ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

วิวัฒนาการ ‘ปฏิทิน’ วัฒนธรรมนับวันเวลา

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 08:38 น. 05 ม.ค 54

ทีมงานบ้านเรา

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน    4 มกราคม 2554 20:15 น.

เชื่อว่าใครหลายคนคงจะใช้โอกาสในช่วงต้อนรับปีใหม่ ตั้งปณิธานและให้สัญญากับตัวเองว่า จะเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ในชีวิตให้ดีขึ้นกว่าปีเก่า เช่น สัญญากับตนเองว่าจะเปลี่ยนนิสัยขี้เกียจของตนให้กลายเป็นขยัน บ้างก็จะเปลี่ยนบุคลิกการแต่งกายของตน บางคนเลยเถิดไปถึงขั้นตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนงาน เปลี่ยนแฟน ซึ่งแน่นอนว่าความอยากที่จะเปลี่ยนเหล่านี้ก็มีทั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ
       
       แต่มีอยู่สิ่งหนึ่ง ที่เราทุกคนต้องเปลี่ยนแน่นอนในวันปีใหม่ ไม่ว่าเราจะอยากหรือไม่ก็ตาม สิ่งนั้นก็คือปฏิทินที่ใช้บอกวันเวลานั่นเอง
       
       ย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน ปฏิทินเป็นของที่ทุกคนต้องมีติดบ้านเอาไว้ หรือกับบางคนก็มีติดตัวกันเลยทีเดียว ไม่เช่นนั้น ก็คงจะลำบากในเรื่องของการนัดหมาย และสื่อสารธุระปะปังกับคนอื่น ในช่วงสิ้นปีไล่เรียงไปจนถึงต้นปีใหม่ ธนาคารห้างร้านต่างๆ ก็จะทยอยพิมพ์ปฏิทินออกมาแจกเป็นของขวัญให้แก่ลูกค้าของตน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องใช้และต้องการ
       
       แต่ในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการใช้ปฏิทินกันเหมือนเดิม หากแต่รูปแบบของมันก็ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก บางคนก็ไม่ได้พกปฏิทินแผ่นเล็กๆ ไว้ในกระเป๋าแล้ว หากแต่หันไปใช้ปฏิทินในมือถือแทน คนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่ตามคอนโดมิเนียม ก็อาจจะดูวันเวลาในสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก แล็ปท็อป และแท็บเล็ตของตนมากกว่าจากปฏิทินที่แขวนไว้บนข้างฝา
       
       แต่อย่างไรก็ตาม การนับวันเวลาโดยอาศัยปฏิทินเป็นเครื่องมือก็ยังจะคงอยู่ตลอดไปแน่นอน
       
      เกิดจากวันเวลาที่หมุนเวียน
       
       "การเกิดขึ้นของปฏิทินนั้น เป็นเพราะมนุษย์ต้องการอ้างอิงถึงการมีอยู่ของตนเองว่า มีชีวิตผ่านมาเท่าใดแล้ว อีกทั้งยังมีเรื่องของการทำมาหากิน เพาะปลูก การล่าสัตว์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และมันเกิดจากการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวอย่างพระอาทิตย์ พระจันทร์ หรือที่เราเรียกกันว่าสุริยคติ กับ จันทรคติ"
       นที ทองศิริ อาจารย์ ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าให้เราฟังถึงการกำเนิดการนับวันเวลาและบันทึก จนกลายมาเป็นปฏิทินในปัจจุบัน ซึ่งนที ยังขยายความต่อไปอีกว่า การนับเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนั้น เป็นการนับเวลาแบบ สุริยคติ ซึ่งอาศัยการสังเกตดวงอาทิตย์เป็นหลัก
       
       "ถ้าเราย้อนมองกลับไป จะเห็นว่าปฏิทินนั้นจะเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์สังเกตธรรมชาติว่า ดินฟ้าอากาศมันกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง และก็เป็นไปอย่างซ้ำๆ ทุกปี ซึ่งในแต่อารยธรรมนั้น ก็สังเกตสิ่งที่แตกต่างกันออกไป อย่างบ้านเราแต่เดิมก็ใช้การนับเวลาแบบจันทรคติ มีการบอกข้างขึ้น ข้างแรม

       "ปฏิทินสุริยคตินั้น ถึงแม้จะใช้กันเป็นสากลก็จริง แต่เมืองไทยที่แต่เดิมใช้การนับวันเดือนปีแบบจันทรคติมาตลอดนั้น เราก็ยังไม่ทิ้งนะ สังเกตได้ว่าจะมีบอกอยู่ในปฏิทินควบคู่กันไปตลอด ซึ่งเหมือนกับชาติอื่นๆ หลายๆ ชาติที่ใช้การนับวันแบบจันทรคติ เขาก็ไม่ทิ้งมันไปอย่างเด็ดขาดเช่นกัน นั่นเพราะวัฒนธรรมของเราหลายอย่างมันอิงอยู่กับจันทรคติ เช่น วันพระนี่เห็นได้ชัดเลย เอาเข้าจริง ปฏิทินเป็นเรื่องของใครของมัน หลายๆ ที่มันมาจากศาสนา อย่างเมื่อไทยรับพุทธศาสนาเข้ามา เราก็รับจันทรคติมาด้วย จริงๆ แล้วปฏิทินนั้นคล้ายกับการเอาคณิตศาสตร์ในเรื่องของการนับมาอธิบายเรื่องของ วันเวลา ได้อย่างดี"
       
      ถ้าเช่นนั้น เหตุใดทั่วทั้งโลกจึงหันมาใช้ปฏิทินแบบสุริยคติ เป็นเสมือนภาษาสากล ในเรื่องนี้นทีอธิบายว่า
       
       "การที่ทั่วโลกนำเอาปฏิทินสุริยคติแบบฝรั่งมาใช้กันเป็นสากลนั้น ไม่ได้หมายความว่า มันดีที่สุดนะ แต่มันอาจจะมากับเรื่องของการล่าอาณานิคม เพราะถ้าการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งตกเป็นอาณานิคม ก็ต้องใช้การนับวันเวลาตามประเทศเจ้าอาณานิคม เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะต้องส่งส่วยวันไหน เมื่อไหร่

       "ทุกที่ถ้ามีความเจริญมาถึงระดับหนึ่ง ก็จะมีวัฒนธรรมการนับเวลาของตนเองละเอียดขึ้น คือถ้าเจริญน้อยหน่อยก็จะนับกันแค่ว่ามันมีกี่ฝนกี่หนาว"
       
       วัฒนธรรมการนับวันเดือนปีในไทย
       
       ส่วนในเรื่องของวัฒนธรรม ปฏิทินและการนับวันเวลาในประเทศไทยเรานั้น เอนก นาวิกมูล นักสะสมของเก่า และผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทยในอดีต ได้เล่าให้เราฟังว่า
       
       "ปฏิทินในไทยนี่มีมานานแล้วนะ พวกโหรในราชสำนักเขาก็มีการคำนวณกัน เพื่อการประกอบราชพิธีต่างๆ แต่การตีพิมพ์มันมาเริ่มที่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยหมอปรัดเล ใช้ชื่อว่า บางกอก คาเลนเดอร์ ซึ่งมีลักษณ์เป็นเล่มพอกเกตบุ๊กและใช้ระบบปฏิทินแบบตะวันตก (สุริยคติ) คือเริ่มที่เดือนมกราคม และออกจำหน่ายด้วย ในเล่มก็จะมีเกร็ดความรู้ต่างๆ บอกด้วย ไม่ว่าจะเป็นชื่อของกษัตริย์องค์ก่อนๆ ชื่อของเจ้านาย ขุนนางที่สำคัญ วันน้ำขึ้นน้ำลง เหตุการณ์สำคัญในอดีต ฯลฯ
       
       "ส่วนไทยเรานั้นขึ้นปีใหม่วันสงกรานต์ ปฏิทินของเราสมัยนั้น ประกาศโดยการเขียนภาพและรายละเอียดไปแขวนไว้ที่หน้าพระบรมมหาราชวัง ไม่ได้มีการตีพิมพ์อย่างกว้างขวาง แต่ต่อมาเมื่อมีการพิมพ์แพร่หลายมากขึ้น รัชกาลที่ 5 โปรดให้พิมพ์ปฏิทินเป็นเล่มเล็กๆ พระราชทานให้แก่พวกเจ้านายและขุนนาง และในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เริ่มมีปฏิทินแบบแขวนออกมาแล้ว"
       
       ในระยะต่อมา เมื่อการพิมพ์แพร่หลายและราคาถูกลง บรรดาห้างร้านต่างๆ ก็พิมพ์ปฏิทินขึ้นมาแจกและขาย เพื่อเชิญชวนให้ไปซื้อของที่ร้าน แต่ต่อมาช่วง 20 - 30 ปีก่อนหน้านี้ การขายก็เริ่มซาลงไป เพราะห้างร้าน ธนาคาร มีปฏิทินแจกกันในเทศกาลปีใหม่จนกลายเป็นธรรมเนียม ในสมัยนั้น หาคนที่ซื้อปฏิทินมาใช้ก็แทบจะไม่มี นอกเสียจากว่า จะเป็นคนที่อยากได้ปฏิทินที่มีรูปแบบสวยงามกว่าปกติ แต่ทว่าในสมัยนี้กลับมีปฏิทินแจกน้อยลงกว่าแต่ก่อน ซึ่งในข้อนี้ อเนกมองว่า ที่มีแจกน้อยลง ก็เพราะห้างร้าน และหน่วยงานต่างๆ ต้องการประหยัดต้นทุนนั่นเอง
       
       "ปฏิทินกับมนุษย์ก็คงจะอยู่คู่กันเรื่อยไป เพราะมันสำคัญในการนัดหมายในอนาคต และนอกจากนั้น มันก็มีประโยชน์ในการย้อนกับไปดูข้างหลังในอดีตที่ผ่านมาด้วย"
       
       คนสมัยใหม่กับปฏิทิน
       
       แม้ในปัจจุบัน คนเราจะหันมาใช้ปฏิทินอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าแต่ก่อน ทว่า ในท้องตลาดก็ยังมีปฏิทินรูปแบบสวยงามออกมาวางจำหน่ายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินที่อิมพอร์ตมาจากเมืองนอก หรือจะเป็นปฏิทินของกลุ่มวงการบันเทิงอย่างสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 7 ที่รวมเอาดาราในสังกัดมาถ่ายรูปทำปฏิทินกันเป็นล่ำเป็นสัน
       
       "จริงๆ แล้วไม่ค่อยซื้อปฏิทิน เพราะที่บริษัทเขาจะมีให้อยู่แล้ว แต่กับปฏิทินที่เขาขายๆ กันอยู่ เราก็ต้องดูแหละว่า มันสวยไหม อย่างถ้าเป็นปฏิทินช่อง 3 นี่เราอาจจะซื้อนะ แต่ถ้าเป็นช่อง 7 นี่ไม่ซื้อนะ (หัวเราะ) คือถ้าจะให้เราเสียเงินนี่ก็ต้องดูดีน่าจับน่าเขียนน่าจดอะไรลงไปนิดหนึ่ง"
       
       เอริสา แซ่ลี้ พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าถึงความเกี่ยวพันของเธอกับปฏิทิน ซึ่งสุดท้าย เธอก็ยอมรับว่า ทุกวันนี้เธอไม่ได้ปฏิทินที่เป็นกระดาษเท่าไหร่แล้ว แต่หันไปใช้ในมือถือแทน ทั้งนี้ก็เพราะมันสามารถจดโน้ต และบันทึกข้อความลงไปได้
       
       เช่นเดียวกับ ขวัญใจ สืบพานิช พีอาร์หรือประชาสัมพันธ์สาว ที่ใช้ปฏิทิน และการจดบันทึกวันเวลาลงไปในโทรศัพท์เป็นเครื่องมือทำมาหากิน
       
       "สมัยนี้ยอมรับนะ ถ้าจะให้จดนัดลงไปในไดอารี่แล้วมาเปิดหาเอานี่อาจจะไม่สะดวก เพราะว่าในมือถือนั้นมันสามารถแจ้งเตือนเราได้ด้วย แต่ปฏิทินที่เป็นกระดาษ ซึ่งตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานเราก็ใช้ควบคู่กันไปนะ ไม่ได้เลิกใช้ไปเสียทีเดียว"
       
       แม้วัฒนธรรมการใช้ปฏิทินจะเปลี่ยนไปแค่ไหน สุดท้าย มนุษย์อย่างเราๆ ก็ยังผูกติดกับเรื่องของการนับวันเวลาอยู่ดี ซึ่งปฏิทินนั้นคือเครื่องเตือนใจเราให้รับรู้ถึงวันเวลาที่ผ่านพ้น และโมงยามที่มีค่าของเราซึ่งยังเหลืออยู่นั่นเอง
       
       >>>>>>>>>>
       .........
       เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
       ภาพ : ทีมภาพ CLICK
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215