ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ประมวลสถานการณ์น้ำประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 11:01 น. 26 ก.พ 59

ทีมงานบ้านเรา

ประมวลสถานการณ์น้ำประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559

นายกรัฐมนตรี เตรียมลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี
พันเอกหญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดการลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. วันพรุ่งนี้ (26 ก.พ.59) ว่า มีกำหนดพบปะประชาชนและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำ ประโยชน์ในเขตปฎิรูปที่ดิน ให้แก่สหกรณ์ปฎิรูปที่ดินระบำ จำกัด พร้อมมอบปัจจัยการผลิตให้แก่ผู้แทนสมาชิกสหกรณ์ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ ต้นพันธุ์หม่อน และปลากินพืช ก่อนเยี่ยมชมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา ซึ่งเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ รองรับการปลูกพืชน้ำน้อยในช่วงภัยแล้ง และยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญของชาวอุทัยธานีด้วย

ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อคนกรุงเทพมหานครหลังมีนักวิชาการออกมาระบุว่า ปริมาณน้ำเค็มจะหนุนสูงจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำสำหรับทำน้ำประปา และอาจต้องงดจ่ายน้ำประปาเป็นช่วงเวลา ว่ารัฐบาลยังคงยืนยันมีปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคเพียงพอไปจนถึงเดือน สิงหาคมนี้ จึงยังไม่มีกำหนดงดจ่ายน้ำเป็นบางเวลาตามที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล อีกทั้งในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่มีฝนตกตามฤดูกาล จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้ประชาชนได้ใช้อย่างพอเพียงต่อไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลขอขอบคุณเกษตรกรที่ให้ความร่วมมือลดการทำนาปรัง และปฏิบัติตามแนวทางรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย
กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยพื้นที่ใกล้วิกฤติที่มีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำ 28 จังหวัด ใน 76 อำเภอ ด้านกรมชลประทาน ระบุ น้ำในลุ่มเจ้าพระยาใช้ได้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤต ภัยแล้ง ปี 2558/2559 ครั้งที่ 2/2559 ถึงสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ ว่า มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง 12 จังหวัด และมีพื้นที่ที่มีแนวโน้มขาดแคลนน้ำ หรืออยู่ในเกณฑ์ "ใกล้วิกฤติ" รวม 28 จังหวัด (คลอบคุลม 76 อำเภอ) อาทิ กรุงเทพมหานคร (ในเขตหนองจอก) กำแพงเพชร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย นนทบุรี นครสวรรค์ อยุธยา พิษณุโลก สงขลา สระแก้ว เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี ทั้งนี้ พื้นที่ใกล้วิกฤติดังกล่าวคือพื้นที่ที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือเร่งด่วน

ขณะที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเริ่มปฏิบัติการฝนหลวง 8 จุด ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ โดยได้เริ่มปฏิบัติการไปในบางส่วนแล้ว เช่น นครสวรรค์ และกาญจนบุรี เพื่อเร่งเติมน้ำในเขื่อนให้ได้มากที่สุด ด้านกรมชลประทานยืนยันว่าปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ลุ่มเจ้าพระยาที่มีอยู่ประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จะสามารถใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค รวมถึงใช้ในกิจกรรมดูแลพืชสวนบางส่วนได้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

ภาคเหนือ
จ.สุโขทัย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในลุ่มน้ำยม
นายปิติ แก้วสลับสี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการลุ่มน้ำยม ประจำปี 2561-2564 ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมโรงแรมสุโขทัย เทรเชอร์ รีสอร์ท แอนด์ สปา เพื่อนำเสนอแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทบทวนปัญหา ความต้องการ และแนวทางแก้ไขในพื้นที่ลุ่มน้ำระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว รวมไปถึงการจัดทำเป้าหมายเชิงพื้นที่ในระดับจังหวัดที่สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และความต้องการ

สำหรับการจัดโครงการในวันนี้ สำนักทรัพยากรน้ำภาค 9 ได้นำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปปฏิบัติใน 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ การจัดการน้ำอุปโภค-บริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (การเกษตรและอุตสาหกรรม) การจัดการน้ำท่วม การจัดการคุณภาพน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภาคต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมี ประสิทธิภาพและยั่งยืน มีการใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
การประปาฯ สาขาพะเยา เพิ่มความยาวท่อสูบน้ำหลังประสบปัญหาสูบน้ำไม่ได้จากระดับน้ำในกว๊านพะเยา ที่ลดลงต่อเนื่อง

นายกฤช เกษจรัล ผู้จัดการ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพะเยา กล่าวว่าการเตรียมพร้อมรับภัยแล้งที่จะกระทบกับการผลิตน้ำประปา นอกจากการเพิ่มความยาวท่อสูบน้ำในกว๊านพะเยาอีก 30 เซนติเมตรแล้ว ในอนาคตจะเพิ่มลงไปอีก 1.2 เมตร เพื่อรับมือกับภัยแล้งในขั้นวิกฤติด้วย ขณะเดียวกันก็ได้หาแหล่งน้ำสำรองโดยใช้อ่างเก็บน้ำหนองขวาง อ.ภูกามยาว ในการสร้างระบบโมบายแพลนท์ หรือระบบผลิตน้ำประปาแบบเคลื่อนที่ขนาด 200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และการขุดลอกอ่างเก็บน้ำร่องติ้วหลังที่ว่าการอำเภอภูกามยาว พร้อมวางระบบท่อสูบน้ำดิบจากลำน้ำอิง เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปา โดยทั้งการสร้างระบบผลิตน้ำ และการขุดลอกวางระบบน้ำจะใช้เงินกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการฯ

จ.อุตรดิตถ์ บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ช่วงหน้าแล้งแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่าเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ความร่วมมืองดทำนาปรังเป็นจำนวนมาก โดยเข้าร่วมโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยกว่า 7,600 ครัวเรือน เลี้ยงปศุสัตว์และประมงอีกกว่า 10,000 ครัวเรือน ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการความช่วยเหลือ ปัจจัยการผลิต และองค์ความรู้ไปส่งเสริมการสร้างอาชีพได้ในช่วงหน้าแล้งนี้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเกษตรกรที่สนใจขอให้ติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อเข้าไปให้การดูแลช่วยเหลือต่อไป

ด้านนายอำนาจ ปาลาศ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่าขณะนี้ทั้ง 9 อำเภอ อยู่ระหว่างการโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผล กระทบจากภัยแล้งปี 2558/ 2559 ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 จากทั้งหมด 5 รุ่น อาทิ การแปรรูปข้าวลืมผัว การเพิ่มคุณภาพการผลิตกาแฟ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การประมง การทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพหลักและอาชีพเสริม สร้างรายได้ลดรายจ่ายในครัวเรือน
สถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำจังหวัดเชียงใหม่ภายใต้สภาวะภัยแล้ง

นายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าแนวโน้มสถานการณ์ในลำน้ำปิงในอำเภอดอยหล่อและอำเภอจอมทองลดน้อยลงเนื่องจาก ชาวสวนได้รับน้ำฝนรอบนี้ รวมถึงน้ำบริเวณฝ่ายหนองสลีคที่ชลประทานลำพูนดูแลมีเพิ่มขึ้น สามารถระบายลงไปช่วยวันละ 25,000 ลบ.ม. ในส่วนของสถานการณ์แหล่งน้ำชลประทาน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเชิงเดี่ยว (ขนาดเล็กและกลาง) มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ประชาชนควรพิจารณาวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบ อีกทั้ง บางพื้นที่ทำการเกษตรโดยใช้น้ำจากลำน้ำปิง ซึ่งมีประกาศงดการจ่ายน้ำ หากฝ่าฝืนมีโอกาสเสี่ยงสูงและเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการน้ำ จึงขอให้ประชาชนงดลักลอบเลี้ยงปลาในลำเหมืองและลำน้ำปิง

ด้านความช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ประเภท คือ พื้นที่มีน้ำเพียงพอ พื้นที่มีน้ำน้อย และพื้นที่ไม่มีน้ำ ในส่วนกิจกรรมพืชใช้น้ำน้อย มอบให้เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนกิจกรรมหรือโครงการเกษตรอื่นๆ มอบเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ในด้านกิจกรรมหรือโครงการนอกภาคเกษตรมอบสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ และให้ข้อมูลกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด ด้านการประมง ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการประกาศขอให้งดเลี้ยงปลากระชังไปแล้ว แต่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จ.ขอนแก่น ประสบภาวะแล้งในรอบ 80 ปี
ชาวบ้าน บ้านหนองคู ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ต้องนำถังน้ำใส่รถเข็นมารองรับน้ำที่บริเวณกลางหมู่บ้าน ซึ่ง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหว้า ได้นำน้ำมาเติมไว้ในถังขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 3 ถัง เพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน เนื่องจากสระน้ำกลางหมู่บ้านที่ใช้เป็นแหล่งผลิตประปาหมู่บ้านแห้งขอด เพราะไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่เป็นเวลายาวนาน 3 ปีติดต่อกัน ขณะที่บางหลังคาเรือนต้องเจาะบ่อบาดาลใช้เอง แต่ต้องประสบปัญหาไม่มีน้ำใต้ดินสูบขึ้นมาใช้งาน

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนประชากรที่มีอยู่กว่า 300 ครอบครัว ทำให้ถังน้ำกลางไม่เพียงพอ ชาวบ้านที่อยู่ไกลเดินทางไม่สะดวก ประกอบกับช่วงเวลาเลิกงานหรือวันหยุด จะต้องต่อแถวเข้าคิวยาว และน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำถังน้ำขนาด 2,000 ลิตร มาเพิ่มให้อีกประมาณ 4 ถัง เพื่อจะนำไปตั้งตามจุดต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน พร้อมกันนี้ ทางหมู่บ้านฯ ได้นำเงินรัฐบาลจากโครงการตำบลละ 5 ล้านบาทมาทำการขุดลอกสระน้ำที่ตื้นเขิน เพื่อให้สามารถรองรับน้ำฝนได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี หากภายในเดือนมีนาคม - เมษายนนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่ดังกล่าว ทางผู้นำหมู่บ้านอาจกังวลว่าจะเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำก็เป็นได้

จ.หนองบัวลำภู กำจัดผักตบชวา คลองสวยน้ำใส แก้ไขปัญหาภัยแล้ง
นายพศิน โกมลวิชญ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วย พันเอกสมศักดิ์ แจ่มพันธ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมพิธีเปิดโครงการกำจัดผักตบชวา เพื่อคลองสวย น้ำใส แก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยการขุดลอกลำห้วย พัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำเพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี เพื่อแก้ไขปัญหาแล้งซ้ำซากของประชาชนในพื้นที่ตำบลนาเหล่า จำนวน 9 หมู่บ้าน

นายอำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์แก้ไขปัญหาภัยแล้งที่บ้านอาเลา ตำบลหนองอียอ
นายกิตติ สัตย์ซื่อ นายอำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ ออกตรวจสอบ ติดตาม และแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่บ้านอาเลา ต.หนองอียอ อ.สนม พบสภาพแหล่งน้ำอุปโภค – บริโภคและน้ำประปาประจำหมู่บ้านลดน้อยเข้าขั้นวิกฤติ ราษฏร 145 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ จึงได้จัดเตรียมการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน โดยการจัดหาเครื่องสูบน้ำ ท่อส่ง เพื่อสูบน้ำจากลำห้วยไผ่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ระยะทางประมาณ 450 เมตร และได้ชี้แจงทำความเข้าใจแก่ราษฏร ในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือของภาครัฐต่อไป

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ส่งน้ำช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จ.ขอนแก่น กว่า 4,700 ครัวเรือน
นายปรีชา จานทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักงานชลประทานที่ 6 ประชุมร่วมภาครัฐ ชลประทาน ภาค และภาคเอกชน เพื่อชี้แจงกำหนดแนวทางรอบเวรการจัดสรรน้ำผ่านระบบชลประทานเข้าพื้นที่ให้ ตรงตามความต้องการ ทั้งด้านเวลา ปริมาณ และคุณภาพน้ำ จากนั้นทำการส่งน้ำในปริมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อส่งน้ำเข้าหนองน้ำสาธารณะประโยชน์สำหรับการอุปโภคบริโภคผลิตน้ำประปา และภาคส่วนการใช้น้ำอื่น ผ่านระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งขวา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.น้ำพอง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 13 แห่ง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง 6 มีนาคม 2559 ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 4,739 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ในวันที่ 7 มีนาคม เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2559 จะทำการส่งน้ำให้ระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอน้ำพอง อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น และ อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม อย่างไรก็ตาม การส่งน้ำให้ระบบคลองสายใหญ่ฝั่งขวาและซ้าย เป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำเพียงพอในการอุปโภคบริโภคในช่วงหน้า แล้งเท่านั้น ไม่ได้เป็นการส่งน้ำเพื่อทำการเกษตร ขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดเกิดประโยชน์และมีคุณค่ามากที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในเขื่อนอุบลรัตน์ และให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดหน้าแล้งนี้

ภาคกลาง
จ.นนทบุรี เผยน้ำเค็มรุกเข้ามาแล้ว คาดว่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา
ในปีนี้น้ำเค็มจากพื้นที่คลองด่านจังหวัด สมุทรปราการ ได้ไหลเข้าสู่ระบบชลประทานพระองค์ไชยยานุชิต แหล่งต้นทุนน้ำดิบของการประปาบางคล้าด้านซีกฝั่งตะวันตกหรือฝั่งขวาของลำน้ำ บางปะกง ซึ่งรับน้ำมาจากเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ ผ่านมาทางคลองระพีพัฒน์ และคลอง 13 ซึ่งได้เกิดภาวะน้ำเค็มรุกล้ำเลยจากสถานีผลิตน้ำประปาหมู่บ้านขวัญสะอาด
กรมชลประทานคาดว่าน้ำเค็มจะหนุนในช่วง ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แต่ขณะนี้น้ำเค็มได้รุกเข้ามาถึงแล้ว ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถือว่ามาเร็วกว่าปกติ และอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำดิบ เพราะน้ำเค็มจะเริ่มหนุนสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าในปีนี้อาจจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากสภาวการณ์ขาดต้นทุน น้ำดิบ หรือภัยแล้งปีนี้อาจจะกินเวลาหลายเดือน หากมีฝนตกลงมาในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ปีนี้ ก็จะแก้ปัญหาผ่านไปได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอนและจะพ้นวิกฤตไปได้ เวลานี้จึงต้องรอน้ำฝนจากฟ้าที่จะตกตามฤดูกาล เพราะดูจากปริมาณน้ำต้นทุนด้านฝั่งตะวันตกที่ยังเหลืออยู่ ยังมีไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา

ผู้ว่าฯ สระบุรีระดมสรรพกำลังกำจัดผักตบชวาและวัชพืชครั้งใหญ่พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนเตรียมแผนรับมือปัญหาภัยแล้ง เชื่อว่าหน้าแล้งที่จะถึงนี้ไม่น่ามีปัญหา
นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานจัดกิจกรรมประชารัฐร่วมใจกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวนกว่า 500,000 ตัว ซึ่งโครงการกำจัดผักตบชวา เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย มีจุดที่จะกำจัดผักตบชวากว่า 100 จุด โดยที่จังหวัดสระบุรีได้ เริ่มดำเนินการกำจัดผักชวามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม จนสิ้นเดือนมีนาคม ขณะนี้ได้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาไปแล้ว กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเมื่อสามารถกำจัดผักตบชวาได้หมดสิ้น จะทำให้การระบายของเส้นน้ำดีขึ้นและจะช่วยลดปัญหาภัยแล้งได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับน้ำที่จะมาในช่วงหน้าฝน ส่วนเรื่องปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำนั้น จังหวัดสระบุรี มีน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งมีการปล่อยน้ำและควบคุมปริมาณในการปล่อยน้ำอย่างเป็นระบบจนให้ถึงเดือน มิถุนายน อีกทั้งเกษตรกรให้ความร่วมมืองดทำนาปรัง หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนเรื่องน้ำประปาได้ประสานทุกภาคส่วนเตรียมหาแหล่งน้ำดิบสำรองไว้ และเตรียมจะให้มีการผันน้ำมาให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ เมื่อยามขาดแคลนน้ำดิบ ทั้งหมดเราได้บูรณาการทุกหน่วยงานในการเตรียมแผนรับมือปัญหาภัยแล้ง เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าหน้าแล้งที่จะถึงนี้ไม่น่ามีปัญหา

ปภ.ชัยนาท ยืนยันสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ยังไม่วิกฤต ย้ำทุกอำเภอดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด
นางสาวสุพัตรา คล้ายทิม ห้วหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า จังหวัดชัยนาทได้เร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้านการใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้ขอให้เกษตรกรงดทำนาปรัง และหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดชัยนาทยังไม่วิกฤต และยังไม่มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งเทียบกับปีที่แล้วจังหวัดชัยนาทได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนในส่วนของนาข้าวเสียหายในอำเภอสรรคบุรี ในปีนี้แสดงให้เห็นว่าการประชาสัมพันธ์ของจังหวัดได้ผล คือพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือกับภาคราชการเป็นอย่างดี ขณะนี้มีการแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคใน 6 อำเภอ ซึ่งท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ได้แก่อำเภอเมือง วัดสิงห์ มโนรมย์ สรรพยา เนินขาม และหนองมะโมง ส่วนอำเภอที่ยังไม่มีการแจกจ่ายน้ำ 2 อำเภอ คืออำเภอสรรคบุรี และหันคา

นอกจากนี้ ปภ.ชัยนาท เร่งสำรวจแหล่งน้ำดิบในหมู่บ้าน ตำบล ว่ามีเพียงพอหรือไม่ ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2559 มีความต้องการใช้น้ำรวม 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการผลิตน้ำประปาจาก 2 แห่งหลัก ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาชัยนาท และสาขาหันคา มีกำลังการผลิตกว่า 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ยืนยันว่าเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภคของจังหวัดชัยนาท และได้ย้ำให้ทางอำเภอดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด

จังหวัดสิงห์บุรี ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฤดูแล้ง
กรมชลประทาน ได้แจ้งสถานการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลัก 4 เขื่อน รวมกันทั้งสิ้นจำนวน 3,332 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในสถานการณ์น้อยมาก ประกอบกับปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันอัตราเฉลี่ยประมาณวันละ 17.80 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการตรวจสอบสภาพการเพาะปลูกพืชลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง 1.923 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในจังหวัดสิงห์บุรี 0.038 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.96 ของพื้นที่ ที่เพาะปลูกแล้วซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพาะปลูกข้าวนาในขณะนี้ยังไม่สามารถให้ ความช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่มีอยู่แล้วได้รับทราบสถานการณ์น้ำ และปริมาณน้ำที่จัดสรรในยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าว ที่มีอยู่แล้วได้หากทำการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลน น้ำ ซึ่งกรมชลประทานไม่สามารถสนับสนุนปริมาณน้ำรวมถึงการช่วยเหลือพืชต่อเนื่อง ตลอดฤดูแล้งปี 2558/59 มีไปจนถึงกลางฤดูฝนปี 2559 ในระยะต่อจากนี้ไปกรมชลประทานจึงมีความจำเป็นที่ต้องขอความร่วมมือควบคุมการ เพาะปลูกข้าวนาปรังและการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด

นายเสถียร เขียนสาร์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสิงห์บุรี จึงขอความร่วมมือเกษตรกรจังหวัดสิงห์บุรี ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้ง เพื่อให้ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและอื่นๆ รวมถึงการช่วยเหลือพืชต่อเนื่องตลอดฤดูแล้งปี 2558/2559 มีไปจนถึงกลางฤดูฝนปี 2559

ภาคตะวันตก
จ.ราชบุรี ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในตำบลธรรมเสน
นายสุรพล แสวงศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมกับพลตรี เจษฎา เปรมนิรันดร ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 1 ลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยของโครงการสู้วิกฤติภัยแล้งด้วยพลังงานแสง อาทิตย์ ที่จังหวัดราชบุรี ร่วมกับกองพลพัฒนาที่ 1 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการร่วมกัน โดยดำเนินการปรับปรุงขุดลอกสระประปา หมู่ที่ 3 ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ให้มีปริมาตรความจุน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,305 ลูกบาศก์เมตร เป็น 7,366 ลูกบาศก์เมตร และติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของหมู่บ้าน และช่วยให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค บริโภคอย่างเพียงพอ ตลอดจนมีน้ำใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้ง ซึ่งโครงการนี้จะมีประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 10 กว่า 200 หลังคาเรือน ในตำบลธรรมเสนได้รับประโยชน์

สำหรับระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์นี้มีขนาด 2,200 วัตต์ 3 แรงม้า 220 โวลต์ เพื่อการสูบน้ำ โดยใช้ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเชื่อมสายส่งการไฟฟ้าขนาด 3,000 วัตต์ เพื่อใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแสงอาทิตย์ทดแทนกำลังไฟฟ้าช่วงกลางวันในการขับเคลื่อนมอเตอร์ปั้มน้ำบาดาล

ภาคใต้
เกษตรกร ชาวตำบลเขาปูน อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เข้ารับการอบรมในโครงการเพิ่มผลิตภาพของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี58/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร
สำนักงานเกษตรอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง จัดอบรมเกษตรกรโครงการเพิ่มผลิตภาพของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี58/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ปาล์มน้ำมัน หมู่ที่ 6 ตำบลเขาปูน อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เกษตรกร จำนวน 50 ราย
สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการสร้างเครือ ข่ายของประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ เพื่อดำเนินการปฏิรูปการเกษตร การสร้างการเรียนรู้ร่วมกันผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สินค้าเกษตร และจะมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน และใช้กลไกประชารัฐในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

ธ.ก.ส. ช่วยสร้างฝายชะลอน้ำ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา หลังพบเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งแหล่งต้นน้ำแห้งขอด
นายมรกต พิธรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่บ้านเก้าเจ้า หมู่ที่ 6 ต.ลำภี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ อ่อนศรีโรจน์ ผู้ใหญ่บ้านเก้าเจ้า พนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดพังงา และชาวบ้านในพื้นที่ตรวจสอบแหล่งต้นน้ำบริเวณบ้านเก้าเจ้า พร้อมร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำขนาดเล็ก หลังจากพบว่าแหล่งน้ำดังกล่าวประสบปัญหาน้ำขาดแคลน ส่งผลกระทบกับพืชผลทางการเกษตรทำให้ปาล์มน้ำมันยางพารา ไม้ผล เริ่มขาดน้ำเลี้ยงลำต้น ให้ผลผลิตน้อยทางหมู่บ้านจึงขอสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 30,000 บาท ในการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำกักเก็บน้ำไว้ใช้ในทางเกษตร เพื่อไม่ให้เกษตรกรประสบปัญหาน้ำขาดแคลนในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นไม้ตามโครงการธนาคารต้นไม้ในหมู่บ้าน ซึ่งมีการจัดตั้งธนาคารโดยมีการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นผลผลิตในอนาคตโดย ธ.ก.ส. จะสมทบเงินจำนวนร้อยละ 0.25 ของยอดเงินฝากคงเหลือ

ผู้ว่าฯ ยะลา สั่ง 8 อำเภอในพื้นที่ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด
นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดยะลาปีนี้ว่า ขณะนี้จังหวัดยะลาได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัย แล้งจังหวัดยะลาขึ้น ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา พร้อมทั้งได้จัดทำแผนปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดยะลา ปี 2559 ไว้แล้ว นอกจากนี้ ยังได้สั่งการไปยังอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เตรียมความพร้อม โดยให้จัดทำแผนปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับอำเภอ องค์กรปกครองท้องถิ่น พร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของน้ำ และใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215