ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

บทความเรื่อง "การจัดหาน้ำดื่มและน้ำใช้ในครัวเรือนท่ามกลางภาวะน้ำท่วม"

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 15:25 น. 02 พ.ย 54

ทีมงานประชาสัมพันธ์

             ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีบทความ ความรู้เรื่อง "การจัดหาน้ำดื่มและน้ำใช้ในครัวเรือนท่ามกลางภาวะน้ำท่วมโดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า" โดย ศ.นพ.ดร.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หัวหน้าหน่วยระบาดวิทยาและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ใน Online Disaster Resource (bit.ly/disasterthai)
http://medipe2.psu.ac.th/~disaster/sanitation/waterinflooding.htm ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในภาวะวิกฤตน้ำท่วม


การจัดหาน้ำดื่มและน้ำใช้ในครัวเรือนท่ามกลางภาวะน้ำท่วม



โดย ศ.นพ.ดร.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์

หัวหน้าหน่วยระบาดวิทยา

และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่



ในภาวะน้ำท่วมอย่างกว้างในขณะนี้ น้ำดื่มบรรจุขวดหาซื้อได้ยากเนื่องจากโรงงานผลิตถูกน้ำท่วม การขนส่งยากลำบาก  จำนวนและพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าและกว้างขวางกว่าหน่วยงานบรรเทาทุกข์จะช่วยได้ ระยะเวลาที่น้ำท่วมขังก็ยาวนาน ประชาชนจำเป็นต้องหาทางช่วยตนเองให้มากที่สุด บทความนี้เสนอแนวคิดและข้อมูลทางเลือกต่าง ๆ ในการจัดหาน้ำดื่ม



การรองรับน้ำฝน

ควรหาทางกักเก็บให้มากที่สุดในขณะฝนตก ถ้าภาชนะสะอาดพอ สามารถดื่มได้เลยเนื่องจากในช่วงน้ำท่วมนี้ระบบอุตสาหกรรมและการจราจรหยุดชะงัก ทำให้มลพิษทางอากาศน้อย



การจับและรองรับน้ำค้าง

หลักการทางวิทยาศาสตร์มีอยู่ว่า อากาศทั่วไปมีไอน้ำ ถ้าพื้นผิวเย็นด้วยเหตุใดก็ตาม ไอน้ำจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ

การสร้างพื้นผิวจับน้ำค้างทำได้โดยให้พื้นผิวนั้น ๆ สูญเสียพลังงานจากการแผ่รังสีความร้อนขึ้นไปบนท้องฟ้าในคืนที่อากาศโปร่งปราศจากเมฆ ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ให้ความร้อนที่สะสมอยู่ในตอนกลางวันซึ่งอยู่ใต้พื้นผิวนั้นเช่นจากพื้นดินหรือตัวบ้านมาทำให้พื้นผิวอุ่น

ในทางปฏิบัติ ควรหาพื้นที่โล่ง ไม่มีร่มไม้หรือชายคาปกคลุม ใช้ผ้ายางหรือไวนิลบาง ๆ ผิวมันสะอาดลื่นซึ่งแผ่รังสีได้ดีและน้ำไม่เกาะง่าย ตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ขึงเอียงประมาณ 30 องศา ชายขอบบนตรึงขนานกับพื้นดิน ชายล่างอยู่เหนือพื้นประมาณ 1 ฟุต คล้าย ๆ ขึงเต็นท์ ไม่ควรให้สูงเกินไปเพราะบริเวณใกล้พื้นมีความชื้นสูงกว่าที่สูง และควรพ้นจากพื้นดินพอสมควรเพื่อไม่ให้ความร้อนจากพื้นดินที่สะสมอยู่ทำให้น้ำค้างระเหย ชายขอบบนตรึงขนานกับพื้นดิน ขอบล่างหย่อนเล็กน้อย เพื่อจัดภาชนะรองรับหยดน้ำที่ไหลลงจากผ้ายางได้ง่ายขึ้น

บ้านที่มีหลังคาเป็นแผ่นโลหะ (metal sheet) ก็อาจจะมีน้ำค้างจากหลังคาอยู่แล้วในบางวันเนื่องจากกลไกดังกล่าว การเสริมฉนวนเช่นแผ่นโฟมใต้แผ่นโลหะป้องกันความร้อนจากตัวบ้านไม่ไปถึงแผ่นโลหะหลังคาจะเพิ่มน้ำค้างได้มาก

น้ำค้างมีปริมาณน้อยกว่าน้ำฝนมาก ในฤดูกาลและภาวะที่เหมาะสม อาจจะได้น้ำค้างเทียบเท่ากับฝนตก 0.3 มม. พื้นที่จับน้ำค้างขนาด 2 x 5 เมตร หรือ 10 ตารางเมตรจึงจับน้ำค้างได้ไม่เกิน 3 ลิตรต่อวันซึ่งอาจจะเพียงพอสำหรับใช้ดื่มหรือปรุงอาหารสำหรับคนหนึ่งคนในวันนั้น แต่อาจจะมีข้อจำกัดทางภูมิอากาศทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำค้างในบางพื้นที่ได้



การกรองน้ำ

          หากที่ไม่สามารถเก็บกักน้ำฝนและน้ำค้าง กรวดและทรายที่บรรจุถุงป้องกันน้ำท่วมเป็นวัสดุกรองที่ดีในยามยากสำหรับกรองน้ำที่ท่วมอยู่มาใช้งานชั่วคราว นำที่กรองได้เหมาะสำหรับใช้ในครัวเรือนแต่ไม่ควรนำมาใช้ดื่ม



การตกตะกอน

          สิ่งสกปรกจำนวนมากอยู่กับตะกอน การทำให้น้ำตกตะกอนโดยการแกว่งสารส้ม หรือ ปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอนเอง แล้วจึงเอาน้ำใสตอนบนมาใช้ หรือ กรองแล้ว ฆ่าเชื้อก่อนใช้ จะได้น้ำที่ปลอดภัยมากขึ้น



ระบบกรองน้ำฉุกเฉิน

          ทรายสำหรับบรรจุถุงทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วม นำบรรจุใส่ถังน้ำพลาสติกหรือโอ่งน้ำ ให้ทรายมีความหนา 80 ซม จะช่วยให้น้ำที่ตกตะกอนแล้วใสยิ่งขึ้น และมีเชื้อโรคน้อยลง



การฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน

          การฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน ทำได้ง่าย ใช้น้ำยาคลอรีนหรือไฮเตอร์ 8 หยดต่อน้ำหนึ่งแกลลอน หรือ 2 หยดต่อน้ำหนึ่งลิตร ตั้งทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาที คลอรีนฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดีพอสมควร แต่ไม่หมดโดยเฉพาะถ้าน้ำขุ่น ดังนั้นการปล่อยให้น้ำตกตะกอนและกรองให้ดีเสียก่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญ



น้ำที่ผ่านขั้นตอนดังกล่าวตามลำดับ คือ ตกตะกอน กรอง และ เติมคลอรีนแล้ว มีคุณภาพเท่าหรือใกล้เคียงกับน้ำประปา ถ้าทำครบถูกต้องทุกขั้นตอนและแหล่งน้ำดิบไม่สกปรกมาก ก็พอใช้หุงต้มอาหารได้



ถ้าจะใช้เป็นน้ำดื่ม น่าจะฆ่าเชื้อโดยการต้ม หรือ อย่างน้อยฆ่าเชื้อด้วยแสงแดดเป็นขั้นสุดท้าย



การฆ่าเชื้อด้วยแสงแดด (Solar Disinfection หรือ SODIS)

          เชื้อโรคส่วนใหญ่ในน้ำ ตายด้วยความร้อน แสง ultra-violet (UV) และ อนุมูลออกซิเจนอิสระ กระบวนการ SODIS อาศัยหลักการดังกล่าวในการผลิตน้ำดื่มที่ปลอดภัย

         

          สิ่งที่จะต้องเตรียมได้แก่

1.ขวดน้ำเชิงพาณิชย์ ทำด้วยพลาสติคใส (ขวด PET) ที่ดื่มน้ำหมดแล้วพร้อมฝาที่ปิดได้แน่นสนิท ขนาดไม่เกินสองลิตร เมื่อวางนอนแล้วความหนาที่แสงอาทิตย์ผ่านไม่เกิน 10 ซม. ขวดยิ่งชะลูด(ขวดผอม) ยิ่งดี รังสีดวงอาทิตย์จะได้ทะลุทะลวงได้มาก ขวดต้องไม่เก่าหรือมีรอยขีดข่วนมากเกินไป เพราะรังสีจะผ่านได้ไม่ดี ภายในขวดสะอาด แกะฉลากภายนอกและพลาสติกหุ้มออกให้หมด



2. แหล่งน้ำสะอาดที่สุดเท่าที่จะหาได้ ตามที่แนะนำข้างบน คือ น้ำฝน น้ำค้าง ครัวเรือนที่ดื่มน้ำฝน ถ้าต้องการประหยัดพลังงานและต้องการให้ทุกคนในบ้านแข็งแรงดี อาจจะใช้วิธีนี้แทนการต้มก็ได้เลย ถ้าจะใช้น้ำท่าหรือน้ำหลากที่อยู่รอบบ้าน ต้องพิจารณาว่าแหล่งน้ำนั้นมีการปนเปื้อนรุนแรงเพียงไร เช่น อยู่ใต้น้ำของบริเวณถมขยะ หรือ เป็นแหล่งน้ำทิ้งของระบบอุตสาหกรรมก็จะไม่เหมาะ ถ้าคิดว่าปนเปื้อนไม่มาก ก็จัดการให้ผ่านกรรมวิธี ตกตะกอน กรอง และเติมคลอรีน ดังกล่าวมาแล้ว อย่าลืมว่า SODISไม่สามารถแก้ปัญหาสารเคมีปนเปื้อน และไม่เหมาะกับน้ำขุ่น



3. การตรวจความใสของน้ำก่อนฆ่าเชื้อด้วยแสงแดด ลองบรรจุน้ำให้เต็มขวด เปิดฝาวางทับหนังสือพิมพ์รายวันหน้าแรก ควรจะสามารถมองจากปากขวดลงไปก้นขวด อ่านพาดหัวข้อข่าวรองได้ (ตัวอักษรในแนวหลักขนาด 3.5 ซม.) ชัดเจน แสดงว่าน้ำใสพอ



4. จัดบริเวณที่จะวางขวดตากแดดให้ร้อน โดยเฉพาะถ้ามีโลหะ เช่น แผ่นสังกะสีลูกฟูก หรือ อะลูมิเนียมจะดีมาก เพราะความร้อนจะช่วยทำให้การฆ่าเชื้อโดย UV และอนุมูลออกซิเจนอิสระ ทำงานได้ดีขึ้น



วิธีการฆ่าเชื้อ



1. กรอกน้ำที่ปลอดภัยดังกล่าวลงขวดให้ได้ประมาณ 3 ใน 4 ขวด



2.เขย่าแรงๆ อย่างน้อย 20 ครั้ง ให้อากาศ (ออกซิเจน) ผสมกับน้ำให้ทั่ว



3.เติมน้ำให้เต็มขวด ปิดฝาแน่นสนิท



4.วางขวดในแนวนอน ตากแดดบนพื้นตามข้อ 4 ข้างบนทิ้งไว้ อย่าพยายามขยับขวดโดยไม่จำเป็น เพื่อให้ออกซิเจนไม่แยกตัวจากน้ำ



- ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ถ้าแดดจัด พื้นที่วางเป็นโลหะและน้ำค่อนข้างใส



- ใช้เวลา 6 ชั่วโมง ถ้าวางบนพื้นกระเบื้องหรือซีเมนต์



- ให้วางทิ้งไว้ 2 วันถ้ามีเมฆมาก



ถ้าฝนตกตลอด แดดไม่ออกเลย ให้รองน้ำฝนดื่มแทน



น้ำในขวดดังกล่าวนำไปดื่มได้เลย หรือจะเก็บไว้ดื่มในภายหลังก็ได้ แสงแดด ความร้อน และออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากัน มีผลในการฆ่าเชื้อโรคทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ 99.9% แต่อาจจะมีสาหร่ายเซลเดียวซึ่งทนรังสียูวีและความร้อนซึ่งอาจจะจับตัวเป็นตะไคร่น้ำในขวดได้ถ้าเก็บขวดไว้นาน แต่น้ำที่มีสาหร่ายเหล่านี้ไม่มีอันตรายต่อผู้ดื่มทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันปกติ



หมายเหตุ



1.เทคโนโลยี SODIS เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยองค์การนานาชาติ www.sodis.ch

2.ขวดน้ำใส PET หรือ Poly Ethylene Terephthalate (โพลีเอทธิลีนเทเรฟทาเลต) ที่ตากแดดในระดับนี้ ปลดปล่อยสารเคมีน้อยมาก ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ไม่เหมือนวัสดุประเภท PVC ทุกวันนี้เราก็ดื่มน้ำบรรจุขวด PET กันเป็นประจำอยู่แล้ว

3.สรุปว่าการนำข้าวของไปแจกชาวบ้านที่ติดอยู่ในบริเวณน้ำท่วม นอกเหนือจากอาหารและน้ำขวดแล้ว ควรจัดหาสารส้มและคลอรีนหรือไฮเตอร์ไปใช้ฆ่าเชื้อในน้ำด้วย