ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

วิบากกรรมของ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” มหากาพย์ที่ยังไม่จบง่ายๆ

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 11:44 น. 10 ก.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์        
http://manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9580000075542

นับเนื่องจากการประกาศนโยบายอันแข็งกร้าว ว่า "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ค่าสัมปทานทีวีดิจิตอล หลังการขาดทุนเบื้องต้นกว่า 300 ล้านบาทของช่องไทยทีวี ภายใต้การบริหารงานของ "เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล" หรือ "พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย" ทุกคนต่างก็จับจ้องว่า บทสรุปสุดท้ายของมหากาพย์เรื่องนี้จะลงเอยแบบใด   
       
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมาหมาดๆ เจ๊ติ๋มก็ได้มอบหมายให้นายสุชาติ ชมกุล ทนายความ ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในเรื่องกระทำการโดยมิชอบ ละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหาย จากกรณีที่ทาง กสทช.ละเลยต่อหน้าที่ตามที่แผนแม่บทกิจการวิทยุโทรทัศน์กำหนด และผิดต่อ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่ง กสทช.ไม่ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทที่วางไว้ ทั้งเรื่องการขยายโครงข่ายสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ล่าช้า และการประชาสัมพันธ์
       
          โดยหลักการใจความของการยื่นฟ้อง ก็คือต้องการให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือ ของ กสทช. เรื่องการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ งวดที่ 2 การชำระค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตรายปี รวมถึงการขอยกเลิกการเป็นผู้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นฯ และใช้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ให้ใช้คลื่นความถี่ (ค่าประมูลคลื่นความถี่) ทั้งยังขอให้ศาลมีคำพิพากษาห้าม กสทช. ดำเนินการใดๆ เพื่อบังคับตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารดังกล่าวให้ บจก.ไทยทีวี ผู้ฟ้องด้วย
       
          และหมากเด็ดที่ทางเจ๊ติ๋มยื่นฟ้องต่อ กสทช. ในครั้งนี้ ก็คือให้ฝ่ายถูกฟ้องคืนเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ทั้ง 2 ฉบับ ที่ได้ชำระไปแล้วเป็นเงินจำนวน 365,512,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น พร้อมทั้งให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 713,828,282.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ของเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และยังขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ ของ กสทช. เป็นโมฆะ
       
          สรุปโดยย่อก็คือนอกจากจะ "ไม่จ่าย" แล้ว ยังเรียกเงินที่จ่ายไปแล้วคืนมาอีกด้วย เอากับเจ๊แกซิ
       
          ยื้อกันไปยุดกันมาเป็นแรมเดือน พูดง่ายๆ ก็คือทางเจ๊ติ๋มก็ยังคงยืนกระต่ายขาเดียวว่า ความล้มเหลวของช่องไทยทีวีนั้น เกิดจากความผิดพลาดของ กสทช. ล้วนๆ โดยไม่มองถึงความบกพร่องของการบริหารงานของตนเอง หรือเนื้อหาสาระของรายการที่ไม่ต้องตาคนดู ไม่ต้องใจบรรดาเอเยนซี ซึ่งเกี่ยวข้องกันโดยตรง กล่าวคือเมื่อช่องไม่มีคนดู เร็ตติ้งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน โฆษณาที่ไหนเลยจะวิ่งชน
       
          ขณะที่ทุกคนมองเห็นจุดบอดของช่องไทยทีวีอย่างชัดเจน จะมีเพียงเจ๊ติ๋มเท่านั้นแหละที่หลับหูหลับตาไม่ยอมรับความจริง ซ้ำยังจะดื้อดันทุรังจะไปเอาผิดกับทาง กสทช. ให้จงได้   
       
          แต่ถ้าจะมองต่างมุม บางทีการออกโรงมา "ดับเครื่องชน" ในครั้งนี้ของเจ๊ติ๋ม อาจจะไม่ได้เพื่อตนเอง เป็นไปได้มั้ย ? ที่เธอจะทำเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมดิจิตอลทีวี ดังคำสัมภาษณ์หนล่าสุด
       
          "พี่คิดว่าช่องอื่นๆ น่าจะได้อานิสงส์จากการยกเลิกช่องของพี่ ที่ทำให้ กสทช.ต้องกลับไปมองว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยช่องที่เหลือได้บ้าง ขณะนี้เหลือผู้ประกอบการทั้งสิ้น 16 ราย 22 ช่องแล้ว พี่ก็อยากให้ไปรอดทุกช่องและพร้อมเป็นพันธมิตรกับทุกคน"   
       
          โดยที่ช่องไทยทีวี 17 และโลก้า 15 ทางทีวีดิจิตอล จะเริ่มจอดำตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคมเป็นต้นไป และทางเจ๊ติ๋มจะหันกลับไปทำรายการกับช่อง 5 พันธมิตรเก่าและทำทีวีดาวเทียมต่อไปเหมือนเดิม ซึ่งถ้าใบอนุญาตดาวเทียมเดิมถูกยึด ก็จะไปร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ รวมทั้งได้เตรียมการขอใบอนุญาตใหม่ไว้แล้ว   
       
          ส่วนเงินประมูลงวดที่ 2 รวม 1,634 ล้านบาท ที่เป็นประเด็นหลักที่ทุกคนให้ความสนใจนั้น อยู่ในระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่กระนั้นก็ยืนยันว่า ถ้าจำเป็นจะต้องจ่าย ก็พร้อมจ่าย   
       
          ถ้าเพียงทาง กสทช. นำประเด็นนี้มาตรึกตรองบ้าง ก็อาจจะดีต่อผู้ประการช่องดิจิตอลอื่นๆ ไม่น้อยเหมือนกัน
       
          อันนี้คือพูดแบบเป็นกลาง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
       
          ช่องอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ออกมาโวยวาย อาจจะไม่ได้ยอมรับในกติกาได้ทั้งหมด แต่อาจจะสงวนท่าทีดูเชิงก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพียงแต่ทางเจ๊ติ๋มเลือกที่จะออกมางัดข้อเป็นคนแรกเท่านั้น   
       
          และการเผชิญกับวิบากกรรมของเจ๊ติ๋ม ที่ต้องแบกรับหนี้ขาดทุนกว่า 300 ล้านบาทในหนนี้ ทำเอาเจ้าแม่สื่อที่เคยมีบารมี ล้นพ้นในวงการบันเทิง แทบกระอักเลือด ถึงขนาดต้องมีการปรับลดพนักงานบางส่วนลง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ออกจะเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ เพราะทุกๆ บริษัทที่เผชิญกับวิกฤตการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกัน ก็มักจะเลือกวิธีลดต้นทุนการว่าจ้างพนักงานเป็นทางเลือกแรก   
       
          แต่การที่เจ๊ติ๋มใช้วิธีการในเชิงให้พนักงานยื่นใบลาออกกันเองโดยสมัครใจนั้น ไมได้ทำให้ตัวเองแลดูเป็น "แม่พระ" ผู้มีเมตตา ตรงกันข้าม กลับยิ่งทำให้ถูกมองในแง่ลบมากยิ่งขึ้น เพราะการที่พนักงานยื่นหนังสือลาออกเอง (แม้โดยนัยจะโดนบีบให้ออกก็ตาม) นั่นหมายถึงพนักงานผู้นั้น จะไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฏหมายแม้แต่บาทเดียว ซึ่งต่างจากการ "เลิกจ้าง" ที่จะได้รับเงินชดเชยตามอัตราส่วนของเงินเดือนและอายุงาน
       
       \   การกล่าวอ้างว่าการลาออกจะทำให้พนักงานมีอนาคตที่ดีกว่านั้น ก็ดูจะเป็นคำ "แก้ตัว" ที่ฟังไม่ขึ้น
       
       ' "เคยมีคนถามเราเหมือนกัน เราจะไม่มีการไล่คนออก เราก็ยังยืนยันว่าจะไม่ไล่คนออก เราถือมาก เรามั่นใจมีศักยภาพเลี้ยงดูได้ แต่ว่าบางทีถ้าอยู่ที่นี่ไม่โต เราก็ไลน์บอกทุกคน พราะเหตุการณ์เปลี่ยนไป ณ วันนี้เรารู้ว่าโฆษณาเราขายได้แค่นี้ มันไปไม่ถึง เราเป็นนักธุรกิจ มันมีทางเดียว ถ้ารายได้เราไม่สามารถหาได้ เราก็ต้องลดค่าใช้จ่าย
       
          การที่เราจะลดคน หมายถึงว่าเขาก็ต้องเต็มใจที่อยากจะไปนะคะ ถ้าเขามีที่ไป ก็อาจไป เขาไม่มีที่ไปก็อยู่กับเราไม่เป็นไร ตอนนี้ก็แล้วแต่ใจเขา อยากอยู่ก็อยู่ ไม่อยากอยู่ก็ไม่ต้องอยู่ พนักงาน 400 กว่า อยู่ก็อยู่ ไม่ได้ไล่ใครออก"
       
          กระนั้นท่าทีที่เจ๊ติ๋มให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางของบริษัทหลังจากนี้ ก็ยังดูอหังการเหมือนเดิม โดยเฉพาะการประกาศว่าจะดัน ทีวีพูลเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และเตรียมแผนฟื้นช่องทีวีพูลชาแนล โดยตั้งเป้าฟันกำไร 300 ล้านบาท เชื่อมั่นว่าแบรนด์ทีวีพูลแข็งแรงพอ ที่จะไปต่อได้

ที่มา  นิตยสารASTV สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 296 4 – 11 กรกฏาคม 2558
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน