ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

นายกสภา มรภ.สงขลา แนะครูปรับบทบาทรับอาเซียน

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 17:03 น. 05 ม.ค 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

นายกสภา มรภ.สงขลา แนะครูปรับบทบาทรับอาเซียน ชี้ทำวิจัย เขียนตำรา ควบบริการชุมชน

             นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) แนะอาจารย์ยุคใหม่ปรับบทบาทรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ชี้นอกจากงานสอนแล้วยังต้องทำวิจัย เขียนตำรา ควบคู่ไปกับงานบริการชุมชน

             ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างบรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัยยุคใหม่ ณ มรภ.สงขลา เมื่อไม่นานมานี้ ว่า อาจารย์ยุคใหม่ต้องปรับบทบาทเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เริ่มจากบทบาทในการสอนที่ต้องสอนคน ไม่ใช่สอนหนังสือ หมายถึงต้องยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง และต้องหาตัวอย่างใหม่ๆ มาประกอบการสอน นอกจากนั้นแล้วอาจารย์ต้องเขียนตำราหรือเอกสารสำหรับการเรียนการสอน ไม่เขียนไม่ได้ อาจารย์บางคนคิดว่าต้องทำแต่วิจัย จริงๆ ตำราก็สำคัญ เพราะตำราเป็นวิทยาทาน เป็นความรู้ทั่วไป แต่ละคนจะต้องมีตำราเก็บไว้ ซึ่งต้องเขียนได้ดี เขียนให้ได้มาตรฐาน และตัวอย่างที่จะนำมาใช้ควรให้เกี่ยวกับอาเซียน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทันสมัย

             นายกสภา มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า การทำวิจัยเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญมาก แม้การทำวิจัยจะทำได้ยาก แต่อาจารย์ทุกคนต้องทำวิจัยได้ ซึ่งคนที่เคยทำก็จะมีงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ส่วนคนที่ไม่เคยทำก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาในการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำวิจัย และต้องหาทุนสนับสนุนงานวิจัย รวมถึงเผยแพร่ผลงานวิจัยเหล่านั้นด้วย บางมหาวิทยาลัยสร้างสิ่งจูงใจอาจารย์ที่ทำวิจัย ด้วยการให้เงินสนับสนุนในลักษณะของทุนวิจัย เหมือนกับเพิ่มเงินเดือนให้ ท่านทำหนึ่งเรื่องให้แค่นี้ สองเรื่องให้แค่นี้ เสนอหัวข้อได้มาแล้วแค่นี้ เขียนไปถึงระดับหนึ่งได้แค่นี้ จบแล้วได้แค่นี้ ถ้าพิมพ์เผยแพร่ก็จะได้แค่นี้ หากทำได้อย่างนี้อาจารย์ก็จะทำวิจัยกันมากขึ้น ซึ่งในการเขียนตำราและงานวิจัย ต้องเขียนหรือวิจัยให้เข้ากับเหตุการณ์ หรือความต้องการของโลกหรือประเทศชาติ เช่น เรื่องเกี่ยวกับโลกร้อน พลังงาน อายุขัยของคน เป็นต้น

            ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกบทบาทหนึ่งของอาจารย์คือการให้บริการท้องถิ่น และให้บริการสาธารณะ ดังเช่น มรภ.สงขลา ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการชุมชนท้องถิ่น โดยอาจทำในรูปของการออกค่าย เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ออกงานร่วมกับจังหวัด หรือ อบจ. อบต. อะไรก็ตามที่มีบทบาทในทางสังคม จะย้อนกลับมาเป็นผลดีแก่ตัวมหาวิทยาลัย เพราะในการของบประมาณ เจ้าของงบจะดูว่าสถาบันการศึกษานั้นๆ มีบทบาทอะไรต่อสังคมบ้าง และบทบาทสุดท้ายคือ การกระทำภารกิจพิเศษอื่นๆ เพราะหน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้มีแค่สอน เขียนตำรา และทำวิจัยเท่านั้น แต่หน้าที่พิเศษที่มหาวิทยาลัยหรือราชการมอบหมาย เช่น คุมสอบ ช่วยงานบริหาร หรือเป็นที่ปรึกษาชมรม ก็หนีไม่พ้นต้องทำ อาจจะไม่ใช่งานหลัก แต่เป็นภารกิจหรือบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ด้วย ซึ่งบทบาททั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะมีส่วนอย่างมากในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

            "ในวันนี้กลุ่มประเทศอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ นับวันจะกระชับความสัมพันธ์มากขึ้น ดังนั้น วิชาอาเซียน จึงสมควรเป็นวิชาบังคับของทุกคณะในชั้นปี 1 และภาษาอังกฤษควรจะเป็นวิชาที่มีความสำคัญมาก เช่นเดียวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ผมอยากให้ทำอีกภาษาหนึ่ง คือภาษามาเลย์ เพราะจะได้ใช้กับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน และ อินโดนีเซีย ด้วย" ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าว

ข่าว/ภาพ โดย ลัดดา เอ้งเถี้ยว นักประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา