ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เศรษฐศาสตร์ ม.อ. ระดมสมอง สร้าง“ภูมิคุ้มกันของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย”

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 14:34 น. 21 ก.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

คณะเศรษฐศาสตร์ ม.อ. ระดมสมอง สร้าง"ภูมิคุ้มกันของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย"

[attach=1]
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดการประชุมวิชาการระดับชาติด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร เรื่อง "ภูมิคุ้มกันของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย"เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ณ.โรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อจุดประกายภูมิคุ้มกันของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย พร้อมทั้งเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศและร่วมกันคิดหาทางออก และทางรอดให้เกษตรกรในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยความร่วมมือของ 5 สถาบัน คือ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร การประชุมวิชาการครั้งนี้มีผลงานวิชาการเข้าร่วมนำเสนอทั้งสิ้น 36 เรื่อง จำแนกเป็นด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร 19 เรื่อง ด้านธุรกิจเกษตรและเศรษฐศาสตร์อาหาร 17 เรื่อง

โดยมีนายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมบรรยายพิเศษ "ภูมิคุ้มกันของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย" ผศ.สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศิษย์เก่าสัมพันธ์ กล่าวต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยาย "ความเคลื่อนไหวเชิงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร"

ตามด้วยการอภิปรายพิเศษ "แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย" โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อารี วิบูลย์พงศ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองศาสตราจารย์ สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ คุณวาริน ใจเกลี้ยง เกษตรกรตัวอย่างระดับชาติ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และแบ่งกลุ่มย่อยนำเสนอผลงานวิชาการ

ดร. อารี วิบูลย์พงศ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าในโซ่อุปทานของภาคเกษตรสำหรับสินค้าเกษตรหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารหรือไม่ใช่อาหาร จะประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากในหลายภาคส่วน เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกรรายเล็กที่มีวิถีการผลิตและวิถีชีวิตขึ้นต่อกลไกตลาด ในการกำหนดราคา มีปัญหาเรื้อรังตั้งแต่ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ปัญหาทักษะพื้นฐานในการจัดการ ปัญหาราคาผลผลิตไร้เสถียรภาพ ปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาหนี้สินในที่สุด สำหรับเกษตรกรขนาดกลางและใหญ่ แม้จะมีศักยภาพสูงกว่ารายย่อย แต่มีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดภายใต้กลไกเดียวกัน ในขณะที่ผู้ผลิตไม่กี่รายเป็นผู้ผลิตแบบบริษัท (Corporate Farms) แต่มีเครือข่ายและบทบาทต่อการกำหนดการศึกษาด้านการเกษตร

การวิจัย และนโยบายเกษตรของประเทศ และสามารถยกระดับกิจการของตนสู่บรรษัทธุรกิจเกษตรข้ามชาติ (Transnational Agribusiness) ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและแหล่งทุนทุกระดับ ทำธุรกิจเกษตรทั้งแนวราบผ่านการผลิตแบบพันธะสัญญา และแนวดิ่งแบบครบวงจร (Integrated Agribusiness) มีอิทธิพลในการกำหนดและชี้นำการผลิต การตลาด พฤติกรรมการบริโภค และระบบโภชนาการของประชาชนในโลกนี้

โลกในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมาได้เข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ ทั้งเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป การตลาดสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ ที่นับวันการแข่งขันระหว่างคู่แข่ง และการกีดกันทางการค้าระหว่างคู่ค้ามีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ และแนวโน้มการปรับตัวของกรอบการค้าเสรีจากกรอบใหญ่ระดับพหุภาคี (Multilateralism) ไปสู่กรอบกลางระดับภูมิภาคี(Regionalism) และกรอบเล็กระดับทวิภาคี (Bilateralism) มากขึ้น ตลอดจนปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บางมิติเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว

การเปลี่ยนแปลงข้างต้นมีทั้งการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบทางบวกและผลกระทบทางลบต่อภาคเกษตร โดยที่เกษตรกรยังไม่ได้มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีพอในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเกษตรกรต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นข่าวร้ายทางการเกษตร เกษตรกรจะมีภูมิคุ้มกันที่จะลดแรงกระแทกจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้หรือไม่ และอย่างไร

เศรษฐศาสตร์เกษตรถือได้ว่าเป็นสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมเสมอมาสำหรับประเทศไทย การประชุมเชิงวิชาการจึงเป็นเวทีสำคัญสำหรับนักวิชาการเศรษฐศาสตร์เกษตรที่จะมีส่วนเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศและเป็นเวทีกระตุ้นการพัฒนาความรู้เชิงวิชาการให้ทันสมัยพร้อมกับตอบโจทย์ที่ท้าทายในบริบทของประเทศไทย
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน

witrut

คนที่รู้จักปรับตัวเท่านั้นจึงจะอยู่รอด เศรษฐกิจไม่ค่อยดีก็ต้องหาทางดิ้นกันต่อไป



อะไหล่แต่งรถยนต์