็ม ไม่ใส่นามสกุล อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษอยู่เหนือหมายเลขด้านหลังตัวเสื้อตัวอักษรนี้จะต้องสูงไม่น้อยกว่า 5 ซ.ม. และติดหมายเลขประจำตัวทางด้านหลังเสื้อด้วยสีที่มองเห็นได้ชัดเจน มีความสูงไม่น้อยกว่า 25 ซ.ม. และที่ขากางเกงด้านหน้าข้าง ขวา หรือข้างซ้ายก็ได้ ด้วยสีที่มองเห็นได้ชัดเจน มีความสูงไม่น้อยกว่า 10 ซ.ม.

และผู้เล่นมีสิทธิใส่ชุดแข่งขันตามที่ทีมมีข้อผูกพันกับบริษัทผู้อุปถัมภ์ แต่จะต้องแจ้งให้คณะกรรมการล่วงหน้า และห้ามนำตราหรือเครื่องหมายการค้าที่เป็นการประชาสัมพันธ์การขายผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ หรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือการโฆษณาเกี่ยวกับการศาสนา หรือการเหยียดผิวติดบนชุดที่ใช้ในการแข่งขัน โดยเด็ดขาดและผู้ที่เป็นหัวหน้าทีมต้องติดเครื่องหมายที่แขนเสื้อด้านซ้ายให้ชัดเจน โดยเครื่องหมายนี้จะต้องหามาเอง
6.2 ให้ทุกทีมที่เข้าแข่งขัน ในวันแข่งขันปฏิบัติตามระเบียบเรื่องชุดการแข่งขันเสื้อ, กางเกง, กางเกงรัดกล้ามเนื้อ,ถุงมือ,ถุงเท้าหรือหมวกอย่างเคร่งครัด ห้ามอุทธรณ์
6.3 กรณีชุดแข่งขันมีสีคล้ายคลึงกัน ให้ทีมที่มีชื่ออยู่หลังคู่แข่งขัน เปลี่ยนชุดแข่งขัน ทั้งนี้ โดยการพิจารณาของผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ในคู่นั้น ๆ รวมทั้งผู้รักษาประตูที่ใส่เสื้อสีเหมือนกันด้วย
6.4 กรณีผู้เล่นที่ไม่ติดหมายเลขหรือติดหมายเลขไม่ตรงกับในทะเบียนแข่งขันจะไม่มีสิทธิลงทำการแข่งขัน
6.5 ในรายละเอียดอื่นใดที่ไม่ได้กำหนดไว้ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการระดับอำเภอ

ข้อ 7. การพิจารณา มารยาท วินัย และ ข้อประท้วง
7.1 ให้นำระเบียบว่าด้วยการพิจารณามารยาท วินัยและข้อประท้วงที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลประชาชน "สงขลาลีก"จังหวัดสงขลา กำหนดมาเป็นบทลงโทษในการแข่งขันด้วย
7.2 ให้คณะกรรมการพิจารณามารยาท วินัย และข้อประท้วง ทำหน้าที่พิจารณามารยาท วินัย และข้อประท้วงต่าง ๆ ตลอดจนพิจารณาพฤติกรรมของผู้เล่นที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่วงการฟุตบอลตาม ระเบียบการพิจารณามารยาท วินัย และข้อประท้วงของจังหวัดสงขลา และให้สิทธิพิจารณาปรับเป็นเงินตามที่เกิดความเสียหายจริงในการพิจารณาโทษต่าง ๆ ด้วย
7.3 การประท้วงสามารถกระทำได้เฉพาะเรื่องคุณสมบัตินักกีฬาเท่านั้น และต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรและหลักฐานประกอบพร้อมเงินประกันการประท้วงจำนวน 5,000.- บาท (ห้าพันบาทถ้วน) เงินนี้จะคืนให้เมื่อการประท้วงเป็นผล หนังสือประท้วงจะต้องส่งถึงคณะกรรมการพิจารณามารยาท วินัยและข้อประท้วงหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากการแข่งขันสิ้นสุดลง (ไม่นับวันหยุดราชการ) โดยผู้ลงนามประท้วงจะต้องเป็นประธานทีมอำเภอ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร
7.4 เมื่อคณะกรรมการพิจารณามารยาทวินัย และข้อประท้วง ได้รับหนังสือประท้วงแล้วให้จัดส่งสำเนาหนังสือประท้วงนั้นให้ทีมที่ถูกประท้วงและให้ทีมที่ถูกประท้วงนั้นชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ ภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่ที่ได้รับสำเนาหนังสือประท้วง (ไม่นับเว้นวันหยุดราชการ) โดยจัดส่งทางโทรสารหรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (EMS) และถือวันเวลาที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวแล้วแต่กรณีเป็นหลักฐาน หากทีมผู้ถูกประท้วงมิได้ชี้แจงอย่างใดอย่างหนึ่งตามเงื่อนไขที่กำหนด ให้คณะกรรมการพิจารณามารยาทวินัยและข้อประท้วงทราบ ให้ถือว่าทีมที่ถูกประท้วงไม่ประสงค์ที่จะชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้น คณะกรรมการพิจารณามารยาทวินัยและข้อประท้วง จะพิจารณาตัดสินคำประท้วงนั้นตามกรณี คำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณามารยาทวินัยและ ข้อประท้วงถือเป็นสิ้นสุดจะอุทธรณ์ใดๆ มิได้หรือนำไปฟ้องร้องต่อศาลมิได้ อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ถูกประท้วงได้ชี้แจงแล้วและคณะกรรมการพิจารณามารยาทวินัย และข้อประท้วงได้พิจารณา
ตัดสินแล้วทีมที่ประท้วงและทีมผู้ถูกประท้วงยังไม่พอใจคำตัดสิน ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการได้คำตัดสิน
ของคณะกรรมการถือเป็นสิ้นสุด

ในกรณีที่มีเหตุการณ์และหลักฐานที่พิสูจน์ได้ชัดเจนทำให้เชื่อได้ว่านักกีฬาคนหนึ่งคนใด หรือมากกว่าหนึ่งคนได้สมรู้ร่วมคิดเพื่อสมยอมให้ผลการแข่งขันเป็นไปในแนวที่นักกีฬาผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นได้กำหนดขึ้น จะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงทั้งนักกีฬาและทีมอำเภอที่นักกีฬานั้นๆ สังกัด อยู่โดยนักกีฬาจะต้องลงโทษถูกห้ามเล่นตลอดชีวิตและทีมอำเภอนั้นจะต้องถูกห้ามส่งทีมเข้าทำการแข่งขันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นไปตามที่คณะกรรมการจะเป็นผู้วินิจฉัย


ข้อ 8. เงินรางวัลการแข่งขันฟุตบอลประชาชน "สงขลาลีก"จังหวัดสงขลา ประจำ พ.ศ. 2558
8.1 รอบชิงชนะเลิศระดับจังหวัดสงขลา (เหย้า-เยือน)
- ชนะเลิศ เป็นเงิน 300,000.- บาท/ถ้วยเกียรติยศ
พร้อมงบพัฒนาท้องถิ่น 10 ล้านบาท
- รองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นเงิน 200,000.- บาท/ถ้วยเกียรติยศ
พร้อมงบพัฒนาท้องถิ่น 7 ล้านบาท
- รองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นเงิน 100,000.- บาท/ถ้วยเกียรติยศ
พร้อมงบพัฒนาท้องถิ่น 5 ล้านบาท
- รองชนะเลิศอันดับ 3 เป็นเงิน 50,000.- บาท
พร้อมงบพัฒนาท้องถิ่น 3 ล้านบาท
8.2 รางวัลทีมมารยาทยอดเยี่ยม เป็นเงิน 20,000.- บาท
8.3 รางวัลดาวซัลโว เป็นเงิน 20,000.- บาท
8.4 รางวัลนักเตะยอดเยี่ยม เป็นเงิน 20,000.- บาท
8.5 รางวัลกองเชียร์ยอดเยี่ยม เป็นเงิน 20,000.- บาท

ข้อ 9. การถือปฏิบัติตามระเบียบการแข่งขัน
9.1 การถือปฏิบัติตามระเบียบการแข่งขันฯ และข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอื่นใดที่คณะกรรมการแจ้งและประกาศให้ทราบ ประธานทีมอำเภอ ผู้จัดการทีม ผู้ฝึกสอน เจ้าหน้าที่ประจำทีมและนักกีฬาฟุตบอลทุกคนจะต้องทราบและถือปฏิบัติทุกประการโดยไม่มีข้อแม้ และหากมีเหตุการณ์ใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือจากที่ระเบียบการแข่งขันนี้มิได้ระบุไว้ ให้เป็นดุลยพินิจ และอำนาจของคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ ตัดสินชี้ขาดและเป็นที่สิ้นสุด
9.2 สำหรับเงินค่าปรับต่าง ๆ ที่กำหนดในระเบียบการแข่งขัน ให้ผู้จัดการทีมอำเภอนำส่งคณะกรรมการภายหลังจากการตัดสินของคณะกรรมการ และได้รับแจ้ง ภายใน 7 วัน หากไม่ นำส่งจะถูกหักจากเงิน รางวัลที่พึงจะได้รับหรือเงินอื่นใด ที่คณะกรรมการจะจัดสรรให้ ตามแต่กรณีที่จะเห็นสมควร

ข้อ 10.ให้กรรมการจัดการแข่งขัน เป็นผู้บังคับใช้ระเบียบการแข่งขันนี้นับตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป และเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในเรื่องการจัดการแข่งขัน การควบคุมและประสานงานกับทีมอำเภอที่เข้าร่วมแข่งขัน เพื่อให้การแข่งขันประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของจังหวัดสงขลาต่อไป

ประกาศ ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยตัวสุดท้าย:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง