ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ธปท.ภาคใต้ นำเสนอข้อมูล การฝากเงิน และการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ต่างกัน

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 15:07 น. 16 ก.ค 58

ทีมงานประชาสัมพันธ์

การฝากเงิน และการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

หลายคนคงเคยซื้อหรือได้ยินเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการรวมลักษณะของการฝากเงิน และประกันชีวิตเข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถซื้อผ่านตัวแทนที่ได้รับอนุญาต และมีการจำหน่ายทั่วไปในธนาคารด้วย จึงอาจทำให้ผู้ใช้บริการทางการเงินบางท่านเกิดความสับสนระหว่างการฝากเงิน และการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

[attach=2]

ผลตอบแทน   
เมื่อเงินฝากครบกำหนดระยะเวลา หรือทำการปิดบัญชี ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนเท่ากับเงินต้นที่ฝากไว้พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามที่ธนาคารกำหนด ในขณะที่การทำประกันสะสมทรัพย์ นอกจากจะได้รับเงินคืนเมื่อครบกำหนดสัญญาเท่ากับเบี้ยประกันที่จ่ายเป็นงวด ๆ แล้ว ยังได้รับเงินปันผลตามอัตราที่กำหนดไว้ และรวมถึงส่วนของการคุ้มครองชีวิตคือจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับผลประโยชน์เมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต

การลดหย่อนภาษี   
การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ได้รับความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท และหากเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญยังสามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนเพิ่มได้อีกร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ในขณะที่การฝากเงินทั่วไปไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้

ภาษีจากผลตอบแทน   
กรณีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป หากผู้ฝากได้รับดอกเบี้ยเกินกว่าปีละ 20,000 บาท ต้องเสียภาษีร้อยละ 15 ของดอกเบี้ยรับทั้งจำนวน แต่ผลตอบแทนจากประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษี

สภาพคล่อง   
หากผู้ใช้บริการทางการเงินที่ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มีความจำเป็นต้องใช้เงินสดก่อนครบกำหนดสัญญา สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเวนคืนแต่จะได้รับเงินคืนไม่เต็มจำนวนตามเบี้ยประกันชีวิตที่ได้จ่ายชำระไปแล้ว ตรงกันข้ามกับการฝากเงินที่ผู้ฝากสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายและเต็มจำนวน

ความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก     
เงินฝากทุกประเภทของธนาคารพาณิชย์ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ในขณะที่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ แม้จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเหมือนกับเงินฝาก แต่ผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตประเภทนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)


จากลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ผู้ใช้บริการทางการเงินจึงควรตระหนักถึงวัตถุประสงค์ในการออมเงินเพื่อเลือกใช้บริการให้เหมาะสมกับความต้องการ อย่างไรก็ดี ควรมีการเก็บออมเงินประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน ไว้ในสินทรัพย์สภาพคล่องสูง ที่สามารถถอนเงินใช้ได้ทันทีที่ต้องการ เช่น เงินฝากธนาคาร เป็นต้น เพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่องเมื่อต้องการใช้เงินฉุกเฉิน แล้วจึงพิจารณาจัดสรรเงินไปซื้อประกันชีวิตเพื่อสร้างความคุ้มครองให้กับตนเองและเป็นหลักประกันให้กับครอบครัว   

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต