ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เราควรให้ความสำคัญกับ นรก และ สวรรค์ มากแค่ไหน

เริ่มโดย คุณหลวง, 12:11 น. 13 ก.ย 54

คุณหลวง


    เมื่อบุรุษหนึ่งถูกศรเข้าแล้ว มีผู้จะมาช่วยรักษาให้ แต่บุรุษนั้นไม่ยอม บอกว่าจะต้องรู้ก่อนว่าศรนี้ทำจากไม้อะไร เหล็กหัวศรทำจากเหล็กอะไร ใครเป็นคนทำ ใช้เวลาทำเท่าไหร่ ผู้ที่มายิงตนนั้นชื่ออะไร อยู่ที่ไหน นิคมใด เป็นลูกเต้าเหล่าใคร มีส่วนสัด หนักสูงเท่าไหร่ ฯลฯ หากไม่รู้ก็จะยังไม่รักษาเด็ดขาด

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุรุษผู้นั้นตายเสียก่อนเป็นแน่

สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ปัจเจกพุทธ


คุณหลวง

 ส.อืม

    ก็น่าคิดครับว่าคนแบบนั้นจะมีหรือไม่ เพราะว่านี่เป็นการเปรียบเทียบ ไม่ใช่ว่าเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อว่าเป็นการเปรียบเทียบมันก็เป็นได้ เพราะพระพุทธองค์ กล่าวว่า เมื่อรู้ว่ามีทุกข์อยู่ ก็ควรที่จะรีบดับทุกข์นั้นเสีย ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาว่านรกมีจริงหรือไม่ สวรรค์มีจริงหรือไม่ โลกหน้ามีหรือเปล่า จักรวาลนี้เป็นอย่างไร เพราะการที่มัวค้นหาเรื่องนอกทุกข์ นอกเหตุเกิดทุกข์ นอกความดับทุกข์ นอกทางแห่งความดับแห่งทุกข์นั้น จะเสียเวลาเปล่า และตายเปล่าในที่สุด

    หลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง วารินชำราบ อุบลราชธานีจึงว่า คนทำดี มีความสุขในโลกนี้ หากโลกหน้ามีก็มีความสุข หากโลกหน้าไม่มีก็มีความสุขอยู่แล้วในโลกนี้ คนทำชั่วเป็นทุกข์ชาตินี้ หากโลกหน้ามีก็เป็นทุกข์ หากโลกหน้าไม่มีชาตินี้มันก็ทุกข์อยู่แล้ว จำพวกหนึ่งมีกำไร อย่างเลวก็เสมอตัว อีกพวกมีแต่ขาดทุนกับขาดทุน ควรจะเป็นคนจำพวกไหน

    สำหรับความเห็นของผมนั้น การปฏิบัติธรรมมิได้เป็นเรื่องง่าย แค่ประโยคหนึ่งก็แจ้ง แน่นอนว่ามีบุคคลเช่นนั้นอยู่ แต่เราต้องศึกษาปูมหลังของท่านนั้นๆว่าก่อนหน้าประโยคเดียว ครั้งเดียวบรรลุธรรมนั้น ท่านประพฤติตนอย่างไรมาก่อน ท่านวางจิตใจของท่านอย่างไร แม้กระทั่งเซ็นที่เราอ่านๆกันแล้วว่าง่าย แค่โศลกบทเดียวบางท่านก็บรรลุธรรมได้ มันสุดยอดครับพี่น้อง การฝึกในวัดเซ็นเข้มข้นมากกว่าที่เรารู้จากหนังสือที่ปลายยอดครับ

    แต่สำหรับบางท่านก็มีแนวทางที่แปลกไป สำหรับเราๆท่านๆ(แต่ไม่แปลกแก่ผู้เข้าใจธรรม) อย่างเช่น ท่านเว่ยหล่าง สังฆปรินายกองค์ที่ ๖ ของจีน ที่ท่านบรรลุธรรมขณะเป็นฆราวาส หากเราศึกษาประวัติจะทราบว่า ในจิตของท่านนั้นมีความครุ่นคิด พิจารณษธรรมตลอดมาไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จะตัดฟืน แบกฟืน ขายฟืน หุงข้าว หรืออะไรก็ตาม ดังนั้น จิตของท่านจึงสั่งสมสติ สมาธิ ปัญญาจนกำลังมากพอที่จะรู้แจ้งธรรมทันทีที่ได้ยินธรรมะเพียงประโยคเดียว

    เช่นเดียวกับหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ท่านก็ปฏิบัติธรรมมาโดยตลอดขณะเป็นฆราวาสค้าขาย โดยวิธีการของท่าน คือ ทำความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น การถูนิ้ว การกระดิกนิ้วเท้า ฯลฯ ซึ่งสามารถทำได้แม้จะทำงานอยู่ก็ตาม ท่านบรรลุธรรมตั้งแต่อยู่เพศฆราวาส ซึ่งท่านได้สอนภรรยา สอนลูกของท่านด้วย จนเวลาต่อมาท่านออกบวชเพื่อเผยแพร่ทางพ้นทุกข์ต่อไป

    แต่บางคน อย่าง เฟรดเดริค นิชเช่ เจ้าของวลีอมตะ "พระเจ้าตายแล้ว" ชาวเยอรมัน (ถ้าจำไม่ผิด) ก็มีวาจา ปรัชญา ชนิดที่เป็นอภิมนุษย์ผู้รู้แจ้ง แต่เอาเข้าจริงนิชเช่ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะเพียงแค่มีคนไม่เชื่อหรือขัดแย้งสิ่งที่เขากล่าว เขาก็โกรธชนิดที่เกือบจะสาปแช่งกันเลยทีเดียว

    ปรัชญาบางบท บางข้อ มันทำให้เราเกิดปีติสุขได้ครับ ในขณะนั้นๆอาจทำให้เราเข้าใจว่าบรรลุธรรมแล้วด้วยซ้ำไป ยกตัวอย่างผมเองนี่แหละครับ ครั้งปฏิบัติธรรมไม่นาน ช่วงนั้นเกิดปีติ ศรัทธามากชนิดที่ปฏิบัติ นั่งสมาธิ เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน นอนน้อยมาก พอได้ยินธรรมะดีๆลึกซึ้ง มันเกิดปีติสุข จนกระทั่งนึกว่าตัวเองบรรลุอรหันต์แล้ว ช่วงนั้น ใครจะว่า จะอะไรก็ไม่ทุกข์ไม่โกรธ มันเอิบอิ่ม

    มานะ ความถือตัวมันเกิดขึ้นจากความรู้สึกอันนั้นครับ มันเริ่มมองผู้อื่นด้วยความยโส ว่า พวกนี้ทำอะไรกัน บวชมานานปีไม่บรรลุธรรมสักที สู้กูก็ไม่ได้ มันค่อยๆรุมเร้าเข้ามามากขึ้นๆตามเวลาที่ผ่านไป

    จนกระทั่งมันอัดอั้นความโกรธนั้นไม่อยู่ หลุดออกมาทางวาจา และใจที่ครุ่นแค้น เป็นทุกข์มาก เพราะการเพ่งผู้อื่นมากและเปรียบเทียบว่าเค้าเลวกว่าตัว เมื่อเค้าตำหนิมาก็เริ่มกรุ่นโกรธ สะสมมาเรื่อย กว่าสำนึกตัวได้ก็นานครับ ผมจึงบอกว่าอย่าว่าง่าย เพราะการคิดว่าใช่ มันก่อเกิดความถือตัว เป็นความเมาดี หลงดี จนยากแก่การแก้ไข
   
    ท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จึ่งว่า "คนหลงดีแก้ยากกว่ีาคนหลงชั่ว"

    การตรวจสอบใจ และไม่ด่วนรับรองผลจึงเป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำครับ เพราะหากหลงไปเสียตั้งแต่แรกก็จะยากในการกลับตัว ตัวอย่างมีมากครับ ไม่ว่าพระ ไม่ว่าโยมที่ปฏิบัติธรรมแล้วเป็นอย่างนี้ บางคนถึงกับข้ามหัวครูบาอาจารย์ด้วยความทะนงตน

    ผมสนับสนุนให้ปฏิบัติครับ ไม่ว่าปฏิบัติแบบใด แนวทางไหน ครูบาอาจารย์ใด เพราะผลของมันนั้นสุดยอดแห่งสิ่งทั้งปวงจริง แม้ยังไม่ถึงขั้นอริยบุคคลก็ตาม

    ผม(สมัยบวช)เคยแนะนำพระใหม่รูปหนึ่งว่า หากอยากรู้ว่าจิตใจตัวเองดิ้นรนอย่างไรให้เล่นเกมงู ในเครื่องโนเกีย(รุ่นเก่าหน่อย)ด้วยความเร็วระดับต่ำสุด ให้ได้แต้มสักพันหนึ่ง แรกๆก็ห้าร้อยก็ได้ แล้วสังเกตุใจตัวเองไปเรื่อยๆ พระรูปนั้นว่า โอ้ย ผมเล่นมาซะเอียน ง่ายๆ สุดท้ายก็ยอมรับครับว่าตัวเองโกรธง่ายจริงๆ

    ผลฃองการปฏิบัติธรรมวัดจากยามที่มีอารมณ์กระทบครับ ไม่ใช่ยามสุขอยู่คนเดียว หรือยามที่อยู่ท่ามกลางคนยกยอ มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องการการตรวจสอบที่เข้มข้น วิธีการที่ง่าย แต่การทำจริงในเรื่องใจมันมีเรื่องปลีกย่อยเยอะ

    หลวงพ่อชา สุภัทโทจึงว่า ใจเย็นๆทำไปเรื่อยๆ ทำเล่นๆอย่างจริงจัง อย่ารีบรับรองผล เมื่อผลที่แท้จริงมันออกมา ใจมันเป็นพยานของใจเองได้

    ท่าจะล้นจากนรกสวรรค์ไปมากแล้ว ขอตัว มีความสุขในทุกวันขอิงชีวิตทุกท่านครับผม
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ปัจเจกพุทธ

อ้างถึงสำหรับความเห็นของผมนั้น การปฏิบัติธรรมมิได้เป็นเรื่องง่าย แค่ประโยคหนึ่งก็แจ้ง แน่นอนว่ามีบุคคลเช่นนั้นอยู่ แต่เราต้องศึกษาปูมหลังของท่านนั้นๆว่าก่อนหน้าประโยคเดียว ครั้งเดียวบรรลุธรรมนั้น ท่านประพฤติตนอย่างไรมาก่อน

เรื่องนี้จริงครับ จะเล่าเรื่องของผมให้ฟังว่า

พ่อของผมทำหน้าที่เป็นคนนำสวดพระ คือเป็นคนคอยจัดงานศพเวลามีคนมาตั้งศพ บำเพ็ญกุศล นำสวด และเผาศพด้วย (ในระยะ 20 ปีแรก ต่อมาท่านอายุมาก จึงมอบหน้าที่เผาให้เจ้าหน้าที่ท่านอื่น) บางคนเรียกสังกะหลีวัด บางคนเรียกอุบาสก บางคนเรียก พิธีกร แต่ผมเรียก ผู้จัดการงานศพ หรือ ออแกนไนเซอร์งานศพ

พ่อผมชอบอ่านหนังสือธรรมมะ มักจะยืมหนังสือมาจากห้องสมุดของวัดมาอ่านที่บ้านอยู่เสมอ

เมื่อตอนผมยังเด็ก ยังไม่เข้าโรงเรียน พ่อผมสอนให้ผมอ่านหนังสือ ผมอ่านหนังสือออกตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน

ต่อมาผมเริ่มอ่านหนังสือธรรมมะ เล่มแรกยังจำได้ หนังสือนวโกวาท (โอวาทสำหรับพระบวชใหม่) ตอนนั้นพ่อผมจ้างให้อ่านและจำ และนำมาท่องให้ท่านฟัง ถ้าจำได้ท่านก็ให้ตังค์

ผมก็อ่านหนังสือธรรมมะเรื่อยมา จนชั้นประถม ตอนนั้นพี่สาวถูกชักชวนให้ไปเข้าศาสนาคริสต์ ไปโบสถ์ ได้รับหนังสือมาเล่มหนึ่ง คือ คัมคีร์ไบเบิ้ล ภาคพันธะสัญญาเก่า (ตั้งแต่พระเจ้าสร้างโลก จนถึงก่อนประสูตรพระเยซู) ผมก็อ่านนะ สนุกดี ได้ความรู้

การอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ล ทำให้ผมได้รู้ว่า ศาสนาแต่ละศาสนา ไม่เหมือนกัน เมื่อก่อนคิดว่า โลกคือพุทธศาสนา แต่พอได้อ่านหนังสือของศาสนาอื่นบ้าง จึงรู้ว่า โลกมีหลายศาสนา ศาสนาก็คือ ความเชื่อนั่นเอง ความเชื่อ หมายถึง อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้

ตลอดชีวิตผม อ่านหนังสือมามาก นับไม่ได้ว่าเท่าไร ไม่เฉพาะหนังสือธรรมมะเท่านั้น ผมอ่านทุกประเภท รวมทั้ง หนังสือโป๊ด้วย
การอ่านหนังสือหลาย ๆ อย่างทำให้เรารู้ว่า โลกไม่ได้มีแค่สิ่งดี ยังมีสิ่งร้าย ๆ ด้วย
ผมอ่านมาตลอด โดยเฉพาะช่วงตกงาน ผมขลุกอยู่แต่ในห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครหาดใหญ่ จนเจ้าหน้าที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี
หนังสือปรัชญากับหนังสือธรรมมะมีส่วนคล้ายกันหลายอย่าง เช่น การไม่ยึดติดกับสภาวะทางโลกสมมติ
จนเมื่อผมได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสหลายเล่ม แนวทางของท่านคล้ายเซน แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลายอย่าง
แนวคิดของท่านจะไม่เหมือนท่านอื่น เช่น "ความดีอยู่คู่กับความเลวมาแต่ไหนแต่ไร ความเลวช่วยขับสีของความดีให้เข้มขึ้น ให้มองเห็นได้ง่าย ถ้าไม่มีความเลว ความดีก็ไม่มีสิ่งเปรียบเทียบ"
ลูกศิษย์ของท่านก็มีหนังสือธรรมมะหลายเล่ม เช่น คุณลุงปุ่น จงประเสริฐ ก็เขียนหนังสือธรรมมะหลายเล่ม แนวคิดของท่านก็มาจากท่านพุทธทาสนั่นเอง เช่น คนเรามีวิญญาณหรือไม่
แนวคิดเหล่านี้เรียกว่า "โลกุตรธรรม" หรือ ธรรมที่อยู่เหนือโลก เหมาะสำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมมะมานานและต้องการทางออกของจิต
หนังสือเล่มท้ายๆ ที่ผมอ่านก็จะเป็นของ คุณน้า ศุภวรรณ กรีน (ไม่ใช่น้าผมหรอก แต่ผมเรียกคุณน้า) ท่านนี้เขียนหนังสือเล่าเรื่องที่ท่านบรรลุธรรม เมื่อตอนยังเป็นวัยรุ่น เรียกว่าบรรลุอรหันต์เลย ท่านปฏิบัติธรรมอยู่ตั้งแต่สาวจนเข้าวัยกลางคน  เคยไปนอนในถ้ำบนภูเขา คนเดียวหลายเดือน ตอนนี้ก็ตระเวนสอนธรรมมะอยู่แถวยุโรป มีเฟสบุ๊กด้วย พิมพ์ค้นว่า supawan green ก็จะพบ
ผมเคยคุยทางเมลกับท่าน ครั้งหนึ่ง แนวทางของท่านกับของผมคนละแนวกัน ศิษย์ของท่านไม่ค่อยพอใจผมสักเท่าไรแต่ทุกท่านก็สุภาพดีครับ
หนังสือที่ว่านี้คือ "อวดอุตริมนุสสธรรม"

คนเราต้องศึกษาก่อนครับถึงจะจับแนวทางของตนเองได้ ซึ่งแนวทางแต่ละคน ย่อมไม่เหมือนกัน

กิมหยง

ความรู้จากตำรา อาจขวางการบรรลุธรรม เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ ?
สร้าง & ฟื้นฟู

ปัจเจกพุทธ

ผมไปช่วยพ่อเป็นคนจัดงานศพอยู่ 6 ปี เห็นคนตายมามาก ส่วนนี้เองที่ทำให้ธรรมมะเข้าถึงได้ง่าย ปลงอะไร ๆ ได้ง่าย

จนพ่อผมถึงแก่กรรมเมื่อต้นปีที่แล้ว ผมจึงเลิกเป็นผู้จัดการงานศพ จริง ๆ แล้วงานนี้เป็นงานดีนะ แต่ผมคงทำต่อไม่ได้เพราะมีปัญหาเรื่องของพระ

คือพระวัดนี้อยู่แบบถูกตามใจ ไม่มีใครเคารพใคร ไม่มีพระรุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่มีใครตักเตือนใครได้ ไม่มีระเบียบวินัย นัดมาสวดแล้วไม่มา มาสาย ฉันแล้วนอนฉันแล้วนอน ขี้โมโห สมาธิสั้น โลภลาภสักการะ

ผมคิดว่าน่าจะอยู่ยาก เลยเลิกเป็น แต่ประสบการณ์งานนี้ก็ช่วยให้ผมบรรลุ อะไร ๆ ได้เยอะ

คุณหลวง

อ้างจาก: กิมหยง เมื่อ 11:08 น.  14 ก.ย 54
ความรู้จากตำรา อาจขวางการบรรลุธรรม เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ ?

ไม่ว่าความรู้จากที่ใด ก็อาจขวางการบรรลุธรรมได้หมด หากเรายึดติดกับมัน ท่านพุทธทาสเคยออกปากให้ศิษย์ของท่านไปอยู่ที่อื่น กับพระองค์อื่นๆ เมื่อเห็นว่าผู้นั้นเริ่มติดท่านมากเกินไปครับ
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

คุณหลวง

อ้างจาก: ปัจเจกพุทธ เมื่อ 11:09 น.  14 ก.ย 54
คือพระวัดนี้อยู่แบบถูกตามใจ ไม่มีใครเคารพใคร ไม่มีพระรุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่มีใครตักเตือนใครได้ ไม่มีระเบียบวินัย นัดมาสวดแล้วไม่มา มาสาย ฉันแล้วนอนฉันแล้วนอน ขี้โมโห สมาธิสั้น โลภลาภสักการะ


นั่นแหละครับ คือมูลเหตุที่ทำให้ผมเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา แต่เราก็ไม่ควรสนับสนุนพระพวกนี้ครับ
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

คุณหลวง

อ้างจาก: ปัจเจกพุทธ เมื่อ 11:02 น.  14 ก.ย 54

ลูกศิษย์ของท่านก็มีหนังสือธรรมมะหลายเล่ม เช่น คุณลุงปุ่น จงประเสริฐ ก็เขียนหนังสือธรรมมะหลายเล่ม แนวคิดของท่านก็มาจากท่านพุทธทาสนั่นเอง เช่น คนเรามีวิญญาณหรือไม่


    ปุ่น จงประเสริฐ เป็นศิษย์พุทธทาส และย่อความเทศนาของท่านพุทธทาสออกมามากมาย ดังที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่อง คู่มือมนุษย์ แปลออกไปหลายภาษามาก ย่อจากตุลาการิกธรรม ที่ท่านพุทธทาสแสดงให้แก่คณะผู้พิพากษา

    แต่เรื่องจิตวิญญาณ ภพ ชาตินี้ คุณปุ่น ตีความหมายที่ท่านพุทธทาสแสดงไว้อย่างไม่ตรงนัก การที่ท่านพุทธทาสเน้นย้ำเรื่องภพชาติแห่งจิต โดยวงจรปฏิจจสมุปบาทนั้น เป้าประสงค์ของท่านพุทธทาส คือ ไม่ต้องการให้คนไปยึดติดภพชาติอย่างเนื้อหนังมังสา เพราะว่าไม่สามารถสลัดทุกข์ได้

    เพราะทุกข์มันมีในที่นี่ เดี๋ยวนี้ การสลัดทุกข์ก็ต้องทำที่นี่ เดี๋ยวนี้ ซึ่งกลไกของการเกิดทุกข์ก็คือวงจรปฏิจจสมุปบาทครับ การยึดภพชาติแบบเนื้อหนัง แล้วยกผลทุกข์ผลกรรมไปไว้ชาติหน้าทำให้ธรรมะเป็นของไม่มีประโยชน์ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของชาวพุทธไทย ส่วนใหญ่มานาน อันมีผลมาจากการยึดถือตามตำราอรรถกถาบางเล่ม ท่านพุทธทาสท่านเล็งเห็นประโยชน์และโทษดังนี้ เลยเลี่ยงพูดเรื่องภพชาติแบบเนื้อหนังวัตถุ

    การที่ผมว่าเรื่องจิตวิญญาณ ภพ ชาตินี้ คุณปุ่น ตีความหมายที่ท่านพุทธทาสแสดงไว้อย่างไม่ตรงนัก ไม่ได้ตัดสินเองครับ เป็นท่านพุทธทาสเองที่แสดงไว้ในการแสดงธรรมเรื่อง ธรรมะน้ำล้างธรรมะโคลน อันเป็นเทศนาที่ยกเอาเรื่องต่างๆที่มีผู้โจมตีท่านไว้มารวบรวมชี้แจง

    ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านว่า คุณปุ่นก็มีทิฏฐิของเขาอยู่ในเรื่องนี้ ซึ่งท่านไม่จำเป็นต้องตามแก้ไข เพราะใครทำอะไรต้องรับผิดชอบเอง ส่วนผู้ที่ศึกษาจากคนอื่นแม้อ้างชื่อท่าน หากเห็นผิดไปก็คงมาโทษท่านไม่ได้ ลองหาอ่านดูครับ

    ส่วนที่ว่าทัศนะเรื่องนี้ของท่านพุทธทาสเป็นอย่างไรนั้น ผมขอยกเรื่องศิษย์หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ (วัดอะไรจำไม่ได้) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสมัยนั้นมีคำพูดว่า อยากฟังธรรมให้ไปหาพุทธทาส อยากกราบพระดีให้ไปหาหลวงปู่ดู่ แต่คำพูดที่ไหนนั้นต้องถามคนรุ่นนั้นครับ

    ศิษย์คณะนั้นของหลวงปู่ดู่ ได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่ดู่ และองค์ท่านปรารภเรื่องภพชาติ และพูดถึงท่านพุทธทาส ศิษย์บางคนแย้งว่า ท่านพุทธทาสไม่เชื่อเรื่องภพชาติ หลวงปู่ดู่จึงว่า ท่านพุทธทาสไม่ได้พูดอย่างนั้น

    ตกลงศิษย์ชุดนั้นก็ตัดสินใจลงมากราบท่านพุทธทาสเพื่อเรียนถามเรื่องนี้ แค่เพียงกราบเสร็จแล้วเงยขึ้นมาท่านพุทธทาสก็บอกว่า เรื่องที่สงสัยน่ะค่อยคุยกันนะ พักผ่อนเสียก่อน

   พอตกค่ำ ทั้งชุดก็มาหาท่านพุทธทาสอีกครั้ง ท่านพุทธทาสก็บอกว่า เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องนั้น แต่ที่เราไม่พูดเพราะจิตใจคนสมัยนี้มันหยาบเกินกว่าที่จะอธิบายกัน เรื่องนี้สามารถหาอ่านได้จากอินเตอร์เน็ต พิมพ์หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญแล้วหาไปเรื่อยๆครับ ผมอ่านเจอมานานพอควร ชักจะบอกไม่ถูกเหมือนกัน แต่หากอ่านเทศนาของท่านพุทธทาสไปเรื่อยๆมากๆจะแก้ข้อกังขานี้ได้ด้วยตัวเองครับ

    เพราะผมก็อ่านเรื่องภพชาติ ของคุณปุ่นมาก่อนที่จะอ่านพุทธทาส สงสัยอยู่ว่าท่านพุทธทาสพูดอย่างนั้นจริงหรือไม่ จนเข้าใจท่านครับ มาพบเรื่องของศิษย์หลวงปู่ดู่ก็เพียงรู้ในสิ่งที่ตนเข้าใจแล้วเท่านั้น เพียงท่านพุทธทาสไม่แสดงตรงๆอย่างพระหลายๆรูป ท่านยกมาบางครั้งเพื่อประกอบธรรมที่ท่านแสดงขณะนั้น แต่อย่างที่บอก อย่าถามว่าเรื่องอะไร จำไม่ได้ครับ แหะๆ  ส-เขิน

...
                                   
                                        ทุกข์ที่นี่ ดับที่นี่ นะที่รัก
                               เดี๋ยวนี้หนัก วางเดี๋ยวนี้ ที่รักเอ๋ย
                               เรื่องชาตินี้ ชาติหน้า วางไปเลย
                               ...................................(ต่อไม่ถูกครับ)
    มีความสุขทุกท่านครับ
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ปัจเจกพุทธ

แนวคิดของคุณลุงปุ่น จงประเสริฐ มาจากแนวคิดของท่านพุทธทาสครับ ส่วนแนวคิดนั้นจะแตกกิ่งก้านสาขาไปในแนวไหน ก็อีกเรื่องหนึ่ง

คุณหลวง

อ้างจาก: ปัจเจกพุทธ เมื่อ 17:57 น.  15 ก.ย 54
แนวคิดของคุณลุงปุ่น จงประเสริฐ มาจากแนวคิดของท่านพุทธทาสครับ ส่วนแนวคิดนั้นจะแตกกิ่งก้านสาขาไปในแนวไหน ก็อีกเรื่องหนึ่ง

    ลองอ่านผมบอกก่อนครับ เพราะว่าท่านเรียนมาจากพุทธทาสแต่ที่ท่านพูดมิใช่สิ่งที่ท่านพุทธทาสสอนครับ ท่านตีความแตกไปตามทิฏฐิท่านครับ(เฉพาะเรื่องภพ ชาตินะครับ)

    มันไม่ใช่การแตกกิ่งก้านหรอกครับ แต่ผมคงไม่คัดค้านท่านหรอก แต่ศึกษาก่อนครับ ท่านพุทธทาสมีประโยคหนึ่งว่า "หากใครเรียนรู้จากผู้อื่นที่มิใช่ท่าน แม้อ้างชื่อท่าน อ้างว่าเรียนจากท่าน แล้วความรู้นั้นผิดไปจากท่านจะมาโทษท่านทีหลังไม่ได้ ใครพูดใครทำก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง ส่วนผู้ที่เรียนผิดๆต่อไป ก็โทษท่านไม่ได้ เพราะไม่ศึกษาให้ดีเอง"

    แต่อ่านเรื่อง ธรรมะน้ำล้างธรรมะโคลน ก่อนครับ แล้วจะเข้าใจว่าเป็นกิ่งก้านหรือถือมาผิด

สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ปัจเจกพุทธ

อ้างถึงลองอ่านผมบอกก่อนครับ เพราะว่าท่านเรียนมาจากพุทธทาสแต่ที่ท่านพูดมิใช่สิ่งที่ท่านพุทธทาสสอนครับ ท่านตีความแตกไปตามทิฏฐิท่านครับ(เฉพาะเรื่องภพ ชาตินะครับ)

    มันไม่ใช่การแตกกิ่งก้านหรอกครับ แต่ผมคงไม่คัดค้านท่านหรอก แต่ศึกษาก่อนครับ ท่านพุทธทาสมีประโยคหนึ่งว่า "หากใครเรียนรู้จากผู้อื่นที่มิใช่ท่าน แม้อ้างชื่อท่าน อ้างว่าเรียนจากท่าน แล้วความรู้นั้นผิดไปจากท่านจะมาโทษท่านทีหลังไม่ได้ ใครพูดใครทำก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง ส่วนผู้ที่เรียนผิดๆต่อไป ก็โทษท่านไม่ได้ เพราะไม่ศึกษาให้ดีเอง"

    แต่อ่านเรื่อง ธรรมะน้ำล้างธรรมะโคลน ก่อนครับ แล้วจะเข้าใจว่าเป็นกิ่งก้านหรือถือมาผิด


ผมอ่านหนังสือมาก ๆ ไม่ได้แล้วครับ ใครมีแนวยังงัยคงไม่สำคัญเท่าไหร่

คุณหลวง

? อาจารย์ครับ แล้วคุณปุ่น จงประเสริฐ มาช่วยอาจารย์ในด้านพิมพ์หนังสือได้อย่างไรครับ

          ไม่ได้ช่วย แกพิมพ์ของแกเอง แกเป็นคนมีความคิดโลดโผน เมื่อว่างจากราชการแล้ว ก็มุ่งจะเล่นงานพระอลัชชี แล้วแกก็มักพิมพ์หนังสือแต่เรื่องชนิดนี้ โดยมากเขาตัดตอนหรือคัดย่อไปจากหนังสือของเรา อย่างตำราดูพระ ก็ตัดตอนไปจากขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ คู่มือมนุษย์ นี่คุณปุ่นก็ทำก่อน ย่อมาจากชุดอบรมผู้พิพากษาปีแรก ต่อมาผมมาปรับปรุงขึ้นให้มาตรฐานอีกทีหนึ่ง

          บางเรื่องเขาย่อแล้วเขาก็ไม่ได้บอกไว้ชัดเจน เขาตัดข้อความบางตอนออก ทำให้คนเข้าใจผิด คนที่เขาแกล้งหาเรื่อง หรือเขาไม่รู้ เขาก็เล่นงานผม บางอย่างแกย่อแล้วแกก็ใส่ความคิดของแกเอง อย่างเรื่องตายแล้วเกิด ไม่เกิด เป็นต้น แกทำของแกเอง ไม่ได้ขออนุญาตผม ผมก็ไม่ได้ห้ามปรามอะไร แล้วก็ไม่มีเวลาจะไปอ่านหนังสือของคุณปุ่นด้วย มันเดาถูกว่าแกจะว่าอย่างไร โดยมากเขาติดต่อกับนายธรรมทาส

          ตอนจะบวชถึงมาติดต่อกับผม มีคนเขียนมาด่าผมว่าสอนเป็นนัตถิกทิฏฐิ ตายแล้วไม่เกิด ความจริงมันคุณปุ่นทั้งนั้น ผมมาเห็นเข้ามันเกิดเรื่องแล้ว คุณปุ่นก็ถูกด่าแยะเหมือนกัน ถูกบัตรสนเท่ห์ด่า คุณไสว แก้วสม ก็เหมือนกัน คัดไปแล้วเอาไปพูดจนเลยเถิด แต่ผมไม่สนใจ ใครจะว่าอย่างไรก็ว่า ไม่รู้สึกอะไรด้วย หลักฐานมันมีอยู่แล้ว ว่าเราพูดจริง ๆ เป็นอย่างไร ในหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้


อัตชีวประวัติของท่านพุทธทาส
เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา
พระประชา ปสนฺนธมฺโม  สัมภาษณ์ บทที่ ๕ ทำหน้าที่พุทธทาส ประกาศพุทธธรรม

งั้นก็อ่านแบบสั้นๆครับท่าน
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป