ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

กาลครั้งหนึ่งของคุณหลวง @๑

เริ่มโดย คุณหลวง, 11:35 น. 30 ม.ค 55

คุณหลวง

กาลครั้งหนึ่งของคุณหลวง @๑

    สองสามปีก่อน ตอนที่ยังทำงานอยู่หาดใหญ่ เช้าวันหนึ่งฉันขับรถออกไป เจอพระกำลังบิณฑบาต ฉันแปลกใจมาก แถวนี้ไม่มีวัดนี่นา แต่เมื่อมองเห็นย่ามใหญ่ที่ท่านสะพายหลังอยู่ก็ประมาณเอาว่า ท่านคงเดินทางมาจากที่ใด เพื่อมาวัดที่ใกล้ๆนี้กระมัง มาเช้า ก็คงจะบิณฑบาตตามวิถีพระนักจาริก
    ฉันแวะรถเข้าไปถาม
"ไม่ทราบท่านจะไปวัดไหนครับ เดี๋ยวผมไปส่ง"
"ไม่ๆ ไม่เป็นไร" ท่านอ้อมแอ้มตอบไม่เต็มเสียง
"ไกลนะครับกว่าจะมีวัด เดี๋ยวผมไปส่งครับ"

    เมื่อท่านปฏิเสธแข็งขันขึ้นในครั้งที่สอง และสาม ฉันจึงขับรถจากไป ขณะขับรถไปนั้น ฉันเห็นภาพของตัวเองเมื่อหลายปีก่อน วันที่ฉันสะพายย่ามใบโต เดินทางคนเดียวด้วยเท้าทั้งสอง ไปอย่างไร้จุดหมาย ทันพักที่ไหนก็พักที่นั่น และเดินทางต่อไปเรื่อยๆ พบเจออะไรมากมายจนไม่อยากลืม แม้ว่าวันที่ประสบนั้นแทบร้องไห้ก็ตาม

    แต่วันที่ฉันคิดถึงไปในครั้งนั้น ไม่ได้อยากร้องไห้นะ เพียงแต่แปลกใจกับโชคชะตา(กระมัง?)ของตนเอง วันที่ฉันเดินทางออกมาจากหมู่บ้านพนมวัง (น่าจะติดเขตอำเภอเมือง พัทลุงนะ) ออกสู่ถนนสายเอเชีย ฉันมองไปทางขวา ถนนมุ่งสู่ภาคกลาง ฉันหันกลับมา ฉันไม่อยากไปภาคอื่น ฉันว่าภาคใต้สามารถจาริกธุดงค์ได้ ไม่จำเป็นต้องไปภาคกลางอย่างที่เพื่อนๆหลายรูปนิยมกัน และชักชวนไปด้วยเหตุผลว่า ภาคใต้ธุดงค์ไม่ได้

    ฉันไม่เถียง แต่ไม่เชื่อ จึงตั้งปณิธานไว้ว่า ฉันจะจาริกภาคใต้เท่านั้น และการเดินทางหลายครั้ง ฉันไม่เคยพบเจอเหตุผลที่ว่า "ภาคใต้ธุดงค์ไม่ได้"พบเลย ฉันพบเจอการเดินทางที่น่าประทับใจทุกครั้ง อย่างน้อยๆฉันไม่เคยต้องอดข้าวแม้แต่วันเดียว เมื่อนึกถึงภาพการเดินทาง ฉันเสียดายทุกที หากว่าฉันไม่เล่นกับสมาธิจนเลยเถิดเกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงแล้วล่ะก็ ฉันคงยังได้เดินไปตามราวป่าอยู่กระมัง....

    ฉันหันกลับมามองไปข้างหน้า เห็นทิวเขาทะมึนอยู่ไกลๆ ใจฉันโลดแล่นทันที ฉันจะข้ามทิวเขานั้นให้ได้ แล้วฉันก็เดินข้ามถนนมุ่งสู่ทิวเขาข้างหน้า เข้าไปทางบ้านอะไรจำไม่ได้ ไปพักที่เขาตายาย(หรือชื่อคล้ายๆนี้แหละ)คืนหนึ่ง เช้าบิณฑบาตฉันแล้วออกเดินทางต่อไป

    วันนั้น ฉันคิดว่า ฉันต้องเดินทางยาวและเร่งเท้ามากแน่ๆ เลยฉันไปหย่อนท้องหน่อย เพื่อจะได้ไม่หนักเกินไปเวลาเดิน ถนนสายนั้น ช่างเปล่าเปลี่ยวนัก แทบไม่มีบ้านผู้คนเลย ฉันเดินผ่านป่า และป่า แต่เดินบนถนนนะ ยิ่งเดินนานเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งคิด ยิ่งเหนื่อยก็ยิ่งคิด เมื่อไหร่จะได้พัก เมื่อไหร่จะถึงหมู่บ้าน จะได้ปักกลดเสียที เดินมาหลายชั่วโมง เพิ่งมีรถผ่านไปสองคัน แดดร่มลมหายแล้ว น้ำก็หมด แล้วฉันต้องเดินถึงไหน

    น้ำลายในคอในปากเป็นดั่งยางเหนียวที่กลอกไปมาก็ยาก อย่าว่าแต่กลืนลงไปเพื่อดับกระหายเลย ไอ้ที่เหนียวคอก็ถ่มไม่ออก พักพอเย็นใจ สบายได้บ้าง แต่พอเริ่มเดินอีกในปากก็เหนียวหนืดดังเดิม มันทรมานนัก จากที่ตั้งใจเดินตลอด ฉันคิดว่า หากมีรถจอดรับ ฉันก็ไปล่ะ(โว้ย)

    แค่ไม่นานหลังคิด ก็มีรถกระบะบรรทุกมะพร้าวมาเต็มคัน จอดเคียงข้าง คนขับลดกระจกส่งเสียงถาม
"ไป๋ไน้ หล้วง"  (ไปไหน หลวง)
"เหรื่อยๆ" (เรื่อยๆ) ฉันตอบ เพราะไม่รู้จะบอกว่าไปไหนดี น้ำลายหนืดจนไม่อยากพูดกับใคร
"ไป้ ไป๋กั่บร่อถโผม" (ไป ไปกับรถผม)
"โยมอิไป๋ไน้" (โยมจะไปไหน)
"ป๋ายอม" (ป่าพะยอม (อำเภอหนึ่งของจังหวัดพัทลุง))

    ฉันมองดูหนทางไป คำนวณในหัว อืม ป่าพะยอม น่าจะใกล้ภูเขาที่ต้องการไปมากขึ้นนะ อืมๆๆ เอาวะ ทุ่นแรงหน่อย เลยตัดสินใจขึ้นรถไป แม้โยมชวนคุยในรถ ฉันก็ตอบได้ไม่มาก น้ำลายมันเหนียวเกินกว่าจะพูด

    นั่งรถมาจนถึงบ้านโยมผู้นั้น เขาต้องส่งมะพร้าวก่อนเลยขออนุญาตไม่ไปส่งถึงวัด แต่   
"หั๊นแหล่ะ หวั่ดล้อ หี้ดเดี๋ยวถึ๊ง"  (นั่นแหละ วัดล้อ ใกล้นิดเดียว)
    ใช่ ระยะทางมันใกล้มาก แต่
"หนั๊นหน๋นเอ๋เชียม่ายช๊าย?" (นั่นถนนเอเชียใช่มั้ย?)
"ครั่บ"

    ฉันอึ้ง นี่ฉันออกมาไกลภูเขา และกลับมาใกล้จุดเริ่มต้นเสียแล้ว อา..ฉันไปไม่ถึงเขาเลย ฉันผิดพลาดใหญ่หลวงแล้ว แต่ที่วัดล้อ ฉันได้พบกับหลวงตาวณิช ผู้เป็นพ่อของพี่กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนซีไรต์ที่ผมชื่นชมมากที่สุดคนหนึ่ง เขามีพัฒนาการทางวิญญาณที่น่าสนใจ และเขาเพิ่งเสียไปเมื่อไม่ถึงสองเดือนก่อนนี่เอง(เวลาขณะนั้นนะครับ)

    ฉันอยู่ช่วยงานหลวงตาวณิช และหลวงน้าตุ๊กรักษาการเจ้าอาวาส วัดล้อ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เทพื้นทางเท้าในวัดอยู่หลายวัน จนเสร็จฉันจึงลาจากไป นึกถึงหลวงตาวณิชผู้สละตนเองเพื่อผู้อื่นมาโดยตลอด เป็นครูที่เอาใจใส่ ตามสอนนักเรียนถึงบ้านหากว่าเขายังไม่เข้าใจ ไม่เคยประสงค์รางวัลหรือคำยอ ขอแค่ทำเพื่อคุณภาพของเด็กๆลูกศิษย์เท่านั้น พอมาบวชตอนบั้นปลายก็ทำงานเพื่อพระศาสนาและเด็กๆอย่างน่ายกย่อง หลวงน้าตุ๊กก็เป็นลูกศิษย์ของท่าน และกล่าวชื่นชมท่านให้ผมฟังเสมอๆในช่วงเวลาที่ผมอยู่ที่นั่น รวมถึงการได้ร่วมงานกับท่านอยู่ระยะหนึ่งด้วย
   
     ฉันขับรถไป คิดไป อืม..ท่านก็คงอยากเดินตามประสาพระธุดงค์ ส่วนผมอยากช่วยในฐานะเคยลำบากมาแล้ว เข้าใจนะ ว่าเป็นอย่างไร

   ตอนเย็นกลับบ้าน แวะซื้อของที่ร้านขายของ
"พระนั่นไปไหน เมื่อเช้า"ป้าขายของถาม
"ไม่ทราบครับ"
"ไม่ได้ไปส่งเหรอ เห็นแวะรับนี่"ลุงถามบ้าง
"ท่านไม่ไปครับ"
"นี่ๆ เมื่อเช้า ป้าแกนั่งดูอยู่ พระรูปนี้เดินมาตั้งแต่ปากซอย เดินมาล้วงบาตรหยิบของมากิน อะไรไม่อร่อยไม่ชอบก็โยนทิ้ง"ลุงเล่าให้ฟัง ผมหันไปทางป้า

"ป้ามองตลอดแหละ รู้ว่าพระปลอมแน่ๆแต่ตอนที่เธอจอดรับน่ะหลานมันร้องเลยไม่เห็นว่าเธอไปส่งหรือเปล่า"
"เมื่อไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา เค้าจับกลุ่มพระกับแม่ชีปลอมที่บ้านหลังหนึ่ง ในซอยถัดไปนี่แหละ พวกนี้มันพระปลอมหากิน อย่าไปใส่ใจมันมาก เสียความรู้สึกเปล่าๆ" ลุงตบท้าย

    ฉันลาลุงและป้ากลับเข้าบ้าน ความรู้สึกต่อพระรูปนั้นก็เพียงแค่สงสารและสมเพช แต่ความรู้สึกต่อสถานการณ์พระศาสนา ฉันว้าเหว่ชอบกล


สะบายดี
คุณหลวง
๒๙/๐๑/๕๕/๑๓.๐๑

สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

Mr.No

...............

สวัสดี คุณหลวง ที่รัก...

แวะมา ได้อ่านบันทึกห่อเหี่ยวในสถานการณ์ของพระศาสนา ยุค ipad, iphone ของคุณหลวงแล้ว ...ให้นึกรันทดใจเช่นเดียวกัน

เพราะเริ่มไม่มั่นใจว่า พุทธศาสนาที่ว่าจะดำรงเพียง 5 พันปีนั้น...บัดนี้ก้าวล่วงเพียงมัชฉิมกาลเพียงไม่นาน ก็มีสัญญานอันไม่พึงไว้ใจขึ้นมากมาย...

สุดท้าย...เราจะหวังพึ่งสิ่งใดในเป้าหมายแห่งชีวิตของชาวพุทธ.......

แม้น "นิพพาน" ที่พุทธองค์ ท่านทรงชี้ว่า นั่นคือที่สุดแห่งเป้าหมาย...กลับกลายเป็น เริ่มทุกขัง ก่อนจะกลาย ปรมัตถ์สุข เสียแล้ว

เหตุเพราะมีการแปลงสาร...เปลี่ยนเป้าให้เข้าใจวา "นิพพาน" นั้นมีที่ มีทาง มีเหย้า มีปราสาท มีสิ่งที่เรียกว่า สุขตามแบบที่ มนุษย์ที่มีกิเลส เข้าใจ

แม้น ทุกสิ่งที่ พุทธองค์ท่านทรงพร่ำชี้แนะว่า สรรพสิ่งมันเป็นวัฎฎะแห่งไตรลักษณ์ที่ว่าด้วย อนิจจัง..ทุกขัง และอนัตตา ก็ยังมีสำนักบางแห่งชี้ว่า   มันมีอยู่ มันเป็น "อัตตา"

อย่าว่า แต่แนวคิดที่เริ่มผิดเพี้ยน...... แม้น บริษัทสี่ ก็ยังมั่วและสับสนไม่พ้น กิน กาม เกียรติ ....

เพียงศีล 8 โกนหัว ห่มขาว ก็ยังทะนงตัวราวกับเป็นผู้ทรงอภิญญา...รู้ฟ้าดิน รู้กรรมเก่า ...และดันรู้ถึงขนาดต้องแก้กรรม..โดยการ  แนะให้คนแก้ผ้าให้เด็กมันแก้กามให้....!!!

พวกศีล 227 เต็ม ๆ ก็ยังวุ่นทั้ง แพร้งกิ้ง...ทั้งโคโยตี้...ตุ๊ดแต๋ว ไม่หยุด  ทั้งที่ลืมภาระว่า ตนคือ สมมุติสงฆ์ที่จะต้องมีหน้าที่ธำรงพระศาสนาให้อยู่รอด และงดงาม

จากวัดกลายเป็น ...สำนัก...เป็นระบบ เครือข่ายธรรมะขายตรง  เป็นอะไรต่ออะไรที่มันสลับซับซ้อนตามยุค...

.... ผมก็บันทึกต่อจากคุณหลวง... เพราะใจก็ห่วงพุทธศาสนา  เพราะวันนี้คนแถวตลาดกิมหยง ก็มีโอกาสได้พบ พระอรหัน ในที่สุด     แบบที่เรียกว่า  "หันไปหัน ก็เจอแต่หน้าพวกมัน(โล้นปลอม) นะขอรับ"
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

คุณหลวง

ถึง...มิตรผู้อารีเสมอ ท่านMr.No

    ขอบคุณครับที่ยังสนใจบันทึกของอันมีสาระอ่อนๆของผม ขอบคุณที่ท่านเป็นพุทธศาสนิกที่เข้าใจพุทธศาสนา ผมไม่ท้อใจมากหรอกครับ เพียงแต่อนาถใจกับคนพวกนั้นเท่านั้น ส่วนการทำงานเพื่อพระศาสนานั้นก็จะยังทำไปเรื่อยๆ ตามกำลังและโอกาส และผมเชื่อมั่นเสมอว่ายังมีคนที่พร้อมเรียนรู้พระศาสนาที่แท้จริงมากมาย แม้นในกิมหยงนี้ก็ตาม

    หลวงพี่ไสว ผู้เป็นทั้งพี่ทั้งต้นแบบทางธรรมของผมและเด็กๆอีกหลายคนเคยพูดกับผมถึงเรื่องนี้ว่า
"เป็นพระนั่นแหละ หลอกคนง่าย คนมันพร้อมเชื่ออยู่แล้ว พระพูดอะไรมาก็เชื่อ ไม่ไตร่ตรองด้วยซ้ำ" ผมว่าจริงนะ ยิ่งกับยุคสมัยสำเร็จรูป เราต้องการอะไรที่มันสะดวกสบาย จะไปนิพพานก็ซื้อเอา เพราะคิดว่าเป็นดั่งสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ เช่นเดียวกับการขี่รถเบนซ์ บีเอ็มดับเบิ้ลยู จึงมีคนหัวใสเอาร่างเบนซ์ใส่เครื่องโตโยต้ามือสองขายคนเหล่านั้น กำไรดีไม่หยอก ฮ่าๆๆๆ พระเรามากมายก็เป็นดั่งพ่อค้าเหล่านี้มิใช่หรือ?????


    ภาพภายนอกที่งดงามย่อมเป็นที่นิยม หลวงพี่ยันตระจึงสามารถระลึกอดีตได้ว่าตนเคยเป็นพ่อ แม่ สามี ภรรยา กับเศรษฐินีมากมายหลายคน เศรษฐินีเท่านั้นจึงเคยเกิดร่วมกับท่านยันเต เอ๊ย..ยันตระ และคนเหล่านั้นก็นอบน้อมบูชาพระอาจารย์ด้วยใจและกายในที่สุด นี่ก็เป็นการตำหนิผู้อื่นไปเสีย เฮ้อ....

    ส่วนพวกที่เอานิพพานเป็นวิมาน บ้านเมือง เป็นอัตตามาขายนั้น ทำอะไรไม่ได้ก็แผ่เมตตาให้ไปเถอะครับ ขนาดพระผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองยังต้องเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เพราะว่าพวกนี้นิมนต์ไปเป็นประธานจัดงาน(ปฏิบัติธรรม) มอบประกาศ เทศนาวันสำคัญ ใส่ซองทีละเป็นแสนเป็นล้าน แถมมีพระอีกจำนวนมากเป็นฐานต่อรองความมั่นคงของตำแหน่งหรือการเลื่อนตำแหน่ง ก็นะท่านนะ....ว่ากันไป

สะบายดี
คุณหลวง

สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป