ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สนข.รับฟังความเห็นตั้งกรมขนส่งทางราง

เริ่มโดย ฅนสองเล, 16:07 น. 02 ก.พ 58

ฅนสองเล

สนข.รับฟังความคิดเห็นการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง พร้อมระบุมีบทบาทสำคัญการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศใอนาคต ด้านสหภาพฯ รฟท.สนับสนุน แต่ขอศึกษาข้อกฎหมายและผลกระทบบุคลากร

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม
เป็นประธานเปิดรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหัวข้อ "การจัดตั้งกรมขนส่งทางราง" โดยเชิญตัวแทนหน่วยงานสำคัญ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมรับฟังกว่า 300 คน โดยระบุว่าการขนส่งทางรางที่จะเป็นอนาคตสำคัญระบบคมนาคมของประเทศในอนาคต นอกจากจะเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างหัวเมืองใหญ่ ๆ แล้วยังจะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ดังนั้น จึงเป็นบทบาทสำคัญของภาครัฐที่ต้องกำกับดูแลให้การขนส่งทางรางในอนาคตมีมาตรฐานความปลอดภัยและการให้บริการที่มีมาตรฐานสากล

ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุดการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางนั้น ปลัดคมนาคม กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งมีการดำเนินการส่งคำชี้แจงจัดตั้งกรมฯ ให้คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อนำความเห็นส่งคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และขั้นตอนสำคัญของการดำเนินการช่วงแรกจัดตั้งกรมฯ จะมีการเปลี่ยนผ่าน 2-10 ปี เพื่อดูแลบุคลากรและโครงสร้างตามกฎหมายที่จะมีในอนาคต

ด้านนายอำพน ทองรัตน์ ประธานสหภาพฯ รฟท. กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางที่จะมีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อดูแลบทบาท การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางราง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการลดภาระหนี้จากการลงทุนในอดีต นอกจากนี้ เห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้เอกชนบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ รฟท. ซึ่งมีพื้นที่จำนวนมากเพื่อให้เกิดรายได้แก่องค์กรในอนาคต ส่วนการยกร่างกฎหมายกำกับดูแลกรมการขนส่งทางรางและโครงสร้างการลงทุนในอนาคตนั้น ทางสหภาพฯ ต้องติดตามรายละเอียด เพื่อดูข้อกฎหมายและผลกระทบต่อบุคลากร รฟท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางตามผลศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นั้น บทบาทของกรมฯ จะกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นการแก้ปัญหาตรงจุด ที่ผ่านมาการลงทุนทั้งการก่อสร้างทางและการจัดซื้อหัวรถจักร รฟท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต้องหาแหล่งเงินกู้และเป็นภาระหนี้สินในองค์กร ปัจจุบัน รฟท.มีภาระหนี้และขาดทุนสะสมกว่า 100,000 ล้านบาท ในอนาคตเมื่อมีกรมฯ จะรับภาระดังกล่าวมาดูแล เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนโครงการลงทุนของภาครัฐ เช่น รถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร หรือรถไฟทางคู่ทั่วประเทศเกิดเร็วขึ้น หลังจากที่ผ่านมาการลงทุนดังกล่าวแต่ละโครงการล่าช้าไม่น้อยกว่า 4-5 ปี

[attach=1]
ที่มา.- สำนักข่าวไทย http://www.tnamcot.com/