ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เด็กป่วย'สมาธิสั้น'ยอดพุ่ง เผย3อาการก่อปัญหาเข้าสังคม

เริ่มโดย sunny_pepo, 16:27 น. 09 ธ.ค 54

sunny_pepo

น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบัน พบว่าปัญหาเด็กสมาธิสั้น กลายเป็นโรคที่พบมากที่สุดในคลินิกจิตเวช โดยจากการสำรวจครั้งล่าสุด 4-5 ปีก่อน ในกลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในเขตกทม. จำนวน 1,698 คน จาก 104 โรงเรียน พบว่าอัตราเด็กสมาธิสั้นอยู่ร้อยละ 5 ของเด็กทั้งหมด ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องให้ความสำคัญ เพราะจะส่งผลกระทบถึงการเรียน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อน ครู ซึ่งปัจจุบันประชาชนยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากนัก โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ ได้รับมอบหมายจากกรมสุขภาพจิต ในการสำรวจสถานการณ์เด็กครั้งใหญ่ทั่วประเทศ โดยจะใช้ตัวอย่างกลุ่มประชากรมากกว่าเดิม คาดว่าจะได้ผลสรุปในปี 2555 นี้ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์สถานการณ์และเร่งหาวิธีแก้ปัญหาต่อไป

น.พ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โรคสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) คือ ลักษณะพฤติกรรมของเด็กที่สมาธิเสียไป อยู่ไม่นิ่ง สามารถสังเกตได้ 3 ลักษณะ คือ 1. สมาธิสั้น ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิได้นาน เช่น อ่านหนังสือ วาดภาพ 2. อยู่ไม่นิ่ง ซุกซน ซึ่งจะสร้างปัญหาในการดูแลให้กับพ่อ แม่ ครู 3. หุนหันพลันแล่น ซึ่งเกิดจากเด็กไม่มีสมาธิ จึงแสดงพฤติกรรมไปโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ อยากทำอะไรก็จะทำเลย และหากโดนขัดใจก็จะแสดงพฤติกรรมหงุดหงิด และจะเกิดเป็นปัญหากับคนรอบข้างตามมาเพราะความไม่เข้าใจ ซึ่งการวินิจฉัยจะต้องดูหลายๆ ปัจจัยประกอบกันไม่สามารถสรุปได้เลยเพียงแค่ดูอาการ 3 ประการนี้ ควรสังเกตอาการและตัดสินใจในช่วงวัยประถมจะเหมาะสมที่สุด หากเป็นในช่วงวัยอนุบาลความซุกซนอยู่ไม่นิ่ง ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

"โรคสมาธิสั้น เป็นโรคเรื้อรัง ที่ควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สามารถปรับได้โดยการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ส่วนระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับว่ามีเรื่องอื่นแทรกซ้อนหรือไม่ เพราะบางรายพบโรคอื่นโดยเฉพาะโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ไม่สามารถเขียนได้ หรือเรียนรู้ช้า บางรายจึงต้องแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน นอกจากยาแล้วอาจต้องใช้การปรับพฤติกรรมร่วมด้วย" น.พ.ทวีศิลป์กล่าว
"เสี้ยวหนึ่งของชีวิต อุทิศเพื่อสังคม"