ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

เริ่มโดย คุณหลวง, 10:12 น. 19 ก.ย 54

คุณหลวง

    เริ่มชื่อหัวข้อว่า เป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

    ผมเริ่มต้นสนใจพระพุทธศาสนาตอนที่บวชไประยะเวลาหนึ่ง(ตอนนี้ลาสึกมา ๒ ปีแล้วยังสนใจอยู่เรื่อยๆ)ด้วยเหตุที่ว่า การบวชครั้งนั้นแม้ว่าตอนแรกต้องการบวชเพียงผ่านพ้นประเพณีเสียทีเท่านั้น แต่เมื่ออยู่ๆมากลับพบความสงสัยในพระพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเป็นอยู่ที่กิน นอน สวด หาสาระแทบไม่ได้

    ความที่ผมสวดเป็นมากกว่าและเสียงดังกว่าคนอื่น หลวงตาท่านจึงพาผมติดไปด้วยเสมอ เพราะท่านอายุมากแล้ว เสียงท่านน้อยเต็มที แต่ความที่ท่านต้องการเสียงของผมช่วยนี่เองก่อปัญหาแก่เพื่อนบางรูปที่คิดว่าผมเอาใจหลวงตาเพื่องานสวด(ปกติทุกเย็นผมจะเข้าไปเก็บกวาดกุฏิ เทกระโถนให้ท่าน)

    เมื่อเพื่อนบางรูปคิดอย่างนั้นก็เกิดการกระแนะกระแหน และมากถึงขั้นที่ไปแอบหลังกุฏิหลวงตาเวลาที่ผมเข้าไปหาท่านเพื่อรู้ว่าผมพูดคุยอะไรกับหลวงตา ช่วงนั้นเลยเกิดความอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง ผมตัดปัญหาด้วยการเลิกการปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ แม้รู้ว่าไม่ดี แต่ขี้เกียจมีปัญหา และมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายอย่างไรจึงประทานการบวชให้คนทั่วๆไป

    การได้พบหนังสือประวัติหลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จึงมีความหวังบ้างว่า พระพุทธศาสนาจะต้องมีดีมากพอที่ทำให้คนหลายคนสละความสุขสบาย สละชีวิตเพื่อเรียนรู้ หลังจากนั้นจึงศึกษามาเรื่อยๆแบบไม่เร่งร้อน เพียงต้องการคำตอบแก่ตนว่า พระพุทธเจ้าประทานการบวชทำไม เท่านั้นเอง

    ผมพบความเป็นนักเลงของพระพุทธเจ้า นักเลงที่หมายความถึงคนใจใหญ่น่ะครับ พระองค์มิได้มองความทุกข์ส่วนตัว แต่กลับมองกว้างว้าคนทั้งหลายมีความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ไม่มีใครรู้วิธีการพ้นทุกข์ จึงสละตัวเองออกมาเพื่อค้นหาสิ่งนั้น ทรงศึกษาจากครูบาอาจารย์หลายท่าน เมื่อเห็นว่าไม่สิ้นทุกข์ก็ศึกษาต่อไปจนบรรลุผลด้วยตนเองในที่สุด

    พระองค์มิเคยงอนง้อให้ใครมาเชื่อพระองค์ ซ้ำยังกล่าวว่า ผู้ที่เชื่อโดยง่ายดายนั้นมิใช่ศิษย์ของพระองค์ จะต้องพินิจพิจารณาและทดลองให้เห็นจริงเสียก่อน(ตัวอย่างเช่นกาลามสูตร) และในพระสูตรมีครั้งหนึ่งว่า เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบลง ทรงหันมาถามพระสารีบุตรว่า เธอเชื่อสิ่งที่เราพูดหรือไม่ พระสารีบุตรทูลตอบว่า ยังไม่เชื่อพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะเชื่อต่อเมื่อได้พิจารณาเห็นแจ้งด้วยตนแล้วเท่านั้น

    พระพุทธองค์ตรัสสาธุการแก่พระสารีบุตร แล้วกล่าวกับภิกษุทั้งหลายในที่นั้นว่า อย่าเพิ่งเชื่ออะไรโดยง่ายดาย จงพิจารณาให้เห็นจริงด้วยตนเสียก่อน อย่างเช่นพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง

    เป้าหมายสูงสุดในแง่ที่ผมพูดถึงนี้ก็คือ การที่พระพุทธองค์ทรงมีความมุ่งหมายให้คนเรามี ความเป็นตัวของเองถึงที่สุด ไม่มีความยึดติดในบุคคลหรือสิ่งใดๆ

    ปกติจิตของคนเรามิได้มีความเป็นตัวของตัวเอง เนื่องจากเราถูกล้อมกรอบด้วยความเชื่อ ความรู้ที่เราได้รับ ความศรัทธาในตัวบุคคล ความอยากของจิตใจ ความไม่อยากของจิตใจ ความรัก(หลง)ในจิตใจ ฯลฯ พระองค์ทรงสอนให้เรามีความเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะมองอะไรๆด้วยสาระที่แท้จริงมากกว่ารูปแบบภายนอก

    และหากมีคำถามว่า เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่นิพพานหรือ คำตอบคือ พระนิพพานนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองสูงสุดอยู่แล้วครับ(ภาษาคนเพื่อการสื่อสารครับ อย่าแย้งด้วยภาษาธรรม เพราะหากจะคุยด้วยภาษาธรรมก็ไม่มีอะไรจะพูดครับ) พระนิพพานมิเคยงอนง้อสถานที่ เวลา มิงอนง้อบุคคล มิมีอะไรมากระทบให้พระนิพพานนั้นเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติได้ ดังนั้น คนที่เป็นตัวของตัวเองถึงที่สุดในความหมายนี้ก็คือถึงนิพพานนั่นเอง

    พระพุทธองค์ประสงค์ให้เราเป็นอิสระที่สุด ไม่ให้แม้กระทั่งพระองค์เองมาเป็นตัวกีดกั้นให้เราขาดความเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้น การยึดติดพระพุทธเจ้าด้วยความเชื่อก็เป็นตัวการกั้นขวางการเข้าถึงพระธรรม พระธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นสิ่งสูงสุดที่พระองค์เองก็มีสิ่งเคารพเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น

    การปฏิบัติธรรมจึงต้องละวางทุกสิ่งทุกอย่างออกไปขณะที่ปฏิบัติ อย่างเซ็นมีประโยคหนึ่งว่า ก่อนปฏิบัติธรรม ภูเขาก็เป็นภูเขา แม่น้ำก็เป็นแม่น้ำ ขณะปฏิบัติธรรมภูเขามิใช่ภูเขา แม่น้ำมิใช่แม่น้ำ หลังปฏิบัติธรรม ภูเขาเป็นภูเขา แม่น้ำเป็นแม่น้ำ และ หากพบพระพุทธเจ้าขณะปฏิบัติธรรมให้ฆ่าเสีย ซึ่งก็หมายความว่า อย่าให้อะไรๆมากั้นขวางความเป็นอิสระของจิตได้

    แล้วความรู้ที่แท้จริงจะบังเกิดขึ้น
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

Mr.No

เป็นกระทู้ที่อ่านแล้วแช่มชื่นหัวใจดีจริง ๆครับ...  ส.ยกน้ิวให้
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

ปัจเจกพุทธ

สำหรับผม นิพพานมีค่า น้อยกว่าการได้ช่วยเหลือผู้อื่น

คุณหลวง

สะบายดี...

อ้างจาก: Mr.No เมื่อ 21:20 น.  26 ก.ย 54
เป็นกระทู้ที่อ่านแล้วแช่มชื่นหัวใจดีจริง ๆครับ...  ส.ยกน้ิวให้

สาธุครับ.... ส.สู้ๆ

อ้างจาก: ปัจเจกพุทธ เมื่อ 12:28 น.  27 ก.ย 54
สำหรับผม นิพพานมีค่า น้อยกว่าการได้ช่วยเหลือผู้อื่น

สาธุครับ....  ส.ยกน้ิวให้

    พระพุทธองค์ทรงค้นพบพระธรรมเพราะเริ่มต้นจากการที่พระองค์เห็นทุกข์ และปรารถนาที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ แต่พระองค์จำเป็นต้องดับทุกข์ของตนให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อนเท่านั้นเองครับ
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ทำดีได้ดี

เป้าของศาสนาพุทธ คือ การสอนให้เป็นคนดี  ไม่เบียดเบียนสัตว์โลกให้ได้รับความเดือดร้อน

คุณหลวง

อ้างจาก: ทำดีได้ดี เมื่อ 13:29 น.  29 ก.ย 54
เป้าของศาสนาพุทธ คือ การสอนให้เป็นคนดี  ไม่เบียดเบียนสัตว์โลกให้ได้รับความเดือดร้อน

    สะบายดี...

    อันนี้อาจจะเรียกว่าเป้าได้ในระดับหนึ่งครับ แต่ความจริงในทางพระพุทธศาสนามิใช่เป้าครับ เป็นทางผ่าน หรือเป็นขั้นตอนแรกๆของการปฏิบัติเพื่อถึงเป้าหมายครับ

    เป้าสูงสุดและแท้จริงของพระพุทธศาสนาคือการดับวัฏฏสงสารในจิตใจได้เท่านั้นครับ อย่างพระพุทธเจ้่าตรัสว่า ท่านกล่าวแต่เรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น

    เพียงแต่ว่าเมื่อพูดกับคนที่ปัญญาระดับรองลงมา อย่างที่ท่านเปรียบบัว ๓ เหล่า (พระบาลีท่านเปรียบบัวแค่ ๓ ครับ แต่บัวที่ ๔ นั้นมาในอรรถกถา) บัวระดับเหนือน้ำท่านก็พูดเรื่องดับทุกข์ทันที และเขาสามารถเข้าใจได้ อย่างพระพาหิยะ เป็นต้น ท่านตรัสเพียงแค่ ให้ทำความรู้สึกว่าเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ฯลฯ เมื่อทำจิตดังนี้ได้ ท่านก็ไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกหน้า ไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง ความทุกข์ก็จะดับสิ้นไป ท่านพาหิยะก็บรรลุธรรม

    แต่เมื่อพูดกับระดับรองลงมา ท่านต้องปูพื้นฐานให้ครับ คือ การละชั่ว ทำดี และสูงสุดคือการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ดังนั้น เป้าอย่างเดียวในพระพุทธศาสนาที่พระองค์ประสงค์คือการดับทุกข์ได้เท่านั้นครับ ซึ่งเมื่อเข้าถึงระดับดับทุกข์ได้ก็จะไม่มีการเบียดเบียนใดๆอีก (แม้คนมิจฉาทิฏฐิจะว่าเบียดเบียนหรือขวางความเจริญก็ตาม)

    พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จิตเรามีความผ่องใสมาแต่เดิม แต่มาเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรเข้ามา ลองสังเกตุสิครับ เวลาปกติ เรามีความสงบและความสุข มิมีความต้องการไปทางความผิดหรือสร้างเหตุแห่งทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตัวหรือใครเลย เพียงเมื่อกิเลสจรเข้ามา เพราะความรู้สึกความเป็นตัวเรา-ของเราบังเกิดขึ้นนั้นจากการที่เราไม่เท่าทันต่อผัสสะที่มากระทบ เราก็รับเอากิเลสนั้นมาเป็นตัวตนของเราจนเป็นแรงผลักให้เราทำสิ่งต่างๆตามความคิดที่ขาดสติควบคุมนั้นได้ครับ

    การปฏิบัติธรรมจึงเป็นการฝึกความรู้ตัว รู้ทันความรู้สึกในจิตใจ เมื่อรู้ทันความรู้สึกแล้ว ความรู้สึกนั้นจะไม่ถูกนำมาเป็นตัวตนของเรา เราก็สามารถทำอะไรด้วยความอิสระ(แห่งจิต)อย่างเต็มที่ ซึ่งจิตที่เป็นอิสระจากแรงเร้านั้นจะเป็นจิตที่สะอาด บริสุทธิ์ครับ เพราะไม่เจือด้วยความชั่ว ความดี หรือความไม่ชั่วไม่ดีแต่อย่างใด

     ส.อืม
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

เด็กซอย5

ผมว่าการพ้นทุกข์  คือเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ครับ

คุณหลวง

    สะบายดี...

อ้างจาก: เด็กซอย5 เมื่อ 20:33 น.  03 พ.ย 54
ผมว่าการพ้นทุกข์  คือเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ครับ

    จิตที่พ้นทุกข์ได้ ก็คือจิตที่เป็นอิสระจากแรงเร้านั่นล่ะครับ ไม่มีอะไรครอบงำจิตได้นั่นเอง ท่านพูดเป็นนัยหนึ่งว่าเป็นจิตที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นทาสของแรงเร้า คืออารมณ์ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแหละครับ ความหมายเดียวกัน หรือภาษาเซ็นมีสำนวนว่า เข้าถึงจิตเดิมแท้

    ขอบคุณครับ

สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป