ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

นักวิชาการ ม.อ. ม.ทักษิณ ร่วมรายงานสถานการณ์ข้อมูลหมอกควันเชิงลึก

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 14:56 น. 05 ต.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

รายงานสภาวการณ์ปัญหาหมอกควันในเขต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และภาคใต้ ฉบับที่ 21/2558 (4 ตุลาคม 2558)

          สถานการณ์หมอกควันในภาคใต้ของประเทศกลับมาสู่สภาวะวิกฤติอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 3-4 ตุลาคม 2558 โดยมีปริมาณฝุ่นในอากาศสูงขึ้นอีกครั้งในวันที่ 3 ตุลาคม 2558 ทั้งนี้เนื่องจากวันที่ 2 ตุลาคม 2558 มีจุดการเผาไฟเพิ่มขึ้นเป็น 123 จุด แม้ว่าข้อมูลวันที่ 3 ตุลาคม 2558 จุดการเผาไฟลดลงเหลือเพียง 69 จุด แต่ทิศทางลมยังคงพัดเอากลุ่มหมอกควันจากแหล่งกำเนิดเข้ามายังทางตอนใต้ของประเทศไทยอีกครั้ง ตลอดจนความเร็วลมที่สูงขึ้น ส่งผลให้กลุ่มหมอกควันที่เกิดจากการเผาไหม้เมื่อวานนี้ (3 ต.ค. 2558) มาถึงทางตอนใต้ของประเทศไทยเร็วขึ้น ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ในตัวเมือง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และจ.ยะลา ในวันที่ 4 ตุลาคม 2558 (เวลา 13:00 น.) ยังคงมีค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงถึง 130.66 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ 121.05 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ (ข้อมูลช่วงวันที่ 3 ตุลาคม 2558 เวลา 18.00 น. ถึง วันที่ 4 ตุลาคม 2558 เวลา 18.00 น.) ซึ่งเป็นค่าที่เกินมาตรฐาน

          จากข้อมูลความเร็วลมในช่วงวันที่ 4-5 ตุลาคม 2558 มีทิศทางจากเกาะสุมาตราเคลื่อนผ่านประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมาที่ภาคใต้ตอนล่างของไทย ทำให้ปริมาณหมอกควันที่เกิดขึ้นใหม่ สามารถพัดมาถึงภาคใต้ตอนล่าง ดังนั้นภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยโดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อาจได้รับผลกระทบของหมอกควันดังกล่าวในช่วงระยะ 1-2 วันนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณการเผาไหม้ใหม่ที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการพยากรณ์ฝนของภาคใต้ตอนล่างในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 พบว่าจะมีฝนตกปานกลาง และมีฝนตกในประเทศมาเลเซียที่จะช่วยชะล้างหมอกควัน อาจทำให้สถานการณ์บรรเทาลงได้

รายงานฉบับนี้จะวิเคราะห์สถานการณ์จากข้อมูลรอบด้าน และพยากรณ์แนวโน้มสถานการณ์ระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2558

[attach=1]
1. ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) จากกรมควบคุมมลพิษ

          จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 3 ตุลาคม 2558 (http://aqmthai.com/public_report.php) มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ยรายวันตั้งแต่เวลา 00.00 น. ถึง 23.59 น. มีปริมาณสูงกว่าปกติ มาอยู่ที่ 99.94 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้สภาพอากาศในเมืองหาดใหญ่ ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2558 และ 4 ตุลาคม 2558 มีบรรยากาศขมุกขมัว ปกคลุมไปด้วยกลุ่มหมอกควันและทัศนวิสัยต่ำ โดยค่าความเข้มข้น PM10 รายชั่วโมงในวันที่ 4 ตุลาคม 2558 พบว่ายังคงมีปริมาณสูงจนเกินมาตรฐานแล้ว โดยมีค่า PM10 เฉลี่ยรายชั่วโมงสูงที่สุด ณ เวลา 13:00 น. มีค่าเท่ากับ 232.42 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

          นอกจาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาแล้ว ยังพบว่าหมอกควันส่งผลกระทบอย่างมากในภาคใต้ตอนล่างคือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา สำหรับจังหวัดยะลาพบว่ามีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนเกินมาตรฐานแล้ว โดยมีค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเท่ากับ 120.74 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีค่า PM10 เฉลี่ยรายชั่วโมงสูงที่สุดเท่ากับ 272.94 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่เวลา 15:00 น. ส่วนจังหวัดนราธิวาสปริมาณฝุ่นละอองยังสูงกว่าปกติ โดยมีค่า PM10 เฉลี่ยรายชั่วโมงสูงสุดอยู่ที่ 123.28 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เนื่องจากทิศทางลมส่งผลให้หมอกควันพัดพาเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่าง ดังนั้นจึงควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

[attach=3]
2. ทิศทางลมระหว่างเกาะสุมาตราและ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

          ความเร็วลมในช่วงวันที่ 4-5 ตุลาคม 2558 ที่ความสูง 2,500 ฟุต แสดงในภาพข้างล่าง จะเห็นได้ว่ามีทิศทางจากเกาะสุมาตราไหลวนมาที่ภาคใต้ของไทยด้วยความเร็วระหว่าง 5-110 กม/ชม แล้วออกสู่อ่าวไทยตอนใต้ (ที่มา: http://wip.weather.gov.sg/wip/c/portal/layout?p_l_id=PUB.1003.633) เนื่องจากความเร็วลมที่สูงขึ้น ทำให้ปริมาณหมอกควันที่เกิดขึ้นใหม่ สามารถพัดมาถึงภาคใต้ตอนล่าง โดยใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงจากแหล่งกำเนิด ดังนั้นภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยโดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะได้รับผลกระทบของหมอกควันดังกล่าวในช่วงระยะ 1-2 วันนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณการเผาไหม้ใหม่ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์หมอกควันในเขตภาคใต้ตอนล่างต่อไป

  จากแผนที่หมอกควัน (http://wip.weather.gov.sg/wip/c/portal/layout?p_l_id=PUB.1003.538) บริเวณแหล่งกำเนิดควันในเกาะสุมาตรา พบว่ามีการแพร่กระจายของหมอกควันจากแหล่งมุ่งหน้าสู่ทิศเหนือเข้าประเทศมาเลเซียและมีโอกาสเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย

[attach=4]
3. ข้อมูลพยากรณ์ฝนระหว่างเกาะสุมาตราและ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

              จากข้อมูลพยากรณ์ฝนตกในเส้นทางการเคลื่อนที่ของหมอกควันจากเกาะสุมาตรามาสู่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย (http://www.worldmeteorology.com) สำหรับในวันนี้ (4 ตุลาคม 2558) จะมีปริมาณฝนตกน้อยมาก โดยมีฝนตกเล็กน้อยในบางพื้นของจังหวัด สงขลา ปัตตานี และ ยะลา และจากพยากรณ์ปริมาณอัตราหยาดน้ำฟ้าล่วงหน้า 24 ชั่วโมงพบว่าการพยากรณ์ฝนของภาคใต้ตอนล่างในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 พบว่าจะอาจจะมีฝนตกปานกลาง ทั้งนี้อัตราฝนเฉลี่ยของจังหวัดสงขลาและยะลา ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2558 แสดงดังตารางด้านล่าง และมีกลุ่มฝนในประเทศมาเลเซียที่จะช่วยชะล้างหมอกควัน ทำให้สถานการณ์บรรเทาลงได้

5. บทสรุปและข้อแนะนำ

          จากข้อมูลความเร็วลมในช่วงวันที่ 4-5 ตุลาคม 2558 มีทิศทางจากเกาะสุมาตราเคลื่อนผ่านประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมาที่ภาคใต้ตอนล่างของไทยด้วยความเร็วระหว่าง 5-110 กม/ชม แล้วออกสู่อ่าวไทยตอนใต้ เนื่องจากความเร็วลมที่สูงขึ้น ทำให้ปริมาณหมอกควันที่เกิดขึ้นใหม่ สามารถพัดมาถึงภาคใต้ตอนล่าง โดยใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงจากแหล่งกำเนิด ดังนั้นภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยโดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อาจได้รับผลกระทบของหมอกควันดังกล่าวในช่วงระยะ 1-2 วันนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณการเผาไหม้ใหม่ที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการพยากรณ์ฝนของภาคใต้ตอนล่างในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 พบว่าจะมีฝนตกปานกลาง และมีฝนตกในประเทศมาเลเซียที่จะช่วยชะล้างหมอกควัน อาจทำให้สถานการณ์บรรเทาลงได้

            ในกรณีทีมีหมอกควันปกคลุมอย่างหนาแน่นและทัศนะวิสัยไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระบบทางเดินหายใจ จึงขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรใช้หน้ากากกันละอองฝุ่น หากมีปัญหาระบบทางเดินหายใจให้พบแพทย์

สนใจรายละเอียดเชิงลึกอ่านเพิ่มเติมได้ที่
http://rdo.psu.ac.th/index.php/report-smog-hy/431-581004report-smog-hy

โดย 
- รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา
- น.ส. ภัทราภรณ์ แซ่เตี้ยว
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ดร.จิราพร ช่อมณี
สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน