ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ผู้มีรายได้น้อย สวัสดิการแห่งรัฐ

เริ่มโดย Telwada, 16:38 น. 09 พ.ค 60

Telwada

จว.เชียงราย                                                                                  ที่    ๖   /   ๒๕๖๐
                  วันที่         ๒๖        เมษายน       ๒๕๖๐   
เรื่อง      การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย (สวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อย)
เรียน      คณะรัฐมนตรี ผ่าน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
         หนังสือฉบับนี้ เป็นข้อคิดข้อพิจารณา สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย(สวัสดิการแห่งรัฐ) เหตุเพราะมีข่าวว่าจะให้ความช่วยเหลือผู้ลงทะเบียนด้วยการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส 
         กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ตามกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้นั้น สามารถแบ่งออกได้หลายกลุ่ม ซึ่งหน่วยงานคงจะมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ข้าพเจ้าจะแจ้งเพิ่มเติม ดังนี้ (ข้อมูลต่อไปนี้ อาจคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง)
         ๑.    ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนไว้ จะเป็นผู้สูงอายุ และ ผู้พิการ
         ๒. ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนไว้ ไม่ใช่ผู้สูงอายุ (ยังไม่ถึง ๖๐ปี) แต่ไม่มีงานทำ ทั้งหญิงและชาย บ้างก็เป็นแม่บ้าน(พ่อบ้านทำงานคนเดียว) บ้างก็ไม่สามารถหางานทำได้ บ้างก็ไม่มีศักยภาพที่จะทำงานได้อีกเพราะมีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป หรือน้อยกว่านั้น และไม่มีผู้จ้างงาน หางานทำไม่ได้ ไม่มีความรู้ ไม่มีทุน บ้างก็หาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพต่างๆเช่น เก็บขยะ รับจ้างทั่วไป มีกินบ้างไม่มีกินบ้าง
         ๓.  เป็นผู้มีรายได้น้อย แต่มีที่ทำกิน ทำไร่ ทำสวน ทำเกษตรกรรมอื่นๆ ตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนดให้สามารถลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ
         ๔.  ผู้มีรายได้น้อย ที่มีอาชีพรับจ้างอื่นๆ ทั้งหญิง และชาย เช่น ขับวิน มอเตอร์ไซค์ ,ขับรถสองแถว,ขับรถสามล้อปั่น,ขับรถสามล้อเครื่อง(ตุ๊ก-ตุ๊ก),ขับรถแท็กซี่ ผู้มีอาชีพรับจ้างดังที่ได้กล่าวไป บางคน(ในชนบทหรือนอกเขตเทศบาลเมือง) จะมีไร่,นา,สวน ว่างจากทำไร่,นา,สวน หรือเกษตรกรรมอื่นๆ ก็จะขับรถรับจ้างวิ่งคิวบ้าง ,วิ่งวนบ้าง
         ๕.  ผู้มีรายได้น้อย ที่มีอาชีพเป็นลูกจ้างตามห้างร้าน หรือบ้านต่างๆ ซึ่งมีรายได้ตามเกณฑ์ที่สามารถลงทะเบียนได้ ทั้งหญิงและชาย รวมไปถึงกรรมกรแบกหามเป็นรายคันรถ เป็นรายเหมา เป็นรายวัน หรือเป็นรายชิ้น
         ๖.  ผู้มีรายได้น้อย  ที่มีอาชีพเกี่ยวกับรถโดยสาร ซึ่งมีรายได้ตามเกณฑ์ที่สามารถลงทะเบียนได้ ทั้งหญิงและชาย
         ๗.  ผู้มีรายได้น้อย ที่รับจ้างทำไร่,นา,สวน,เกษตรกรรมอื่นๆ ทั้งหญิงและชาย
         กลุ่มผู้มีรายได้น้อยข้างต้น บ้างก็มีรายได้น้อยทั้งสามีและภรรยา บ้างก็ทำงานเพียงคนเดียว บ้างก็ทำงานทั้งสองคน บ้างก็มีภาระเลี้ยงดู บิดามารดาผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ แต่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนดให้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ
          การพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นตัวเงิน เพราะการที่จะไปลดค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าน้ำมันให้นั้น จะไม่เป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยทุกกลุ่มอย่างแท้จริง  ท่านทั้งหลายก็มีสมองสติปัญญาดีอยู่แล้ว ท่านลองพิจารณาดูซิว่า  การให้ความช่วยเหลือกับผู้สูงอายุหรือผู้พิการ จะช่วยด้านลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน ลดค่าแก๊ส แล้วผู้สูงอายุหรือผู้พิการ หรือผู้ที่ไม่มีงานทำเหล่านั้นจะได้ประโยชน์อย่างไร พวกท่านรู้เห็นหรือไม่ว่าพวกเขาใช้ยานพาหนะอะไร กินกันอย่างไร
         รายจ่ายของพวกเขาเหล่านั้นมีไม่ใช่น้อย เพราะในบ้าน แม้จะมีรายได้น้อย ก็ย่อมมี พัดลม ตู้เย็น โทรทัศน์ เตาถ่าน เตาฟืน บางหมู่บ้าน ก็ต้องมี ปั๊มน้ำ บางหมู่บ้าน ก็ใช้น้ำบาดาลแบบโยก หรือน้ำบาดาลที่รัฐจัดทำให้ บางหมู่บ้านก็ต้องอาศัยน้ำจาก ห้วย หนอง คลอง บึง น้ำจากอ่างกักเก็บ
         แต่ถ้ารัฐให้ความช่วยเหลือเป็นตัวเงิน จะมีประโยชน์และได้รับสวัสดิการจากรัฐอย่างทั่วถึง เท่าเทียม  ตัวเงินที่จะให้ความช่วยเหลือ ก็คงไม่มากนักเพราะเป็นการช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบา หรือเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยเหล่านั้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม สักเล็กน้อยก็ยังดี  ยกตัวอย่างเช่น  ผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่แล้ว ก็เพิ่มเงินช่วยเหลือผู้มีรายน้อยอีกคนละ ๑๐๐ บาท หรือ ๒๐๐ บาท หรือ ๓๐๐ บาท แยกจากเบี้ยยังชีพ ตามศักยภาพการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งเงินเพิ่มเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายน้อยดังที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วนั้น ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มอื่นๆ ก็ต้องได้รับเท่ากับผู้สูงอายุ อย่างนี้ถือว่า ทั่วถึง เท่าเทียมกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ถ้าคณะรัฐมนตรี เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ก็คงจะรู้ดีว่า ทหารของเรามีระบบจัดการให้กับผู้มีรายได้น้อย อย่างไร เท่าเทียม ทั่วถึง อย่างไร
      หากรัฐให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยการลดค่าแก๊ส ค่าไฟฟ้า
ค่าน้ำมัน แต่ถ้าผู้มีรายได้น้อย เป็นสามีภรรยากันฯลฯ มีรายได้น้อยทั้งสองคน ท่านจะทำอย่างไร ใครจะได้รับสิทธินั้น หรือว่าได้รับสิทธิทั้งสองคน แล้วมีประโยชน์ เกิดประโยชน์ต่อพวกเขาเหล่านั้นกี่มากน้อย และถ้าผู้มีรายได้น้อยข้างต้นต้องซื้ออาหารปรุงสำเร็จรับประทาน อย่างน้อย สองมื้อ (ส่วนใหญ่ในเมืองจะซื้อรับประทาน หรือที่ทำงานเลี้ยงหนึ่งมื้อ) หรือใช้เตาถ่าน ใช้ฟืนสำหรับหุงหาอาหาร เวลาเดินทางไปทำงาน ต้องใช้รถสาธารณะ(ท่านทั้งหลายอย่ามองว่า กรุงเทพฯเป็นประเทศไทย เพียงจังหวัดเดียว) สิ่งที่รัฐว่าจะให้ความช่วยเหลือโดยการลดค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้านั้น มีประโยชน์ต่อผู้มีรายได้น้อยทุกกลุ่มหรือไม่
         ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นข้อคิดข้อพิจารณา เพื่อรัฐจะได้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ไม่มีความเหลื่อมล้ำ เป็นธรรม  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสมองสติปัญญาของท่านทั้งหลายว่าจะมีความคิดเห็นเป็นไปเช่นไร
         จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณา
                  ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณา
                                                           จ่าสิบตรี เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์