ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สร้างเมฆแต่เช้า ในหลวงรับสั่งแนวทางพิเศษขึ้นบินทำฝนหลวงสู้แล้ง

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 11:08 น. 02 ก.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

ที่มา แนวหน้า http://www.naewna.com/local/166424

สร้างเมฆแต่เช้า ในหลวงรับสั่งแนวทางพิเศษขึ้นบินทำฝนหลวงสู้แล้ง เกษตรฯอัด 16 0ล.จ้างงาน รบ.จ่อยึดคืน'ชลประทาน' 3พันโครงการอปท.ไม่ดูแล

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงพิเศษ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฝนหลวงพิเศษ ร่วมพิธีเปิดศูนย์ฝนหลวงพิเศษและร่วมประชุมกับผู้บริหาร ทีมงานศูนย์ฝนหลวงพิเศษเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้ง ในช่วงบ่าย เครื่องบินศูนย์ฝนหลวงพิเศษนครสวรรค์ ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเป็นปฐมฤกษ์ด้วย

โดยนายชวลิตกล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษขึ้นในครั้งนี้ ทุกคนต้องยึดมั่นและศรัทธาในการน้อมนำเทคโนโลยีตามตำราฝนหลวงพระราชทานไปปฏิบัติอย่างถูกต้องและเหมาะสมเพื่อแก้วิกฤตภัยแล้งครั้งนี้ให้สำเร็จสมตามพระราชประสงค์

ด้าน นายดิสธร กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับทราบและห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2558 และมีแนวโน้มจะต่อเนื่องยาวนานโดยปัญหาภัยแล้งอยู่ในสายพระเนตรมาตลอด ทรงทอดพระเนตรจากโรงพยาบาลศิริราชเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอย่างมาก รวมทั้งทรงติดตามข่าวสาร รับทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนจึงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้จัดตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษ ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ท้าทาย สิ่งสำคัญ คือกรุณานำตำราฝนหลวงพระราชทานของพระองค์มา ยึดถือปฏิบัติ มีความเชื่อมั่นและมีกำลังใจ

การปฏิบัติการพิเศษ มีสิ่งพิเศษซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานแนวคิดต้องเริ่มทำเช้ามืด ในขณะที่ความชื้นในอากาศสูงก่อนมีแดดออก และคอยตามกลุ่มเมฆตลอดเวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานแนวคิดให้สร้างเมฆแต่เช้า ที่สำคัญป่าไม้ต้องสมบูรณ์เพราะความชื้นมาจากป่า" รองเลขาธิการพระราชวัง ย้ำ

ขณะที่ นายวราวุธ กล่าวว่าการปฏิบัติการฝนหลวงที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จพอสมควร ทำให้มีฝนตกในหลายพื้นที่ มีฝนตกเฉลี่ย 95% ของวันที่ขึ้นปฏิบัติการ แต่มีปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอที่จะเริ่มต้นการเพาะปลูกพืชนาปี จากสภาวะอากาศระยะนี้ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของเอลนิโญ่ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดฝนธรรมชาติตกต้องตามฤดูกาล การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯจัดตั้งศูนย์ฝนหลวงฯครั้งนี้ จึงเป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะช่วยให้การปฏิบัติการฝนหลวงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากการติดตามสภาพอากาศช่วงนี้ ยังน่าห่วงว่าศูนย์ฝนหลวงพิเศษจะต้องทำงานกันอย่างหนัก เหมือนเมื่อปี 2542 ต้องมีความทุ่มเทเสียสละมานะอดทน ในการต่อสู้กับความผันแปรของสภาพอากาศเพื่อกู้วิกฤตภัยแล้งของประเทศให้สำเร็จ

ด้าน นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวถึงมาตรากรช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งว่าได้อนุมัติเงินงบประมาณกว่า160ล้านบาทในส่วนที่ยังเหลือจ่ายจากโครงการปรับปรุงระบบชลประทานและอาคารชลประทาน ที่เหลือจากการช่วยเหลือในฤดูแล้งที่ผ่านมา เพื่อจ้างแรงงานเกษตรกรในช่วงที่ยังไม่สามารถปลูกข้าวได้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำเป็นต้องช่วยให้เกิดรายได้ในระยะสั้นๆ พร้อมยังสั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร ลงสำรวจความต้องการของเกษตรกร จะปรับเปลี่ยน พืชใช้น้ำน้อยหรือไม่ รวมทั้งอาจปรับการปลูกพชืชชนิดอื่นแทนข้าว

ทาง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าแนวคิดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการโอนโครงการชลประทานที่มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลับมาดูแลทั้ง 3,000 โครงการ เนื่องจากพบว่าไม่ได้พัฒนาระบบส่งน้ำต่อยอด น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดและดีต่อสถานการณ์ในประเทศ จากข้อมูลเบื้องต้นทราบว่ากระทรวงเกษตรฯได้พูดคุยกับหลาย อปท.มีความเห็นตรงกันว่าอยากให้กระทรวงเกษตรฯรับกลับมาดูแลซึ่งการโอนคืนกลับมาให้ผู้ชำนาญการจริงๆ จึงไม่มีเหตุผลที่รู้สึกเสียหน้า และเชื่อว่าแนวทางนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำของประเทศได้โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังวิกฤตน้ำแล้ง

ขณะที่ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ยังกล่าวถึงที่มีข่าวนายกรัฐมนตรี หงุดหงิดจนดึงมือออกในการบรรยายแผนการจัดน้ำในพื้นที่จ.เชียงใหม่ โดยยืนยันว่านายกฯไม่ได้อารมณ์เสียหรือหงุดหงิด แต่มีสไตล์ พูดเสียงดัง และทำงานที่รวดเร็วจึงอยากรู้ต้นตอปัญหาน้ำแล้งที่แท้จริงและมีวิธีแก้ไขหรือยัง เพื่อเตรียมรอฝนที่จะตกปลายเดือนกรกฎาคม ต้องขุดขยายคลองรับน้ำจาก ต้นน้ำ ทำแก้มลิง กักเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอาจยาวไปถึงปลายปี สอดคล้องทำระบบเชื่อมโยงให้ทั่วถึงใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพซึ่ง ครม.ให้เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 10ไร่ ในแผนยุทธศาสตร์น้ำปี 2558-2569 เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้อีก 4 พันล้าน ลบ.ม.

อีกทั้ง ครม.ได้ให้กรมชลประทาน ตั้งงบประเมินโครงการแต่ละโครงการตามแผนระยะยาวเริ่มปี2560 พร้อมศึกษาโครงการผันน้ำจาก แม่น้ำโขง เพิ่มน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและผันน้ำจากแม่น้ำสาละวิน เติมน้ำในระบบลุ่มเจ้าพระยาและ ภาคเหนือตอนบนและล่าง โดยไทยต้องสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำโดยศักยภาพพื้นที่ใช้น้ำในประเทศ 42 ล้านไร่ ถ้ามีน้ำจากต่างประเทศ มาจะเพิ่มพื้นที่ใช้น้ำได้ 62 ล้านไร่

ที่ จ.บุรีรัมย์ สถานการณ์ภัยแล้งขยายวงกว้างในหลายพื้นที่ทั้งอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำตามธรรมชาติแห้งขอดซึ่งจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด บางพื้นที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลการเกษตรได้ ส่งผลให้ราคาพืชผักหลายชนิดทั้งในตลาดสดเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ตลาดสดไนท์บาร์ซ่ามีราคาแพงขึ้นเกือบทุกชนิด เช่น ผักชี ปกติราคากิโลกรัมละ170บาท ปรับขึ้นเป็น200บาท แตงกวา ราคากิโลกรัมละ 10บาท ขึ้นเป็น 30 บาท โดยเฉพาะ พริกขี้หนู ขึ้นราคาแพงมากที่สุด จากปกติราคากิโลกรัมละ 50 บาท ราคาพุ่งสูงกิโลกรัมละ140 บาท ส่งผลกระทบ ทั้งพ่อค้าแม่ค้าและผู้บริโภค คาดว่าผักจะมีราคาแพงไปอีกระยะหนึ่ง

ที่ จ.กาฬสินธุ์ สถานการณ์ปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความจุอ่าง 2.5 แสน ลบ.ม ปัจจุบันสภาพอ่างเก็บน้ำแห้ง ขอดจนกลายเป็นปัญหาใหญ่จนชาวบ้านทั้งตำบลบ่อแก้ว 1,250 ครัวเรือน ขาดแคลนน้ำ ต้องซื้อน้ำใช้ถังละ20-30 บาท บางส่วนที่ไม่มีรายได้ ต้องไปเข้าคิวรอน้ำภูเขา ในเขต จ.สกลนคร ซ้ำร้ายยังเกิดปัญหาน้ำไม่ไหล หลายครอบครัวเข้าคิวรอตลอดทั้งวัน ล่าสุด บ่อแก้วแจ้งว่ายังไม่มีหน่วยงานใดเข้าช่วยเหลือ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งว่าไม่มีงบประมาณ จึงต้องการให้ รัฐบาล ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไขปัญหานี้ด้วย

หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยตัวแรก:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง