ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

วิกฤติภัยแล้ง58! เศรษฐกิจไทยจ่อปากเหว ฉุดจีดีพีลด 0.52%

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 16:28 น. 09 ก.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

โดย ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/content/510480

ม.หอการค้าฯ ประเมินภาวะภัยแล้งปีนี้จุดเสี่ยง ศก.ไทย ฉุดจีดีพีลดลง 0.52% อาจโตต่ำกว่า 3% ส่งผลกระทบปลูกข้าวเสียหาย 6.8 หมื่นล้าน แนะรัฐเยียวยาภาคเกษตร อัดฉีดเงินในระบบกว่าหมื่นล้าน ขณะที่ชาวนา 62 จว. มองภัยแล้งปีนี้รุนแรงมากสุด... 

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 58 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ความเสียหายจากภาวะภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อ GDP ในปีนี้ ลดลง 0.52% จากเดิมที่ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.2% นั้นก็ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะโตได้ต่ำกว่า 3%

ส่วนการปลูกข้าวนาปรัง และนาปี ในปีนี้ คิดเป็นผลกระทบในภาพรวม 68,000 ล้านบาท โดยปัญหาภัยแล้งถือเป็นจุดเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น หากรัฐบาลจะเยียวยาให้เศรษฐกิจโดยรวมโตได้ในกรอบ 3.5% ก็จะต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบถึง 70,000-100,000 ล้านบาท พร้อมกับการหามาตรการเยียวยาภาคเกษตรกรรมในชนบท ทั้งในกรณีเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกร 1,200 คน ตลอดจนเกษตรจังหวัด 62 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ชาวนาส่วนใหญ่กว่า 90% มองว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปี 58 มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยผลผลิต และพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดกับเกษตรกรรายย่อยที่มีการทำนาน้อยกว่า 20 ไร่ และส่วนใหญ่เป็นการเช่าที่นามากกว่าเป็นเจ้าของนาเอง


สำหรับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งมากที่สุด 5 เรื่อง คือ ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น, ต้นทุนการหาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น, ปริมาณผลผลิตลดลง, รายได้จากการทำการเกษตรลดลง และหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แนวทางการปรับตัวจากผลกระทบภัยแล้งที่เกษตรกรเลือกใช้ ส่วนใหญ่ คือ การขอความช่วยเหลือจากรัฐ หาอาชีพอื่นทดแทน หาแหล่งน้ำอื่นทดแทน และย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมือง โดยสิ่งที่เกษตรกรต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเร่งด่วนในขณะนี้ คือ การประกันราคาข้าว การจ่ายเงินชดเชย และการลดต้นทุนการเกษตร ขณะที่รัฐบาลควรแก้ไขเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อเกษตรกรไทย คือ หามาตรการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร การบริหารจัดการน้ำ จัดอบรมเทคนิคทางการเกษตร จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

ส่วนผลสำรวจความเห็นจากเกษตรจังหวัด 62 จังหวัด พบว่า ปัญหาภัยแล้งในรอบล่าสุดนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตร 25 จังหวัด โดยความเสียหายเฉลี่ยที่ 35% หรือราว 1 ใน 3 ของพื้นที่โดยรวม และเป็นความเสียหายจากฝนทิ้งช่วงที่เกิดขึ้นในระหว่างการหว่าน และปักดำ ซึ่งหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายได้ในเดือน ก.ย. ก็คาดว่าจะมีพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายราว 10-12 ล้านไร่ คิดเป็น 12-15% จากพื้นที่โดยรวมทั้งหมดราว 60 ล้านไร่ หรือคิดเป็นจำนวนผลผลิตข้าวที่หายไป 4 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน