ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สำนักวิจัย ม.อ.รายงานสภาวการณ์ปัญหาหมอกควันในหาดใหญ่และภาคใต้

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 16:12 น. 06 ต.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายงานสภาวการณ์ปัญหาหมอกควันในเขต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และภาคใต้ ฉบับที่ 23/2558 (6 ตุลาคม 2558)

จากวิกฤตการณ์หมอกควันรอบใหม่ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2558 ทำให้เมืองหาดใหญ่ และหลายจังหวัดทางภาคใต้ตอนล่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปริมาณหมอกควัน โดยมีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) สูงเกินมาตรฐาน (กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้มีค่าไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รวมทั้งการจราจรทั้งทางน้ำและทางบกแล้วนั้น ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ( 4-5 ตุลาคม 2558)

พบว่ามีปริมาณค่าความเข้มเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ของหลายพื้นที่ทางภาคใต้ตอนล่างโดยเฉพาะหาดใหญ่ และยะลามีค่าสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากจำนวนจุดการเผาไหม้ (hot spots) เพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 2-4 ตุลาคม 2558 คือ 69 จุด 123 จุด และ 258 จุด ตามลำดับ ประกอบกับทิศทางของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดพาเอากลุ่มหมอกควันจากแหล่งกำเนิดบนเกาะสุมาตราผ่านมาเลเซีย เข้าสู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย และออกสู่อ่าวไทย

[attach=1]
ในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณการเผาไหม้ใหม่เกิดขึ้น 59 จุด รวมถึงในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 กลับมีปริมาณฝนลดน้อยลง และจากข้อมูลของกระแสลมยังคงไม่เปลี่ยนทิศ ดังนั้นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะยังคงพัดเอากลุ่มหมอกควันเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งทางทิศตะวันตกโดยเฉพาะ ภูเก็ต สตูล ตลอดจนภาคใต้ฝั่งตะวันออกได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะยังคงได้รับผลกระทบของหมอกควันดังกล่าวในช่วงระยะ 1-2 วันนี้ (6-8 ตุลาคม 2558)

            รายงานฉบับนี้จะวิเคราะห์สถานการณ์จากข้อมูลรอบด้าน และพยากรณ์แนวโน้มสถานการณ์ระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคม 2558

1. สถานการณ์ปัจจุบันของปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10)

จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (http://aqmthai.com/public_report.php) ตั้งแต่ในวันที่ 3 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา บรรยากาศโดยทั่วไปของเมืองหาดใหญ่มีบรรยากาศขมุกขมัว ปกคลุมไปด้วยกลุ่มหมอกควันและทัศนะวิสัยต่ำ โดยค่าความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เท่ากับ 174.05 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (23.00 น. ของวันที่ 4 ตุลาคม 2558 ถึง เวลา 23.00 น. ของวันที่ 5 ตุลาคม 2558)(กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้มีค่าไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และเมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงพบว่ามีค่าความเข้มข้นสูงที่สุด อยู่ที่ 221.79 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (00:00 น. ของวันที่ 5 ตุลาคม 2558)

[attach=2]
[attach=3]
สถานการณ์หมอกควันในเมืองหาดใหญ่ ตอนเย็นวันที่ 5 ตุลาคม 2558 (โดย ดร.จิราพร ช่อมณี)

ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ ทางภาคใต้ได้แก่ สุราษฏร์ธานี ภูเก็ต นราธิวาส และยะลา โดยค่าความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) สูงขึ้นในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัด ภูเก็ต นราธิวาส และยะลา พบว่ามีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) สูงกว่าปกติ โดยมีค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเท่ากับ 114.13, 86.17 และ 112.52 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ (ช่วงเวลา 23:00 น. ของวันที่ 4 ตุลาคม 2558 ถึง เวลา 23:00 น. ของวันที่ 5 ตุลาคม 2558) แม้ว่าค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงของจังหวัดยะลา และนราธิวาส มีค่าลดลง แต่ก็ยังคงมีปริมาณสูงกว่าสภาวะปกติ

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ย PM10 รายชั่วโมงในจังหวัดดังกล่าวคือ ภูเก็ต นราธิวาส และยะลาพบว่ามีความเข้มข้นสูงสุดถึง 223.1, 124.97 และ 166.83 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากทิศทางลมส่งผลให้หมอกควันพัดเข้าสู่ทางภาคใต้ตอนล่าง ดังนั้นจึงควรเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

[attach=8]
2. การคาดการณ์สถานการณ์หมอกควันในเขต อ.หาดใหญ่ และภาคใต้ตอนล่าง ช่วง 6-8 ตุลาคม 2558

2.1 การพยากรณ์ทิศทางและความเร็วลมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนล่าง
ความเร็วลมในช่วงวันที่ 6 – 8 ตุลาคม 2558 ที่ความสูง 2 เมตร และ 2,500 ฟุต แสดงในภาพข้างล่าง จะเห็นได้ว่ามีทิศทางจากเกาะสุมาตราไหลวนมาที่ภาคใต้ของไทยด้วยความเร็วระหว่าง 5.6 – 57.5 กม./ชม. โดยจากทิศทางลมจะเห็นได้ว่าหมอกควันใหม่จะพัดพาเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างและไหลวนผ่านภาคใต้ฝั่งตะวันตก แล้วออกสู่อ่าวไทยตอนใต้ เป็นเหตุให้ปริมาณ PM10 ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและบริเวณใกล้เคียงจะมีปริมาณสูงขึ้นมาก

จากค่าความเร็วลมและช่วงเวลาของการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 และ 5 ตุลาคม 2558 จะพัดพากลุ่มหมอกควันดังกล่าวเคลื่อนตัวเข้าสู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย และในวันที่ 7-8 ตุลาคม 2558 กระแสลมจะพัดไหลวนอยู่ให้พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้กลุ่มหมอกควันในเขตพื้นที่ภาคใต้ยังไหลวนอยู่ในพื้นที่ อันเนื่องจากการไหลวนของกระแสลมดังนั้นภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะได้รับผลกระทบของหมอกควันดังกล่าวในช่วงระยะ 1 – 2 วันนี้

2.2 แหล่งกำเนิดควันจากการเผาป่า (Hotspots) ในเกาะสุมาตรา
จากข้อมูลของศูนย์อุตุนิยมประเทศสิงคโปร์ Meteorological Service Singapore พบว่ามีแหล่งกำเนิดควันจากการเผาป่าในเกาะสุมาตราในวันที่ 4 ตุลาคม 2558 เท่ากับ 258 จุด แต่ในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ลดลงเหลือเพียง 59 จุด

2.3 การพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนล่าง ช่วงวันที่ 6-7 ตุลาคม 2558
จากข้อมูลพยากรณ์ปริมาณฝนในเส้นทางการเคลื่อนที่ของหมอกควันจากเกาะสุมาตรามาสู่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย (http://www.worldmeteorology.com) สำหรับในวันนี้ (6 ตุลาคม 2558) เส้นทางเดินของหมอกควันจากเกาะสุมาตราเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างของไทย มีปริมาณฝนน้อยมาก และในภาคใต้ของประเทศไทยพบว่าอาจจะไม่มีฝนตกในช่วง 1 – 2 วันนี้

2.4. แผนที่หมอกควัน (Haze Map) บริเวณแหล่งกำเนิดควันในเกาะสุมาตรา
จากแผนที่หมอกควัน (http://wip.weather.gov.sg/wip/c/portal/layout?p_l_id=PUB.1003.538) บริเวณแหล่งกำเนิดควันในเกาะสุมาตรา พบว่ามีการแพร่กระจายของหมอกควันจากแหล่งกำเนิดมุ่งหน้าสู่ทิศเหนือเข้าประเทศมาเลเซีย ผ่านภาคใต้ตอนล่าง นอกจากนี้ทิศทางลมจะไหลวนเข้าสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้หมอกควันเก่าอาจจะพัดพากลับมายังพื้นที่ภาคใต้อีกครั้ง

3. บทสรุปและข้อแนะนำ
การคาดการณ์สถานการณ์หมอกควันในช่วงวันที่ 6-8 ตุลาคม 2558 พบว่ามีลมจะมีทิศทางพัดจากเกาะสุมาตราเคลื่อนผ่านประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมาที่ภาคใต้ตอนล่างของไทยด้วยความเร็วระหว่าง 5.6 – 57.5 กม./ชม. เมื่อพิจารณาทิศทางลมฝั่งอันดามันพบว่าจะพัดวนเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยอีกครั้ง โดยปริมาณหมอกควันที่เกิดแล้วนั้น สามารถพัดมาถึงภาคใต้ตอนล่าง โดยใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงจากแหล่งกำเนิด

แม้ว่าจุดการเผาไฟในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 มีปริมาณลดลง แต่ทั้งนี้ทิศทางลมในวันที่ 6–8 ตุลาคม 2558 นั้นพบว่าลมพัดไหลวนจากทิศตะวันตก เข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทย นั่นหมายความว่ากลุ่มหมอกควันเดิมอาจจะยังไหลวนอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้แก่ ภูเก็ต สตูล ตรัง และจังหวัดใกล้เคียง จะได้รับผลกระทบจากหมอกควันดังกล่าว ในส่วนของภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยโดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะยังคงได้รับผลกระทบของหมอกควันดังกล่าวจนถึงในช่วงระยะ 1-2 วันนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการพยากรณ์ฝนของภาคใต้ตอนล่างในวันที่ 6 – 8 ตุลาคม 2558 พบว่าไม่มีฝนตกทั้งในภาคใต้ของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นเส้นทางเดินหมอกควัน ดังนั้นสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคใต้อาจจะยังคงอยู่ในสภาวะวิกฤติ

ในกรณีทีมีหมอกควันปกคลุมอย่างหนาแน่นและทัศนะวิสัยไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระบบทางเดินหายใจ จึงขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคารเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ควรใช้หน้ากากป้องกันละอองฝุ่น ผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจควรพบแพทย์

[attach=7]
ข้อมูลเพิ่มเติมเชิงลึก
http://rdo.psu.ac.th/index.php/report-smog-hy/434-581006report-smog-hy

โดย
รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา
น.ส. ภัทราภรณ์ แซ่เตี้ยว
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.จิราพร ช่อมณี
สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน