ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

วิเคราะห์ 7 คำถาม กมธ. ที่ กขค. ต้องเคลียร์ชัดกรณีเทสโก้โลตัส เพื่อเดินหน้าต่อ

เริ่มโดย supergreat, 13:47 น. 25 พ.ย 63

supergreat

วันนี้ (25 เมษายน 2563) เลขาธิการบอร์ดแข่งขันการค้า ได้เข้าชี้แจงอนุญาตซีพีควบเทสโกโลตัสต่อกมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ 13.00 น. ด้านปธ.กมธ.โพสต์เฟสบุ๊ค 7 ข้อสงสัยที่ต้องการคำตอบ มาวิเคราะห์คำตอบ พร้อมแนวทางในอนาคตของธุรกิจค้าปลีกประเทศไทยที่ต้องปรับตัวในยุค 4.0



1. ตลาดที่ กขค. พิจารณา คือ ตลาดอะไรกันแน่ สิ่งที่ กขค. เรียกว่า "ตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก" ประกอบด้วยผู้เล่นรายใดบ้าง ได้พิจารณาอำนาจเหนือตลาดทั้งตลาดฝั่งผู้บริโภค และฝั่งผู้ผลิตหรือ supplier ด้วยหรือไม่

แน่นอนว่ายุคนี้ตลาดเปิดกว้างด้วยเทคโนโลยี ลูกค้าเปรียบเทียบราคาได้ และเลือกของที่ดีที่สุดในราคาคุ้มค่าที่สุดเสมอ ทำให้การมีอำนาจเหนือตลาดในยุคนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะเป็นยุคไม่มีพรมแดน ตลาดค้าปลีกในยุคปัจจุบัน หากมองในมุมผู้บริโภค ผู้บริโภคมีทางเลือกอีกมากมาย เช่น กลุ่มร้านค้าปลีกขนาดเล็กอย่าง "โชห่วย" มีจำนวนกว่า 500,000 ร้านค้าทั่วประเทศ (ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์) และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

ย้อนกลับมาดู ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ของ Nielsen Thailand ที่รายงานว่า จำนวนร้านโชห่วยในไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีตัวเลขผู้ประกอบการเปิดร้านใหม่ มากกว่าปิดร้าน เเละจำนวนร้านโชห่วยจึงเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของตลาดค้าปลีกนั้น มีจำนวนที่ขึ้นทะเบียนกว่า 4 พันแห่ง แต่ละแห่งมีร้านค้าภายในอีกหลายร้อย หรือหลักหนึ่งพันร้านค้า โดยตลาดในกรุงเทพมหานคร อาทิ ตลาดประชานิเวศน์ 1, ตลาดบางกะปิ, ตลาดหนองจอก, ตลาดราษฎร์บูรณะ, ตลาดรัชดาภิเษก, ตลาดอรุณอมรินทร์, ตลาดสิงหา, ตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก, ตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2), ตลาดเทวราช, ตลาดนัดจตุจักร, ตลาดนัดจตุจักร (มีนบุรี) และตลาดบางแคภิรมย์ โดยมีแผงค้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 21,500 แผงค้า ในจำนวนนี้ตลาดนัดจตุจักรคือตลาดที่ใหญ่สุดมีแผงค้าทั้งหมด 10,334 แผง

อีกตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ที่สำคัญ คือตลาดอีคอมเมิร์ส ที่มีมูลค่าสูงถึง 220,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 35% จากปีก่อน เหตุผลเนื่องจากความสะดวกสบายในการช้อปปิ้งออนไลน์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ในไทย ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่ E-marketplace การนำสินค้าไปขายบนเว็บไซต์ ตลาดสินค้าออนไลน์ที่รวมร้านค้าหลายแห่งไว้ในที่เดียว ซึ่งเราสามารถไปเปิดร้านในนั้นได้ เช่น Lazada Shopee

ในส่วนของฝั่งผู้ผลิต และผู้บริโภค มีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว หากเกิดกรณีการเอาเปรียบคู่ค้า นอกจากนี้ จำนวนส่วนแบ่งตลาดของเทสโก้โลตัสยังเท่าเดิม และยังมีคู่แข่งที่เป็นรายใหญ่ และเป็นเจ้าของกิจการอีคอมเมิร์สด้วย เช่น เซ็นทรัลได้ร่วมทุนกว่า 17,500 ล้านบาท กับ JD ดอทคอม ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากประเทศจีนจัดตั้งเจดี เซ็นทรัล (JD CENTRAL) สร้างมาร์เก็ตเพลส (Marketplace) แห่งใหม่ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าของกลุ่มธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ดังนั้น มิติของตลาดสมัยใหม่เปิดกว้าง และเป็นโอกาสของคู่ค้าในการขยายไปต่างประเทศอีกด้วย จะพิจารณาแบบค้าปลีกแบบดั้งเดิมไม่ได้

2. ทำไมคำวินิจฉัยระบุว่า "มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ" แต่กลับบอกว่า "ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคส่วนรวม"

ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงแค่ 1 ใน 3 ของตลาดค้าปลีกทุกประเภท นั่นหมายถึงทางเลือกยังเป็นของผู้บริโภค จำนวนสัดส่วนร้านค้าเดิมของเทสโก้มีตัวเลขที่มีนัยสำคัญ แต่เป็นการค้าปลีกแบบเก่าที่ต้องปรับตัวอย่างหนัก หากดูแนวโน้มไฮเปอร์มาร์ททั่วโลก ดังนั้น สิ่งที่ใคร ๆ คิดว่าได้เปรียบเหนือตลาด แต่ในความจริงคือซื้อมาราคาสูงก่อนโควิด และต้องพลิกโมเดลให้อยู่รอด ซึ่งการมีผู้เล่นน้อยรายเกิดการขายออกให้บริษัทต่างชาติ หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตของไทยเริ่มประสบปัญหาหนี้สินต่างประเทศอย่างรุนแรง โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ประกอบการขนาดกลางขยายกิจการด้านค้าปลีกและการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์เกินตัว เมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ภาระหนี้จึงเพิ่มกว่าเท่าตัว ทำให้ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต เปลี่ยนมือเป็นของต่างชาติมากขึ้น หลังจากที่กฎหมาย ปว.281 อนุญาตให้นักลงทุนจากต่างชาติสามารถถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 50% ทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีสิทธิ์ในการบริหารงาน นักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบยุโรป

- ปี พ.ศ. 2540 ห้างท้องถิ่นอย่าง Save Co., Big King, Imperial, Tan Hua Seng และห้างขนาดกลาง ๆ เลิกกิจการ
- ปี พ.ศ. 2541 Lotus ขายกิจการให้ Tesco จากอังกฤษ และเปลี่ยนชื่อเป็น Tesco Lotus
- ปี พ.ศ. 2542 Central ขายหุ้นบริษัท Cencar คืนให้กับ Carrefour
- ปี พ.ศ. 2545 Big C ร่วมทุนกับ Casino Group จากฝรั่งเศส
- ปี พ.ศ. 2546 Auchon ซึ่งมีอยู่สาขาเดียวที่เชียงใหม่ ขายกิจการให้ Big C

ดังนั้น การที่บริษัทไทยเริ่มซื้อกิจการกลับมาได้จากต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเม็ดเงินภาษีจะกลับสู่ประเทศไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังเปิดโอกาสส่งออกสินค้าชุมชนไปต่างประเทศอีกด้วย

3. เหตุผลในการออกเงื่อนไขทั้ง 7 ข้อ ว่ามีวัตุประสงค์อะไร จะเป็นการเยียวยาได้อย่างไร จะสามารถป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดได้อย่างไร มีกระบวนการบังคับใช้อย่างไรบ้าง มีบทลงโทษหากผิดเงื่อนไขหรือไม่ ตามพรบ.แข่งขันทางการค้า หากไม่ทำตามเงื่อนไขนั้นให้เพิกถอนการอนุญาตได้เลย แต่บอร์ดจะมีวิธีการตรวจสอบได้อย่างไร

วันนี้ต้องยอมรับว่าบริษัทในประเทศไทยอ่อนแออยู่แล้ว ไม่ว่าขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ การที่ยังมีการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่ถอดใจล้มเลิกดีล ถือว่าเป็นสัญญานที่ดีของประเทศไทย การเพิกถอนใบอนุญาต หรือการล้มดีลเป็นเรื่องง่าย แต่การจะหาผู้ซื้อรายใหม่นั้นเป็นเรื่องยาก และที่แน่ ๆ คือ ผู้ซื้อรายใหม่ต้องเป็นต่างชาติ จึงจะไม่ติดเงื่อนไขที่ผู้ร่วมประมูลในประเทศประสบอยู่ แต่คนมักไม่พูดถึงว่า เทสโก้จะเสียหายเท่าไหร่ และกระทบคู่ค้า และสำนักงานเท่าใด ส่วนใหญ่เพียงกลัวว่าบริษัทไทยจะใหญ่เกินไปในขณะที่ผลิตภัณฑ์ในไฮเปอร์มาร์ท ล้วนเป็นของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่นักวิชาการมักไม่กล้าแตะต้อง

4. เหตุใดจึงเลือกมาตรการเยียวยาที่เป็นเงื่อนไขควบคุมพฤติกรรม แต่ไม่ใช้เงื่อนไขโครงสร้างตลาด เช่น ลดขนาดการควบรวม ห้ามขยายสาขา ลดจำนวนสาขา

หากมีการห้ามขยายสาขา ไม่ใช่การส่งเสริมธุรกิจ แต่เป็นการจำกัดการอยู่รอดของธุรกิจ กฏหมายของไทยต้องไม่เป็นอุปสรรค คนออกฏหมายหากมองจากนักวิชาการเพียงอย่างเดียว หากปฏิบัติไม่ได้จริง อาจทำให้กลไกเศรษฐกิจเสียหาย กฏหมายในประเทศไทย ทำไมถึงมีการลงทุนจากต่างชาติน้อยกว่าประเทศสิงค์โปร์ นั่นเป็นเพราะประเทศไทยมีแนวคิดกำกับ ควบคุม มองในด้านลบ แล้วออกกฎระเบียบ ขั้นตอน มากำกับ ในขณะที่สิงค์โปร์ เวียดนาม เน้นการส่งเสริม ให้โอกาสลงทุน มาพัฒนา เกิดปัญหาแล้วมาว่ากรณีเป็นกรณี บรรยากาศการลงทุนจึงเกิดขึ้น อย่างเช่นดีลเทสโก้นี้ หากผ่านทุกขั้นตอน แล้วยังมีกระบวนการชักเย่อ แน่นอนว่ากระทบการระดมทุน กระทบความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ ใครจะขยายการลงทุนในไทย คงต้องทบทวนอย่างหนัก

5. ด้วยข้อมูลสนับสนุนชุดเดียวกัน เพราะเหตุใดบอร์ดจึงเสียงแตก และมีคำวินิจฉัยที่แตกต่างออกเป็น 2 ขั้วได้ขนาดนี้ กรรมการเสียงข้างมากอนุญาตแบบมีเงื่อนไขที่เห็นว่าจะควบคุมอำนาจตลาดตรงไหน ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อยนั้นไม่อนุญาตเลย

เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะบอร์ดมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น หากออกมาเอกฉันท์จะแปลกมากกว่า แต่ที่ดูแล้วแปลกคือ ประธานมาออกความคิดเห็นในเสียงข้างน้อย ซึ่งโดยปกติการออกมาเป็นเลขคี่ เพื่อให้ประธานชี้ขาดกรณีเสียงออกมาเสมอกัน แต่กรณีนี้หลายฝ่ายแปลกใจที่ประธานรีบลงคะแนนเลือกแต่แรก และร่วมตั้งโต๊ะแถลงเสียงข้างน้อย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติ

6. แนวทางอื่น ๆ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเหนือตลาดหลังจากมีการควบรวมนอกเหนือไปจากใช้ ม.50

เงื่อนไข 7 ข้อ มาจากกรรมการ กขค. ที่ทุกฝ่ายต้องเคารพผลการพิจารณา เพื่อเศรษฐกิจภาพรวมเดินต่อได้ นอกจากนี้ก็มีกฏหมาย ระเบียบที่คุ้มครองผู้บริโภคและคู่ค้าอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยู่ที่การบังคับใช้ ให้ผู้รับผิดชอบได้ปฏิบัติหน้าที่

7. แนวทางป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีกในอนาคต รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงพรบ. และกม.ลูก โดยเฉพาะเรื่องกฎเกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาด กลไกสนับสนุนการฟ้องคดีโดยประชาชนแบบ class action

บรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญ หากประเทศไทยจะเน้นความเข้มงวดด้านกฏหมาย ก็จะเหมือนกับข้าราชการที่ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ เพราะกลัวผิดระเบียบ เข้าข่ายไม่ทำไม่ผิด การที่ใช้กฏหมาย ออกกฏหมายลูก สนับสนุนให้มีการฟ้องร้อง แน่นอนว่าประเทศไทยจะมีความล้าหลังด้านบรรยากาศการลงทุน แน่นอนว่าธุรกิจใดที่จะลงทุนในประเทศไทย อาจพิจารณาเวียดนาม อินโดนีเซีย ที่มีตลาดใหญ่กว่า

นายตรัน ก๊วก เฟือง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ เวียดนามเป็นอันดับต้น ๆ ของนักลงทุน เนื่องจากการเมืองและเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม และมีข้อได้เปรียบในด้านที่ดินและทรัพยากรมนุษย์ เราไม่กีดกันนักลงทุน เราส่งเสริมนักลงทุนในประเทศ เราภูมิใจในบริษัทเวียดนามที่ขยายไปทั่วโลก และพร้อมสนับสนุนบริษัทเวียดนามให้แข่งกับต่างประเทศไทย และที่สำคัญเวียดนามมุ่งเน้นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้นักลงทุน และลดอุปสรรคทั้งปวง ที่จะหน่วงรั้งความเจริญด้านเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจดี ภาษีจะเข้าสู่รัฐ และกลับสู่การพัฒนาวิถีชีวิตของประชาชน