ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

1 เดือนของผู้หญิง กับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง

เริ่มโดย เสาร์ซ่า, 16:49 น. 17 ก.พ 58

เสาร์ซ่า

มาเรียนรู้ฮอร์โมนภายในร่างกายที่มีผลกระทบต่อคุณสาว ๆ ที่จะต้องเจอในแต่ละเดือน

         ในทุกรอบเดือนสาว ๆ จะต้องพบเจอกับอาการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบมากมายต่อการใช้ชีวิต บางรายก็มีอาการหนักถึงขั้นจนต้องนอนพักเป็นวัน ๆ เพื่อให้อาการทุเลาลง เสียทั้งงาน เสียทั้งเวลา แต่รู้หรือไม่คะว่าอาการเหล่านั้นเป็นผลกระทบมาจากเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ในทุก ๆ เดือน ว่าแต่อาการที่มาจากผลกระทบการฮอร์โมนในร่างกายของคุณผู้หญิงมีอะไรบ้าง

       สัปดาห์ที่ 1

         สัปดาห์ที่ 1 เริ่มนับจากวันที่ประจำเดือนมาวันแรกนั่นเอง โดยตามปกติแล้วผู้หญิงจะมีรอบเดือนอยู่ที่ 28 วัน แต่ในผู้หญิงบางคนอาจจะสามารถมีรอบเดือนได้ 21 ถึง 40 วัน เลย และรอบเดือนสามารถขาดได้หากตั้งครรภ์หรือเกิดความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย

         โดยในช่วงสัปดาห์แรกนี้ ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายจะลดลงอย่างฮวบฮาบจนเหลือน้อยมากจนเกือบศูนย์ ส่วนเอสโตรเจนก็ลดลง ทำให้สาว ๆ บางคนเกิดอาการปวดหัวในช่วงวันแรก ๆ ของการมีประจำเดือน แต่อาการนี้จะหายไป เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนกลับมาเริ่มสูงขึ้น

         ในช่วงที่เป็นประจำเดือนมดลูกจะเกิดการหดตัวเนื่องจากการหลั่งสารโพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ออกมาเป็นจำนวนมากซึ่งอาจทำให้มีผลกระทบต่อระบบลำไส้และเกิดอาการท้องเสียหรือท้องผูกได้ค่ะ


       สัปดาห์ที่ 2

         ในช่วงสัปดาห์นี้ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนยังคงเหลือน้อยเท่ากับสัปดาห์ที่ 1 แต่เอสโตรเจนจะเพิ่มขึ้น ช่วงนี้จะมีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมา ทำให้ประสาทการรับรู้ความเจ็บปวดต่าง ๆ รับรู้ได้น้อยลง แต่ในผู้หญิงบางคนความต้องการทางเพศจะสูงขึ้นในช่วงปลาย ๆ ของสัปดาห์นี้ ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นของการตกไข่ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากสัปดาห์นี้ และในช่วงนี้อวัยวะเพศจะใหญ่ขึ้นประมาณ 20% และเกิดอาการเลือดคั่งในช่วงวันที่ 14 ของรอบเดือน

       สัปดาห์ที่ 3

         ช่วงนี้จะเป็นช่วงตกไข่ ระดับของเอสโตรเจนจะลดลงประมาณ 1 - 2 วัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการปวดอันเนื่องมาจากการตกไข่ และหลังจากไข่ตกแล้ว ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนก็จะเริ่มเพิ่มระดับขึ้น ทำให้อาการคัดเต้านมลดลงและประสาทการรับรู้ความเจ็บปวดต่าง ๆ ก็จะมีมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนชนิดนี้ก็อาจส่งผลให้สาว ๆ รู้สึกว่าตัวเองมีอาการบวมน้ำ เหมือนอ้วนขึ้น และป้ำ ๆ เป๋อ ๆ

       สัปดาห์ที่ 4

         สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ก่อนที่ช่วงรอบเดือนจะมาถึงอีกครั้ง ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่จะเกิดอาการ PMS คัดเต้านม และท้องอืดขึ้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติก็จะเริ่มลดลงอีกครั้งในช่วง 48 ชั่วโมงก่อนเริ่มต้นรอบเดือนใหม่ ซึ่งการลดลงของฮอร์โมนจะทำให้เกิดความอยากอาหารมาขึ้นเป็นพิเศษอีกด้วย เราถึงรู้สึกหิวบ่อย ๆ กินจุบกินจิบไม่หยุดสักทีในช่วงนี้


         การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงกันไปไม่ได้ ดังนั้นสาว ๆ ก็ควรจะทำความเข้าใจและคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายบ่อย ๆ นะคะ รวมทั้งช่วงที่ประจำเดือนมา ถ้าเดือนไหนเกิดอาการผิดปกติอย่างเช่นปวดท้องมากผิดปกติทั้งที่ไม่เคยปวดมาก่อน หรือประจำเดือนมามาก มาน้อยกว่าปกติ ก็ควรจะไปพบแพทย์ เพราะนั่นอาจจะเป็นสัญญาณบอกโรคบางอย่าง อย่างเช่น เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ ช็อกโกแลตซีสต์ หรือแม้แต่โรคมะเร็งรังไข่ก็เป็นได้นะคะ

ที่มา kapook.com

นายไข่นุ้ย

DO YOU KNOW ME? I AM A CAT 28 YEARS. AND YOU?    แมวแท้สู (แมวยิ้ม)