ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ดีเอสไอแฉอำนาจมืดบีบล้มคดีพันธรรมกาย

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 15:36 น. 06 มี.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

โดย คมชัดลึก http://www.komchadluek.net/detail/20150306/202501.html

ปปง.รับตรวจสอบที่ดินวัดพระธรรมกาย ด้านดีเอสไอแฉมีกลุ่มเคลื่อนไหวล็อบบี้ สั่งห้ามทำคดีวัดพระธรรมกาย พร้อมส่ง จนท.สอบมูลนิธิพระครูปลัดวิจารณ์โยงรับเช็คฉาว

               ความคืบหน้าในการติดตามเส้นทางการเงินยักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ที่โยงใยผ่านคนหลายกลุ่ม โดยการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า กลุ่มผู้ยักยอกได้ตีเช็คโอนเงินจำนวนกว่า 800 ล้านบาทไปให้พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และพระลูกวัดหลายรูป ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบธุรกรรมการเงินในคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ผ่านการสั่งจ่ายเช็ควงเงิน 11,000 ล้านบาทว่า คดียักยอกทรัพย์สหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่นต้องแยกระหว่างการตรวจสอบวัดพระธรรมกาย และบุคคลที่กระทำผิดออกจากกัน เพราะเรื่องวัดเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ดังนั้น ปปง.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องคดีอาญาที่ตัวบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยเป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ ปปง.จะเข้าไปดูเฉพาะรายละเอียดเรื่องทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด

               อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้ว บุคคลใดที่รับทรัพย์สินที่ได้ไปจากการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงินจะมีความผิดทางอาญาฐานร่วมกันฟอกเงินหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาว่า บุคคลนั้นรู้หรือไม่ว่าทรัพย์ที่ได้รับมาเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการฟอกเงิน ถ้าชี้แจงได้ก็ไม่มีความผิดอาญา แต่ทรัพย์จะต้องถูกอายัด เช่นเดียวกับกรณีของนายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ ดาราชื่อดัง ผู้ซื้อรถยนต์ต่อจากผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน

               ขณะที่ นายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล ผู้บริหารบริษัท เอส.ดับบลิว. โฮลดิ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เข้าชี้แจงต่อ ปปง. หลังถูกอายัดทรัพย์ เนื่องจากพบเส้นทางเงินที่เกี่ยวพันกับการยักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นนั้น พ.ต.อ.สีหนาถ กล่าวว่า คำชี้แจงของนายสถาพร คงไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะต้องเสนอให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาในการประชุมวันที่ 17 มีนาคม

               ส่วนที่ถามว่า ปปง.จะเข้าไปตรวจสอบสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มงคลเศรษฐี ซึ่งมีชื่อรับเช็คจากนายศุภชัยด้วยหรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังไม่สามารถให้ละเอียดได้ เพราะคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ส่วนประเด็นที่คณะกรรรมการปฏิรูปเสนอให้ ปปง.ไปตรวจสอบการครอบครองที่ดินของวัดพระธรรมกายนั้น ปปง.กำลังตรวจสอบไม่ได้นิ่งเฉย

               เกี่ยวกับประเด็นที่ ปปง.มีคำสั่งอายัดทรัพย์ บริษัท เอส.ดับบลิว.ฯ หลังจากตรวจเส้นทางการเงินพบนายศุภชัยได้โอนเงินจำนวนหลายสิบล้านเข้ามาที่บริษัทดังกล่าวนั้น แหล่งข่าวจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า นายสถาพรได้เข้าให้การโต้แย้งคำสั่งโดยระบุว่า บริษัทประกอบธุรกิจค้าอัญมณีและของเก่า รวมถึงการรับจำนำและค้าขายทั่วไป มีที่มาทรัพย์สินจากมรดกการขายที่ดินของแม่ โดยนายสถาพรระบุว่าทำธุรกิจค้าอัญมณีตั้งแต่สมัยบวชเป็นพระวัดพระธรรมกาย และรู้จักกับนายศุภชัยผ่านการแนะนำของพระครูปลัดวิจารณ์ จากนั้นซื้อขายอัญมณีเรื่อยมากระทั่งสึกออกมาเปิดบริษัท ส่วนการนำเงินมาเพิ่มทุนของนายศุภชัยไม่ได้จ่ายเงินกันจริง แต่เป็นการทำสัญญาด้วยความเชื่อใจ ต่อมาเมื่อนายศุภชัยไม่ชำระเงินให้บริษัท นายสถาพรจึงรับซื้อหุ้นลมจากนายศุภชัยไว้ทั้งหมด

               วันเดียวกัน พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ บอกว่า ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดี นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กับพวกรวม 8 คน ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่น มีมูลค่าความเสียหายกว่า 16,000 ล้านบาท หลังจากที่ดีเอสไอได้แบ่งการทำงานออกเป็น 5 ชุด ในการตรวจเช็ค 878 ฉบับ ที่จ่ายโดยนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เบื้องต้นได้มีการสอบปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ไปแล้วกว่า 100 ปาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลสหกรณ์ทั่วประเทศไปแล้ว หลังจากนี้จะสอบปากคำเจ้าหน้าที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบบัญชีของสหกรณ์ทั่วประเทศ

               "เราเตรียมสอบปากคำ พระธัมมชโย และกลุ่มพระในวัดพระธรรมกายที่มีรายชื่อปรากฏรับเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวน 15 ฉบับ เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท โดยจะให้ชี้แจงในประเด็นที่รับเช็คจากสหกรณ์ และที่มาที่ไปของเงินจำนวนนี้ รวมทั้งนำเงินไปใช้วัตถุประสงค์ใด หากไม่มาตามหมายเรียกจะออกหมายเรียกซ้ำอีกครั้ง หากยังไม่มาพบจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่เชื่อว่า พระธัมมชโยน่าจะเข้ามาให้ปากคำตามหมายเรียก โดยมีกำหนดตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังออกหมายเรียกนิติบุคคล บริษัท ห้างร้าน ที่มีชื่อรับเช็คจากสหกรณ์ในช่วงปี 2552-2555 ที่นายศุภชัยเป็นประธานกรรมการบริหารสหกรณ์ และเป็นผู้สั่งจ่ายให้ เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอด้วย" พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าว

               พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนิดคดีในข้อหาฟอกเงินนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องตรวจสอบและดูเจตนาเป็นหลัก เพราะผู้รับเงินต้องรู้ว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฉ้อโกงมาหรือไม่ ส่วนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามารื้อคดีนี้ใหม่เพราะเห็นว่า คดีนี้มีความสำคัญและมีจำนวนเงินสูงมาก และเกี่ยวข้องกับสมาชิกผู้ฝากเงินจำนวนมาก ซึ่งพนักงานสอบสวนชุดเดิมเริ่มทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษเมื่อปี 2556 ในข้อกล่าวหา "ยักยอกทรัพย์" พนักงานสอบสวนจึงพิจารณาเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยักยอกทรัพย์ ส่วนผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง จึงไม่ได้ดำเนินคดี จากนั้นเมื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มอีก 2 คดี ในข้อหา "ฉ้อโกงเงินประชาชน" ซึ่งมูลหนี้หรือทรัพย์สินที่ฉ้อโกงเชื่อมโยงกับคดีแรก จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณากันใหม่ ต้องตรวจสอบเส้นทางการเงิน

               มีรายงานว่าในช่วงบ่ายวันเดียวกัน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชุดติดตามร่องรอยการเงินวัดพระธรรมกาย นำโดย พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวะกุล ได้นำพนักงานสอบสวนลงพื้นที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เพื่อตรวจสอบมูลนิธิของพระครูปลัดวิจารณ์ ซึ่งเป็นพระที่มีชื่อรับเช็คบริจาคจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำนวน 119 ล้านบาท โดยการสอบสวนของพนักงานสอบสวนชุดแรกระบุว่าเป็นการบริจาคเพื่อนำไปก่อตั้งมูลนิธิดูแลเด็ก แต่ปัจจุบันไม่พบว่าการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ดีเอสไอยังได้แยกชุดพนักงานสอบสวนติดตามความเคลื่อนไหวนายศุภชัย ซึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ในอาคารยูทาวเวอร์ที่นายศุภชัยนำเงินที่ยักยอกจากสหกรณ์ไปก่อสร้างอาคารดังกล่าวนั้น ดังนั้น อาคารดังกล่าวถือเป็นทรัพย์สินของสหกรณ์ ขณะเดียวกันยังพบความเคลื่อนไหวของบุคคลบางกลุ่มที่ต้องการให้ยุติคดีที่เชื่อมโยงกับวัดพระธรรมกาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการชะลอหมายเรียกพระธัมมชโย และพระลูกวัดเข้าให้ปากคำด้วย

               พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า พนักสอบสวนมีมติให้ออกหมายเรียกผู้มีรายชื่อรับเช็คจำนวน 878 ฉบับ มาให้การ โดยขณะนี้เริ่มทยอยส่งหมายเรียกไปยังกลุ่มวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโยและพระลูกวัดแล้ว โดยในวันที่ 6 มีนาคม นี้ คณะพนักงานสอบสวนจะประชุมเพื่อกำหนดวันเวลาในการเข้าให้ปากคำอีกครั้ง เบื้องต้นผู้ถูกออกหมายเรียกมีสิทธิตามกฎหมายที่จะมอบให้ทนายความติดต่อกลับมายังพนักงานสอบสวนว่าจะมาพบและให้ปากคำตามหมายเรียกเมื่อใด รวมทั้งมีสิทธิแจ้งขอเลื่อนภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 6 มีนาคม เวลา 10.00 น. นายกริชธารณ์เพชร ภาดาแดง เจ้าของบริษัทอิมพีเรียลรีชอร์ส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัททำธุรกิจเหมืองแร่ใน ต.หนองบัว จ.นครสวรรค์ มีกำหนดเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ในประเด็นที่นายศุภชัยโอนเงินให้แก่บริษัทเอส.ดับบลิว.ฯ ก่อนที่เงินดังกล่าวจะถูกโอนต่อไปยังบริษัทอิมพีเรียลฯ
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน