ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชนศาลเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ย

เริ่มโดย Giadaexp, 16:23 น. 03 เม.ย 63

Giadaexp

ท่าฉลอมเป็นชุมชนชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นสถานที่แรกที่เรืออพยพของชาวจีนเข้ามาจอด โดยเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋วและชาวจีนไหหลำ จึงเป็นเหตุให้ชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมากมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังนั้นในบริเวณของตำบลท่าฉลอมจึงมีศาสนสถานตามความเชื่อทางศาสนาของชาวจีนเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณถนนถวายซึ่งเป็นถนนสายหลักในสมัยก่อนเนื่องจากอยู่ริมฝั่งน้ำที่มักจะมีเรือเข้ามาจอดทั้งเรือประมงและเรือผู้อพยพ ในบริเวณถนนถวายที่อยู่ในชุมชนศาลเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ยนั้นก็มีศาสนสถานที่สำคัญ 2 แห่ง ดังนี้
   ศาลเจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ย หรือศาลเจ้าแม่ทับทิม ตั้งอยู่ ต.ท่าฉลอม ไม่ปรากฏว่าก่อสร้างตั้งแต่เมื่อใด แต่มีผู้ศรัทธาสักการะศาลเจ้าแห่งนี้เป็นจำนวนมาก และหนึ่งพิธีกรรมของศาลเจ้าแห่งนี้คือพิธีลุยไฟ ในสมัยก่อนไม่ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จะทำเฉพาะร่างทรงทำนายทายทักว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น แต่ในปัจจุบันมีการจัดขึ้นทุกปีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ หลังวันตรุษจีนประมาณ 10-15 วัน และผู้ที่ให้ความเคารพสักการะศาลเจ้าแห่งนี้โดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวประมงและชาวไทยเชื้อสายจีน
แท่นบูชาภายในศาลประกอบด้วย เจ้าแม่ทับทิมอยู่กลาง เจ้าพ่อกวนอู อยู่ด้านซ้าย เจ้าพ่อปุนเถ้ากง อยู่ด้านขวา และเจ้าแม่ก็จะมีธงเจ้าแม่ ใช้ธงผ้ารูปสามเหลี่ยม ชายธงใช้โบกปัดรังควานสิ่งชั่วร้าย ชาวประมงในจังหวัดที่ศรัทธาจะนำธงนี้ไปบูชาในเรือประมง เพื่อให้เกิดโชคลาภและเป็นกำลังใจในการการประกอบอาชีพ และในพิธีลุยไฟผู้ที่จะลุยไฟก็จะถือธงตอนลุยไฟด้วย
เจ้าแม่ทับทิม หรือ เจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ย (แต้จิ๋ว) หรือ เจ้าแม่สุยเหว่ยเสิ้งเหนียง (ไหหลำ) มีตำนานเล่าว่า ชาวเมืองตงเจียวคนหนึ่งมีอาชีพเป็นชาวประมง วันหนึ่งได้ไปหว่านแห่จับปลาในท่าเทียบเรือชิงหลันกั่ง ในขณะที่ลากแหอยู่นั้นก็รู้สึกว่าแหหนัก จึงคิดว่าน่าจะได้ปลาจำนวนมาก แต่เมื่อลากแหขึ้นมากลับพบว่ามีเพียงท่อนไม้ท่อนเดียว จึงได้นำท่อนไม้นั้นกลับลงไปในน้ำแล้วจึงลากแหต่อและรู้สึกน้ำหนักที่มากขึ้นของแหอีกครั้ง เมื่อลากแหขึ้นมาก็พบกับท่อนไม้ท่อนเดิมติดแหมา จึงได้อธิษฐานกับท่อนไม้ว่าหากช่วยให้เขาจับปลาได้มาก ก็จะนำท่อนไม้ไปแกะสลักเป็นเทพยดาไว้บูชา ซึ่งเขาก็ได้ปลามาเป็นจำนวนมากตามประสงค์ เมื่อชาวประมงกลับถึงบ้านก็นำท่อนไม้นั้นทิ้งไว้กลางแจ้ง ไม่ทันได้นำไปแกะสลักตามที่บนบานไว้ ท่อนไม้ถูกย้ายที่ไปมาจนถูกนำไปไว้ในเล้าหมู ทำให้หมูในเล้านั้นตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ รวมทั้งมีคนลบหลู่ท่อนไม้นั้นก็มีอันไม่สบาย ชาวประมงจึงคิดได้ว่าท่อนไม้นั้นศักดิ์สิทธิ์จึงจุดธูปขอขมา หลังจากนั้นทุกวันในช่วงโพล้เพล้ ก็จะมีคนเห็นสตรีหน้าตาอิ่มบุญเปี่ยมด้วยเมตตาปรากฏตัวบริเวณหน้าบ้านของชาวประมงเป็นประจำ ชาวประมงและชาวบ้านจึงได้ทำการกะสลักท่อนไม้นั้นเป็นรูปเทพธิดา และตั้งศาลบริเวณที่มีร่างทรงมาชี้จุดซึ่งเป็นบริเวณชายน้ำชื่อ โพเหว่ยชุน จึงเป็นที่มาของชื่อเจ้าแม่ชายน้ำหรือปลายน้ำ ชื่อไหหลำคือ สุยเหว่ยเสิ้งเหนียง และชื่อแต้จิ๋วคือ จุ๋ยบ๋วยเนี้ย
ที่นี่แตกต่างจากอื่นคือเป็นพิธีกรรมการไหว้แบบจีนไหหลำดั้งเดิม แต่ที่อื่นจะมีการปรับให้สะดวกขึ้นด้วยการตัดขั้นตอนการไหว้ออกไป ใช้ธูปทั้งหมด 46 ดอก โดยมีพิธีการไหว้ ดังนี้
1.   ศาลทีกง (ฟ้าดิน) ธูป 3 ดอก
2.   เจ้าแม่จุ๋ยบ๋วยเนี้ย ธูป 3 ดอก
3.   เทพเจ้ากวนอู (ข้างซ้ายเจ้าแม่) ธูป 3 ดอก
4.   จือซาง (เตียวหุย) (ข้างซ้ายเจ้าแม่) ธูป 3 ดอก
5.   ปึงเท้า (ปุนเถ้ากง) (ข้างซ้ายเจ้าแม่) ธูป 3 ดอก
6.   ตี้จู๊ ธูป 5 ดอก
7.   กระถางข้างหน้า 7 กระถางธูป กระถางละ 3 ดอก รวม 21 ดอก
8.   พระภูมิเจ้าที่ (ข้างนอกด้านขวามือ) ธูป 3 ดอก
9.   ประตูศาลเจ้าซ้าย-ขวา ธูปข้างละ 1 ดอก รวม 2 ดอก

พิธีลุยไฟและพิธีแห่รอบเมือง
      พิธีลุยไฟในสมัยก่อนไม่ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จะทำเฉพาะร่างทรงทำนายทายทักว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น แต่ในปัจจุบันมีการจัดขึ้นทุกปีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ หลังวันตรุษจีนประมาณ 10-15 วัน พิธีลุยไฟนี้จะจัดขึ้น 3 วัน ร่วมกับพิธีแห่รอบเมือง มีข้อห้ามสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมพิธี หากผู้ใดมีลักษณะที่เป็นข้อห้ามในช่วงลุยไฟก็จะไม่สามารถเข้าร่วมพิธีลุยไฟได้ ผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ ได้แก่ สตรีมีครรภ์, สตรีที่มีประจำเดือน, สตรีที่เพิ่งคลอดบุตร, ผู้ที่เพิ่งไปร่วมงานศพ และผู้ที่รับประทานเนื้อหมู เนื่องจากเจ้าแม่ไม่ชอบหมู ผู้ที่ต้องการจะเข้าร่วมพิธีลุยไฟจึงต้องงดอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อหมูเป็นเวลา 3 วันก่อนจะถึงวันพิธี
      วันแรก จะเป็นวันที่จัดพิธีลุยไฟ โดยจะจัดขึ้นในช่วงเย็น เวลา 17.00 น. มีการก่อถ่านไฟเป็นระยะทาง 9 เมตร ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากสมัยก่อนที่มีระยะทาง 12 เมตร เมื่อถ่านร้อนพอเหมาะก็จะเริ่มพิธีการลุยไฟ โดยผู้ที่จะลุยไฟก็จะสวมใส่ชุดขาวและถือธงเจ้าแม่เข้าไปวิ่งลุยไฟ แต่ก่อนที่จะได้ลุยไฟก็จะมีการสอบถามก่อนว่ามีลักษณะข้อห้ามใดหรือไม่ หากพบว่ามีก็จะไม่สามารถลุยไฟได้
      วันที่สอง เวลา 8.00 น.จะเป็นวันที่เตรียมจัดขบวนแห่เจ้าแม่รอบเมืองและไหว้ขนมอี๋แดง โดยตั้งแต่วันนี้ไปก็จะมีมหรสพ การบันเทิงต่าง ๆ ในช่วงกลางคืน
      วันที่สาม เป็นวันแห่เจ้าแม่ โดยจะแห่ทางเรือ นำเจ้าแม่ลงเรือ แล้วแห่ไปตามแม่น้ำท่าจีนรอบตำบลท่าฉลอม
สนับสนุนบทความโดย บาคาร่า

ศาลเจ้าโรงเจเช็งเฮียงตั๊ว ศาลเจ้าแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาคือ ชาวจีนที่อพยพมาอยู่ที่ท่าฉลอมมีค่อนข้างมากเพราะเป็นเมืองที่อยู่ติดแม่น้ำ เป็นเมืองแรก ๆ ที่สามารถขึ้นฝั่งเพื่อเข้าสู่ประเทศสยาม เมื่อมีชาวจีนมาตั้งรกรากกันมากขึ้นก็เกิดการรวมตัวกันเพื่อสร้างศาลเจ้า  สำหรับศาลเจ้าโรงเจก็กลายเป็นที่ถือศีลของชาวจีนไปด้วย ส่วนการก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อพ.ศ. ใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทราบเพียงว่าแต่ก่อนก็เป็นแค่เพิงหลังคาจากเล็ก ๆ เท่านั้น แต่เมื่อชาวบ้านเริ่มมีธุรกิจมั่นคงขึ้น เขาก็นำเงินมาบริจาคเพื่อปรับปรุงศาลให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ  จนกระทั่งเป็นศาลเจ้าโรงเจอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ที่ศาลเจ้าแห่งนี้มีองค์ประธาน คือ เจ้าแม่เต๋าเล่าหง่วงกุง และเป็นสถานที่สำคัญของชุมชน ในช่วงตุลาคมทุก ๆ ปีจะมีงานประเพณีถือศีลกินเจ 10 วัน จุดเด่นของเทศกาลกินเจที่นี่จะมีพิธีเผาเรือมังกร ด้วยการนำกระถางธูปไปไว้บนเรือ แล้วไฟจะลุกขึ้นเอง ไม่ใช่จุดไฟเผา ชาวจีนมีความเชื่อว่าพิธีกรรมนี้เป็นการนำเรือไปส่งเจ้า
พิธีการไหว้
   .ใช้ธูปทั้งหมด 20 ดอก
1.   ศาลทีกง (ฟ้าดิน) ธูป 3 ดอก
2.   กระถางกลาง ธูป 3 ดอก
3.   กระถางขวามือ ธูป 3 ดอก
4.   กระถางซ้ายมือ ธูป 3 ดอก
5.   เทพเจ้าหมอยา (ขวามือ) ธูป 3 ดอก
6.   เทพเจ้าเกิด-ตาย (ซ้ายมือ) ธูป 3 ดอก
7.   ประตูศาลเจ้า ธูปข้างละ 1 ดอก รวม 2 ดอก
(ไหว้เจ้า ๙ ศาล จังหวัดสมุทรสาคร, 2560 : 11)
พิธีกินเจ
คำว่า เจ หรือแจ ในภาษาจีน ทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแปลว่า อุโบสถ การกินเจ หมายถึง การกินอาหารก่อนเที่ยง ประกอบกับการถืออุโบสถศีลของชาวจีนส่วนมากไม่กินเนื้อสัตว์จึงกลายเป็นว่า การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นการกินเจ
เรื่องการกินเจหรือการสร้างโรงเจ มักเข้าใจว่าเป็นพิธีเกี่ยวกับพุทธศาสนา ในทางปฏิบัติชาวจีนได้ทำมานานแล้ว กล่าวว่าเป็นการบูชาถวายกษัตริย์เป้ง ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.1810 กษัตริย์เป้งได้ทำอัตวินิบาตกรรมในขณะจะเสด็จไปไต้หวันโดยทางเรือเมื่อพระชนม์ได้ 9 พรรษา พิธีทำบุญถวายพระราชกุศลแก่กษัตริย์เป้งเริ่มขึ้นที่มณฑลฮกเกี้ยนซึ่งเป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้อง โดยชาวฮกเกี้ยนใช้วิธีถือศีลกินเจถวายเป็นราชสักการะแทนพระราชพิธีศพ เนื่องจากเกรงกลัวอำนาจของราชวงศ์หงวนซึ่งราษฎรส่วนใหญ่ไม่ชอบเพราะเป็นชาวโมงโกลต่างชาติ ชาวจีนถือว่าเป็นคนป่า การทำพิธีกินเจจึงเป็นการอาศัยศาสนาบังหน้าการเมืองเพื่อไม่ให้ราชวงศ์หงวนรู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริง
ประเพณีกินเจ เผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน และเนื่องจากพิธีดังกล่าวมุ่งหมายพระราชกุศลให้กษัตริย์จึงใช้สีเหลืองทุกอย่างเพราะถือว่าเป็นสีของกษัตริย์ดังนั้นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกินเจจึงมักใช้สีเหลือง แม้กระทั่งธงที่ปักตามร้านขายอาหารเจ เป็นต้น
การกินเจของชาวจีนในจังหวัดสมุทรสาคร มีศูนย์รวมอยู่ที่ศาลเจ้าโรงเจเช็งเฮียงตั๊ว ตำบลท่าฉลอม ในโรงเจมีเทพเจ้าเก้าองค์เรียกว่า เก้าฮ้วงฮุดโจ๊ว แปลว่า พระเจ้าเก้าองค์ ซึ่งตามคติถือว่าเป็นผู้วิเศษที่ตายแล้ว จุติมาเกิดเป็นดาวจระเข้เรียงกันเก้าดวง เป็นผู้ถือบัญชีคนในมนุษย์โลก สามารถต่ออายุแก่ผู้ที่สิ้นอายุขัยให้ยืนยาวต่อไปได้ตามความต้องการ ชาวจีนถือว่าระหว่างวันขึ้น 1 - 9 ค่ำ เดือนเก้า ตามปฎิทินจีน ซึ่งตรงกับเดือนตุลาคมเป็นวันที่เก้าฮ้วงฮุดโจ๊วลงมาตรวจสอบผู้คนในโลกมนุษย์ เพื่อจดบันทึกแล้วบันดาลให้เป็นไปตามกรรมดีกรรมชั่วของแต่ละคน ดังนั้นในระยะเวลาดังกล่าวชนชาวจีนจึงพากันงดเว้นอาหารเนื้อสัตว์ชั่วคราวด้วยการสมาทานรักษาศีลเพื่อแสดงว่าตนประกอบกรรมดี เมื่อถึงวันประกอบพิธีก็มักจะเข้าไปไหว้เจ้าและสวดมนต์ที่โรงพิธีหรือโรงเจ ที่เรียกว่า เจตึ้ง กรรมการผู้จัดการพิธีกินเจ จะตกแต่งสถานที่ด้วยดอกไม้ จัดโต๊ะวางกระถางธูปตั้งเครื่องเซ่นที่เป็นอาหารเจพร้อมผลไม้ และจุดโคมไฟเก้าดวงซึ่งสมมุติว่าเป็น เก้าฮ้วงฮุดโจ๊ว แขวนไว้เป็นแถวตลอดเวลาทั้งกลางคืนกลางวัน
     ในระหว่างระยะเวลาเก้าวันที่เจ้าประทับอยู่ในศาล จะมีพิธีกรรมต่าง  ๆ  ดังนี้ 
               หนึ่งค่ำ (ชิวอิด)  อัญเชิญฮุดโจ๊ว
               สามค่ำ (ชิวซา)  วันไหว้ใหญ่ (ตั้วเจตี้)
               หกค่ำ (ชิวลัก)  วันไหว้ใหญ่  (ตั้วเจตี้)  เวลา 14.00 น. พิธีเวียนรูป
               แปดค่ำ (ชิวโป๊ย) เวลา 19.00 น. พิธีลอยกระทงและปล่อยเต่า  21.00 น. ประมูลของฮุดโจ๊ว
               เก้าค่ำ (ชิวเก้า) วันไหว้ใหญ่ (ตั้วเจตี้)  14.00 น. เซ่นไหว้วิญญาณไม่มีญาติ  16.00 น. พิธีทิ้งกระจาด  20.00 น. ประมูลของฮุดโจ๊ว  02.00 น. ขบวนแห่ส่งฮุดโจ๊ว
ศาลเจ้าโรงเจเช็งเฮียงตั๊วไม่มีการเข้าทรง ด้วยความเชื่อว่าเทพเจ้าที่เสด็จมา (ฮุดโจ๊ว) เป็นแบบบุญฤทธิ์ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์เหมือนโรงเจอื่น  ๆ  ดังนั้นในการรับเจ้าจึงใช้วิธีอัญเชิญด้วยการใช้เสี่ยงทาย ทำนายเวลามาสู่โลกมนุษย์ และเมื่อพิธีกรรมกินเจสิ้นสุดลง ทางศาลเจ้าจะสร้างเรือกระดาษขนาดเท่าเรือจริง ภายในเรือบรรจุเข้าของเครื่องใช้ที่ทำจากกระดาษรวมทั้งประทัดและดอกไม้ไฟ จัดเป็นขบวนแห่ไปที่ริมน้ำ หน้าวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) เพื่อทำพิธีส่งเทพเจ้ากลับสู่สวรรค์ โดยเผาข้าวของเครื่องใช้ไปพร้อมกับเรือ เป็นการสิ้นสุดการกินเจ