ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ปริมาณฝุ่นละอองในอำเภอหาดใหญ่อีกครั้ง จากควันอินโดต้องฝ้าระวัง 1-2 วันนี้

เริ่มโดย หาดใหญ่ใหม่, 16:19 น. 20 ต.ค 58

หาดใหญ่ใหม่

รายงานสภาวการณ์ปัญหาหมอกควันในเขต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และภาคใต้ ฉบับที่ 28/2558 (20 ตุลาคม 2558)

สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายงานปริมาณฝุ่นละอองในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา และพื้นที่ใกล้เคียงมีปริมาณสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เย็นวานนี้ (19 ตุลาคม 2558) เนื่องจากยังมีการเผาไหม้ในเกาะสุมาตราและเกิดลมเปลี่ยนทิศพัดกลับเข้ามาในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย


แม้ว่าสถานการณ์หมอกควันในภาคใต้ได้คลี่คลายลงตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2558 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูมรสุมจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มาเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ  ส่งผลให้ประเทศไทยซึ่งอยู่ในทิศใต้ลมเมื่อเทียบกับแหล่งกำเนิดควันจากไฟป่าบนเกาะสุมาตราได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกลุ่มหมอกควันในช่วงเดือนกันยายนจนถึงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  ซึ่งหลังจากวันที่ 12 ตุลาคม 2558 เป็นต้นมา ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อ่อนกำลังลงและลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาแทนที่

ประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในทิศเหนือลมเมื่อเทียบกับแหล่งกำเนิดควันจึงไม่ได้รับผลกระทบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ในเมื่อวานนี้ (19 ตุลาคม 2558) พบว่าลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือได้อ่อนกำลังลง ทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดพาหมอกควันที่เกิดขึ้นจากจุดการเผาไหม้ Hotspots ที่สูงถึง 225 และ 158 จุด ในวันที่ 17-18 ตุลาคม 2558 เข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยอีกครั้ง ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง มีปริมาณสูงขึ้น โดยที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดยะลามีค่า PM10 เฉลี่ยสูงสุดรายชั่วโมงเท่ากับ 135.83 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (เมื่อเวลา 19:00 น.) และ 130.41 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (เมื่อเวลา 19:00 น.) ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาทิศทางลมใน 1 – 2 วันนี้ข้างหน้าพบว่าลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดพาหมอกควันเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้ง โดยจากข้อมูลทิศทางลมที่ความสูง 2 เมตรของวันที่ 20 ตุลาคม 2558 พบว่าภาคใต้ตอนล่างและภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะได้รับผลกระทบมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตก ถึงแม้ว่าจุดการเผาไหม้ลดลงเหลือเพียง 21 จุดในวันที่ 19 ตุลาคม 2558 แต่หากยังคงมีจุดการเผาไหม้เพิ่มขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ส่งผลให้กระแสลมจะพัดพากลุ่มหมอกควันเดิมและใหม่เข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทย รวมทั้งจากพยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่า ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยจะมีปริมาณฝนตกเบาบาง หากข้อมูลเป็นไปตามพยากรณ์อากาศ จะทำให้มีหมอกควันหนาแน่นอีกครั้งในช่วง 1 – 2 วันนี้ รายงานฉบับนี้จะวิเคราะห์สถานการณ์จากข้อมูลรอบด้าน และพยากรณ์แนวโน้มสถานการณ์ระหว่างวันที่  20 - 22 ตุลาคม 2558

1. สถานการณ์ปัจจุบันของปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10)
จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคใต้ขอประเทศไทย(http://air4thai.pcd.go.th/web/station.php?station=44t&parameter=PM10) พบว่าเมื่อวานนี้ (19 ตุลาคม 2558) ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ยรายชั่วโมง โดยเฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดยะลามีค่าสูงกว่าปกติมาก โดยมี PM10 เฉลี่ยรายชั่วโมงสูงสุดอยู่ที่เวลา 19:00 น. โดยมีปริมาณเท่ากับ 135.83 และ 130.41 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ ทั้งนี้ค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงในจังหวัดภูเก็ต อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา มีค่าเท่ากับ23.67, 72, 37.39 และ 45.79 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ (ไม่พบข้อมูลของจังหวัดสุราษฏร์ธานี)

2. การคาดการณ์สถานการณ์หมอกควันในเขต อ.หาดใหญ่ และภาคใต้ตอนล่าง ช่วง 20 - 22 ตุลาคม 2558

2.1 แหล่งกำเนิดหมอกควันและแผนที่หมอกควันในภูมิภาค
จากข้อมูลของศูนย์อุตุนิยมประเทศสิงคโปร์ Meteorological Service Singapore พบว่ามีแหล่งกำเนิดควันจากจุดการเผาไฟ (Hotspots) ในเกาะสุมาตราในวันที่ 18 ตุลาคม 2558 ซึ่งเท่ากับ 158 จุด แต่ในที่ 19 ตุลาคม 2558 ลดลงเหลือเพียง 21 จุด

2.2 การพยากรณ์ทิศทางและความเร็วลมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนล่าง
จากข้อมูลของศูนย์อุตุนิยมประเทศสิงคโปร์ Meteorological Service Singapore พบว่าความเร็วลมในช่วงวันที่ 20 - 22 ตุลาคม 2558 ที่ความสูง 2,500 ฟุต แสดงในภาพข้างล่าง จะเห็นได้ว่ามีทิศทางจากเกาะ
สุมาตราไหลวนเข้าสู่ภาคใต้ของไทยด้วยความเร็วระหว่าง 5.6 – 114.9 กม./ชม. ดังนั้นหมอกควันที่เกิดขึ้นในวันที่ 17 – 19 ตุลาคม 2558 จะเข้าสู่ประเทศไทยเร็วขึ้นกว่าวิกฤติหมอกควันครั้งก่อนหน้านี้

2.3 การพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนล่าง ในวันที่ 20 ตุลาคม 2558
ผลการพยากรณ์ฝนวันนี้ (20 ต.ค. 2558) ตั้งแต่ 1.00 น. ถึงเที่ยงคืน จากรูปจะเห็นได้ว่าทะเลด้านตะวันตกของเกาะสุมาตรา จะมีกลุ่มฝนต่อเนื่องทั้งวัน สำหรับทะเลระหว่างเกาะสุมาตรากับมาเลเซียและภาคใต้ของไทยนั้น จะมีฝนกระจายช่วง 1.00 น. ถึง 15.00 น. จากนั้นฝนน้อยลง สำหรับบนเกาะสุมาตรา ช่วง 1.00 - 10.00 น. จะมีฝนบริเวณชายฝั่ง จากนั้น 11.00 - 17.00 น. จะมีฝนกระจายบนเกาะ ซึ่งในช่วงค่ำ ฝนบนเกาะจะน้อยลงและหายไป

สำหรับภาคใต้ของประเทศไทย ช่วง 1.00 - 2.00 น. จะมีกลุ่มฝนครอบคลุมบริเวณกว้างในอ่าวไทยบริเวณชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ กลุ่มฝนดังกล่าวค่อยๆเคลื่อนห่างจากชายฝั่งออกไปทางทิศตะวันออก ช่วง 1.00 - 10.00 น. พื้นที่แผ่นดินของภาคใต้ตอนล่างจะค่อนข้างจะไม่มีฝน ช่วง 11.00 - 18.00 น. จะมีฝนกระจายในบางพื้นที่ ช่วง 19.00 - เที่ยงคืน จะมีกลุ่มฝนบริเวณชายฝั่งตะวันออก(ข้อมูลจาก WMApp และ )


2.4 บทสรุปการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์
จากข้อมูลพยากรณ์ความเร็วและทิศทางลม รวมทั้งปริมาณฝนพบว่าสถานการณ์หมอกควันจากจุดการเผาไหม้ในเกาะสุมาตราจะกลับมาหนาแน่นขึ้นอีกครั้งในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น และจากพยากรณ์อากาศจะมีฝนตกเบาบางและระยะเวลาไม่นานในเกาะสุมาตราและในพื้นที่ภาคใต้ ฝั่งตะวันออก ดังนั้นอาจจะส่งผลให้ภาคใต้ของประเทศไทยมีหมอกควันปกคลุมหนาแน่นใน 1 – 2 วันนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและภาคใต้ฝั่งตะวันออก

3. บทสรุปและข้อแนะนำ
สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคใต้อาจจะมีความหนาแน่นขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากจุดการเผาไฟที่เพิ่มขึ้นในช่วง 1 – 2 วันก่อนหน้านี้ ประกอบกับทิศทางลมที่จะส่งผลกระทบต่อภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลทิศทางลมพบว่าจังหวัดในภาคใต้ตอนล่างและภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะได้รับผลกระทบมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตก ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงควรเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันในระยะ 1 – 2 วันนี้

โดย
รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
และรองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา

น.ส. ภัทราภรณ์ แซ่เตี้ยว
ภาควิชาวิศวกรรมโยธา  สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ดร.จิราพร ช่อมณี
สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี
ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยสหวิทยาการวิทยาศาสตร์ระบบโลกและการจัดการภัยธรรมชาติอันดามัน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

ผศ.ดร.ฐิติวร ชูสง
รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ฝ่ายวิจัย หน่วยอาชีวอนามัย  คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หาดใหญ่ใหม่ www.facebook.com/hatyaimai
เมืองหลวงภาคใต้ หลากหลายเรื่องราว บอกเล่าแบ่งปัน

คนหาดใหญ่คนหนึ่ง

คนที่อินโดจะอยู่กันยังไงนี่ ไม่เดือดร้อนกันเลยรึ... เมื่อไหร่จะเผาหมดประเทศสักที