ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

“ละมัย ศรีรักษา”ครูสอนมโนราห์ ครูภูมิปัญญาไทยภาคใต้รุ่นที่ 7

เริ่มโดย จันทร์กระจ่างฟ้า, 05:53 น. 31 ม.ค 55

จันทร์กระจ่างฟ้า

[attach=1]
ครูละมัย ศรีรักษา ครูมโนราห์ประจำศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ครูละมัย ศรีรักษา เป็นหนึ่งในครูมโนราห์ประจำศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทยภาคใต้รุ่นที่ 7 ด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้านมโนราห์จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้ารับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ
       
       ครูภูมิปัญญาไทย คือ บุคคลเจ้าของภูมิปัญญาหรือผู้นำภูมิปัญญาต่างๆ มาใช้ประโยชน์ จนเกิดผลสำเร็จ มีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถถ่ายทอด เผยแพร่ เชื่อมโยงคุณค่าของภูมิปัญญาในแต่ละสาขานั้นๆ ให้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง สำหรับการสรรหาครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 7 ในปี 2554 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เชิญครูภูมิปัญญาไทยรุ่นต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกสาขามาเป็นผู้สรรหาผู้ทรงภูมิปัญญา ใน 9 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ โดยมีผู้สนใจส่งเอกสารเพื่อเข้ารับการคัดเลือกจากทั่วประเทศ จำนวน 477 คน และมีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นครูภูมิปัญญา ไทย รุ่นที่ 7 จำนวนทั้งสิ้น 96 คน
       
       ครูละมัย เดิมมีอาชีพทำสวนควบคู่ไปกับการแสดงมโนราห์ตามสถานที่ต่างๆ กระทั่งได้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์ ยก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงมโนราห์คนแรกของภาคใต้ ซึ่งเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในขณะนั้น ครูละมัยจึงได้รับการชักชวนจากอาจารย์ยกให้เข้าทำงานเป็นครูสอนรำมโนราห์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จากนั้นได้ย้ายเข้าทำงานที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปะ และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยทำหน้าที่สอนรำมโนราห์ แก่นักศึกษาและผู้สนใจ ตลอดจนบุตร หลาน ของบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จวบจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 12 ปี
       
       ที่ผ่านมา นอกจากการเป็นครูสอนรำมโนราห์ประจำศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ครูละมัยยังได้ทำหน้าที่เผยแพร่ศิลปะการรำมโนราห์ด้วยการสอนรำมโนราห์แก่เด็กๆ ในชุมชน โดยใช้บ้านของตนเองเป็นสถานที่ฝึกสอน

[attach=2]
บุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง"การแสดงมโนราห์"ศิลปะการแสดงของภาคใต้

        "ตอนนี้ยังทำอาชีพครูพิเศษสอนรำมโนราห์ตามโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดสงขลา เช่น โรงเรียนวัดเลียบ โรงเรียนวัดท่าข้าม จนได้พบกับ ครูนครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) ผู้เล็งเห็นถึงความสามารถและการอุทิศตนเพื่อดำรงไว้ซึ่งศิลปะการแสดงของภาคใต้ จึงได้เสนอชื่อของครูละมัยเข้ารับรางวัลศิลปินดีเด่นประจำจังหวัดสงขลาและรางวัลครูภูมิปัญญาไทย ทำให้ครูละมัยเป็นผู้ได้รับทั้งสองรางวัลอันทรงคุณค่าดังกล่าว"
       
       ครูละมัย หรือแม่ละมัยของเด็กๆ กล่าวต่อว่า ศิลปินไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ใดต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง สิ่งแวดล้อม รอบๆ ตัว จะต้องติดตามข่าวสารและเรียนรู้เรื่องที่คนทุกเพศทุกวัยสนใจ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านศิลปะการแสดงนั้นๆ

       "ศิลปินที่มีบทบาทของการเป็นครูผู้สอนจะต้องให้ความรักความจริงใจแก่ลูกศิษย์ ซึ่งนอกจากการรำมโนราห์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ตนพยายามปลูกฝังให้กับเด็กคือการพูดภาษาถิ่นใต้ โดยจะใช้ภาษาถิ่นใต้สื่อสารกับเด็กๆ เพื่อให้เด็กซึมซับ และเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นใต้อย่างแท้จริง รางวัลครูภูมิปัญญาไทยที่ได้รับในครั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของลูกศิษย์ของตนทุกคน และเป็นกำลังใจสำคัญของตนที่จะถ่ายทอดศิลปะการแสดงมโนราห์ให้แก่เด็กๆ ต่อไป ตนทำงานด้านนี้ด้วยใจรักและไม่เคยคิดหวังผลตอบแทน และคิดเสมอว่าจะหยุดถ่ายทอดความรู้แก่เด็กๆ ก็ต่อเมื่อไม่มีกำลังจะขึ้นเวทีแล้วเท่านั้น ตนขอขอบพระคุณอาจารย์ สุนทร นาคประดิษฐ์ ศิลปินดีเด่น จังหวัดสงขลา สาขาวรรณศิลป์ ที่ได้เขียนบทรำมโนราห์ให้แก่ตนรวมทั้งได้ถ่ายทอดความรู้ด้านการเขียนบทรำมโนราห์ให้แก่ตนด้วย และขอขอบคุณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้ตนได้แสดงความสามารถและได้ถ่ายทอดศิลปะให้เยาวชนรุ่นหลังได้สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นใต้ต่อไป"ครูละมัย ฝากทิ้งท้าย

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ คอลัมน์ ส่องฅนคุณภาพ โดย ศิริรัตน์ สวัสดิ์หว่าง
ในโลกนี้ มีคนเพียงแค่ 2 คนที่ไม่มีความทรงจำ คนหนึ่งยังไม่เกิด ส่วนอีกคนตายไปแล้ว