ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สธ.สงขลาพบสื่อ เผยข้อมูลน่าห่วง“ไข้เลือดออก-NCDs”พร้อมแนะวิธีป้องกัน

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 19:01 น. 24 มี.ค 58

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ศูนย์ข่าวบ้านเรา-.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา จัดประชุมสัมมนาสื่อมวลชนสัมพันธ์ เผยข้อมูลน่าเป็นห่วง จัดอันดับความสำคัญอันดับหนึ่ง โรคไข้เลือดออก และอันดับสองกลุ่มโรค NCDs โรคร้ายที่พร้อมคร่าชีวิตคนสงขลา พร้อมแนะวิธีป้องกัน และดูแลตัวเอง

[attach=1]

24 มี.ค. 58 ณ โรงแรมไดอิชิ หาดใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา จัดกิจกรรมประชุมสัมมนาสื่อมวลชนสัมพันธ์ เผยเป็นห่วงประชาชนที่มีค่านิยมการบริโภคอาหารและใช้ชีวิตไม่ถูกต้อง จนทำให้เจ็บป่วยและเสียชิวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs*) เพิ่มมากขึ้น เตือนให้ปรับพฤติกรรมสุขภาพอย่างจริงจังเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคฯ ด้วยมาตรการ "ใส่ใจ 3 อ. บอกลา 2 ส." และระยะนี้ต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังป้องกันไข้เลือดออกที่อาจจะทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นด้วย

นายแพทย์ศิริชัย ลีวรรณนภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ โรค NCDs" และโรคไข้เลือดออก ยังเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดสงขลา โดยมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นทุกปี จากการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพด้าน 3 อ : อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ ในกลุ่มเสี่ยง พบว่ามีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องค่อนข้างสูงในเรื่องการรับประทานผักน้อยกว่าครึ่งกิโลกรัม และรับประทานผลไม้ไม่หลากหลายชนิดในหนึ่งวัด รวมทั้งปัญหาโรคไข้เลือดออก ยังเป็นโรคติดต่อประจำถิ่นที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะหากละเลยการกำจัดลูกน้ำยุงลายและการป้องกันยุงกัดแล้ว อาจจะทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา จึงกำหนดเป็นประเด็นเน้นของยุทธศาสตร์เครือข่ายบริการสุขภาพจังหวัดสงขลา ในปี 2558 เพื่อให้หน่วยงานในสังกัด และภาคีเครือข่ายพันธมิตรสุขภาพร่วมมือกันแก้ปัญหาและพัฒนาสุขภาพที่สำคัญ ได้แก่
1.การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก
2.การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (service plan) เน้นสาขาโรคมะเร็ง
3.การป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และส่งเสริมหมูบ้าน/ชุมชน ลดเสี่ยง ลดโรคฯ
4.การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร
5.การพัฒนาสุขภาพกลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย
6.การพัฒนาระบบการเงินการคลังสุขภาพ

[attach=4]

นับเป็นยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อลดจำนวนและป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีการจัดคลินิกไร้พุง (คลินิกดีแพค  DPAC : Diet and Physical Activities Clinic) ในสถานบริการฯ ให้มีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนให้เกิดหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  ในการป้องกันดังกล่าว จะใช้มาตรการ "ใส่ใจ 3 อ บอกลา 2 ส" ร่วมกับหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

สำหรับมาตรการ "ใส่ใจ 3 อ บอกลา 2 ส" ได้แก่ อ.อาหาร กินอาหารครบ 5 หมู่ และมีสัดส่วนเหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รสหวานหรือเค็ม มากเกินไป และ อ.ต่อมาคือ อ.ออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เป็นอย่างน้อย สุดท้าย อ.อารมณ์ มีการจัดการกับอารมณ์ ฝึกสมาธิ และผ่อยคลายความเครียด และสิ่งที่สำคัญคือ 2 ส. ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา

นอกจากนี้นายแพทย์ศิริชัย ลีวรรณนภาใส กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแล้ว จ.สงขลายังมีปัญหาโรคติดต่อที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังป้องกันอย่างต่อเนื่อง คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งจากสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก จ.สงขลา ในปี 2558 นี้ ถึงจะไม่สูงเท่าปี 56-57 ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนละเลย หรือไม่ได้กำจัดลูกน้ำยุงลายทุกครัวเรือนอย่างต่อเนื่องแล้ว อาจจะทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และให้ปฎิบัติตามมาตรการ "ป้องกันไม่ให้ยุงเกิด และป้องกันไม่ให้ยุงกัด" อย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป ด้วยหลัก 5 ป.1 ข. ได้แก่ ป.ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด ป.เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ ในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ หรือให้ใส่เกลือ น้ำส้มสายชู เพื่อป้องกันยุงวางไข่  ป.ปล่อยปลากินลูกน้ำ ในภาชนะขนาดใหญ่หรืออ่างบัว  ป.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม โดยเก็บทำลายภาชนะที่มีน้ำขังหรือที่ไม่ใช้แล้ว ป.ปฎิบัติให้เป็นนิสัยโดยปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง และ ข.ขัดล้างขอบภาชนะที่ใส่น้ำเพื่อขัดไข่ยุงลายออกก่อนล้างภาชนะทุกครั้ง เพื่อตัดวงจรชีวิตยุงลาย

[attach=3]

*โรค NCDs" ย่อมาจากคำว่า Non-communicable diseases หมายถึง กลุ่มโรคไม่ติดต่อ ที่ไม่สามารถแพร่กระจายโรคจากคนสู่คนได้ โดยทั่วไปอาจเรียกว่า กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งหมายถึงโรคที่เกิดต่อเนื่องยาวนาน และมีการดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งแตกต่างจากโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ ที่มักมีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็ว กลุ่มโรค NCDs ที่สำคัญประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (รวมถึงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง) 2.กลุ่มโรคเบาหวาน 3.กลุ่มโรคมะเร็ง และ4.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหอบหืด)