ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

นายกฯ ย้ำกับนักธุรกิจญี่ปุ่น กม.พิเศษไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ยกเว้นผู้สูญเสียทางการ

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 16:48 น. 09 ก.พ 58

หาดใหญ่ใหม่

โตเกียว  9 ก.พ.-นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์งานเลี้ยงอาหารกลางวัน ที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ย้ำรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ เพราะความจำเป็น และไม่ต้องการอยู่ยาว ขณะเดียวกัน การบริหารงานก็เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพียงมีกฎหมายพิเศษเพิ่มเข้ามา เพื่อดูแลประชาชน นักท่องเที่ยว และการลงทุนของต่างชาติ ให้เกิดความเชื่อมั่น ไม่มีใครเดือดร้อน ยกเว้นผู้สูญเสียทางการเมือง ยืนยันเดินหน้าตามโรดแมป พร้อมขอให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุน เพื่อขยายต่อไปยังอาเซียน

"รวีวรรณ สมรภูมิ" ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ที่ติดตามภารกิจการเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ รายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารกลางวัน  ที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคนดันเรน) จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า  ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาช้านาน และการเดินทางเยือนครั้งนี้ สิ่งที่คาดหวังมี 2 ประการ คือ การแสวงหาความร่วมมือ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่นให้มากขึ้นกว่าเดิม และแก้ปัญหาที่ติดขัดให้หมดไปโดยเร็ว รวมทั้ง พัฒนาความสัมพันธ์ในมิติใหม่ต่อไป ส่วนการเป็นประชาธิปไตยของไทย ยืนยันจะเดินหน้าตามแผนโรดแมปที่วางไว้ให้เร็วที่สุด  เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นอีกในวันข้างหน้า

"ยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ต้องการอยู่ในอำนาจยาวนาน การที่เข้ามาบริหารประเทศครั้งนี้ เพราะเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง" นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า  การจะเกิดประชาธิปไตยที่ยั่งยืนอย่างถาวรได้นั้น จะต้องเกิดจากปัจจัย 3 ประการ คือ รัฐบาล ประชาชนในประเทศ และการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้าน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  ตลอดระยะเวลาที่บริหารประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นเวลา 8 เดือน  รัฐบาลบริหารตามระบอบประชาธิปไตยเหมือนประเทศอื่นๆ คือ มีรัฐบาลชั่วคราว ใช้ระเบียบราชการแผ่นดินตามปกติ มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และมีเพียงกฎหมายพิเศษที่เพิ่มเข้ามาเท่านั้น  เพื่อให้เกิดความสงบสุขเรียบร้อย ในการบริหารประเทศ เดินหน้าปฏิรูปประเทศ ตลอดจนเพื่อดูแลประชาชน

"เพราะไม่มีใครสามารถรับรองกับผมได้ว่า มันจะเกิดเหตุการณ์สงบหรือไม่สงบเรียบร้อยอีกหรือไม่  หากการบริหารประเทศเดินหน้าไม่ได้ แล้วใครจะมาดูแลประชาชนในประเทศ ดูแลนักท่องเที่ยว และธุรกิจของนักลงทุนในไทยที่มีมหาศาล จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้กฎหมายนี้ดูแลท่าน การมีกฎหมายพิเศษ ก็เพื่อให้ท่านมั่นใจ ไม่ได้มีไว้ไม่ให้เชื่อมั่น"  นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากทุกรัฐบาล ทำได้อย่างที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำ คงไม่เกิดปัญหาเหมือนปี 2549 และ 2557 จึงขอฝากให้ช่วยดูรัฐบาลที่จะมาต่อไปด้วยว่า จะพัฒนาศักยภาพได้อย่างไร ให้มีธรรมาภิบาล อย่างที่รัฐบาลญี่ปุ่นมี เพื่อไม่ให้เหตุการร์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นอีก เพราะส่วนตัวก็ไม่รับรองว่า เหตุการณ์จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่  เพราะปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากการเมืองทั้งสิ้น

"ปัญหาไม่ได้เกิดจากผม นายกรัฐมนตรีบางท่านอาจจะเห็นว่า ผมเป็นรัฐบาลที่เข้ามาจากการควบคุมอำนาจ แต่ผมอยากถามว่า วันนี้ผมได้ทำให้ใครเดือดร้อนหรือไม่  ทุกประเทศ ทุกธุรกิจ มีใครเดือดร้อนบ้าง มีอย่างเดียวคือผู้ที่สูญเสียทางการเมือง  ท่านต้องให้ความเป็นธรรมกับผมด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นมองด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้มองในแง่ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลกด้วย เพราะญี่ปุ่นอยู่ในหลายสถานะ และมีขีดความสามารถสูงในทางเศรษฐกิจ ที่จะสามารถสนับสนุน เพิ่มขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านให้กว้างขวางมากขึ้น  ดังนั้น การลงทุนในไทยให้เป็นศูนย์กลาง จะสามารถขยายความร่วมมือไปยังอาเซียน ทำให้ญี่ปุ่นขยายธุรกิจได้มากขึ้นด้วย

"ไทยยืนยันยึดมั่นใน วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน ที่จะเริ่มในปี 2015 ถึง 2010  หากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะส่งให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำต่อ  โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันจะวางรากฐานทั้งหมดไว้  ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่จะต้องดูแล เพราะหากเศรษฐกิจดี ประชาธิปไตยก็จะดีตามไปด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องการให้ญี่ปุ่นดูแลสินค้าเกษตร ทั้งข้าวและยางพารา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยไทยสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างนวัตรกรรมใหม่ๆ และขณะนี้ไทยได้ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยยึดแนวทางของประเทศญี่ปุ่น คือการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

"รัฐบาลจึงอยากให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย ทั้งระบบราง และเขตเศรษฐกิจทวาย ซึ่งหากสำเร็จ ก็จะส่งผลดีกับไทยและญี่ปุ่น และขอให้ญี่ปุ่นเร่งการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ FTA และอยากให้ร่วมสานต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ทัดเทียมนานาประเทศ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

[attach=1]

ที่มา .- สำนักข่าวไทย http://www.tnamcot.com/
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน