ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เปิดงานคืนความสุขให้คนตานี ผ้าดีที่ชายแดนใต้ ณ ม.อ.ปัตตานี

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 13:28 น. 24 ธ.ค 57

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดงานคืนความสุขให้คนตานี ผ้าดีที่ชายแดนใต้ ณ ม.อ.ปัตตานี มุ่งเน้นการส่งมอบความสุขแก่สังคมด้วยมิติทางวัฒนธรรม

      เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.57 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศ.ดร.อภินันท์  โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  เป็นประธานเปิดงานคืนความสุขให้คนตานี ..KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน) ผ้าดีที่ชายแดนใต้  โดยมี ผศ.สมปอง  ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวต้อนรับ ผศ.กมล  คงทอง ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลา -นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวรายงาน  กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23–25 ธันวาคม 2557 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี   ในงานประกอบด้วย


[attach=1]

การปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "บทบาทของหน่วยงานทางวัฒนธรรมเมื่อประเทศไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558"  โดยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงโขนเยาวชนต้นแบบจังหวัดปัตตานี  การสนทนากับผู้สร้าง ผู้กำกับและดาราจากภาพยนตร์เรื่องละติจูดที่ 6 การแสดงดนตรี และคอนเสิร์ตคืนความสุขให้คนตานีโดยศิลปิน นักร้อง และนักแสดงการแสดงดนตรีออเคสตรา วงเยาวชนเทศบาลนครยะลา  แฟชั่นโชว์จากลุ่มผู้ประกอบการหัตถกรรมผ้าจังหวัดนราธิวาส  การนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องแม่พิมพ์ลายผ้าจังหวัดชายแดนใต้ การเสวนาหัวข้อ "คนประดิษฐ์คิดลายผ้าสู่อาภรณ์" การบรรยายพิเศษหัวข้อ "การบริหารจัดการวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง" การสาธิต ทดลอง จำหน่ายสินค้าและนิทรรศการผ้าดีที่ชายแดนใต้

      ศ.ดร.อภินันท์  โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  ประธานในพิธีงานคืนความสุขให้คนตานี ..KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน) ผ้าดีที่ชายแดนใต้  กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำยุทธศาสตร์ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" เพื่อให้เกิดกระบวนการพูดคุยอย่างสันติสุขควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่เป็นพหุวัฒนธรรม เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าวกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้นำมิติทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม มาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มพลังวัฒนธรรมของพหุวัฒนธรรมให้มีส่วนร่วมในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ

ตลอดจนส่งเสริมช่องทางรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรม  กระทรวงวัฒนธรรม  จึงได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดกิจกรรมคืนความสุขให้คนตานี ในโครงการ KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน) ผ้าดีที่ชายแดนใต้ เพื่อบริการวิชาการด้านวัฒนธรรมแก่ชุมชนและผ่อนคลายจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อันจะเป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชน

   "ความภาคภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษและการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้  สร้างความเข้าใจ  ช่วยกระตุ้นจิตสำนึกของความเป็นท้องถิ่นให้มีความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน นำไปสู่การสืบทอด อนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นมรดกอันทรงคุณค่าต่อไป"  ศ.ดร.อภินันท์  โปษยานนท์  กล่าวเพิ่มเติม

[attach=5]

      ผศ.กมล  คงทอง ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า การจัดกิจกรรมคืนความสุขให้คนตานี ในโครงการ KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน) ผ้าดีที่ชายแดนใต้ในครั้งนี้  มุ่งเน้นการส่งมอบความสุขแก่สังคมด้วยมิติทางวัฒนธรรม  สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ได้ร่วมมือกับเครือข่ายทางวัฒนธรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน  นักวิจัย  นักวิชาการ  รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้านและชุมชน จัดโครงการ KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน) ผ้าดีที่ชายแดนใต้ขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม 

โดยมุ่งหวังที่จะนำแนวทางการศึกษาวัฒนธรรม  ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับผ้ามาจัดกิจกรรมทางวิชาการ ผสมผสานกับกิจกรรมบันเทิง เสริมสร้างอาชีพ ส่งเสริมเครือข่ายชุมชน และสร้างความสุข ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23–25 ธันวาคม 2557 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี        กิจกรรมในงานประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "บทบาทของหน่วยงานทางวัฒนธรรมเมื่อประเทศไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558"  โดยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงโขนเยาวชนต้นแบบจังหวัดปัตตานี  การสนทนากับผู้สร้าง ผู้กำกับและดาราจากภาพยนตร์เรื่องละติจูดที่ 6 การแสดงดนตรี และคอนเสิร์ตคืนความสุขให้คนตานีโดยศิลปิน นักร้อง และนักแสดงการแสดงดนตรีออเคสตรา วงเยาวชนเทศบาลนครยะลา  แฟชั่นโชว์จากลุ่มผู้ประกอบการหัตถกรรมผ้าจังหวัดนราธิวาส  การนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องแม่พิมพ์ลายผ้าจังหวัดชายแดนใต้

การเสวนาหัวข้อ "คนประดิษฐ์คิดลายผ้าสู่อาภรณ์" การบรรยายพิเศษหัวข้อ "การบริหารจัดการวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง" การสาธิต ทดลอง จำหน่ายสินค้าและนิทรรศการผ้าดีที่ชายแดนใต้จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ยะลานราธิวาส และสงขลา สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ศูนย์การศึกษานอกระบบจังหวัดปัตตานี และผู้ประกอบการอื่นๆ

      ผศ.สมปอง  ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สถาบัน  วัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  ในฐานะหน่วยงานหลักด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเกียรติและการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมจัดกิจกรรมคืนความสุขให้คนตานี 

ในโครงการ KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน) ผ้าดีที่ชายแดนใต้ จะเห็นว่าวัฒนธรรมการใช้ผ้าของท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความหลากหลาย บางชนิดได้รับการฟื้นฟู  การอนุรักษ์กลับขึ้นมาใหม่ด้วยการศึกษาและสืบค้น ศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนอยู่บนผืนผ้าแสดงอัตลักษณ์ของผู้คนในท้องถิ่น มีความงดงาม หลากหลายตามลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรม และมีคุณค่ายิ่งต่อการอนุรักษ์ สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดกิจกรรมคืนความสุขให้คนตานี  ในโครงการ KAIN DI SELATAN (กัยน์ ดี สลาตัน)

      "ผ้าดีที่ชายแดนใต้ ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้การจัดงานในวันนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องขอขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ศูนย์การศึกษานอกระบบ จังหวัดปัตตานี นักวิชาการ ศิลปิน นักร้อง นักแสดง ผู้ประกอบการ นักเรียน  นักศึกษา เครือข่ายชาวบ้านชุมชน ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการทุกท่าน"  ผศ.สมปอง  ทองผ่อง  กล่าวเพิ่มเติม.